Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
มือเก่าไม่เป็นไร มือใหม่เชิญทางนี้ 2{แตกประเด็นจาก O8514660}  

กระทู้นู้น ก็อภิปรายกันไปอย่างกว้างขวางไปแล้วเรื่อง P, M
และก็ได้เห็นกันหลายๆ มุม ไม่ใช่มุมของผมคนเดียว มือใหม่จะได้เข้าใจว่าทำไมน้าๆ เค้าบังคับให้ใช้ M กันจัง ทำไมผมถึงเชียร์ P จังเลย
มือใหม่ก็เลือกเอาตามศรัทธา และจริตละกันครับ ว่าการฝึกการเรียนการสอนแบบไหนที่จะตรงกับความต้องการ และนิสัยของเรา

แต่นั่นเป็นเพียงด้านเทคนิค (จริงๆ เราคุยเฉพาะการเปิดรับแสงด้วยซ้ำ)  และเป็นภาคที่ง่ายที่สุดในการถ่ายรูป

ถ้าใช้ Magic Number ที่ 10,000 เหมือนเดิม ในรายการ Twip Podcast (ไม่ลงรายละเอียดล่ะหาดูใน Google) ผู้ดำเนินรายการเคยบอกไว้ว่า

You  can't  success,  if you never did 10,000 mistakes.


ต่อให้ผ่านหนึ่งหมื่นในทางเทคนิคไปแล้ว  ในการถ่ายรูปภาคที่ยากกว่าเทคนิค คือภาคศิลปะ  อุปสรรคยังมีรออยู่อีกหลายฉาก
ที่ผมก็เพิ่งหัดได้ในหลักพันเท่านั้นสำหรับส่วนนี้  ยังไม่ถึงสามพันรูปเลย และเพิ่งเป็นนักเรียนถ่ายภาพได้ไม่กี่เดือนนี่เอง ยังใหม่มากๆ กับศิลปะ


ในภาคศิลปะ มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ "ศิลปะ (ภาพถ่าย)  มีความงามที่เป็นมาตรฐานหรือไม่?"

คำตอบฝ่ายหนึ่งอาจจะเป็น "ถ่ายยังไงก็ได้ขอให้เราชอบ ก็ถือว่าเป็นศิลปะแล้ว" , "ศิลปะไม่มีนิยาม ไม่มีขอบเขต", "ศิลปะ อยู่ที่ใจ ทำอะไรก็เป็นศิลปะ" ฯลฯ

แต่คำตอบจากฝ่ายผม ที่เป็นฝ่าย Academic เชื่อว่า ศิลปะ มีมาตรฐานของความงาม มีหลักการชัดเจน
ผมสรุปจากตำราศิลปะ และคำพูดของลีโอ ทอลสตอยด์  ออกมาได้ว่า ศิลปะมีนิยามครับ

ศิลปะคือการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง เป็นการแสดงออกของอารมณ์ ความรู้สึก นึกคิด ทัศนคติ ของศิลปิน ออกมาในงานศิลปะ เพื่อส่งต่อไปให้ผู้เสพงานศิลปะได้รับรู้

ตามนิยามนี้ หากศิลปะเป็นการสื่อสาร ก็จะต้องเข้าหลักการในการสื่อสารคือ มีผู้ส่งสาร มีสาร และผู้รับสาร มีการเข้ารหัส และถอดรหัสข่าวสาร
ความเข้าใจในการเข้ารหัส และถอดรหัส  ถ้าว่ากันเฉพาะในทางทัศนศิลป์สิ่งนี้เราเรียกกันว่า Visual Language  ถือว่าเป็นภาษาและไวยากรณ์ ของศิลปะประเภทใช้สายตาดูทุกแบบ

ลองดูตัวอย่าง

เส้นนอน แปลว่าความเงียบสงบ เส้นโค้งเป็นคลื่น คือจังหวะและความต่อเนื่อง เส้นหยักคือความรุนแรง เส้นเฉียงแสดงความเคลื่อนไหว เส้นโค้งคือความนุ่มนวล  อันนี้เป็นภาษาที่จะถูกใส่เข้าไปในภาพถ่าย เพื่อสื่อถึงอารมณ์ และเรื่องราว
อาจจะดูว่าไม่ยาก แต่นี่เพิ่งเป็นขั้นต้น

