 |
ความคิดเห็นที่ 88 |
ใคร? ... ทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์
26 ธันวา ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ รัฐบาลไทยออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบัน ครบ 50 ปี พอดี พวกเรา 2 คน ยังคงเดินสำรวจพื้นที่ป่า และดูร่องรอยการกระจายพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ย่างเข้าสู่หน้าหนาวในป่า เกือบยามแล้ง ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี ร่วงหล่น แหล่งน้ำ ลำห้วย เริ่มแห้งขอด เสียงเงียบงันในป่า
แทบจะไม่เหลือสัตว์ในป่าให้เห็นอีกแล้ว พวกคุณอยู่ในเมือง น่าจะเห็นสัตว์ป่ามากกว่า ตามสวนสัตว์นั่นแหละ เป็นคำพูดของพะตีนิ จะกุ ผู้เฒ่าแห่งดงดอย ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน
ไม่น่าเชื่อว่าจะตรงกับการวิเคราะห์สถานการณ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะชนิดที่กำลังถูกคุกคาม (Endanger species /IUCN) อนาคตของ ป่าเงียบ (Empty Forest) หรือป่าที่ว่างเปล่า อาจจะเป็นจริงได้ ดั่งคำพูดที่สอดคล้องกับประเทศไทยในปัจจุบัน และประเทศในภูมิภาคเอเชียมีการขยายตัวของสวนสัตว์ และกิจการอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับสวนสัตว์ เช่น การจัดแสดง (Animals Show) และ อควาเรียมสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ซึ่งคาดว่าทั้งของภาครัฐและเอกชนในรอบ 5 ปี (2005 2009) กว่า 112 แห่ง
ในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ที่เห็นได้ชัดก็คือการเปิด สวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่ต้องการรวบรวมสัตว์ป่าไว้กว่า 130 ชนิด จำนวนกว่า 3,000 ตัว ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าที่มีอยู่ในประเทศและนำเข้า
ถึงแม้ว่าการขยายตัวของสวนสัตว์ จะมีกลุ่มอนุรักษ์ออกมาตั้งคำถาม เป็นเชิงข้อโต้แย้งอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคปัญหา ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยังมีการเปิดสวนสัตว์ใหม่ๆ อีก เช่น ที่ จ.อุบลราชธานี จ.ขอนแก่น จ.สุโขทัย จ.นครสวรรค์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ราชบุรี เป็นต้น
คำถามก็คือ พวกคุณจะเอาสัตว์ป่าจำนวนมากมาจากไหน
พวกคุณทำอย่างไรถึงได้สัตว์เหล่านั้นมา
และอนาคตของสัตว์ป่าพวกนี้จะเป็นอย่างไร
หลายครั้งที่เราสืบเสาะหากข้อมูลเชิงลึก พบว่ามีธุรกิจการค้าขายสัตว์ป่ากันแบบใต้ดิน และทุกครั้งจะมีเจ้าหน้าที่องค์การสวนสัตว์เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมีการตั้งบริษัทนอมินีขึ้น
ในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งมีการแข่งขันในทางเศรษฐกิจกันสูงในภูมิภาคนี้ เพราะกิจการสวนสัตว์ไปเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และจีน ต่างมีสวนสัตว์ไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของสวนนก สวนงู ปางช้าง และอควาเรียม
ข้อสงสัยที่ว่า ทำไมกิจการสวนสัตว์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว คำตอบง่ายๆ ก็คือ เป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกำไรสูง ตั้งแต่งบประมาณในการรับเหมาก่อสร้าง การนำเข้า ซื้อ ขาย สัตว์ป่า และการบริการอื่นๆ เช่น ของที่ระลึก ร้านอาหาร การเก็บค่าเข้าชม รายได้พวกนี้เรียกว่า Non Zoos Business
ดูอย่างหมีแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในแง่ของคนเข้าชมสูงมากเป็นประวัติการณ์ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าแพนด้า ทั้ง ช่วง ช่วง และหลินฮุ้ย รวมทั้งหลินปิงที่เกิดใหม่นั้น เป็นสมบัติของประเทศจีน รัฐบาลไทยต้องมีค่าใช้จ่ายตามข้อตกลง จำนวนมากเท่าไหร่ไม่รู้ และแพนด้าทั้งหมดนั้น เมื่อครบสัญญา ต้องส่งคืนประเทศจีน ต่างจากช้างไทย 8 ตัว ที่รัฐบาลไทยขายให้กับสวนสัตว์ทารองก้า ในประเทศออสเตเลีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน
ไม่รู้ทำไมว่า รัฐบาลไทยถึงคิดจะขยายให้มีสวนสัตว์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันนี้ ที่อยู่ในการควบคุมดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 7 8 แห่ง ปีหนึ่งๆ ใช้งบประมาณนับ 10,000 ล้านบาท ถ้าสร้างสวนสัตว์ใหม่แต่ละแห่งอีก ก็ต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อที่ ใช้พื้นที่กว่า 1,000 3,000 ไร่ และสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 100 ชนิด กว่า 3,000 ตัว
นึกย้อนกลับมาถึงคำพูดของพะตีนิ จะกุ ว่าสัตว์ป่าที่มีอยู่ในกรงขังตามสวนสัตว์อาจจะมากกว่าสัตว์ที่เหลืออยู่ในป่าด้วยซ้ำ เดินคุยไปกับพะตีนิ จะกุ ในป่าในยามแล้ง เสียงดังครอบแครบ เหยียบใบไม้แห้ง และกิ่งไม้เล็กตามทางเดิน ในใจคิดว่า อนาคตของสัตว์ป่าเมืองไทยจะเป็นอย่างไร อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ฤดูแล้งเต็มที่ ปัญหาไฟป่าและควันไฟ ก็โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง
หยุดพักบนสันดอย มองไปข้างหน้า เมื่อไม่นานมานี้ ยังเป็นผืนป่าที่มืดครึ้ม แต่มาบัดนี้ มีไร่ข้าวโพดแห้งกรอบสีน้ำตาล ปกคลุมอยู่เป็นหย่อมๆ 2 3 ปีที่ผ่านมา ไร่ข้าวโพดและพืชเชิงเดี่ยวชนิดอื่นๆ ขยายตัวไปในพื้นที่สูงอย่างรวดเร็ว และพี่น้องชาวนา ชาวไร่ ทั้งพื้นราบและบนดอยสูง ต่างก็ใช้ยาฆ่าหญ้ากันอย่างรุนแรง
สัตว์ป่าจะอยู่ได้อย่างไร .. ป่าก็ถูกทำลาย ที่อยู่อาศัย แหล่งหากินไม่มี แหล่งน้ำก็ปนเปื้อนสารพิษ ผู้คนก็ยากจน พะตีนิ จะกุ ยังคุยอีกว่า คิดดูสิ ว่าใครทำลายสัตว์ป่า ชาวบ้านคนยาก คนจน หรือพวกที่อยู่ในเมืองกันแน่
เพราะข้าวโพดต้องไปเป็นอาหารให้กับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ไก่ หมู และวัว ควาย และพวกเราก็กินเนื้อสัตว์พวกนั้น แล้วก็ไปเที่ยวสวนสัตว์ ดูสัตว์ป่าในกรง คุณคิดยังไง ... พะตีทิ้งท้าย
ยังไม่นับถึงผู้คน ทั้งชาวไทย และต่างประเทศจำนวนมาก ที่แห่กันเข้าไปในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะบนดอยสูงที่มีอากาศหนาวเย็น ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าก็ตาม ผู้คนเบียดเสียดยัดเยียด ทั้งกลางวัน กลางคืนรถยนต์ขนส่งจำนวนมาก ผู้คนนับหมื่น นับแสน ไม่ว่าจะเป็นป่าอินทนนท์ หรือเขาใหญ่ก็ตาม
สัตว์ป่าไม่มีที่จะซุกหัว
26 ธันวา ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
รัฐบาลไทย ออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน ครบ 50 ปี
คุณคิดว่าใครทำให้สัตว์ป่าไทยสูญพันธุ์ ..... ?
ให้คิดเอง ตอบเอง และขอไว้อาลัยให้กับสัตว์ป่าไนท์ซาฟารีเชียงใหม่ ที่ตายทุกปี
บทความข้างบน โดยคุณ นิคม พุทธา .. นำมาจากลิงค์นี้ค่ะ http://doichiangdaocampingsite.com/stories_7.html
จากคุณ |
:
โป่งวิด
|
เขียนเมื่อ |
:
2 มี.ค. 53 21:45:47
|
|
|
|
 |