ความคิดเห็นที่ 286
เปิดอุทยานฯ สัมปทานมรดกของชาติ โดย : วินิจ รังผึ้ง
รายงานข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังมีโครงการจะเปิดให้เอกชนเข้ารับสัมปทานบริหารพื้นที่บริการในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยจะเริ่มนำร่องใน 10 อุทยานแห่งชาติยอดนิยมประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติผ้าห่มปก อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้นำมาสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่ป่าซึ่งทางอุทยานฯไม่มีงบประมาณเพียงพอ สำหรับแนวทางที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่บริหารจัดการในอุทยานแห่งชาตินั้น ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นไว้เช่น เปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการภายในโซนบริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร เรียกว่าเข้ามารับสัมปทานทำโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ เช่นพายเรือคายัค จักรยานให้เช่า และอะไรต่อมิอะไรแล้วแต่จะคิด โดยมีกำหนดเวลาการเช่าการให้สัมปทานยาวนานถึง 30 ปีเลยทีเดียว เรียกว่าเอกชนรายไหนได้สิทธิ์เข้าไปรับสัมปทาน ก็สามารถจะครอบครองกิจการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กันไปชั่วลูกชั่วหลานเลยทีเดียว แม้นจะมีมาตรการที่ทางกรมอุทยานฯวางไว้ว่าเอกชนที่เข้ามารับสัมปทานจะต้องดูแลรับผิดชอบใน 3 ประเด็นคือ จะต้องบริหารจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมืออาชีพและยั่งยืน จะต้องให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรม และประเด็นทางเศรษฐกิจจะต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งพิจารณาจากหลักการที่วางไว้ก็ฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะจะนำมาตรฐานอะไรไปวัด และที่สำคัญมันจะเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ กับการนำเอาสมบัติของชาติ สมบัติของประชาชน มาให้เอกชนรายใดรายหนึ่งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์แบบผูกขาด โดยรัฐได้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิด ซึ่งเรามาลองพิจารณากันทีละประเด็น ประเด็นแรก ความคุ้มค่าของสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่เสียไป ซึ่งเหตุหลักของการดำเนินการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานครั้งนี้ก็เพื่อหารายได้เข้ามาบริหารจัดการดูแลพื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่ของอุทยานแห่งชาติเนื่องเพราะงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีไม่เพียงพอ ซึ่งเหตุผลนี้ฟังเหมือนจะดูดี แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางแล้วหรือไม่ เพราะหากรัฐบาลเห็นความสำคัญของการรักษาผืนป่า รักษาต้นน้ำลำธาร รักษาสิ่งแวดล้อม ก็ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้พอเพียง ไม่ใช่การตัดแบ่งสมบัติของชาติขายหรือให้เช่าเช่นนี้ และประเด็นที่ดูจะขัดแย้งไม่สมเหตุสมผลกันเองก็คือ หากต้องการหารายได้เพิ่มจากการเปิดให้เอกชนเช่าบริหารอุทยานฯ แต่ก็กลับคัดเลือกเอา 10 อุทยานแห่งชาติยอดนิยมระดับเกรดเอที่ทำรายได้เข้าอุทยานฯจำนวนมหาศาลในแต่ละปี นำไปให้เอกชนเช่าหาผลประโยชน์ในราคาที่แสนถูก คือมีข้อมูลออกมาว่าจะให้เช่ากันในอัตราตารางเมตรละเพียง 30 บาทต่อเดือนเท่านั้น ปีหนึ่งจะได้เงินค่าสัมปทานสักกี่บาท และเช่ากันยาวนานชั่วลูกชั่วหลาน 30 ปี ในอีก 10-20-30 ปีข้างหน้ามูลค่าของผลประโยชน์จะมากมายมหาศาลตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และการขยายตัวของการท่องเที่ยวอีกเท่าใด ในขณะที่ค่าเช่าในเวลานั้นจะถูกแสนถูกยิ่งกว่าให้เปล่าเสียอีก ลองมาดูสถิติรายได้ของอุทยานแห่งชาติทั้ง 10 แห่งที่มีรายชื่อจะถูกนำมาให้เอกชนเช่าสัมปทานกันดู ซึ่งตัวเลขสถิติรายได้นี้ผมนำมาจากข้อมูลของฝ่ายแผนงบประมาณและเงินรายได้ ส่วนนโยบายแผน สำนักอุทยานแห่งชาติที่เผยแพร่กันทางเว็บไซต์ โดยในปีงบประมาณ 