Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
มือใหม่ หักซื้อกล้อง ตอน Survival in the camera shop..... ติดต่อทีมงาน

การเลือกซื้อกล้อง สำหรับมือใหม่ (ฉบับ แบ่งหัวข้อ)
เนื่องจาก พักนี้ เริ่มมีคนมาถามผมอีกแล้วครับว่า “จะเลือกซื้อกล้องอย่างไรดี” ไอ้ที่เคยตอบไว้ในเว็บบอร์ด ก็อาจจะไม่ชัดเจน เล่าอัตตชีวประวัติไปซ่ะมาก เลยเขียนใหม่ สรุปเป็นหัวข้อ อธิบายให้ “ชัดเจน” มากขึ้น (แต่ ก็ยัง ยาวอยู่ดี)
หัวข้อที่จะเขียนถึงมีดังนี้


1.ความถนัด และเหมาะมือ ในการใช้งาน
2.คาแร๊กเตอร์ (สี คอนทราส) ของกล้องแต่ละยี่ห้อ
3.เสป็ค ความแรง ความละเอียด เลนส์เทพ
4.งบประมาณ และ แผนการเสียตังค์
5.มองคนรอบๆตัว ความช่วยเหลือที่หาได้
——————————————
1. ความถนัด และเหมาะมือ ในการใช้งาน
การวางปุ่ม วิธีหมุนถอดเลนส์ scale+/-ชดเชยแสง? เป็นสามสี่อย่าง ที่สองค่ายดัง คือ แคนนอน กับ นิคอน วางไว้ตรงกันข้ามกัน
เช่น แคนนอน นิยมให้กดปุ่มที่นิ้วโป้ง แล้ว หมุน Wheel ที่นิ้วชี้ ด้านบนตัวกล้อง? ส่วนนิคอนให้กดปุ่มด้านบน ด้วยนิ้วชี้ แล้วหมุน

Wheel ด้านหลัง ด้วยนิ้วโป้ง เป็นต้น? ตอนเปลี่ยนกล้องไปมา จะปวดหัวมาก

-

การตัดสินใจเลือกหลายครั้งจึง ขึ้นกับว่า “ถนัด” กับแบบไหนมากกว่า เพราะฟังก์ชั่น หลักๆ เรียกได้ว่า “เกือบเหมือนกัน” แค่วางปุ่มไว้คนละที่? หรือ บางอย่าง ไม่เหมือนกัน แต่ก็เข้าไปเซ็ตให้ “เหมือนกัน” ใน custom function หรือ เลือกในเมนู ได้ตรงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ คนใช้กล้องยี่ห้อหนึ่งๆมา หลายคนมักจะ “ชิน” กับกล้องยี่ห้อนั้นๆ เลยทำให้เกิดอาการ รำคาญเมื่อต้องเปลี่ยนยี่ห้อ เลยทำให้เวลา แนะนำคนอื่นๆใช้งาน มักจะแนะนำกล้องยี่ห้อที่ตัวเองใช้งานอยู่

-

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตากล้องระดับที่ถ่ายรูปจริงจัง เลือกที่จะใช้กล้องรุ่นใหญ่ขึ้นมาถึงแม้จะไม่ได้รับงาน ก็เนื่องจาก “ความสะดวก” ในการใช้งาน ที่เกิดจากการที่ตัวกล้องใหญ่ขึ้น มีปุ่มต่างๆวางอยู่ในตำแหน่งที่กดใช้งานง่าย มี jog wheel สองอัน ปรับค่าได้รวดเร็วในช่วง 1-2 ปีก่อน เราจะเห็นได้ว่า มีตากล้องหลายคน ยอมซื้อ 30D มือสอง มากกว่า ใช้400D มือหนึ่ง ทั้งที่ เสป็คทุกอย่าง 30D ด้อยกว่า 400D

-

ทั้งหมดทั้งมวล ปัญหาของคนที่เริ่มต้นซื้อกล้องมาใหม่ๆ โดยไม่เคยถ่าย DSLR มาก่อนคือ

-

ไม่รู้ว่า ไอ้ปุ่ม ทั้งหลายด้านหลังกล้อง มันใช้ทำอะไรบ้าง หลายฟังก์ชั่น ใช้ไม่เป็น หรือไม่เคยใช้? เลยบอกไม่ได้ว่า “มันใช้ถนัดรึปล่าว” เลย นำไปสู่การตัดสินใจไม่ถูกว่า จะ Nikon Canon Olympus หรือ Pentax

