ความคิดเห็นที่ 17
พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐฯ (พ.ศ.๒๔๐๕-๒๔๘๒)
พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐฯ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๙ สมภพ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๕ เวลา ๖.๐๐น. ณ หอคำนครเชียงใหม่ เป็นโอรสลำดับที่ ๖ ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ กับแม่เจ้าเขียว มีภาดาและภคินีร่วมบิดา ๑๑ และร่วมอุทร ๒ เมื่อองค์ท่านมีชนมายุได้ ๒๒ ปี ได้เสกสมรสกับแม่เจ้าจามรี ธิดาของเจ้าราชภาคิไนย(แผ่นฟ้า)ต่อมาภายหลังได้ เจ้าหญิงไฝ หม่อมบัวเขียว และหม่อมแสเป็น "หม่อม" หรือชายาอีก มีบุตร ๔ ธิดา ๒ ดังนี้ ๑. เจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) ๒. เจ้าหญิงบัวทิพย์ ๓. เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน) (ลำดับที่ ๑-๓ เกิดแต่แม่เจ้าจามรี) ๔. เจ้าพงษ์อินทร์ ๕. เจ้าหญิงศิริประกาย ๖. เจ้าอินทนนท์ (ลำดับที่ ๔-๖ เกิดแต่หม่อมเขียว)
ในปี พ.ศ.๒๔๒๗ เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้เริ่มรับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้ พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นรองเสนาคลัง พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นเสนาคลัง พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นเสนามหาดไทย พ.ศ. ๒๔๕๒ รั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ ดังต่อไปนี้ - พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นเจ้าราชภาคิไนย - พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นเจ้าสุริยวงศ์ - พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นเจ้าราชวงศ์ - พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นเจ้าอุปราช - พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็น เจ้าแก้วนวรัฐ ประพัทธอินทนันทพงษ์ ดำรง นพีสีนครเขตต์ ทศลักษเกษตรอุดม บรมราชสวามิภักดิ์ บริรักษ์ปัจฉิมานุทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ - พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นนายพลตรี, ราชองครักษ์พิเศษ นายทหารพิเศษ, ประจำกองทัพบก เจ้าแก้วนวรัฐฯได้รับราชการพิเศษต่าง ๆ เช่น พ.ศ. ๒๔๒๐ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ โปรดให้คุมราษฎรในเชียงใหม่และลำพูน จำนวนประมาณ ๓๐๐ ครัวเรือนไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เชียงแสน พ.ศ.๒๔๒๙ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ โปรดให้เป็นผู้แทนพระองค์ ควบคุมเครื่องราชบรรณาการไปทูลเกล้าถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๔๓๓ ครั้งเกิดกบฎผญาปราบสงคราม เจ้าแก้วนวรัฐฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็น แม่กองนำกำลังติดตามไปจับกุม ครั้งนั้นได้เกิดต่อสู้กัน กองกำลังของเจ้าแก้วนวรัฐฯจับกุมตัวบุคคลสำคัญในสังกัดของผญาปราบสงครามได้หลายคน จึงได้ส่งตัวให้แก่ศาลเพื่อพิจารณาลงโทษ พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้มีผู้ร้ายคุมพวกเข้าปล้นที่ว่าการอำเภอหางดง เจ้าแก้วนวรัฐฯ พร้อมกับ พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าหลวงประจำเชียงใหม่ ได้ออกไปสืบสวนและจับกุมผู้ร้ายมาได้และให้ส่งให้ศาลพิจารณาโทษ พ.ศ. ๒๔๔๕ ในช่วงที่ พวกเงี้ยวก่อการจลาจลขึ้นในท้องที่เมืองต่างๆ ในล้านนา เช่น ที่เมืองแพร่ และที่ลำปาง ครั้งนั้น เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้รับมอบหมายให้นำกำลังไปสกัดพวกจลาจลเงี้ยว อยู่ที่เชียงราย ในระหว่างนี้ ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่อำเภอฮอด โดยผู้ร้ายปล้นและฆ่านายอำเภอ เจ้าแก้วนวรัฐได้ออกไปสืบสวนและจับกุมผู้ร้ายแล้วส่งศาลพิจารณาโทษ และในปีเดียวกันนี้ พวกเงี้ยวในเมืองแม่ฮ่องสอนได้รวมตัวกันจะก่อการจลาจลขึ้น เจ้าแก้วนวรัฐฯ พร้อมกับพระยานริศราชกิจ ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าหลวงใหญ่ได้ออกไประงับเหตุได้ทันกาล ทำให้พวกเงี้ยวที่คิดการนั้นล้มเลิกไป นอกจากนี้ เจ้าแก้วนวรัฐฯ ยังได้เป็นแม่กองจัดสร้างถนนหลายสาย เพื่อเชื่อมการคมนาคมของอำเภอรอบนอกกับในเมือง ถนนสายสำคัญสายหนึ่งที่องค์ท่านได้สร้างก็คือ ถนนสายสันทราย และสายดอยสะเก็ด ซึ่งเวลานี้เรียกถนนนี้ว่า ถนนแก้วนวรัฐฯ และอีกสายหนึ่งที่ร่วมสร้างกับท่านครูบาศรีวิชัยและคณะศรัทธาประชาชนก็คือ ถนนขึ้นดอยสุเทพ ท่านได้เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์และเป็นผู้ลงจอบแรกในการสร้างถนนสายนี้ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้เริ่มป่วยมาแต่ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๑ แต่ก็ยังเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อรับเสด็จรัชกาลที่ ๘ ในครั้งเสด็จนิวัติพระนคร เสร็จแล้วให้นายแพทย์กอชริชในพระนครรักษา ต่อมามีนาคม ๒๔๘๑ ป่วยลงอีก ปรากฏว่าไตและตับอักเสบ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ๒๑.๔๐ น.ของวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่ออายุ ๗๗ ปี และได้รับการพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๔๘๒ ณ เมรุวัดสวนดอก และบรรจุอัฐิไว้ ณ ที่กู่ของเจ้านายฝ่ายเหนือภายในบริเวณวัดสวนดอก
(จากหนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่ กรุงเทพ|คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ ๒๕๓๙หน้า๑๖๐-๑๘๑
จากคุณ :
AQUANAUTS
- [
22 ม.ค. 47 12:15:57
A:203.146.6.89 X:
]
|
|
|