นอกจากเส้นแล้วก็มีรูปทรง อย่างสี่เหลี่ยม แปลว่าโลกมนุษย์  วงกลมแปลว่าสวรรค์ ทรงกลมคือความสมบูรณ์แบบ สามเหลี่ยมคือความแข็งกร้าว แข็งแกร่ง ความพยายาม และการเดินทาง
ทีนี้เริ่มยากล่ะ...

ยังๆ ยังไม่จบ
ยังมีสีสัน สีอุ่นสีเย็น แสง เงา คอนทราสท์ มืดสว่าง ขนาดเล็ก ใหญ่ พื้นที่ว่าง องค์ประกอบ การจัดวาง จังหวะ การเน้น การเว้นช่องไฟ สัดส่วนฯลฯ

เวลาถ่ายรูป เราก็จะเอาทั้งหมดที่ว่ามา ใส่ลงไปในภาพเพื่อบอกเล่าเรื่องราว เพื่อสื่อสารกับคนดูภาพ ถึงอารมณ์ ความคิด ทัศนคติ ความรู้สึก​ฯลฯ

ยากชิ๊บบบบหัยยยย


เวลาเราเรียนภาษา เราก็ต้องเรียนภาษาจากอักษร สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ แล้วเอามาประกอบกันเป็นคำ เอามาเป็นประโยค เรียนไวยากรณ์ การใช้ภาษา

การเรียนภาษาของศิลปะก็ไม่ต่างอะไรกันเลยกับการเรียนภาษาพูด

เราต้องเรียน Visual Language ที่เป็นพื้นฐานก่อน แล้วก็เรียนถึงการนำมาประกอบกัน และการใช้งานเพื่อการสื่อสารได้ ยิ่งเรียนรู้ได้มาก ยิ่งฝึกมาก ก็จะยิ่งเชี่ยวชาญในการสื่อสารมากขึ้น

ในภาคเทคนิค เราอาจจะใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนในการฝึกวัดแสง และควบคุมกล้องแต่ในภาคศิลปะ เราอาจจะใช้เวลาเป็นปีกว่าจะสื่อสารได้ และอาจจะเป็นสิบปี เพื่อให้เชี่ยวชาญ และอาจจะต้องศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ


เปรียบเทียบในอีกแง่หนึ่ง
ภาพถ่ายแต่ละภาพ ก็เหมือนกับการเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่ง ผู้แต่งนิยายจะต้องมีจินตนาการ และ มีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษา ถึงจะแต่งนิยายออกมาได้น่าอ่าน
ศิลปินทางภาพถ่าย ก็ต้องมีจินตนาการ มีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาภาพ เพื่อที่จะสร้างภาพถ่ายที่สื่อสารถึงความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองออกมาให้คนดูภาพรับรู้ได้


แต่ว่าบ่อยครั้ง ในทางศิลปะ ที่คนส่งสาร และคนรับสาร เป็นคนเดียวกัน  
เป็นข้ออ้างของคนที่ถ่ายรูปไว้ให้ตัวเองดู เพื่อตอบสนองความพอใจของตัวเอง ที่จะปฏิเสธการศึกษาทางศิลปะด้วยคำพูดที่ว่า "ผมถ่ายรูปที่ผมชอบก็พอแล้ว ไม่ต้องการมาตรฐานใดๆ", "ที่ทำอยู่ก็เป็นศิลปะแล้ว ศิลปะเป็นเรื่องเฉพาะตัว"

เหมือนจะพูดถูก
แต่ไม่ถูกครับ

การรับรูป visual language  นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติมนุษย์อยู่แล้ว ไม่ต้องฝึกกัน
(หรืออาจจะฝึกบ้างหากต้องการรับรู้ในระดับลึกไปกว่าปกติ)
ดังนั้นเวลาเราดูภาพแม้จะเป็นฝีมือตัวเอง เราก็จะรับรู้ถึงภาษาภาพนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

