CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    +=+=+=+ นกแต้วแล้วแดงมลายู (Garnet Pitta) เก็บมาฝากจากอินโดครับ +=+=+=+

    ในบรรดานกทุกวงศ์ที่พบได้ในประเทศไทย นกสุดโปรดของผมก็คือนกในวงศ์นกแต้วแล้ว (Family Pittidae) เนื่องจากสีสันอันสุดแสนจะแสบทรวง และพฤติกรรมการหากินที่กระโดดไปกระโดดมาตามพื้น แถมชอบทำท่าทางน่ารักๆ ชนิดที่นกในวงศ์อื่นไม่อาจจะเลียนแบบได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ถึงแม้จะมีปริมาณไม่น้อยนัก (ยกเว้นบางชนิดที่หายากถึงขั้นติดอันดับโลก) แต่ก็เป็นนกที่เห็นตัวค่อนข้างยากและต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างพอสมควรถึงจะได้ดูกันอย่างสะใจ

    ตัวผมเองนั้นค่อนข้างจะโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นตัวเป็นๆ ของนกแต้วแล้วเกือบจะครบทุกชนิดที่พบได้ในประเทศไทยแล้ว (ถึงแม้ว่าสองชนิดคือ นกแต้วแล้วเขียวเขมร และ นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำเงิน จะต้องถ่อไปตามหาถึงเวียดนามก็เอาเหอะ) ยังขาดอยู่ก็เพียงสองชนิด คือ นกแต้วแล้วป่าโกงกาง (Mangrove Pitta) ซึ่งจริงๆ แล้วก็หาดูได้ไม่ยากนัก กับนกแต้วแล้วแดงมลายู (Garnet Pitta) สุดสวยที่หายากโคตรๆ ในบ้านเรา

    เนื่องจากสถานะที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวแบบนี้ ผมจึงถึงกับประกาศออกมาว่า ชาตินี้ถ้ายังไม่เห็นนกแต้วแล้วแดงมลายู ผมจะไม่ยอมลุยป่าโกงกางภาคใต้เพื่อตามหานกแต้วแล้วป่าโกงกางเป็นอันขาด!!!

    จนแล้วจนรอดนับจากวันที่ลิสต์นกแต้วแล้วในไทยของผมเหลือแค่สองตัวนี่ ก็ปาเข้าไปจะสองปีแล้วผมยังไม่มีโอกาสได้ไปดูนกแต้วแล้วแดงมลายูซักที ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะว่าสถานการณ์ทางภาคใต้ของเราไม่สู้จะดีนัก ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของนกชนิดนี้ในบ้านเรากลายเป็นแดนสนธยาไปในบัดดล โครงการตามหานกแต้วแล้วป่าโกงกางก็เลยต้องรอต่อไปอีก (ก็ดันประกาศออกไปซะอย่างดังลั่นขนาดนั้น) ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เหมือนกัน

    จนกระทั่งผมได้ข่าวว่าจะต้องไปเข้าอบรมที่เมือง Balikpapan ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเวลา 4-5 วัน ก็ทำให้ความหวังของผมเริ่มที่จะสดใสขึ้นมาทันทีครับ ทั้งนี้ก็เพราะผมทราบดีว่าที่เกาะบอร์เนียวนี้เป็นแหล่งที่นกแต้วแล้วแดงมลายูอาศัยกันอยู่อย่างชุกชุม แถมชนิดย่อยที่นี่ (ชนิดย่อยหลัก P.g. granatina) ยังหน้าตาคล้ายกันกับชนิดย่อยที่อยู่ในบ้านเรา (P.g. coccinea) อีกด้วย (ต่างกันที่กระหม่อมสีแดงของบ้านเราจะลงมาจนเกือบถึงโคนปากบน และหน้าอกจะมีเกล็ดสีแดงๆ ปนอยู่) ดังนั้นแทนที่จะเตรียมตัวมาเข้าอบรมผมกลับเตรียมแผนการเที่ยวป่าอินโดแทนซะ!!!

