|
ความคิดเห็นที่ 2 |
ก่อนจะชมสะเก็ดต่อไป รบกวนชวนปูเสื่อฟังพื้นฐานเรื่อง ประเภทการขนส่งทางราง ของญี่ปุ่นกันก่อนนะ
ถ้าพี่น้องเข้าใจเรื่องนี้ พอเห็นแผนที่รถไฟเมืองใหญ่ ๆ อย่างโตเกียว ที่พันกันเป็นใยแมงมุมเมาค้าง ก็น่าจะพอเกะรอยได้บ้าง
เรื่องอะไรที่ซับซ้อนยุ่งยากน่ามึน ต้องจับมาผ่าแยกส่วน จะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น..
รถไฟญี่ปุ่น เมื่อก่อนก็เหมือนรถไฟไทย ใช้หัวรถจักรไอน้ำหรือดีเซลลากโบกี้ ขนคนข้ามจังหวัด วิ่งกันยาว ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างกันเป็นวัน ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาช่วยสงเคราะห์ทิ้งบอมด์ถล่มทุกอย่างในเมืองจนราบ ญี่ปุ่นเลยใช้โอกาสนี้ + ความขยันและจริงจังขั้นเหนือมนุษย์ ดูดความรู้จากอเมริกา มาวางผังสร้างเมืองใหม่ ทำระบบการขนส่งทางรางตามมาตรฐานประเทศที่เจริญแล้วมาถึงทุกวันนี้
ตัวอย่างการจัดระบบ และแบ่งโซนวิ่งของรถไฟในญี่ปุ่น (โปรดูรูปประกอบด้านล่างไปด้วย)
เบอร์ 1 รถราง (Streetcar หรือ Tram) ใช้ขนส่งผู้คนในเขตเมืองหรือย่านที่ผู้คนไม่ได้แออัดมากนัก เพราะรางวางอยู่กลางถนนกินเลนรถไป 2 เลน ตัวรถก็ไม่ใหญ่ ขนคนได้ไม่เยอะ
จะหาเจอได้ตามหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด อย่าง ซัปโปะโระ ฮาโกดาเทะ โทยาม่า โทโยฮาชิ โอคายาม่า ฮิโรชิม่า โคจิ นางาซากิ คุมาโมะโตะ และแม้แต่ใน โตเกียว ก็ยังอนุรักษ์ไว้ 1 เส้นทางตามรูป คือ Toden Arakawa Line วิ่งระหว่าง ย่านมิโนวะ ไปแถว ม.วาเซดะ
เบอร์ 2 รถไฟรางเดี่ยว (Monorail) ระบบรถรางในเมืองสมัยใหม่ มาแทนที่รถรางแบบเดิม ขนคนได้ไม่มากเหมือนกัน แต่ไม่เปลืองพื้นที่เพราะอยู่บนรางลอยฟ้า สร้างง่าย เสร็จไว ใช้ทุนไม่เยอะเหมือนทำรถใต้ดิน
โมโนเรลชื่อดังที่หลายคนอาจมีโอกาสได้ใช้ตามรูป คือ Tokyo Monorail วิ่งรับส่งคนระหว่าง สนามบินฮาเนดะ กับ เมืองโตเกียว ปลายทางอยู่ที่สถานี Hamamatsu-cho ที่ผมเคยพาไปดูเจ้าหนูยืนฉี่แต่งคอสเพลย์มาแล้ว (http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2009/07/E8086039/E8086039.html)
หมายเหตุ: รถราง Yurikamome ที่วิ่งไปโอไดบะ ลอยฟ้าเหมือนกัน แต่ทางเทคนิคไม่ถือว่าเป็น Monorail นะครับ เป็นการขนส่งมวลชนอีกประเภทนึงที่เรียกชื่อเฉพาะว่า Automated Guideway Transit หรือเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า รถล้อยางไร้คนขับ เนื่องจากไม่ได้วิ่งบนราง แต่ใช้ล้อยางวิ่งบนเลนลอยฟ้า ถ้าใครได้นั่งรถไฟยูริกะโมเมะ ลองไปที่โบกี้แรก คุณจะไม่เจอห้องคนขับ และ ถ้ามองไปหน้ารถ จะเห็นว่าขบวนรถวิ่งอยู่แท่นซีเมนต์เคลือบวัสดุกันลื่น ไม่ใช่รางเหล็ก
