ผมได้ทราบถึงการแวะเวียนเข้ามาของนกชนิดนี้ตั้งแต่ปลายปี 2544 ที่บางปู แต่ครั้งนั้นผมไม่พบเจอเจ้านกชนิดนี้ ทำให้เป็นบทเรียนที่ว่าการคาดหวังอะไรมากเกินไปก็อาจไม่เป็นดังหวังก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าสิ่งที่ไม่คาดหวังนั้นบางครั้งมันก็อาจเข้ามาหาเราเอง เช่นเดียวกับการดูนกซึ่งก็เหมือนกับยามที่เส้นขนานสองเส้นมาบรรจบกัน ณ จุดใดจุดหนึ่งคือยามที่เราได้มีโอกาสยลโฉมนกชนิดนั้น
จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2546 ผมกับเพื่อนนักดูนกกลุ่มหนึ่งได้มีโอกาสดีที่จะได้แวะเวียนไปที่บึงบอระเพ็ด เนื่องจากเพื่อนร่วมเดินทางวันนั้นได้รับข่าวว่ามันได้เข้ามาเยี่ยมเยียนที่บึงบอระเพ็ดอีกครั้งหนึ่งแล้ว ในกลุ่มที่พวกเราไปดูนกในครั้งนี้นั้นมีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยไปดูนกกับพี่เอ็นที่บึงบอระเพ็ดเพื่อตามหาเจ้านกชนิดนี้ แต่ครั้งนั้นโชคไม่ดีไม่มีใครได้เห็นมันเลย ครั้งนี้จึงถือเป็นการวัดใจกันอีกครั้ง
พวกเราไปถึงบึงบอระเพ็ดในเวลาเที่ยงและรับประทานอาหารเที่ยงระหว่างทางจากนั้นจึงล่องเรือออกไปตามบึง การดูนกโดยทางเรือนั้นก็ได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่งเหมือนกันเพราะเท่ากับเราได้สัมผัสนกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เห็นฝูงเป็ดชนิดต่าง ๆ บินว่อนอยู่เต็มท้องฟ้าแม้มิใช่นกที่หายากแต่ก็เป็นภาพอันน่าประทับใจอีกแบบหนึ่งเสมือนเป็นการเติมอัญมณีที่ล้ำค่าให้แก่จิตใจ
คนนำเรือพาพวกเรามาขึ้นที่เนินโคกแห่งหนึ่งที่เป็นสถานที่ที่มีโอกาสเห็นนกชนิดนี้ได้ง่าย และก็ไม่ผิดหวัง เจ้านกที่ Plate 11 ชนิดที่ 46 ตามหนังสือ Bird Guide ของคุณหมอบุญส่ง ก็ปรากฏกายมาให้เราเห็นจริง ๆ มีอยู่ประมาณ 10 ตัว ช่างเป็นเรื่องที่โชคดีอะไรเช่นนี้ ทีแรกมันปรากฏตัวมาให้เห็นทีละตัวสองตัวจนเห็นเป็นฝูง อีกทั้งเมื่อยามที่มันโดนแสงอาทิตย์สาดส่องเราก็ได้เห็นแสงอันระยิบระยับอร่ามตา เป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างหาเปรียบมิได้ แน่นอนนกชนิดนั้นจะเป็นนกชนิดอื่นไม่ได้นอกเหนือจากนกช้อนหอยดำเหลือบ
นกช้อนหอยดำเหลือบ ( Glossy Ibis : Plegadis falcinellus) ชื่อสกุลมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือPleg,-a,-e,-I = ia,-o หรือ Plegas หรือ Plegados แปลว่า เคียว และ dis แปลว่าส่วนที่ยื่นออกไป มีความหมายว่า ปากโค้งลง ส่วนชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ falc,-I แปลว่า เคียว และ ellus แปลว่าเล็กน้อย ความหมายคือ ปากโค้งเล็กน้อย จัดเป็นนกที่มีชื่อเรียกหลายภาษาเช่นเดียวกัน ได้แก่
French : Ibis falcinelle, Ibis Ivisant
German : Sichler
Spanish : Morito Comun
Swedish : Bronsibis
Swiss : Zwarte Ibis
Italian : Mignattaio
Dutch : Zwarte Ibis
Malayan : Sekendi Kilat
จัดให้อยู่ในลำดับดังนี้ Classification :
Phylum : Chordata
Class : Aves
Order : Ciconiiformes
Family : Threskiornithidae
Genus : Plegadis
