ความคิดเห็นที่ 2
ก. ท่วงท่าขณะบิน (Flight attitude) มีประโยชน์ในการจำแนกชนิดเหยี่ยวขณะอพยพ ซึ่งมักจะอยู่ในระยะทางไกล และนักดูนกไม่สามารถเห็นรายละเอียดของชุดขนได้ชัดเจน ในบางกรณีท่วงท่าขณะบินมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการจำแนกด้วยชุดขนในระยะไกลด้วยซ้ำ เนื่องจากนกล่าเหยื่อแต่ละกลุ่มจะมีท่วงท่าขณะบินที่เป็นเอกลักษณ์ และชุดขนเองมีความแปรผันไปตามอายุ เพศ และชนิดย่อยแม้ว่าจะเป็นเหยี่ยวหรือนกอินทรีชนิดเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาเสมอคือทิศทางและความเร็วของลม ถ้ามีลมปะทะหน้าแรง (Head wind) นกล่าเหยื่อจำเป็นต้องตีปีกหนักและถี่มากขึ้น แต่ถ้ามีลมส่งท้าย (Tail wind) นกล่าเหยื่อจะตีปีกช้าและน้อยกว่าที่ควร ขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์ของเหยี่ยวแต่ละกลุ่ม สิ่งที่ต้องสังเกตคือความถี่ในการตีปีก (Flapping) เหยี่ยวหรือนกอินทรีจะตีปีกเร็วหรือช้า ถี่มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้
I. พื้นที่ผิวของปีก (เมื่อเทียบกับขนาดลำตัว) หรือ Wing ratio โดยมีหลักว่ายิ่งนกที่มีค่า wing ratio มาก ยิ่งตีปีกช้า เพราะการตีปีกแต่ละครั้งเกิดลมพยุงได้มากกว่านกที่มีค่าดังกล่าวน้อยกว่า ตัวอย่างเช่นนกอินทรีปีกลายจุด (ในกลุ่มนกอินทรีแท้) ตีปีกช้า (ต่อ ๑ รอบของการตีปีกแล้วร่อน, Flight cycle: flapping,
, soaring/gliding) กว่าเหยี่ยวนกเขาหรือเหยี่ยวนกกระจอกในสกุล Accipiter หรือเหยี่ยวปีกแหลมในสกุล Falcon
a. จุดแยกนี้มีความสำคัญอย่างมากในการจำแนกเหยี่ยวหรือนกอินทรีขณะบินอพยพ และจำเป็นที่ผู้สังเกตต้องมีประสบการณ์อย่างชำนาญ (หรือชั่วโมงบินมาก ถ้ามีหลักจำให้ยึด จะยิ่งเรียนรู้ได้เร็วและถูกทาง) ที่จะสามารถสังเกตความแตกต่างของท่วงท่าขณะบินของเหยี่ยวหรือนกอินทรีแต่ละกลุ่ม ยิ่งสังเกตมากยิ่งมีความช่ำชองและความแม่นยำในการจำแนก ดังนั้นเมื่อมีโอกาสให้สังเกตเหยี่ยวหรือนกอินทรีขณะตีปีกเสมอ
b. กลุ่มเหยี่ยวหรือนกอินทรีที่ตีปีกช้า เนื่องจากปีกค่อนข้างกว้างถึงกว้างมากได้แก่ นกแร้ง นกอินทรีแท้ (Aquila eagles) นกอินทรีกินปลาหรือนกอินทรีทะเล (Haliaeetus eagles) นกอินทรีขนาดกลาง (Hieraaetus) เหยี่ยวภูเขา (Spizaetus hawk-eagles) เหยี่ยวทุ่ง (Circus harriers) เหยี่ยวปีกแตกขนาดใหญ่ (Buteo buzzards) หรือเหยี่ยวผึ้ง โดยที่เหยี่ยวผึ้งตีปีกเร็วและอ่อนล้ากว่ากลุ่มอื่น ๆ ข้างต้น
c. กลุ่มเหยี่ยวที่ตีปีกเร็วและถี่ (เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเหยี่ยวหรือนกอินทรีข้างต้น) ได้แก่ เหยี่ยวนกเขาหรือเหยี่ยวนกกระจอก (Accipiter sparrowhawks/goshawks) เพราะปีกสั้น และเหยี่ยวปีกแหลม (Falcons) เพราะปีกแคบ (แต่ยาว)
d. ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ให้นึกเปรียบเทียบจังหวะการตีปีกระหว่างนกกาน้ำที่กำลังบินกับเหยี่ยวขาว นกกาน้ำมีพื้นที่ผิวของปีกน้อยกว่าเหยี่ยวขาว เนื่องจากปีกแถบและไม่ยาวมากนัก เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ดังนั้นแรงพยุงตัวจากการตีปีกแต่ละครั้งจึงน้อยกว่าเหยี่ยวขาว
II. ลักษณะปลายปีก (เรียวแหลมหรือแตกเป็นนิ้วมือ) โครงสร้างนี้เป็นปัจจัยกำหนดแรงรั้ง (Dragging force) ขณะนกตีปีกแต่ละครั้ง แรงรั้งจะเหนี่ยวให้ลำตัวนกชะลอการเคลื่อนที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น เป็นแรงที่เกิดขึ้นเนื่องจากลมที่ม้วนตัว (จากการตีปีก) รอบ ๆ บริเวณพื้นผิวปีก โดยเฉพาะด้านบนปีกที่ปลายปีก (หรือมือ) ดังนั้น นกที่มีปลายปีกแหลม สอบเรียว จะยิ่งมีแรงรั้งน้อย การตีปีกแต่ละครั้งจึงใช้พลังงานได้เต็มที่ ไม่สูญเปล่ามากนัก ในขณะที่นกที่ปลายปีกแผ่กว้างจะมีแรงรั้งมากกว่า
a. เหยี่ยวปีกแหลมสามารถบินอพยพได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แม้กระทั่งขณะอพยพบินข้ามผืนน้ำขนาดใหญ่ อย่างทะเลหรือมหาสมุทรโดยไม่หยุดพักได้ เช่นเหย่ยวตีนแดงที่สามารถบินข้ามมหาสมุทรอินเดีย ได้โดยที่ไม่มีการหยุดพักตามเกาะต่าง ๆ (เพราะไม่มีเกาะให้แวะพัก) เพื่อไปให้ถึงแหล่งอาศํยในฤดูหนาวที่ทวีปอาฟริกาตอนใต้
b. เหยี่ยวปีกแตกหรือนกอินทรีมีปีกแผ่กว้างมาก และต่อให้เหยี่ยวหุบปลายปีกอย่างไร ปลายปีกก็ยังกว้างอยู่ดี จึงต้องแผ่ปลายปีกเป็นนิ้วมือที่มีร่องระหว่างขนปลายปีก (หรือขนปีกบินชั้นนอกด้านนอก, Outer primaries) เพื่อลดแรงรั้ง เพราะลมที่ม้วนตัวนั้นจะแทรกไปตามร่องขนปลายปีก (หรือร่องนิ้วมือ) เป็นการปรับตัวเพื่อลดแรงรั้งได้ระดับหนึ่ง เหยี่ยวหรือนกอินทรีกลุ่มนี้จึงยังสามารถตีปีกช้าได้ จะมากน้อยเพียงไรแล้วแต่พื้นที่ผิวของปีกเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว
c. เหยี่ยวนกเขาหรือเหยี่ยวนกกระจอกมีปีกสั้นแลกว้าง (และหางยาว) เหมาะสำหรับการบินเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วในที่รกชัฏ เช่นในป่าทึบ หรือภายในร่มไม้ตามป่าละเมาะ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยหลักสำหรับล่าเหยื่อ แต่ (เมื่อเทียบกับเหยี่ยวปีกแตกหรือนกอินทรี ที่มีปีกยาวกว่า) มีประสิทธิภาพในการร่อนในระยะเวลานาน ได้น้อยกว่าเหยี่ยวปีกแตกหรือนกอินทรีมากนัก (เนื่องจากพื้นที่ผิวปีกน้อยกว่า) ดังนั้นท่วงท่าขณะบินอันเป็นเอกลักษณ์ของเหยี่ยวกลุ่มนี้คือ ตีปีกถี่ ๆ ติดต่อกัน ๓-๕ ครั้งแล้วตามด้วยการร่อน ๑ ครั้ง (Flap, flap, flap,
, glide) ซึ่งนักดูนกที่มีโอกาสสังเกตและเปรียบเทียบการตีปีกของเหยี่ยวกลุ่มนี้กับเหยี่ยวปีกแตกหรือนกอินทรีแล้วจะรู้สึกเหมือนกับว่าเหยี่ยวนกเขาหรือเหยี่ยวนกกระจอก (โดยเฉพาะกลุ่มหลัง) ขณะบินจะเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ามาก ไม่มีแรงและอาจจะเบี่ยงไปเบนมา ไปตามแรงลมเหมือนไม่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน แบบขอไปทีไปเรื่อย ๆ ต่างจากนกอินทรีขนาดใหญ่อย่างมากที่จะตีปีกช้าอย่างสง่างาม ในขณะเดียวกันลำตัวนกอินทรีก็พุ่งไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน (Purposeful flight)
จากคุณ :
Trogon
- [
18 ก.ค. 47 07:40:38
]
|
|
|