Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เบื้องหลังการทำหนังสือไกด์บุ๊คภาษาไทยที่คุณอาจไม่เคยรู้ ติดต่อทีมงาน

จริงๆ ว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้เพราะเป็นการแกว่งปากหาเท้าพอสมควร แต่เอาเหอะ ผมว่าควรจะมีคนเล่าความจริงให้ผู้บริโภครับรู้กันบ้าง ส่วนคนฟัง/คนอ่านจะชอบหรือไม่ชอบ ก็แล้วแต่รสนิยมส่วนบุคคลนะครับ ผมเตรียมรับทั้งกระถางและดอกไม้เอาไว้เรียบร้อยแล้ว


คุณเคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่าไกด์บุ๊คภาษาไทยที่คนไทยเขียนที่คุณถือกันอยู่ในมือเวลาไปเที่ยวนั้น เชื่อถือได้มากแค่ไหน?

เคยสงสัยบ้างไหมครับว่า ทำไมถึงมีแต่แค่เรื่องที่เที่ยว ที่พัก ที่กิน ที่ช้อปปิ้งเป็นหลัก? เรื่องแวดล้อมอื่นๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น อาหาร เสื้อผ้า ภาษา สถาปัตยกรรม กลับแทบไม่มี? 

และทำไมถึงมีแต่รูปเต็มไปหมด ในขณะที่ตัวหนังสือมีนิดเดียว?

รูปและเนื้อหาพวกนี้เชื่อถือได้แค่ไหน?


ผมเคยเขียนหนังสือไกด์บุ๊คมาหลายเล่มพอสมควร และผมเชื่อเป็นอย่างมากว่าคุณๆ ที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้ก็คงจะต้องเคยผ่านการใช้ไกด์บุ๊คที่ผมเขียนมาบ้างแล้ว ตอนนี้ผมเลิกทำไกด์บุ๊คแล้วครับเพราะผมรู้ว่าไกด์บุ๊คหลายเจ้า (ไม่ใช่ทุกเล่มจากทุกสำนักพิมพ์นะครับ) เชื่อถือได้ค่อนข้างน้อย

เพราะอะไรผมถึงบอกว่าเชื่อถือได้น้อย? มันเริ่มตั้งแ่ต่กระบวนการผลิตขั้นแรกแล้วครับ

ขั้นแรกเลย กอง บก. จะประชุมกันก่อนว่า ไกด์บุ๊คที่จะทำนั้นจะเป็น concept ไหนและเกี่ยวกับสถานที่ใดบ้าง หลังจากสรุปกันเรื่องนี้ได้แล้ว (ซึ่งก็มักจะใช้เวลาไม่นานเพราะมีสูตรและแนวทางการตลาดกำหนดมาแล้ว) กอง บก. ก็จะมีหน้าที่ไปหารายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ มา สมมุติว่าเรากำลังจะทำไกด์บุ๊คไปเที่ยวเกาะเสม็ดก็แล้วกันนะครับ (ย้ำ! นี่เป็นการสมมุติเท่านั้น)

การหารายละเอียด ไม่ใ่ช่เรื่องยากเลยครับ สมัยนี้เรามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า "อินเตอร์เน็ต" (Internet) แล้ว เราก็เพียงแค่เปิด Google ขึ้นมาและพิมพ์ชื่อสถานที่หรือเรื่องที่เราสนใจเกี่ยวกับเสม็ดลงไป แล้วข้อมูลเกี่ยวกับเสม็ดก็จะประเดประดังออกมาอย่างมากมาย

และหนึ่งในหน้าเพจที่เราเข้ามาหาข้อมูลกันประจำทุกครั้ง ทุกที่ ทุกทริป ก็คือ ห้องบลูฯ แห่งนี้นี่ละครับ

หลังจากเรารวบรวมข้อมูลได้มากเพียงพอแล้ว เราก็มาวางแผนกันว่าจะออกทริปลงพื้นที่กันวันไหนบ้าง สมมุติ (อีกแล้ว) ว่าเราจะลงพื้นที่เกาะเสม็ดกันในวันที่ 1-4 เดือนกันยายน ทางฝ่ายประสานงาน (หรือบางทีก็เป็นคนเขียนเองด้วยซ้ำ) ก็จะได้รับมอบหมายให้คัดเลือกที่พักและร้านอาหารที่น่าสนใจ แล้วทำการโทรติดต่อเพื่อขอ barter