แต่การส่งสารด้วยภาษาภาพ จำเป็นที่จะต้องมีการฝึกเพื่อให้ส่งสารได้ถูกต้อง หากไม่สามารถสื่อสารได้ดีแล้ว ก็จะส่งสารได้ไม่ลึก ไม่กว้างขวางซับซ้อน แม้แต่จะเป็นการส่งสารให้กับตัวเองก็ตาม

นักถ่ายภาพแนว "สวยเองไม่ปรึกษาใคร" น่าจะถามคำถามต่อไปนี้กับตัวเอง
ว่าทำไมเราถึงรับรู้ความงามของภาพที่เราถ่ายเองได้ล่ะ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้มีทักษะในการส่งภาษาภาพเลย
ทำไมให้คนอื่นดู เค้าก็ไม่ได้เห็นความงามแบบที่เราเห็นด้วย นั่นแปลว่าเค้าก็ไม่ได้รับสารที่มีอยู่ในภาพนั้น
หรือว่าศิลปะจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ

คำเฉลยของคำถามนี้คือ
มันไม่ใช่ศิลปะหรอกครับ ที่ทำให้ภาพนั้นจับใจ
แต่เป็นเรื่องราวในภาพนั้นที่เกี่ยวข้องกับเราต่างหาก

ที่พบเจอกันส่วนใหญ่ เป็นภาพแนวบันทึกความทรงจำ และบันทึกเหตุการณ์ สิ่งที่เราชอบในภาพถ่ายของเรานั้น บ่อยครั้งที่ไม่ได้เกิดจากศิลปะ หรือ visual language ในภาพถ่าย
แต่เป็นความทรงจำของเหตุการณ์นั้น
ซึ่งถ้าคนที่ไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์มาดู ไม่มีประสบการณ์ร่วม ก็จะไม่ได้รับรู้ความประทับใจอะไรในภาพกับเราด้วยเลย
ในทางการสื่อสารคือ ผู้รับสารไม่สามารถถอดรหัสได้ เพราะสารนั้นถูกเข้ารหัสแบบไม่มาตรฐาน

ต้องใช้ประสบการณ์ร่วม ในการถอดรหัสให้เห็นความงามของภาพ ไม่ได้ใช้ Visual Language
นั่นก็แปลได้ชัดๆ อยู่แล้ว ว่ามันไม่ใช่ภาพศิลปะ

ภาพถ่ายลักษณะการบันทึกแบบนี้ ไม่ควรที่จะเอามาอ้างว่าเป็นศิลปะ  เป็นศิลปะด้วยใจ ไร้นิยาม เหมือนที่นิยมอ้างกันบ่อยๆ
ถ่ายรูปเพื่อบันทึก ก็บอกว่าบันทึกสิครับ  
ภาพไม่อาร์ต ก็ไม่อาร์ต สิครับ จะอายทำไม  
ไม่ผิดกฎระเบียบการใช้กล้อง หรือการถ่ายภาพสักหน่อย
ที่จริงการบันทึก   เป็นจุดประสงค์หลักของกล้องถ่ายรูปตั้งแต่แรกที่เกิดขึ้นมาในโลกเลยด้วยซ้ำ
เรื่องศิลปะในภาพถ่ายน่ะ เพิ่งมีมาเมื่อวานซืนนี้เองมั้ง

คนส่วนใหญ่ในโลกเค้าก็ถ่ายภาพแนวบันทึกความทรงจำ โดยไม่ได้ตั้งใจให้มันศิลป์กันทั้งนั้นแหละ (หรือศิลปแต่น้อย แค่พอเพียง)
แล้วเค้าก็ไม่เห็นมาคุยว่าข้าพเจ้านี่อาร์ตตตตต เหมือนช่างภาพบางคนเลย

จากคุณ : อะธีลาส
เขียนเมื่อ : 7 พ.ย. 52 15:41:37




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com