-

คำตอบในการเลือก กล้องที่บอกว่า “ลองไปที่ร้าน ไปจับๆดูทุกตัว ว่าชอบตัวไหน” ส่วนมากจึงช่วยอะไรไม่ได้สำหรับมือใหม่ ที่ไม่มีพื้นฐานการถ่ายภาพมาก่อนเลย ( และช่วยอะไรไม่ได้กับ คนที่ถ่ายภาพด้วย โหมด ออโต้ ชดเชยแสงไม่เป็น ล๊อคค่าแสงไม่เป็น )

-
จุดที่พอจะเลือกได้ก็จะเป็นเรื่องง่ายๆเช่น ขนาดของกล้อง น้ำหนัก หน้าตา ซึ่งปกติ นิคอนระดับกลางๆ จะมีหน้าตาและขนาดเหมาะมือสำหรับผู้ชาย กว่า? ผู้หญิงหลายคนชอบ 400D 450D หรือ Olympus รุ่นเล็กๆ? เพราะขนาดกระทัดรัดพกพาง่าย แต่ก็มีผู้ชายบางคนชอบ 400D เพราะพกง่าย ผู้หญิงบางคนชอบ 5D เพราะหนักแน่นดี เรียกได้ว่า นาๆ จิตตัง

-

สุดท้ายเข้าไปที่ร้านเมื่อไหร่ ส่วนมากก็จะโดนชิวหาพาเพลินของพี่ๆร้านกล้อง แนะนำตัวโน่นตัวนี้ จับกล้องโปรยัดใส่มือให้ลอง จนงบบานเบอะ บางร้านก็แนะนำให้ซื้อยี่ห้อที่กำไรมาก หรือขายไม่ออก หรือ อื่นๆ จนทำเอาคนจะซื้อใจสั่น หัวหมุน เผลอควักเงินไป โดยลืมศึกษาข้อดีข้อเสีย ของกล้องแต่ละยี่ห้อเลือกให้เหมาะกับตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการ “ไม่มีความรู้” เลยโดนชักจูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผม มีกล้องให้ยืมเรียน เพื่อคนที่มาเรียนจะได้ “มีความรู้บ้าง” ก่อนจะเสียเงินซื้อกล้อง

-

อยากให้มองว่า เราสามารถเริ่มต้นหัดใช้งานให้คล่องกับกล้องตัวใดก็ได้ ขอเพียงมีเวลา + มีความรู้ว่าปุ่มไหนใช้ทำอะไร ควรเซ็ตค่าอย่างไร เราสามารถปรับตัวใช้งานกล้องทุกตัวได้ ประเด็นความถนัด จึงไม่ใช่เรื่องที่เรา”ใส่ใจมากนัก” สำหรับมือใหม่ ส่วนมากจะแค่ขนาดจับถนัดมือ น้ำหนักพอดี แต่ไม่ได้สนใจเรื่อง layout ปุ่มด้านหลัง

———————————————————-
2. คาแร๊กเตอร์ ของกล้องแต่ละยี่ห้อ
อีกเรื่องที่เวลาเราไปอ่านตามเว็บ แล้วมีคนมาแนะนำว่า รุ่นไหนดีไม่ดีอย่างไร มักจะเจอคนเก๋าเกมส์ มาอธิบายคาแร๊คเตอร์
ของกล้อง ประเภทว่า “ผมซื้อนิคอน เพราะสีมันหวาน” “ผมว่าแคนอนสีมันจริงดี” “เลนส์ L มันดูมีมิติกว่า” “เลนส์ซิกม่าติดเขียว”
“400D ติดเหลือง” “สีผิวดูเป็นธรรมชาติ” “มิติมัน บลา บลา บลา (ศัพท์เทคนิกอ่านไม่รู้เรื่อง) “และอื่นๆอีกมากมายที่บรรยายเรื่องเนื้อ เรื่องสี เรื่องคาแร๊กเตอร์ ของกล้องและเลนส์ ที่แนะนำให้ซื้อ พอมือใหม่ไปถาม แล้วเจอคำตอบแบบนี้ ก็ต้องนั่งมึน เพราะ เห็นภาพจากกล้องยี่ห้อไหน ก็เห็นว่า “มันสวยดี” แล้วไอ้ติดเหลืองติดเขียว มันคืออะไรฟ่ะ