สำหรับท่านที่ไม่ทราบว่า barter คืออะไร ขออนุญาตอธิบายเอาไว้ตรงนี้นะครับว่า barter ก็คือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน เช่น ผมเอาเกลือมา 10 ถัง แลกหมูของคุณได้ 1 ตัว... แบบนี้

การ barter ที่พักและร้านอาหารสำหรับการทำไกด์บุ๊คก็คือ การที่สำนักพิมพ์ติดต่อไปตามสถานที่เหล่านี้ เพื่อขอให้ทีมงานที่จะลงพื้นที่ได้ที่พักฟรีและมีอาหารกินฟรี เพื่อแลกกับการที่ที่พักหรือร้านอาหารแห่งนั้นจะได้มี "พื้นที่" ในไกด์บุ๊คมากกว่าเจ้าอื่นที่ไม่ได้ barter กับสำนักพิมพ์ พูดง่ายๆ ก็เหมือนการขายโฆษณาแฝงนั่นละครับ เพราะฉะนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1-4 ทีมงานก็จะได้นอนที่พักไม่ซ้ำกันเลย และก็เป็นไปได้ที่อาหารทุกมื้อจะกินฟรี และได้รับบริการอย่างดีเป็นพิเศษจากร้านอาหารเพราะเราติดต่อเขาไปแล้วว่าจะไปถ่าย

การ barter นี้เป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์ชอบมากครับ เพราะเซฟค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักที่กินที่จะต้องจ่าให้ทีมงานไปได้้หลายตังค์ คนทำงานเองในแง่หนึ่งก็ชอบครับ เพราะได้พักได้กินแต่ของดีๆ แต่บางทีก็เหนื่อยที่เราต้องตระเวนไปเก็บข้อมูลถ่ายรูปวันหนึ่งๆ เป็นรวมกันเป็นสิบที่ก็มี

หากมองในแง่การตลาด นี่ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับ เพราะต่างมีผลต่างตอบแทนที่ยอมรับกันได้ทั้งคู่ แต่ถ้าถามในแง่ความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูลนั้นเป็นอีกเรื่องครับ 

ยกตัวอย่างเช่น ที่พักแห่งหนึ่งที่เราดูเอาจากเน็ต ดูดีทีเดียว (และอาจจะรวมไปถึงได้รับการรีวิวในเชิงบวกจากห้องบลูฯ ด้วย) รูปที่เราหาดูได้จากเน็ตดูดีมาก เราก็ติดต่อ barter ไป แต่พอเราไปถึงจริงๆ กลับได้รับบริการที่ไม่ดี ห้องพักหรือสถานที่ไม่สวยจริงอย่างในรูป เราซึ่งเป็นเพียงกอง บ.ก. กระจอกๆ มีหน้าที่ ทำยังไงก็ได้ให้ออกมาดี

สมมุตินะครับว่าห้องพักคืนแรกที่เราไปพักที่เสม็ดดูแย่กว่าในเว็บมากเลย บริการก็ไม่ดี พนักงานพูดจาไม่สุภาพ อาหารก็ห่วย เราไม่มีสิทธิบอกว่า เราไม่พักละ เราจะไปที่อื่นละ เพราะมันมีการ barter กันไว้แล้ว ทางสำนักพิมพ์ไม่ยอมเด็ดขาด (และเขาก็ไม่อยากต้องมาจ่ายค่าที่พักให้เราด้วย) เราก็จำเป็นต้องนอนและแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป เช่น ห้องที่ดูแย่กว่าในเว็บ ช่างภาพก็ต้องหามุม ถ่ายเจาะ ถ่ายกว้าง ใช้แสงช่วยหลอกตา เลื่อน daybed มาบัง เอากระถางมาช่วย compose ภาพ เอากลีบดอกไม้มาโปรย ฯลฯ ทำยังไงก็ได้ให้ดูสวยกว่าของจริงจนได้.... หรือถ้าจนปัญญาแล้วจริงๆ ถ่ายรูปกลับมาก็ยังใช้ photoshop หรือ lightroom ตบแต่งภาพ แก้องค์ประกอบใหม่ แก้แสงใหม่ ฯลฯ จนภาพออกมาดูสวยผิดจากของจริงได้ไม่ยาก

