 |
ถ่ายให้บุญ - บทความดีๆ ที่อยากให้คนถ่ายภาพทุกคนได้อ่าน
|
|
คัดลอกจาก บทความเรื่อง "ถ่ายให้บุญ" โดย คุณนิภาพร ทับหุ่น คอลัมน์โซไซตี้ เซ็คชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2552
เด็กชายคนนั้นยิ้มกับกระดาษแผ่นเล็กๆอยู่นานแสนนาน พอใจแล้วก็สอดมันเข้ากระเป๋ากางเกง และหยิบขึ้นมาขื่นชมอีกครั้ง ทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระดาษที่ดูเรียบลื่นในตอนแรกออกจะมีรอยยับย่นจากความถี่ของการหยิบจับ
กว่าจะได้ภาพถ่ายของตัวเองสักใบ คุณว่ามันง่ายหรือยาก ? อาจดูไร้สาระเกินไป แต่คำถามนี้ต้องการคำตอบ
ภาพถ่าย คือ ไดอารี่ที่บันทึกเรื่องราวในอดีตด้วยจังหวะและเวลาของเส้นสี หลายคนมีภาพถ่ายของตัวเองเป็นร้อยเป็นพันใบเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่หลายคนไม่มีโอกาสแม้จะได้เห็นภาพของตัวเองที่คนอื่นถ่ายเป็นร้อยเป็นพันใบ เพียงเพราะพวกเขาถูกจัดให้เป็นแค่ พร็อพ ของภาพถ่าย ใบหน้าเปื้อนยิ้มเมื่อได้เห็นรูปตัวเอง คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ นพดล ปัญญาวุฒิไกร ประธานชมรม Focusing Club และสมาชิกจัดกิจกรรมถ่ายภาพเพื่อสังคมขึ้น เพื่อแบ่งปันความสุขกับคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม
เราเป็นชมรมถ่ายภาพที่ไม่แสวงหากำไร กิจกรรมหลักๆคือจัดอบรมถ่ายภาพ และสร้างโอกาสด้วยการจัดทริปถ่ายภาพ เพราะการออกไปแต่ละพื้นที่เราจะเจอรูปแบบต่างๆกัน เป็นการฝึกฝนมุมมอง อีกอย่างที่เราทำคือ กิจกรรมถ่ายภาพเพื่อสังคม คือจะจัดทริปไปถ่ายภาพ ไปทำบุญที่วัด ไปบริจาคของให้กับเด็กๆที่ด้อยโอกาส ซึ่งกิจกรรมนี้เราเอางบที่เหลือจากกิจกรรมอบรมถ่ายภาพมาใช้ ใบหน้าเกรอะกรังไปด้วยน้ำมูก ผมเผ้ายุ่งเหยิง ฟันผุดำ สวมเสื้อผ้ามอซอ คือนายแบบนางแบบยอดนิยมที่ทำให้ช่างภาพร้อยทั้งร้อยอยากกดชัตเตอร์ พวกเขาเธอดูไม่ดีเลยเมื่อเทียบกับคนเมืองที่แต่งตัวสะอาดสะอ้าน ทว่า เมื่อได้มองผ่าน view finder มันสวยและเข้ากันได้ดีกับสถานที่นั้นๆ "
มีเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 6-7 ขวบ พอถ่ายรูปเสร็จเขาก็มานั่งเฝ้าเลย แล้วพอรูปออกมาสิ่งแรกที่เขาทำคือจูบรูปนั้น มันเป็นความรู้สึกที่ว่า เขาดีใจแล้วเขาอยากเก็บภาพนั้นไว้ให้ดีที่สุด เขาเลยยัดภาพไปในเสื้อของตัวเอง แบบรักมาก เราก็บอกว่าเอารูปยัดไว้ในนั้นไม่ได้เดี๋ยวเปียกเหงื่อ เขาถึงยอมเอาออกมา พอเห็นอย่างนั้นเราก็รู้สึกดีใจ อย่างน้อยๆเด็กๆก็มีโอกาสเห็นรูปตัวเอง
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพเพื่อสังคม นพดล บอกว่า โฟกัสซิ่งคลับจะจัดกิจกรรมแบบนี้ปีละ 1-2 ครั้ง ล่าสุดชวนสมาชิกในชมรมไปฝึกฝีมือถ่ายภาพกันที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แล้วแวะไปมอบสิ่งดีๆให้กับเด็กๆที่โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม
เรามีโอกาสช่วยเหลือเด็กทั้งหมด 89 คนจาก 1,200 คนในโรงเรียน คือเด็กที่เลือกมาเป็นเด็กยากจน บางคนมีชุดนักเรียนชุดเดียวก็จะใส่ทุกวัน ซักเสาร์-อาทิตย์ เรียนดีไม่ดีเราช่วยหมด และสิ่งที่เราช่วยมีสองส่วนคือ อุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า กระเป๋า ถุงเท้า และเราก็แบ่งเงินออกเป็น 2 กองสำหรับซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดกับซื้อเครื่องกรองน้ำ เพราะเด็กโรงเรียนนี้ดื่มน้ำจากใต้ดิน ก็จะมีปัญหาสุขอนามัยที่ไม่ดี เราจึงซื้อเครื่องกรองน้ำให้เด็ก
ด้าน นรา สุขวิสิฎฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม บอกว่าเด็กเกือบทั้งหมดในโรงเรียนนี้เป็นเด็กไทยเชื้อสายมอญ ซึ่งโอกาสในการได้รับการศึกษาจะต่างจากเด็กในเมืองทั่วๆไป บางคนเรียนช้ากว่าปกติเพราะต้องติดตามผุ้ปกครองไปทำงานต่างพื้นที่ ที่เหลืออยู่ก็มักมีฐานะยากจนทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา
จริงๆเราได้รับงบจากรัฐบาลเหมือนทื่อื่นทั่วไปแต่ก็เพียงพอระดับหนึ่ง เราก็มีโครงการอาหารกลางวัน แต่เด็กๆที่ขาดแคลนเขาขาดแคลนจริงๆ ที่บ้านยากจน อยุ่กับตายายหรือพ่อแม่แยกกันอยุ่ บางส่วนมูลนิธิศุภนิมิตรให้การช่วยเหลือ แต่บางส่วนก็ไม่มี เด็ก 89 คนนี้เราจึงเลือกจากความไม่มีเป็นหลัก
ประธานชมรมโฟกัสซิ่งคลับ บอกว่าอุปกรณ์ที่นำมาบริจาคครั้งนี้มาจากน้ำมิตรน้ำใจของสมาชิกในชมรมที่พยายามช่วยเหลือกันอย่างสุดความสามารถ กระเป๋านักเรียนได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท วิริยะประกันภัย ซึ่งสมาชิกคนหนึ่งทำงานอยู่ และหนังสือส่วนหนึ่งก็ได้รับมอบจากสำนักพิมพ์บูรพาที่สมาชิกชมรมอีกคนเป็นพนักงานอยู่เช่นกัน
เราทุกคนทำงานด้วยใจ อยู่ด้วยกิจกรรมแต่ทุกคนรู้สึกดีกับสิ่งที่ได้ทำ มันเป็นการแบ่งปันความสุข
.นิยามของเราคือ มีความสุข ยิ่งแบ่งปัน ยิ่งเพิ่มพูน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสมาชิกชมรมทุกคนจึงยังยิ้มได้แม้จะไม่มีค่าตอบแทนใดๆจากสิ่งที่ทำ"
แม้ไม่มีราคาค่างวดมากมาย แต่มันมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับเด็กๆ ซึ่งนอกจากอุปกรณ์การเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พอจะหามามอบให้ได้แล้ว พันธกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชมรมโฟกัสซิ่งคลับก็คือการถ่ายภาพและอัดภาพให้กับเด็กๆได้ชื่นชมภาพถ่ายของตัวเอง
ดีใจมาก ไม่เคยมีใครเอามาให้แบบนี้ เคยมีนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปไปเหมือนกัน แต่ไม่มีใครเคยให้รูปเลย เจสอน เด็กหญิงวัย 12 ปีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม แสดงความรู้สึก เช่นเดียวกับ อีโนน , หญิงเอย, ตุ๊กตา, วรรณลดา, กุสุมา, บีและเด็กๆอีกหลายคนที่ได้รับรูปถ่ายจากชมรม บางคนสารภาพว่าภาพที่ได้ในวันนี้คือภาพแรกในชีวิตที่มี ทำให้เขาค่อนข้างหวง และรู้สึกขอบคุณผู้มีน้ำใจเป็นอย่างมาก"
หลายคนมีภาพถ่ายของตัวเองเป็นร้อยเป็นพันใบเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่หลายคนไม่มีโอกาสแม้จะได้เห็นภาพของตัวเองที่คนอื่นถ่ายเป็นร้อยเป็นพันใบ
แล้วคุณคิดว่า กว่าจะได้ภาพถ่ายของตัวเองเก็บไว้สักใบ มันง่ายหรือยาก ?
แก้ไขเมื่อ 14 ต.ค. 52 20:10:27
แก้ไขเมื่อ 14 ต.ค. 52 20:09:53
แก้ไขเมื่อ 14 ต.ค. 52 20:09:31
จากคุณ |
:
trailersman
|
เขียนเมื่อ |
:
14 ต.ค. 52 09:16:36
|
|
|
|  |