2550 ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีรายได้รวมจำนวน 57,786,921 บาท อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 11,092,208 บาท อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 34,012,348 บาท อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 9,469,350 บาท อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 8,785,120 บาท อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 9,923,610 บาท อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 16,217,516 บาท อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 11,092,208 บาท ส่วนอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกนั้นไม่มีตัวเลขแสดง รายได้เข้าอุทยานแห่งชาติที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยว รายได้จากที่พัก จากการบริจาคของนักท่องเที่ยวและอื่นๆ นั่นยังไม่รวมรายได้จากร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และจากกิจกรรมบริการอื่นๆ และไม่เกี่ยวกับงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้อุทยานฯในแต่ละปี รวมรายได้ทั้ง 9 อุทยานฯข้างต้นเป็นเงินถึง 161,476,643 บาท ซึ่งมากมายมหาศาลทีเดียว นี่ขนาดเป็นการบริการตามสภาพชนิดตามมีตามเกิดอย่างที่เป็นอยู่ ยังมากมายขนาดนี้แล้ว หากเอกชนเข้าไปบริหารจัดการอย่างมีระบบ คิดค้นรูปแบบการหารายได้จากกิจกรรมบริการต่างๆ เช่นเรือบริการระหว่างเกาะ เรือบริการนำเที่ยว รถบริการนำชม ในรูปแบบของธุรกิจที่ผูกขาดแล้วก็เชื่อว่าจะทำรายได้มากมายกว่านี้หลายเท่าตัว คำถามก็คือเมื่ออุทยานฯ เกรดเอที่สามารถจะทำรายได้มหาศาลเช่นนี้แล้ว ทำไมจึงต้องประเคนให้เอกชนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ถ้าทางอุทยานฯ ห่วงใยผืนป่าและต้องการหารายได้เพื่อนำไปดูแลรักษาผืนป่าแล้วทำไมไม่ทำเอง และทำไมต้องประเคนผลประโยชน์มหาศาลไปให้เอกชนบางคนหรือนักการเมืองบางกลุ่มแล้วก้มเก็บเศษเงินค่าเช่าสมบัติของชาติจำนวนน้อยนิดเล่า ทำไมนักวิชาการ นักบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติบ้านเราสิ้นไร้หนทางจนต้องแบ่งชาติให้เช่า ขายสมบัติเก่ากินกันแล้วหรือ ทุกวันนี้คนไทยเราจะหาแหล่งธรรมชาติที่เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกันก็ยากเต็มที เพราะพื้นที่ท่องเที่ยวจำนวนมากตกเป็นของเอกชนไปหมด หาดทราย ชายทะเล หลายแห่งกลายเป็นหาดส่วนบุคคลห้ามคนจนขึ้นไปเหยียบ เกาะบางเกาะจะขึ้นไปเหยียบหาดทราย จะขึ้นไปดูจุดชมวิวยังต้องควักกระเป๋าจ่ายสตางค์ จะมีที่พึ่งแหล่งสุดท้ายก็อุทยานแห่งชาตินี่แหละ ที่ยังคงเป็นที่พึ่งที่หวัง เป็นแหล่งธรรมชาติแหล่งพักผ่อนใจราคาถูกของประชาชน แต่ก็ไม่รู้ว่าอุทยานฯที่เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งบางแห่งเป็นถึงมรดกโลก จะถูกทุนนิยมไร้สำนึกผู้หิวกระหายและธุรกิจการเมืองที่ไร้ยางอายใช้อำนาจเข้ามาแย่งทึ้งสมบัติของชาติสมบัติของประชาชนไปเมื่อไหร่ ในส่วนตัวแล้วจากประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวสัมผัสอุทยานแห่งชาติมากว่า 20 ปี ได้รู้จักมักคุ้นคนอุทยานฯมามาก ผมยังเชื่อมั่นว่าคนอุทยานฯ ส่วนมากมีความรักและหวงแหนทรัพยากรของชาติ มีความตั้งใจจริงในการดูแลรักษาและให้บริการด้วยความทุ่มเท ก็อยากจะขอเรียกร้องจิตสำนึกและจิตวิญญาณของชาวอุทยานฯให้ตั้งมั่นในอุดมการณ์ มั่นคงต่อหน้าที่ช่วยกันปกป้องทรัพย์สมบัติของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นสมบัติของคนไทยทุกคนร่วมกันตลอดไป ตามแนวปรัชญาสากลของอุทยานแห่งชาติที่จะต้องเป็นพื้นที่ที่สงวนไว้เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พืชพรรณ สัตว์ป่า และความงดงามของธรรมชาติ ให้ดำรงคงอยู่ เพื่อเป็นสมบัติของประชาชนและอนุชนรุ่นหลัง ได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าต่อไป.
จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 สิงหาคม 2551
จากคุณ :
A-bad (zoopod)
- [
27 ส.ค. 51 09:37:00
]
|
|
|