ส่วนในเรื่องเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับที่พักแห่งนี้ ทางคนเขียนมีหน้าที่ดัดจริตเีขียนยังไงก็ได้ให้ที่พักนี้ออกมาดูดี เช่น ห้องก็ไม่สวยสมราคา บริการก็ไม่เลิศ อาหารก็ไ่ม่อร่อย  เราก็อาจจะต้องเลี่ยงไปเขียนในเรื่อง location (ติดหาด ดูพระอาทิตย์ตกได้) หรือถ้า location ไม่ได้เปรียบ ก็อาจจะต้องไพล่ไปเรื่องประวัติความเป็นมา สถาปัตยกรรม การออกแบบ โทนสี จำนวนห้อง ประเภทห้อง บริการเสริมอื่นๆ เช่น สระว่ายน้ำ สปา ฟิตเนส หรืออะไรต่อมิอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพของห้องพักและบริการโดยตรง

ลองสังเกตดูก็ได้ครับว่า บางที่พักจะได้พื้นที่หน้าหนังสือมากหน่อย มีรูปเยอะหน่อย รูปสวยๆ เน้นๆ ด้วย เนื้อหาเขียนอวยเยอะๆ ... นั่นแหละครับที่พักที่เรา barter ไว้

ร้านอาหารก็เช่นเดียวกันครับ มื้อเ้ช้ากินร้านนึง 11.30 มีนัดกินกลางวันอีกร้านนึง 15.00 มีนัดกินกาแฟที่้ร้านนั้น 18.00 มีนัดไปทานมื้อเย็นริมทะเลที่โน่น พอ 20.00 มีนัดไปบาร์ชายหาดที่นั่นอีก และทุกที่จะเป็นเหมือนกันหมดคือ เตรียมต้อนรับเราไว้อย่างดี โต๊ะจัดไว้ดีกว่าโต๊ะอื่น อาหารดีกว่าและเยอะกว่าโต๊ะอื่นๆ บริการดีกว่า บางแห่งมีการจัดมุมถ่ายรูปไว้ให้อย่างดีอีกด้วย (หรือถ้าไม่ดีเราก็ทำแบบเดียวกับห้องพักนั่นแหละครับ) เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทีมงานได้มักจะดีกว่าปกติ ผมเคยเจอกระทั่งเขียนแนะนำร้านอาหารร้านหนึ่งลงในไกด์บุ๊คเล่มหนึ่งไป หลังจากหนังสือออกไปประมาณ 3 เดือนแล้ว ผมกับเพื่อนไปเที่ยวกัน แวะไปกินร้านนี้แต่ไม่ได้บอกเจ้าของร้านว่าผมมา  ปรากฏว่าอาหารรสชาติแย่ บริการไม่ดี จนเพื่อนถามว่านี้เหรอร้านที่เมริงเขียนแนะนำเขาไปทั่ว

ยังไม่หมดครับ เนื่องจากที่เที่ยวแต่ละที่มีที่พักและที่กินจำนวนมาก และทางสำนักพิมพ์จะกำหนดมาแล้วว่าควรจะมีที่พักและที่กินกี่ที่ในไกด์บุ๊คเล่มนั้น ทีมงานไม่สามารถ barter ได้หมดทุกที่ อย่างที่พักก็จะมีที่เราติดต่อขอเข้าไปเก็บข้อมูลและถ่ายรูปเฉยๆ เราอาจจะใช้เวลาแค่ 30 นาทีเท่านั้น (ต้องทำเวลาเพราะมีอีกหลายที่) ข้อมูลที่เอามาเขียนก็มักจะมาจากปากของผู้จัดการที่พัก เราอาจได้เดินดูห้องเด็ดๆ ของเขาสัก 2-3 ห้อง แต่เราไม่เคยพักจริงๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าถ้าพักจริงๆ ที่นี่จะดีอย่างที่ว่าจริงหรือเปล่า เคยเจอกรณีที่พักที่ผมเขียนแนะนำไปแล้วมาโดนด่าเละในห้องบลูก็มีอยู่ 2-3 ที่ครับ