ลักษณะที่สำคัญ จัดเป็นนกชายเลนขนาดกลาง มีขนาดเท่ากับวงศ์นกยางขนาดเล็กแต่สามารถจำแนกได้ง่ายเพราะมีขนคลุมปีกเป็นสีมืดตลอด มีจงอยปากยาวและโค้งลงเหมือนกับวงศ์นกอีก๋อย (Curlew) เป็นนกชายเลนที่มีขายาวและคอยาวในระดับกลาง โดยคอจะกางออกในขณะบิน และมีขนาดบอบบางเห็นได้ชัดเจน ถ้าอยู่ใกล้สามารถเห็นเป็นสีเขียว, น้ำตาลออกแดงและสีน้ำตาลเหลือบสะท้อนแสงซึ่งเป็นที่มาของชื่อ มีขนาด 60 เซนติเมตร หรือประมาณ 20 - 24 นิ้ว ความยาวเมื่อนกกางปีก 95 เซนติเมตร หรือประมาณ 37 40 นิ้ว น้ำหนัก 500 กรัม นกทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายคลึงกัน นกชนิดนี้ในแต่ละช่วงวัยของนกก็มีการผลัดเปลี่ยนสีขนซึ่งแบ่งแยกได้เป็นดังนี้
นกตัวเต็มวัยนอกฤดูผสมพันธุ์ รูปแบบโดยส่วนใหญ่ตั้งแต่ที่ศีรษะ, คอ, ด้านหลังและท้องเป็นสีน้ำตาลทึบมีสีม่วงเจือปนเล็กน้อย มีริ้วสีขาวที่ศีรษะและคอ ที่ขนคลุมไหล่รวมทั้งขนคลุมปีกด้านบนมีสีเขียวเหลือบ จงอยปากเป็นสีน้ำตาลจาง ๆ ขาและเท้าเป็นสีน้ำตาลทึบ มีแถบสีขาวแคบ ๆที่ระหว่างตากับโคนปาก
นกตัวเต็มวัยช่วงฤดูผสมพันธุ์ ที่คอและลำตัวมีสีน้ำตาลแดง ไม่มีริ้วบนศีรษะและคอ แต่มีแถบสีขาวที่ระหว่างตากับโคนปาก ที่ศีรษะและขนคลุมปีกที่ลำตัวช่วงบนมีสีเขียวปนสีม่วงเหลือบ จงอยปากสีน้ำตาล ขาสีเทาและมีสีแดงเจือปน
นกตัวอ่อนวัยในฤดูใบไม้ร่วงปีที่ 1 สำหรับนกในทวีปอเมริกาเหนือมีการแบ่งแยกลักษณะนี้ด้วย คือ ที่ศีรษะและลำตัวช่วงล่างมีสีน้ำตาลอ่อนพร้อมกับมีจุดกระและริ้วเป็นสีเหลืองอ่อนที่บริเวณศีรษะและคอ ลำตัวช่วงบนมีสีมะกอกเข้ม ที่ขนปลายปีกและขนกลางปีกด้านนอกมีสีเขียวเข้ม จงอยปากสีน้ำตาลจาง ๆ ขาสีเทาและไม่มีสีแดงเจือปน
นกตัวอ่อนวัย ที่ศีรษะ, คอ และหลังมีสีน้ำตาลอมเทาทึบซึ่งทึบกว่าตัวเต็มวัยนอกฤดูผสมพันธุ์ ที่ลำตัวช่วงบนอาจมีสีเขียวเหลือบเล็กน้อย ศีรษะและคอเป็นจุดหรือรอยด่างสีขาวทึบ ในส่วนท้องบางครั้งอาจปรากฏให้เห็นริ้วสีขาว มีแถบสีเทาอมฟ้าทึบที่ระหว่างตากับโคนปาก และเปลี่ยนเป็นสีเทาทึบระหว่างฤดูใบไม้ร่วงปีแรกมีขาสีเขียวอมเทา
ชนิดที่คล้ายคลึงกัน วงศ์นกอีก๋อยก็มีจงอยปากโค้งลงแต่เล็กกว่ามากมีสีน้ำตาลอยู่ลำตัวช่วงบนและมีสีขาวที่ลำตัวช่วงล่าง และไม่มีสีดำเหลือบ สำหรับในทวีปอเมริกาเหนือก็จะมีนกที่มีลักษณะคล้ายกับ Glossy Ibis ได้แก่ White-faced Ibis มีความคล้ายคลึงกันมากในส่วนของขนที่ปกคลุมร่างกายนก White-faced Ibis ตัวเต็มวัยมีตาสีแดงไม่ใช่สีน้ำตาล ในชุดผลัดขน White-faced Ibis มีแถบสีขาวอยู่รอบ ๆ ใบหน้าสีแดงที่เรียบและขามีสีแดงกว่า ตัวอ่อนวัยมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก และโดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์นกทั้งสองชนิดมีริ้วบนศีรษะและลำคอและตาสีน้ำตาลจึงเป็นเรื่องที่ยากต่อการจำแนกนกทั้งสองชนิด แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์เป็นเรื่องง่ายที่จะแยกความแตกต่างระหว่าง White-faced Ibis กับ Glossy Ibis
นกส่งเสียงร้อง hunk และเสียงที่ออกจากคอว่า rahk ส่งเสียงคำรามต่ำ