    เริ่มแรกก็ต้องหาข้อมูลก่อนครับ ข้อมูลนกในแถบภูมิภาคนี้ที่ไหนจะไปดีเท่ากับ Oriental Bird Club ซึ่งผมก็เป็นสมาชิก Mailing List ของเขาอยู่แล้ว ผมจึงส่ง e-mail ไปถามสมาชิกว่าแถวเมือง Balikpapan มีแหล่งดูนกใกล้ๆ ที่ไหนบ้าง และมีโอกาสที่จะเจอนกแต้วแล้วแดงมลายูหรือไม่ ซึ่งก็โป๊ะเชะเลยครับ ผมได้รับคำตอบกลับมาจากคุณ Gabriella Federiksson ซึ่งเป็นนักวิจัยสัตว์ป่า ว่าให้ลองมาดูที่ป่าที่เขาทำวิจัยอยู่เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว นั่นคือ ป่าสงวนลุ่มแม่น้ำเวน (Sungai Wain Protected Forest, Sungai อ่านว่า สุไหง แปลว่าแม่น้ำ) ซึ่งห่างจากเมือง Balikpapan เพียงแค่ 15 กิโลเมตรเท่านั้นเองครับ

    ลิสต์นกที่ผมอยากจะเห็นที่ผมลิสต์ส่งๆ ไปใน e-mail นั้น คุณ Gabriella บอกว่า มีหมดทุกตัวเลย แถมด้วยตัวเด็ดๆ อื่นๆ อีกตั้งหลายตัว!!!

    ป่าสงวนลุ่มแม่น้ำเวนนี่ จุดเด่นของเขาก็คือ
    เป็นป่าที่ราบต่ำผืนสุดท้ายที่อยู่ในแถบนี้ครับ ซึ่งถ้านับในเขต Kalimantan ด้วยกันแล้ว ยังมีที่เหลืออีกที่นึงก็คือ Kutai National Park ที่กว่าจะเดินทางไปถึงก็เสียเวลาไปแล้ววันกว่าๆ ทั้งนั่งรถ ทั้งต่อเรือ สู้มาที่นี่ไม่ได้นั่งรถแป๊บเดียวก็ถึงแล้วครับ ป่าแห่งนี้ยังเป็นจุดที่เขาทำโครงการปล่อยลิงอุรังอุตังคืนสู่ธรรมชาติ และเป็นสถานีวิจัยให้กับนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก ซึ่งผลการวิจัยเด่นๆ ก็คือ การวิจัยเรื่องวิถีชีวิตของหมีหมา (Sun Bears) ซึ่งทำที่นี่เป็นที่แรกในโลกครับ
    และนักวิจัยในโครงการนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น คือคุณ Gabriella นี่เอง

    ...และแล้วผมก็เดินทางมา Balikpapan ครับ

    ตลอดเวลาที่เข้าอบรมใจผมนั้นจดจ่ออยู่กับวันเสาร์โน่นแล้ว เท่าที่ถามๆ ดูชาวเมือง Balikpapan ก็ดูเหมือนไม่ค่อยรู้จักป่าแห่งนี้เท่าไหร่เหมือนกันครับ ไม่ว่าจะถามใครก็ทำหน้างงๆ หรือถ้ารู้จัก ก็จะยิ่งงงกว่าอีกว่าผมจะไปที่นั่นทำไม หุหุ แต่สุดท้าย ผมก็ให้รถโรงแรมพามาส่งที่ป่าสงวนจนได้ครับ

    หลังจากผ่านด่านตรวจมาได้แค่นิดเดียว สัตว์ป่าชนิดแรกที่เห็นก็คือ หมูป่าครับ ท่าทางจะเป็นครอบครัวใหญ่ทีเดียวเพราะเห็นลูกหมูตัวเล็กๆ กระจายกันเดินข้ามถนนอยู่หลายตัว แต่ยังไม่ทันทำอะไรฝูงหมูก็ตื่นวิ่งหนีเข้าป่าไปครับ เพราะลุงคนขับรถเล่นไม่ชะลอเลย ป่าแห่งนี้มีหมูป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุมเลยละครับ เดินไปทางไหนก็เจอ ไม่รู้จะเกี่ยวกันรึเปล่ากับที่ชาวบ้านแถวนี้ล้วนแต่เป็นชาวมุสลิม...

    พอจอดรถที่หน้าหน่วยพิทักษ์ป่าปุ๊บ นกใหม่ของผมก็บินมาเกาะปั๊บ นกกระติ๊ดสีดำ (Dusky Munia) กำลังทำรังอยู่บนต้นไม้หน้าหน่วยพอดีแต่รกชะมัดเลยครับ หาโอกาสถ่ายภาพอยู่ตั้งนานแต่ก็ไม่ได้ซักที เอาเป็นว่าลองจินตนาการถึงนกกระติ๊ดขี้หมูที่ตัวสีดำๆ ทั้งตัวนั่นละครับ ใช่เลยละ