เบอร์ 3 รถไฟขนส่งมวลชน (Rapid Transit) ถ้าเป็นบ้านเราก็เทียบได้กับรถเมล์ ขสมก. นั่นแหละ (อย่าเอาไปเทียบกับรถไฟหวานเย็นชานเมืองบ้านเรานะ เด๋วจะไม่เห็นภาพ) ที่ญี่ปุ่น คือ สารพัดรถไฟทั้งบนดิน ใต้ดิน และลอยฟ้า ที่ใช้ขนส่งคลื่นมหาชนในเขตเมือง ผ่านเมือง และเข้า-ออกตัวเมือง
รถไฟที่จะถือว่าเป็น Rapid Transit ได้ ต้องมีสรรพคุณ 3 อย่าง คือ วิ่งใกล้ มาบ่อย และ ใหญ่พอ เอาไว้ใช้ขนคนจากชานเมืองมาทำงานในเมืองว่างั้น ดังนั้น BTS และ MRTR บ้านเรา ก็เป็น Rapid Transit
Rapid Transit สายดังและรู้จักเยอะ ก็ต้องเป็น JR Yamanote Line (ตามรูป), Tokyo Metro, Toei Subway, Osaka Subway, Osaka Loop Line
รถไฟประเภทนี้ จะเรียกชื่อตามชื่อเส้นทางที่รถไฟวิ่ง แล้วใช้คำว่า Local (Futsu-ressha) หรือ Rapid (Kaisoku) หรือ Express (Kyuko) วางประกบ และอาจมีบรรดาศักดิ์พิเศษมาเติมหน้าชื่อ อย่างเช่น Special Rapid, Section Rapid, Semi-repid หรือ Commuter ทั้งหมดวิ่งเร็วไม่ต่างกัน แต่จำนวนสถานีที่แวะจอดไม่เท่ากัน Express เร็วสุด เพราะจอดน้อยกว่า Local ก็จอดดะมันทุกสถานี
เบอร์ 4 และเบอร์ 5 รถไฟด่วนพิเศษ (Limited Express เรียกย่อ ๆ ว่าLEX หรือ Tokkyu) เป็นรถไฟตามนิยามปกติที่เราเข้าใจกัน ใช้วิ่งทางไกลขนผู้โดยสารระหว่างจังหวัด หรือข้ามภูมิภาค วิ่งเร็วกว่า Rapid Transit แต่ไม่เกิน 130 กม./ชม. จอดน้อยเฉพาะสถานีสำคัญ
แต่ละสายจะมีการตั้งชื่อเป็นเอกลักษณ์เหมาะกับหน้าตารถไฟ เป็นที่เพลินเพลินของเหล่าเท็ทจังและเท็ทซึโกะ (ชายและหญิงผู้คลั่งไคล้รถไฟ) เช่น ตามรูปเบอร์ 4 คือ LEX Haruka วิ่งระหว่างสนามบินคันไซ โอซะกะ กับเกียวโต ส่วนเบอร์ 5 เป็นรถนอน (Sleeper Train) ชื่อ LEX Hokuriku ใช้หัวรถจักรไฟฟ้าลากตู้นอน (Blue Train) วิ่งระหว่าง โตเกียว กับ จังหวัดคานาซาว่า
ประเภทสุดท้าย เบอร์ 6 น้องใหม่มาแรงคู่แข่งตัวสำคัญของสายการบินในประเทศ รถไฟความเร็วสูง (High-speed Railway หรือ Shinkansen) ก็ตามชื่อ เป็นรถไฟขนผู้โดยสารระยะไกล ด้วยความเร็วเฉลี่ยเกินกว่า 200 กม./ชม. มีรางและชานชลาแยกต่างหากแยกจากรถไฟปกติ
ชินคันเซนสร้างมาเพื่อทดแทน Limited Express ขบวนที่วิ่งระยะไกลมาก ๆ เพื่อให้ลดเวลาเดินทางที่เคยใช้จาก 7-8 ชั่วโมง เหลือแค่ 2-3 ชั่วโมง คือเดี๋ยวนี้ LEX แทบทุกเส้นทางจะถูกปรับลดให้วิ่งในระยะกลาง ประมาณ 2-300 กม. ต่อเที่ยว เพื่อให้ผู้โดยสารใช้เวลานั่ง LEX ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง ถึงจุดหมายโดยก้นไม่ด้าน ถ้าอยากนั่งไปไกลกว่านั้นก็ต้องลงไปต่อขบวนอื่น
ชินคันเซนจึงมารับบทรถไฟระยะไกล ใช้วิ่งเชื่อมหัวเมืองขนาดใหญ่ ที่มีการเดินทางระหว่างกันเยอะ ๆ อย่าง คาโงชิมะ ฟุคุโอกะ ฮิโรชิม่า โอซะกะ เกียวโต นาโงย่า โตเกียว นางาโนะ นีงะตะ ยามางาตะ อะคิตะ เซนได และจะยาวไปถึง อาโอโมริ และ ซัปโปะโระ เร็ว ๆ นี้
เฮ่อ.. อธิบายยาวไปมั้ยเนี่ยะ?
จากคุณ |
:
NumAromDee
|
เขียนเมื่อ |
:
8 ก.ย. 52 19:08:36
|
|
|
|
|