Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ผ่านเลยไปแล้ว...เชียงคาน

    ลมหนาวปีนี้ตั้งท่าว่าจะรุนแรงไม่น้อย เพราะฝนตกชุกมาทั้งปี คนเมืองบางคนเลยตั้งใจจะหนีความวุ่นวายไปสัมผัสอากาศเย็นๆ แถวภาคอีสาน ให้ผิวหนังและปอดได้เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานเสียบ้าง
    แต่พอเอาเข้าจริง ‘เชียงคาน’ ต้นเดือนธันวาฯ อันเป็นเป้าหมายสำคัญของเรา ก็ร้อนพอๆ กับกรุงเทพอยู่ดี ต่างกันอยู่บ้างก็ตรงที่แม้เชียงคานจะร้อนและแห้งแล้ง แต่อากาศแถวนั้นก็ยังสดและโปร่งกว่ากันเยอะ ไม่ทำให้อึดอัดเหมือนเมืองหลวงแห่งหมอกและควันที่จากมา
    คนเคยผ่าน (จังหวัด) เลย ให้คำแนะนำว่าถ้าใครทนความเงียบสงบชนิดที่อาจถึงขั้นตัดขาดโลกภายนอกไม่ได้ ก็ไม่ควรไปเชียงคาน เพราะที่นั่นคงไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น และวันที่ไปถึงเชียงคาน สอบถามคุณยายเจ้าของร้านขายของชำที่อยู่ตรงข้ามแผงข้าวมันไก่-เย็นตาโฟ ปากซอยศรีเชียงคาน 20 ได้ความว่า ช่วงนี้ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก เพราะยังไม่ถึงช่วงเทศกาล…
    นับว่าความตั้งใจไม่เสียเปล่า เพราะกิจกรรมที่เราคิดจะมาทำที่เชียงคาน ไม่มีอะไรมากไปกว่าการพักผ่อนและนอนให้เต็มอิ่ม ในเมืองอันเงียบสงบที่ยังไม่ผูกมิตรชิดเชื้อกับแสงสีและความอึกทึกครึกโครม...

    ง่ายงามในความธรรมดา...แต่ว่า...

    ก่อนจะเดินทางรอนแรมมาที่เชียงคาน หลายเสียงทักท้วงด้วยความขบขันแกมห่วงใย ด้วยเกรงว่าชื่อซึ่งเกี่ยวพันกับคำว่า ‘คาน’ จะไม่เป็นมงคลต่อชีวิตสาวโสดที่ไปด้วยกันหลายคน
    ยิ่งได้รู้ว่าที่เที่ยวสำคัญอื่นๆ ของเชียงคานมีรายนามว่า ‘นาแห้ว’ ‘ปากหมัน’ และ ‘แก่งคุดคู้’ เสียงทักท้วงก็ดูเหมือนจะเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นอย่างไรชอบกล แต่พอถึงเชียงคานแล้วจะรู้เองว่าไม่ควรปล่อยให้ชื่อ (ซึ่งเป็นเพียงสิ่งสมมติ) ครอบงำความตั้งใจที่จะมาเยือนเมืองเล็กๆ แห่งนี้
    เชียงคานเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 40 กิโลเมตร และบ้านเรือนของผู้คนยังคงสภาพเดิมๆ เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน เช่นเดียวกับวิถีชุมชนที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงช้ากว่าที่อื่น
    ดัชนีชี้วัดความเจริญในแบบเร่งรีบเช่นร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่นอีเลฟเว่น’ ยังไม่มีโอกาสได้รุกล้ำอธิปไตยของเชียงคาน ที่นี่มีเพียงร้านขายของชำซึ่งเป็นกิจการของคนในท้องถิ่น ต่อเติมจากเรือนไม้แบบห้องแถวสมัยเก่าของตัวเอง และตั้งกระจายตัวอยู่ตามถนนสายต่างๆ
    เกสต์เฮาส์ที่เราไปพักเป็นของสาวเชียงคานโดยกำเนิด แต่สามีของเธอเป็นชายหนุ่มจากเดนมาร์ก เกสต์เฮาส์ของเธอจึงเป็นตึกสีขาวโดดเด่นอยู่ริมโขง ในขณะที่เกสต์เฮาส์เจ้าอื่นๆ ในละแวกนั้นยังใช้เรือนไม้แบบเก่าเป็นจุดขาย
    แต่สำหรับที่นี่ สามีของเธอเป็นคนดูแลกิจการต่างๆ และเป็นคนต้นคิดว่าห้องพักควรจะสะดวกสบายกว่าที่อื่น แขกที่มาพักที่นี่จึงมีระเบียงส่วนตัวไว้ชมวิวแม่น้ำโขงทั้งยามเช้า ยามบ่าย ยามเย็น...ก็ถือเป็นจุดขายอีกแบบหนึ่งของเชียงคานเหมือนกัน
    ถึงกระนั้นก็ตาม แบบและลวดลายของบ้านไม้ที่ดูเก่าแก่ผ่านกาลเวลาในเมืองเชียงคาน ก็ยังให้ความรู้สึกอบอุ่นละมุนละไมกว่าความหนาทึบของตึกในเมือง และเป็นคุณูปการอย่างหนึ่งที่ทำให้เชียงคานดึงดูดใจใครหลายคนเอาไว้ได้ เพราะไม่ว่าจะยกกล้องขึ้นเล็งที่มุมไหน ภาพที่ออกมาก็ดูสวยไปหมด แม้จะถ่ายด้วยฝีมือของช่างภาพสมัครเล่นก็เถอะ...

    จากประชาไท

    จากคุณ : qaza - [ 5 ม.ค. 52 19:43:52 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com