    ป่าสงวนลุ่มแม่น้ำเวน เขาไม่อนุญาตให้เดินท่อมๆ เข้าไปเฉยๆ นะครับ จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยเดินนำทางด้วย เพราะเคยมีนักดูนกฝรั่งเข้าไปหลงอยู่ในป่ามาแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ไปกับผมนี่แทบจะไม่พูดภาษาอังกฤษเลยครับ แต่ก็พอจะคุยกันได้แบบต้องเมื่อยมือหน่อย ป่าที่นี่ก็เป็นป่าที่ราบต่ำ เห็นปุ๊บก็รู้สึกคุ้นเคยทันทีครับ เพราะว่าเหมือนกับป่าที่ราบต่ำที่เขานอจู้จี้บ้านเราเปี๊ยบเลย อย่างนี้ก็เข้าทางสิครับ ผมงัดสูตรเดิมที่ใช้ในป่าเขานอฯ นั่นคือ อยู่ใกล้ลำธารเข้าไว้ และมองหานกในส่วนที่ต่ำๆ เป็นหุบๆ น้ำแฉะๆ จุดแรกที่หยุดแวะหลังจากที่ก้มหน้าก้มตาเดินเพราะสองข้างทางรกทึบจะแทบจะมองไม่เห็นตัวนกก็เป็นอย่างที่ว่าครับ เป็นพื้นที่แฉะๆ ข้างลำธาร นั่งปุ๊บ ก็ได้ยินเสียงผิวปากเบาๆ ยาวๆ ที่ค่อยๆ จางหายไป เสียงนี้ผมเคยได้ยินมาแล้วครั้งนึงที่บาลา และยังจำหน้าตาเจ้าของเสียงได้จนทุกวันนี้ เขาคือ นกคอสามสี ที่ผมตั้งใจจะมาตามหานั่นเองครับ นั่งฟังเขาร้องอยู่ได้ซักพัก เสียงก็ห่างออกไป แล้วก็เงียบ

    ซักพักก็ได้ยินเสียงคุ้นๆ หูอีกครับ ได้ยินปุ๊บก็รู้ว่าเป็นนกใหม่ของผมแน่นอน นั่นคือ นกขุนแผนหัวดำ (Diard’s Trogon) ครับ พอลองผิวปากกลับไป แป๊บเดียวเจ้าของเสียงก็บินปรู๊ดมาเกาะเหนือหัวผมเก้าสิบองศาเป๊ะๆ เห็นแต่ก้นแดงๆ และหัวดำๆ นิดหน่อย หมดปัญญาจะถ่ายครับ ก็เลยได้แต่นั่งมองตาปริบๆ อยู่อย่างนั้น

    นั่งอยู่ตรงนั้นสองชั่วโมงจนแน่ใจว่าไม่น่าจะมีอะไรโผล่มาแล้ว ผมก็เดินต่อไปอีกครับ ก็เหมือนเดิมคือก้มหน้าก้มตาเดินตามเจ้าหน้าที่อย่างเดียวเพราะป่าข้างทางรกทึบจะแทบจะมองอะไรไม่เห็นเลย เดิน เดิน แล้วก็เดิน จนมาโผล่ตรงจุดพักกลางทางของนักวิจัย ตรงนี้เงียบกริบครับ ไม่เห็นนกซักตัว แต่มีค้างคาวตัวเล็กๆ เกาะอยู่ตามหลังคา และก็มีจิ้งจกตัวบักเอ้บ หน้าตาประหลาดอยู่ด้วยตัวนึง ก็เลยเป็นดาราจำเป็นกันไปตามเรื่อง

    นั่งพักกินน้ำซักครู่จนหายเหนื่อย ก็เริ่มเดินกันต่อครับ เดิน เดิน เดิน แต่คราวนี้สภาพป่าเริ่มเปลี่ยนไป ทางเดินค่อยๆ ลาดลงไปเรื่อยๆ และสองข้างทางก็เริ่มชุ่มฉ่ำ ไปจนกระทั่งเฉอะแฉะ ตรงจุดนี้เริ่มจะเข้าเขตป่าพรุแล้วครับ ผมมองไปรอบๆ ตัว ดูสภาพพื้นที่ที่ค่อนข้างโล่งแต่เต็มไปด้วยไม้พื้นล่างและมีกอระกำขึ้นเป็นระยะๆ มีต้นปาล์มอยู่กระจัดกระจาย ใช่เลยครับ นี่มันลักษณะของป่าที่นกแต้วแล้วชอบชัดๆ ผมจึงบอกเจ้าหน้าที่ว่าจะขอหยุดตรงนี้ซักพัก แล้วก็วางกล้อง วางกระเป๋า กางเก้าอี้ จากนั้นก็ผิวปากสองทีหยั่งเชิงแต้วแล้ว แล้วก็รอครับ

    นี่คือสภาพเทรลตรงจุดที่ผมนั่งรอครับ

     
     

    จากคุณ : Headbanger - [ 11 เม.ย. 48 00:02:09 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป