Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"เลือกอาชีพ" อ่านเจอมาและคิดว่าหลายๆคนคงสนใจ โดยเฉพาะคนที่กำลังเจอจุดเปลี่ยน  

วันที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 20:31:54 น.
แสดงความคิดเห็น [0] , จำนวนผู้อ่าน [1002]
"เลือกอาชีพ"
By Narin

ถ้าถามว่าคนเราควรเลือกอาชีพอย่างไรดีนั้น คำตอบที่มักจะได้ยินเสมอ คือ คนเราควรเลือกทำงานที่ชอบหรือไม่ก็งานที่ถนัด...

แต่ในความเป็นจริง การทำตามคำแนะนำนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก น้อยคนมากที่จะรู้ตัวตั้งแต่อายุยังน้อย ว่า ตัวเองเหมาะหรืออยากที่จะทำงานอะไร ใครจะเหมือนอย่างโมสาร์ทที่ค้นพบว่า ตัวเองมีพรสวรรค์ทางดนตรีตั้งแต่อายุแค่สี่ขวบ

ชีวิตสมัยนี้ถูกกำหนดให้ต้องเลือกอาชีพกันตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะหลักสูตรการศึกษาบังคับ ฉะนั้นถึงแม้เราจะอยากเลือกทำงานตามที่ตัวเองชอบ แต่ก็มักทำไม่ได้อยู่ดี เพราะตอนเด็กๆ เรามักจะยังไม่รู้ว่า เราชอบอะไรกันแน่ แต่เราก็ต้องเลือกเรียนกันแล้ว

ในวัยมัธยม เราต้องเลือกว่า เราอยากจะเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ต้องเลือกคณะ วัยรุ่นเป็นวัยที่ยังไม่เคยทำงานหาเลี้ยงชีพมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมากที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง จะตัดสินใจเลือกอาชีพให้กับตนเองได้อย่างเหมาะสม

ที่จริงแล้ว คนส่วนใหญ่จะเริ่มค้นหาตัวเองได้อย่างจริงๆ จังๆ ก็ต่อเมื่อเริ่มต้นทำงานจริงแล้วเท่านั้น (ในช่วงอายุยี่สิบกว่า) เพราะเมื่อได้ทำงานจริงจะเริ่มรู้ว่างานแต่ละอย่างเป็นอย่างไรกันแน่ วัยยี่สิบกว่าๆ จึงเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวเอง หลายคนจะเริ่มต้นทำงานด้วยความรู้สึกที่ยังสงสัยลึกๆ อยู่ในใจตลอดเวลา ว่า งานที่กำลังทำนั้นเป็นงานที่ "ใช่" สำหรับเราจริงหรือเปล่า ในช่วงวัยนี้ หลายคนจะถึงกับเปลี่ยนสายงานไปเลย เพราะค้นพบได้ว่า ตนเองไม่ได้เหมาะกับงานในสายที่เรียนมาเลยสักนิด กรณีเช่นนี้ถือว่าปกติมากๆ

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจได้อย่างแท้จริง ว่า ตนเองเหมาะกับงานอะไรกันแน่ก็ต่อเมื่อ พวกเขาได้ก้าวเข้าสู่วัยสามสิบกว่าไปแล้ว แต่เมื่อถึงเวลานั้น คนส่วนใหญ่ก็มักจะมีครอบครัวพอดี ทำให้แม้จะรู้ดีว่า ตนเองเหมาะกับงานอะไร แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยสนใจอยากจะเปลี่ยนงานแล้ว ในวัยนี้ความมั่นคงทางการเงินของครอบครัว กลับกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า

ชีวิตมนุษย์เป็นเสียอย่างนี้ สุดท้ายแล้วเลยไม่ค่อยมีใครได้ทำงานตรงกับที่ตัวเองชอบจริงๆ หรือได้ทำงานตรงกับสายที่เรียนมา เส้นทางอาชีพจะเป็นเส้นทางที่วกไปวนมามากกว่าที่จะเป็นเส้นตรงตั้งแต่ต้นจน จบ เช่นนี้แล้ว เราจึงไม่ควรยึดติดกับวิชาที่เลือกเรียนมากเกินไป เพราะสุดท้ายแล้ว เราจะมีโอกาสไม่มากนัก ที่ได้ยึดอาชีพตรงกับสายที่เรียนมา

ในการค้นพบตัวเองว่าเหมาะกับงานอะไรนั้น ผมมีข้อสังเกตว่า ที่จริงแล้ว คนเรามักไม่ได้เกิดมาเพื่อทำอาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่เราเหมาะที่จะทำงานอะไรก็ตามที่ใช้ "ทักษะ" บางอย่างที่เราทำได้ดีกว่าคนทั่วไปต่างหาก ทักษะที่ว่านี้อาจมีประโยชน์ในหลายๆ อาชีพก็ได้ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นในการค้นหาตัวเอง เราต้องค้นหาทักษะไม่ใช่ค้นหาอาชีพ

