CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ลาก่อน...“ดอนเมือง” ที่คิดถึง

    ดอนเมืองสนามบินที่กำลังจะกลายเป็นตำนาน

    ในวันที่ 28 กันยายน 2549 นี้ เที่ยวบินของทุกสายการบินจากทั่วโลก ก็จะพร้อมใจกันไปใช้บริการยังสนามบินแห่งใหม่ ณ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” สนามบินแห่งใหม่ของประเทศไทย ที่หวังจะให้เป็นสนามบินศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชีย

    ส่วนเวลา 03.00 น. ของเช้า(หลังเที่ยงคืน)วันที่ 28 กันยายน 2549 เที่ยวบินเที่ยวสุดท้ายจะลงจอดที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือ สนามบินดอนเมือง ก่อนที่สนามบินดอนเมืองจะปิดฉากตัวเองลงอย่างเป็นทางการ ทิ้งไว้เพียงตำนานและความทรงจำของสนามบินดอนเมืองให้คนรุ่นหลังได้กล่าวขานถึงกันต่อไป


    ย้อนอดีต“ดอนเมือง”
    หากย้อนไปเมื่ออดีต “ท่าอากาศยานกรุงเทพ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ดอนเมือง” นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อมีการยกเลิกใช้สนามบินสระปทุม ส่วนหนึ่งของสนามม้าราชกรีฑาสโมสร ซึ่งถือเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากสาเหตุคับแคบ มีเนื้อที่จำกัด และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสม ทางราชการจึงได้คิดหาสถานที่ใหม่ที่มีบริเวณกว้างขวาง เป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วม ไม่ห่างไกลจากพระนคร และเป็นพื้นที่ที่ สามารถพัฒนาเป็นสนามบินขนาดใหญ่ต่อไปได้ในอนาคต โดยมี นายพันโท พระเฉลิมอากาศ หัวหน้านายทหารนักบินชุดแรกของประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ ทำหน้าที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นสนามบินถาวร


    และจากการบินสำรวจทางอากาศได้เห็นที่นา ซึ่งเป็นที่ดอนทางตอนเหนือของอำเภอบางเขนเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมจึงได้สำรวจทางพื้นดินได้ความว่า พื้นที่บริเวณนั้นชาวบ้านเรียกว่า “ดอนอีเหยี่ยว” เพราะมีฝูงเหยี่ยวบินมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในบริเวณที่ดอนนี้ ทั้งยังมีทางรถไฟสายเหนือวิ่งผ่าน พื้นที่นี้อยู่ห่างจากสนามบินสระปทุมไปทางเหนือใช้เวลาบินประมาณ 13 นาที (ด้วยเครื่องบินเบรเกต์สมัยนั้น) คิดเป็นระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตรเศษ บริเวณนี้เป็นที่นามีหลายเจ้าของเช่น ที่นาของ หมื่นหาญ ใจอาจ ซึ่งท่านผู้นี้มีที่นาจำนวนมาก ได้ยก ที่ดินส่วนหนึ่งให้สร้างเป็นวัด สมัยนั้นยังไม่มีชื่อ ชาวบ้านเรียกว่า “วัดดอนอีเหยี่ยว” ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้ง กองบินขึ้นที่บริเวณนี้ และเรียกกันว่า “ดอนเมือง” วัดนี้จึงถูกเรียกว่า “วัดดอนเมือง” ตามชื่อสนามบินไปด้วย นอกจากนั้นยังมีที่นาของ พระยาอร่ามมณเฑียร และราษฎรคนอื่น ๆ อีกหลายเจ้าของ บางส่วนเป็นที่ดินของ กรมรถไฟหลวง นายพันโท พระเฉลิมอากาศ ได้รายงานขึ้นตามลำดับชั้น เพื่อขอจัดสร้างสนามบินถาวรขึ้นที่บริเวณนี้ และทางกระทรวงกลาโหมจึงได้ทำการจัดซื้อ และขอเวนคืนพื้นที่บางส่วน และมีผู้บริจาคให้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการบางส่วน

    ซึ่งในระยะเวลาต่อมา กรมเกียกกายทหารบกได้ดำเนินการปรับพื้นที่ให้เป็นสนามหญ้า ที่เครื่องบินสามารถวิ่งและบินขึ้น-ลงได้ พร้อมทั้งสร้างโรงเก็บเครื่องบิน และอาคารสถานที่ทำการตามความจำเป็น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2457 กรมเกียกกายทหารบกได้ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ และส่งมอบให้กรมจเรการช่างทหารบก พร้อมกับได้เรียกชื่อสนามบินนี้ว่า “สนามบินดอนเมือง”


    สนามบินดอนเมืองในอดีต
    กระทั่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2457 นายทหารนักบินทั้ง 3 นาย ก็ได้นำเครื่องบินจากสนามบินสระปทุมมาลงที่สนามบินดอนเมืองเป็นปฐมฤกษ์ ในตอนเช้า และในวันที่ 27 มีนาคม 2457 กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งตั้ง กองบินทหารบกขึ้น และย้ายไปเข้าที่ ตั้งถาวรที่สนามบินดอนเมือง นับเป็นรากฐานที่มั่นคงของกิจการการบินของไทยที่ได้เริ่มต้นขึ้น ณ ที่นี้


    ทั้งนี้ทางกองทัพอากาศจึงได้ถือเอาวันที่ 27 มีนาคม เป็นวันที่ระลึกกองทัพอากาศ และในปี 2483 กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองการบินพลเรือนขึ้น เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ และในปี 2491 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมการบินพลเรือน ได้ปรับปรุงสนามบินดอนเมือง และเรียกชื่อว่า “ท่าอากาศยานดอนเมือง” จัดเป็นท่าอากาศยานสากล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2498 จึงได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น “ท่าอากาศยานกรุงเทพ”


    พื้นที่สนามบินดอนเมืองในสมัยเริ่มแรก จากการสำรวจเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2457 มีพื้นที่ 1,770 ไร่ พื้นดินเป็นสนามหญ้า มีผิวดินชนิดดินปนทรายแดง เครื่องบินขนาดใหญ่ของสายการบินพาณิชย์ไม่สามารถจะใช้ขึ้นลงได้ในฤดูฝน พ.ศ. 2476 รัฐบาลอนุมัติให้กระทรวงเศรษฐการและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันดำเนิน การสร้างทางขึ้นลงเป็นคอนกรีตและ ราดยางแอสฟัลต์ พร้อมกับให้สร้างถนนเชื่อมระหว่างสนามบินดอนเมืองกับพระนคร (ถนนพหลโยธิน) ทางวิ่งดังกล่าวแล้วเสร็จเรียบร้อยเปิดใช้การได้ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2478


    สนามบินดอนเมืองได้รับการขยายพื้นที่มาโดยตลอด มีการขอซื้อที่ดินของกรมรถไฟหลวงที่มีพื้นที่ติดต่อกับสนามบินดอนเมือง และขอซื้อจากเอกชน จนกระทั่งถึงปี 2538 พื้นที่ท่าอากาศยานกรุงเทพมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 3,881 ไร่ ถือว่าเป็นสนามบินที่เป็นดังจุดศูนย์กลางทางการบินในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถเชื่อมโยงการจราจรทางอากาศไปยังจุดต่าง ๆ ของโลกได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะ เป็นการบินภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน หรือระหว่างทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย ซึ่งสามารถใช้เป็น จุดแวะลงและเชื่อมต่อในการเดินทางของผู้โดยสารนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และพัสดุไปรษณียภัณฑ์ ได้เป็นอย่างดี


    และด้วยตลอดระยะเวลากว่า 92 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานกรุงเทพได้ทำการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับอากาศยาน ผู้โดยสาร และสินค้า อย่างเต็มที่ แต่ก็ด้วยความเจริญเติบโตของการขนส่งทางอากาศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพื้นที่เริ่มแออัด รัฐบาลจึงเล็งเห็นว่า หากท่าอากาศยานกรุงเทพไม่สามารถพัฒนาเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถได้มากกว่านี้ จะทำให้ความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคนี้เสียไป จึงทำให้ทางรัฐบาลมีนโยบายก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขึ้นมาทดแทน ทำให้ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือ ดอนเมืองนี้ต้องทำการปิดบทบาทของตัวเองลงไปโดยปริยาย ในวันที่ 27 กันยายน 2549 นี้และคงเหลือไว้แต่เพียงตำนานให้กล่าวขานถึงเท่านั้น


    เพราะในวันที่ 28 กันยายน 2549 ที่จะมาถึงนี้ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” แห่งใหม่ก็จะทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และดำเนินการบินเป็นสนามบินแห่งใหม่ของประเทศไทย
    http://www.palungdham.com

     
     

    จากคุณ : ไชยมงคล - [ 27 ก.ย. 49 09:02:54 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com