การแพร่กระจาย ผสมพันธุ์ในทวีปยุโรปตอนใต้, ทวีปแอฟริกา, มาดากัสการ์, ตอนกลางและตอนใต้ของทวีปเอเชีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินโดจีน, อินโดนีเซีย และหมู่เกาะฟิลิปปินส์, นิวกินี, ทวีปอเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย
ในเคนยาจัดเป็นนกประจำถิ่นตามพื้นที่ชุ่มน้ำและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางตามบึงน้ำจืด, ชายฝั่งทะเลสาบ นกชนิดนี้พบได้ทั้งปีในบางพื้นที่ที่เห็นได้สะดุดตาได้แก่ ทะเลสาบนากุรุ (Nakuru) และทะเลสาบไนวาชา (Naivasha) แต่ในสถานที่อื่นก็เป็นนกอพยพตามฤดูกาล มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในบางพื้นที่ เช่น บาริงโก (Baringo) นกบางกลุ่มเป็นนกอพยพ ระยะเวลาที่มีการเพิ่มจำนวนประชากรคือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเมษายนซึ่งอาจมาจากเขตขั้วโลกเหนือ ในเคนยามีการผสมพันธุ์เป็นประจำที่การ์เซน (Garsen)
ในตอนใต้ของทวีปแอฟริกานกบางกลุ่มอยู่ประจำถิ่น และบางกลุ่มก็มีการบินกระจัดกระจายไปทางเหนือหลังการผสมพันธุ์ มีจำนวนเล็กน้อยที่ผสมพันธุ์ในโมร็อกโก
หายากที่บินเร่ร่อนเข้ามาในสหราชอาณาจักร มีนกอยู่ 2 ตัวที่อยู่ประจำถิ่นในเคนท์ (Kent) ในระหว่างปี 1980 แต่ก็มิได้อยู่เป็นที่นาน ๆ มีการบันทึกพบเจอ 63 ครั้งในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ในระหว่างปี 1958 1995 ปัจจุบันแทบจะไม่มีการผสมพันธุ์ในแถบตะวันตกของขั้วโลกเหนือ ทำให้หาไม่ค่อยพบในแถบตะวันตกของทวีปยุโรป แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสใน Camargue และตามชายฝั่งทะเลที่สำคัญในสเปน เช่น บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Ebro แถบซาดีเนียและพื้นที่หลักของอิตาลี ซึ่งในอดีตมีการกระจายมากกว่านี้ในทางตอนใต้ของยุโรป แต่ปัจจุบันกลับมีเป็นจำนวนมากมายในแถบยุโรปตะวันออก โดยจำกัดอยู่เฉพาะทางตะวันออกเฉียงใต้ในทะเลบอลข่าน, ตุรกี, อิสราเอล และชายฝั่งทะเลตะวันตกของทะเลสาบแคสเปียน มีโอกาสเห็นมากในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมดานูบในโรมาเนีย จุดที่ดีอื่น ๆ ที่เห็นได้บ่อยได้แก่ บึง Gulluk และ Efes ในตุรกี, ทะเลวอลก้า (Volga) ในรัสเซีย มีจำนวนเล็กน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ในตอนเหนือของกรีซ ส่วนในอิสราเอลมีชนิดย่อยคือ Plegadis falcinellus เป็นนกอพยพบินผ่านเป็นประจำ มีสถานภาพตั้งแต่เป็นนกประจำถิ่นจนถึงประจำถิ่นเฉพาะในฤดูร้อนและผสมพันธุ์ในบางพื้นที่ และบ่อยครั้งที่ปรากฏตัวอยู่ไกลจากพื้นที่ผสมพันธุ์ และปรากฏพบทางเหนือไปถึงไอซ์แลนด์และหมู่เกาะแฟโรส์ถึงแถบสแกนดิเนเวีย ยังมีการบันทึกการพบเจอใน Azores, มาไดร่าและหมู่เกาะ The Cape Verde
มีการอพยพและแพร่กระจายหลังฤดูผสมพันธุ์แล้ว นกตัวเต็มวัยและนกตัวอ่อนวัยจะมีการกระจัดกระจายไป ในทวีปยุโรปบินอพยพลงทางใต้ในฤดูใบไม้ร่วงที่ทวีปแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่
ปรากฏเป็นนกอพยพในฤดูร้อนยกเว้นทางตอนใต้ของอิรักที่ซึ่งเป็นนกอพยพฤดูหนาวแต่ยังคงมีการผสมพันธุ์ ในช่วงฤดูหนาวอยู่ในส่วนย่อยทะเลทรายสะฮาราของแอฟริกา
(ยังมีต่อ)
จากคุณ :
Moonbird
- [
21 ส.ค. 46 12:58:56
A:203.144.215.45 X:
]