กรณีที่แปลกที่สุดคือ บางครั้งมีที่พักหรือร้านอาหารที่เพิ่งเปิดมา ใหม่มั่กๆ ใหม่ซะจนเราหาในเน็ตไม่เจอ ปรากฏว่ากลับมาเขียนต้นฉบับเสร็จแล้ว ฝ่ายศิลป์กำลังทำ artwork จวนเสร็จละ คุณ บ.ก. ดันไปเจอเกี่ยวกับที่พักหรือร้านอาหารนี้ อาจจะจากรายการทีวี (เช่น เปรี้ยวปาก) หรืออาจจะจากกระทู้รีวิวในห้องบลู เกิดอยากจะเอาลงขึ้นมา ก็แก้ปัญหากันง่ายๆ ด้วยการโทรไปติดต่อเขา ขอไฟล์รูปมาให้ฝ่ายศิลป์ตบแต่ง ดัดแปลงหน่อย ขอข้อมูลมาให้กอง บ.ก. rewrite ใหม่ เพราะฉะนั้นที่พักหรือร้านอาหารบางแห่ง ทีมงานไม่เคยไปมาเลย ไม่เคยไปพัก ไม่เคยไปกิน ไม่เคยแม้แต่ได้เห็นด้วยตาของตัวเอง แต่ ปิ๊ง! มันมาโผล่ในหนังสือให้คุณๆ ได้อ่านพร้อมรูปและข้อมูลครบถ้วนชวนฝัน

กรณีแบบนี้ (ไม่เคยไปแต่มีมาลง) อาจจะเกิดได้จากอีกสาเหตุคือ ที่พักหรือร้านอาหารแห่งนั้นอยู่นอกเส้นทางที่เราวางแผนการทำงานไว้ (แต่พอดีน่าสนใจจัด เก๋จัด ใหม่จัด ยังไม่มีที่ไหนลง) ถ้าจะแวะไปเก็บแค่ที่เดียวก็ไม่คุ้มเวลา (อย่าลืมนะครับ วันนึงเราไปถ่ายเป็นสิบที่) ทางฝ่ายประสานงานก็จะโทรขอรูป + ข้อมูลตั้งแต่แรกเลย เวลาเราลงพื้นที่ก้ไม่ต้องแวะไปให้เมื่อยตับ

เวลาในการลงพื้นของเราส่วนใหญ่ไม่เกินอาทิตย์หรอกครับ บางทีอาทิตย์นึงตระเวนไป 2-3 ที่ติดๆ กันด้วยซ้ำ และบางที่ที่เราไป เราก็เพิ่งเคยไปเป็นครั้งแรก เราอาจจะมีเวลากับมัน 3 วัน 5 วัน 7 วัน แต่เราต้องกลับมาเขียนเหมือนว่าเราเป็น expert เคยไปมาเป็นสิบๆ รอบ และรอบรู้ทุกอย่างเสียจนเราเอามาเขียนเป็นหนังสือเป็นเล่มๆ ราคาสองสามร้อยบาท เพื่อแนะนำคนอื่นได้

วิธีการทำแผนที่ ไม่ต้องพูดถึงครับ GPS เหรอ? ไม่มี๊ เราเอามือวาดกันนี่ละครับ จะถูกอัตราส่วนหรือไม่ ไม่เป็นไร สถานที่ต่างๆ เราก็อาศัยจุดๆ กันเอาเองตามคาดคะเน ตรงบ้าง ผิดบ้าง ไม่เป็นไร เราไม่ได้ทำแผนที่ทหาร ส่วนเวลาคุณผู้อ่านเอาไปใช้แล้วขับไปผิดซอย หรือที่ดูเหมือนใกล้ๆ กับไกลโข อันนี้ก็ใช้วิจารณญาณกันเอาเองครับ

อีกอย่างคือหนังสือพวกนี้มักจะมีรูปประกอบเยอะมากๆ เหตุผลแรกเลยเป็นเพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านตัวหนังสือเยอะๆ (บางทีเขียนให้รายละเีอียดเยอะหน่อย บ.ก. จะตัดออกเหลือสั้นจุ๊ดจู๋เลยก็มี) และภาพสวยๆ มันชวนฝันมากกว่าตัวหนังสือ คนไทยส่วนใหญ่คล้อยตามและรู้ึสึกอยากไปเที่ยวเพราะภาพมากกว่าข้อมูล (ไม่เชื่อดูกระทู้รีวิวในห้องบลูก็ได้ครับ) ซึ่งก็นำมาสู่เหตุผลที่สองคือ การใส่รูปเข้าไปทุกหน้า ทำให้ต้องใช้กระดาษอาร์ตเพื่อพิมพ์ภาพสีทุกแผ่น กระดาษพวกนี้มีราคาสูง ทำให้หนังสือราคาสูงตาม ไกด์บุ๊คบ้านเราจึงมักจะมีราคาอยู่ราวๆ 200-300 บาท หน้าสีทุกหน้า ดูดี ดูสวย เปิดดูแล้วชวนฝันลอยไปไกลมากๆ 

ส่วนตัวผมเห็นว่า วิธีการผลิตแบบนี้ของไกด์บุ๊คบางเล่มของบางเจ้าไม่แฟร์ต่อผุ้บริโภค เพราะข้อมูลในหลายๆ ได้มาด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ นำเสนอผ่านวิธีการที่ไม่น่าเชื่อถือ (เช่น ตบแต่งรูปอย่างมาก ไม่เคยลงพื้นที่จริงบางแห่ง) มีการตลาด (barter) เข้ามาแทรกแซงการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมากับผู้อ่าน 

ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า ผมพูดถึงการทำงานของสำนักพิมพ์ที่ผลิตไกด์บุ๊คภาษาไทยบางเจ้าเท่านั้น  และผมก็เคยเขียนไกด์บุ๊คแบบมาบางเล่มเท่านั้น ซึ่งผมก็ไม่อาจทราบได้ว่ากับสำนักพิมพ์ที่ผมไม่เคยทำงานด้วยจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า... แต่เท่าที่เปิดๆ ดูก็ดูเหมือนจะไม่หนีกันเท่าไหร่นัก

วิธีการเหล่านี้ ในแง่การตลาดภายใต้การดำเนินไปของโลกบริโภคนิยม เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ประเด็นที่ผมจะพูดถึง (และได้เกริ่นไว้ตั้งแต่แรก) คือความน่าาเชื่อถือของเนื้อหา ข้อมูล และรูปภาพ ในหนังสือเหล่านี้

กระทู้นี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อจะโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สำนักพิมพ์ บริษัท หรือหน่วยงานใดแห่งนึ่ง หรือหนังสือเล่มไหนเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการนำประสบการณ์จริงๆ ที่ผมเคยประสบมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ทุกท่านที่เป็นผุ้บริโภคทั้งหลายได้ตัดสินใจกันเอาเองว่า



หนังสือนำเที่ยวที่มีการหาข้อมูลมาจากอินเตอร์เน็ต (เหมือนที่พวกเราหากันเวลาไปเที่ยว) ลงพื้นที่แค่ 4-5 วันก็เขียนเป็นเล่มได้ ไม่เคยไปมา ไม่เคยกินมา ก็เขียนได้ เพราะขอรูปและ้ข้อมูลมาลง มีการตลาดเข้ามาแทรกแซงการทำงานค่อนข้างมาก ทำออกมาแล้วเป็นหนังสือราคาสองสามร้อยที่เต็มไปด้วยรูปแต่ข้อมูลน้อย (และซ้ำอาจจะเชื่อถือไม่ค่อยได้) .... คุ้มค่าแก่การซื้อหรือไม่?

ผมคงไม่สามารถตอบคำถามนี้แทนพวกคุณได้ และก็ไม่ได้คาดหวังว่าคำตอบของคุณจะเหมือนกับของผมนะครับ คุณอาจจะไม่คิดอะไรมาก ก็ไม่ว่ากัน อย่างที่บอกว่าผมมาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว เผื่อมันจะเป็นประโยชน์บ้างก็เท่านั้น



ณ ปัจจุบันนี้ผมลาขาดจากวงการทำหนังสือประเภทนี้มาได้ร่วม 2 ปีแล้ว และไม่คิดจะกลับไปทำอีกเด็ดขาด

จากคุณ : จร หมอนหมิ่น
เขียนเมื่อ : 20 ส.ค. 54 23:41:13




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com