 |
ความคิดเห็นที่ 13 |
ขอเอาของเดิมที่เขียนไว้มาตอบนะครับ อาจจะยาวไปหน่อย ขออภัยด้วยครับ
ตัวผมเองเห็นกระทู้และได้ยินคำถามแบบนี้บ่อย ๆ วันนี้ก็เลยขอมาบอกเล่าสิ่งที่รู้นะครับ จริง ๆ แล้วเลนส์ทุกช่วงสามารถถ่าย portrait ได้ทั้งหมดนะครับขึ้นอยู่กับมุมมองและการจัดองค์ประกอบ อาจจะตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อยแต่อย่าเพิ่งโกรธจนอยากเอากำปั้นมาทุบหัวผมเลยน๊า... แบบว่ากำลังจะอธิบายต่อครับ การถ่าย Portrait ภาพบุคคลมักแบ่งออกง่าย ๆ เป็น 2 ประเภทครับ คือ
1. แบบจัดถ่ายประเภทนี้มักเห็นบ่อยครับไม่ว่าจะเป็น ถ่ายพริตตี้ ถ่ายเสาหลัก และ/หรือบุคคลอื่น ๆ เป็นต้น แบบที่ 2. ถ่ายแบบ Candid หรือถ่ายโดยที่แบบไม่รู้ตัว (บางครั้งแบบอาจจะรู้ตัวแต่โพสแบบไม่มองกล้องให้เหมือนถ่ายแบบไม่รู้ตัวก็ได้) อันนี้คนไทยบางคนชอบเรียกว่าแอบถ่าย ซึ่งผมว่าความหมายบางอย่างมันแตกต่างกันอยู่ 555
นอกเรื่องไปหรือเปล่าไม่ทราบนะครับแต่อยากเขียนไว้เป็นวิทยาทานให้ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นหลาย ๆ ท่านที่เข้ามาอ่านด้วยน่ะครับ อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ
ทีนี้มาว่ากันถึงเลนส์ที่เหมาะสมนะครับ ส่วนใหญ่แล้วการถ่ายภาพบุคคลตั้งแต่อดีตยันปัจจุบันและผมมั่นใจว่าแม้ต่อไปในอนาคตก็ยังจะเป็นเช่นนั้นนะครับ มักจะเน้นที่ตัวแบบครับ คือถ่ายยังไงก็ได้ให้ตัวแบบดูเด่นที่สุด มองภาพปุ๊บสายตาจะเห็นตัวแบบเป็นอันดับแรก ซึ่งก็ทำได้หลายวิธีเช่น จัดองค์ประกอบภาพโดยให้แบบอยู่ที่จุดสนใจ ใช้แสงเงา ใช้สีคู่ตรงข้ามหรือสีโทนเดียว ใช้เส้นนำสายตา ใช้ช่องว่าง ฯลฯ ซึ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องของคนหลังกล้องที่จะจัดการ ส่วนในเรื่องที่อุปกรณ์ช่วยได้ทำให้แบบเด่นได้อย่างรวดเร็วในทุกสถานะการคือ การใช้ ช่วงความชัดหรือ Depth of field (DOF) ครับ หรือที่คนทั่วไปมักใช้ว่าชัดลึก-ชัดตื้นนั่นเอง ตรงจุดนี้การถ่ายภาพบุคคลมักจะนิยมให้เกิดความชัดที่ตัวแบบและเบลอในส่วนอื่นๆ ที่ชอบเรียกกันเล่น ๆ ว่าหน้าเบลอหลังชัด เอ๊ย...ผิดครับต้องหน้าชัดหลังเบลอ ขืนถ่ายหน้าเบลอมีหวังโดนแบบตีหัวแน่ ๆ ยิ่งถ้าเป็นเสาหลักคงโดนมิใช่น้อย อิ...อิ....
จริง ๆ แล้วเทคนิคที่ทำให้ชัดเฉพาะที่ตัวแบบมีหลายปัจจัยมากนะครับแต่ปัจจัยที่เห็นผลได้ชัดที่สุดและสร้างผลแบบนี้ได้ในเกือบทุกสถานะการคือเรื่องของรูรับแสงครับ รูรับแสงกว้างมาก ๆ (ค่าตัวเลขน้อย ๆ เช่น 4, 2.8, 2, 1.8,1.4 เพราะค่ารูรับแสงจริง ๆ เป็น ค่าเศษส่วนครับ f/... แต่คนนิยมเรียกสั้น ๆ เฉพาะเลขที่เป็นตัวส่วนเท่านั้น ทำให้มือใหม่หลาย ๆ คนงง ๆ ) จะยิ่งมีช่วงความชัดน้อยครับ นี่เป็นเหตุผลข้อนึงที่ว่าทำไมคนจึงต้องการเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง ๆ ไปถ่ายภาพสาว ๆ
ต่อมาว่ากันด้วยเรื่องของทางยาวโฟกัสเลนส์นะครับ เลนส์ที่ช่วงทางยาวโฟกัสต่าง ๆ จะให้ผลต่อภาพต่างกันไปครับผลที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของทัศนมิติของภาพ(Perspective)ที่ต่างกัน และยังมีเรื่องของความบิดเบี้ยวเนื่องจากทางยาวโฟกัสของเลนส์(Distortion) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสน้อยหรือที่เรียกกันว่าเลนส์ไวด์หรือเลนส์มุมกว้างนั้น มักจะให้ภาพที่มีความบิดเบี้ยวสูง โดยจะแสดงออกมาในรูปของภาพที่มีลักษณะป่องออก ซึ่งเป็นผลมาจาก Barrel Distortion ส่วนเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมาก ๆ จะมี Pincushion Distortion ทำให้ภาพที่ได้มีลักษณะโค้งเข้าครับ ตรงจุดนี้ ทำให้เลนส์ช่วงทางยาวโฟกัสที่เป็นช่วงเทเลต้น ๆ เป็นเลนส์ที่นิยมนำมาใช้ในการถ่ายภาพบุคคลเช่นช่วงตั้งแต่ 70ถึง200 มม.