เป็นต้นว่า บางคนมีความสามารถในการเข้ากับคนได้หลายแบบ ปรับตัวเก่ง พูดอะไรเข้าใจง่าย เราอาจคิดว่า คนแบบนี้ควรทำอาชีพเป็นฝ่ายขาย แต่ที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นเสมอไป มีอาชีพอีกหลายอย่างที่ต้องการคนที่มีทักษะแบบนี้เหมือนกัน แม้แต่ในฝ่ายวิศวกรรม

ผมรู้จักเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทแห่งหนึ่งที่ขายสินค้า ด้านเทคโนโลยี การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างฝ่ายการตลาดกับฝ่ายวิศวกรรม เป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญมากของบริษัทนี้ แต่วิศวกรทุกคนในบริษัทมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับฝ่ายการตลาด ทั้งที่พวกเขามีความรู้เรื่องเทคโนโลยีในระดับที่เก่งมาก เพื่อนของผมคนนี้อาจจะไม่ใช่วิศวกรที่เก่งมากนัก แต่เขาเข้าใจวิธีการมองโลกของฝ่ายการตลาดได้ดีกว่าวิศวกรคนอื่นในบริษัท เขาจึงมีวิธีที่จะอธิบายเรื่องเทคโนโลยีที่ยากๆ เหล่านั้นให้ฝ่ายการตลาดฟังแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ นั่นทำให้เขากลายเป็นคนสำคัญของบริษัทไปเลย เพราะเขาสามารถเป็นตัวกลางช่วยทำให้สองแผนกนี้ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าหากวิศวกรคนนี้ไปอยู่ฝ่ายขายหรือฝ่ายการตลาด เขาก็อาจเป็นเพียงแค่พนักงานขายที่มีผลงานระดับธรรมดาเท่านั้น เพราะความสามารถเรื่องการสื่อสารของเขาอาจไม่ได้ดีเลิศเมื่อเทียบกับพนักงาน ขายทั่วไป แต่การที่เขาเข้าใจเทคโนโลยีได้ด้วยและสื่อสารได้ดีด้วย ช่วยทำให้เขาประสบความสำเร็จมากกว่าในฐานะวิศวกร แม้ว่าเขาจะไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยีมากนักก็ตาม

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ สังคมให้ค่ากับทรัพยากรที่หายากและเป็นที่ต้องการมากที่สุด มีสองวิธีที่จะทำให้คุณเป็นเจ้าของทักษะที่มีคุณสมบัติเช่นนั้นได้

หนึ่ง คือ พยายามเป็นที่หนึ่งของประเทศในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเลย กับสองคือพยายามเก่งในทักษะตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปในระดับที่อาจจะไม่ถึง กับยอดเยี่ยม แต่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป

ทั้งสองวิธีจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในอาชีพการงานได้ทั้งคู่ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า วิธีที่สองจะเป็นวิธีที่บรรลุได้ง่ายกว่ามาก ทักษะที่เป็นที่ต้องการของสังคมอาจมีอยู่ทั้งสิ้น 1,000 ทักษะ คนที่จะเป็นที่หนึ่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงมีอยู่ได้แค่ไม่เกินหนึ่งพันคน ในประเทศเท่านั้น แต่ถ้าคุณพยายามสร้างมูลค่าให้ตัวเอง ด้วยการเป็นคนที่ใช้ทักษะสองหรือสามอย่างได้ดีพอสมควรในเวลาเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นยอดเยี่ยมที่สุด คุณก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นทรัพยากรที่ขาดแคลนได้มากขึ้นแล้ว เพราะประเทศจะต้องการคนอย่างน้อยหนึ่งล้านคน (หนึ่งพันคูณหนึ่งพัน) เพื่อให้ประเทศมีคนที่เก่งในสองทักษะใดๆ อย่างน้อยหนึ่งคนอยู่ในประเทศนี้

ลองสังเกตดูว่า คุณมีทักษะอะไรบ้างที่ทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปบ้าง ลองหางานที่ทำให้คุณมีโอกาสได้ใช้ทักษะเหล่านั้นหลายอย่างมากที่สุดเท่าที่ จะมากได้ หรือมิฉะนั้น ก็ลองดูว่าคุณจะสามารถนำทักษะเหล่านั้นมาใช้กับงานที่คุณทำอยู่แล้วให้มาก ที่สุดเท่าที่จะมากได้อย่างไร อย่ายึดติดกับชื่อตำแหน่งงานมากนัก จงมุ่งไปที่ลักษณะของเนื้องานมากกว่า นั่นอาจจะเป็นหนทางที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จแบบง่ายๆ ก็ได้ครับ
http://newsroom.bangkokbiznews.com/comment.php?id=7216&user=Narin

จากคุณ : yahee
เขียนเมื่อ : 18 ส.ค. 52 15:17:09




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com