ทั้งนี้ทั้งนั้นรวมหมดถึงกล้องทั้งตัวคูณและฟูลเฟรมนะครับ แต่อาจจะต่างกันนิดหน่อยในเรื่องของความบิดโค้งกับขอบภาพ ซึ่งถ้าแยกย่อย ๆ ก็จะมีความเหมาะสมต่องานที่ต่างลักษณะกันอีกด้วย เช่นในกรณีที่เห็นความแตกต่างชัดเจนมาก ๆ อย่างการถ่ายภาพ Head shot หรือที่รู้จักในนามของการถ่ายครอปหน้านั่นเองครับ กรณีนี้ถ้าแบบ มีโครงหน้าที่ค่อนข้างมีเนื้อแล้วต้องการให้รูปหน้าดูเพรียว มักจะใช้ช่วงเลนส์ที่ 80-120 มม.ถ่ายภาพ ส่วนถ้าแบบเป็นคนที่มีโครงหน้าผอมยาว ซูบ แล้วต้องการให้ดูสดใสมีเนื้อมีหนังจะนิยมใช้ช่วงเลนส์ทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 135-200 มม.ถ่ายภาพครับ
อันนี้ว่ากันในกรณีที่ถ่ายแบบครอบหน้าและเรื่องของผลการบิดโค้งของภาพจากเลนส์นะครับ นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่น ๆ อีก ซึ่งถ้าอธิบายคงยาวมาก ๆ ขอยกยอดไปแล้วกันนะครับ
จากเหตุผลที่ว่ามาทำให้เลนส์ที่มีช่วงทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 70-200 มม.และมีรูรับแสงกว้าง ๆ เป็นที่นิยมในการถ่ายภาพบุคคลมาก ๆ ครับ
นอกจากนี้เลนส์ที่ทำมาสำหรับการถ่ายภาพบุคคลโดยเฉพาะไม่ว่าค่ายไหนโดยส่วนมากมักให้สีผิวที่นุ่มนวล คอนทราสต์ที่ไม่หนักจนเกินไปทำให้ภาพที่ได้ไม่ดูคมจนแข็งกระด้าง เช่น 85 f/1.2,f/1.4,f/1.8 หรือ 100 f/2(ตัวนี้ของแคนนอน ไม่ใช่ตัวมาโครนะครับ) 105 f/2.5(แมนวล) 105DC f/2 , 135 f/2 (สังเกตช่วงเลนส์นะครับ เลนส์ที่ทำมาสำหรับงานด้านถ่ายภาพบุคคลโดยเฉพาะจะมีช่วงตามที่บอกมาแล้วข้างต้น)ที่กล่าวมาว่ากันด้วยเรื่องของการถ่ายแบบที่เป็นที่นิยมหรือแบบหน้าชัดหลังเบลอซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการถ่ายภาพบุคคลนะครับ
จริง ๆ จะมีการใช้เลนส์ช่วงอื่นในการสร้างสรรค์ภาพได้อีก อย่างเช่นการแหกกฎนำเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสน้อยมาก ๆ มาถ่ายแบบ หรือใช้เลนส์ตาปลาที่มีองศาการรับภาพกว้างมาก ๆ ถึง 180 องศา หรือการใช้เลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ในการแคนดิด หรือเลนส์กระจก(เลนส์รีเฟลกต์)ที่ให้โบเก้แบบพิเศษเป็นรูปโดนัท มาถ่ายภาพบุคคลทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับคนหลังกล้องครับว่าจะมีแนวคิดอย่างไร
ป.ล.หากขาดตกบกพร่องหรือมีจุดผิดพลาดอย่างไร รบกวนทุก ๆ ท่านช่วยกันเสริมหน่อยนะครับ ถือว่าเป็นความรู้ให้กับมือใหม่ทุกท่าน ขอบพระคุณอีกครั้งครับ
แก้ไขเมื่อ 18 ก.ย. 53 23:07:43
แก้ไขเมื่อ 18 ก.ย. 53 22:56:07
แก้ไขเมื่อ 18 ก.ย. 53 22:46:43
จากคุณ |
:
burapha25
|
เขียนเมื่อ |
:
18 ก.ย. 53 22:26:22
|
|
|
|
 |