-

บางคนที่เคยมีพื้นฐานเรื่องสี ดี มากๆ เช่นเคยเป็น กราฟฟิคดีไซน์เนอร์? เป็นคนตรวจพรู๊ฟงานพิมพ์ เป็นศิลปินวาดภาพ มีเซนส์ มา
แต่กำเนิด หรือ บ้านเป็นร้านขายสี ก็ ดีไป เพราะอ่านตรงนั้นจะเข้าใจได้

-

แต่สำหรับมือใหม่หลายคน ที่เริ่มจากสนใจและยังไม่รู้อะไรเลย ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับสี? เรื่องพวกนี้เรียกได้ว่า ละเอียดเกินไป หากเทียบกับตากล้องสมัยก่อนที่ถ่ายด้วยฟิล์ม แค่ซื้อฟิล์มอยู่ติดหน้าตู้ตากแดด กับอยู่ในร่ม สีก็ต่างกันแล้ว จุดนี้จึงเป็นจุดที่”อย่าเพิ่งไปสนใจ” มีเรื่องอื่นอีกมากมาย ที่ “ควรสนใจก่อน” เช่น ถ่ายรูปยังไงให้ ติด!! สำคัญกว่า ทำไม 400D ติดเหลือง 40D ติดฟ้า เยอะ? นอกจากนี้ การ post process ก็มีส่วนช่วยเรื่องนี้ได้อีกมาก ( อ่าน ถ่ายรูป ดิจิตอล แล้วทำไมต้องProcess )

-

หากกังวลเรื่องนี้ ให้ใช้วิธีง่ายๆ คือดูว่า คนที่เราเห็นภาพแล้วชื่นชอบมากๆ ใช้กล้องอะไร
ก็ใช้ ยี่ห้อเดียวกันไปเลย อย่างน้อยพื้นฐานสี ก็จะใกล้เคียงกัน
แต่หากลองค้นๆดูอีกนิด เช่น ดูรูปจาก flickr จะสามารถเลือกดูรูปจากกล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อได้ก็จะรู้ว่า กล้องยี่ห้อไหน มันก็สวยทั้งนั้น!! ขึ้นกับอีกหลายปัจจัย
-
ลองเข้าไปดูตามลิงค์ มีภาพจากกล้องยี่ห้อต่างๆ รุ่นต่างๆให้ดู
http://www.flickr.com/cameras/brands/

———————————————————-

3. เสป็ค ความแรง ความละเอียด เลนส์เทพ กล้องโปร

อีกส่วนหนึ่งที่ คนที่แนะนำตามเว็บส่วนมากมักจะพูดคุยกันสนุกปากดูเจ๋ง แต่ไม่สนุกกระเป๋าเงินพ่อแม่ (กรณียังไม่ได้ทำงาน) บางทีก็ไม่สนุกกระเป๋าเงินเราเอง (กรณีทำงานแล้ว) คือ คำแนะนำประเภท “รออีกนิด 50D กำลังจะมา” “เพิ่มอีก2หมื่น เล่นตัวโปรไปเลยผมว่าคุ้มกว่า” “D3 ไปเลย แรงกว่าเห็นๆ”? และอื่นๆมากมาย
-

ตลอดมา การถ่ายภาพจริงๆ กับ การ”เล่นกล้อง” แทบจะแยกกันไม่ออก เหมือน คนเล่นดนตรี กับ คนเล่นเครื่องเสียง
ซึ่งหากเราอยากมีความสุขกับการ “ถ่ายภาพ” เราต้องแยกให้ออก ระหว่างความสุขจากการถ่ายภาพ กับ ความสุขจากการสะสม
กล้อง และ เลนส์ราคาแพง

-

เสป็ค หลายๆ ส่วนเช่น “ความละเอียดภาพ” ที่เป็นตัวเลข เพิ่มขึ้นตามวันเวลา มักจะมีผลต่อการตัดสินใจ ที่ทำให้เราอยากได้กล้องแรงขึ้น (และแพงขึ้นด้วย )? ด้วยความเชื่อว่า “จะได้เหมือนคนที่ถ่ายรูปเก่งๆ”
หากลองดู ความละเอียดระดับ 10Mpixel ของกล้อง DSLR ทั่วๆไปสมัยนี้ อัดภาพที่ความละเอียด “สูง 300 dpi”
ซึ่งละเอียดมากจนใช้แว่นขยายส่องไม่เห็นแล้ว จะได้ขนาดประมาณ 8×10นิ้ว

-

ลองถามตัวเองดูว่า “สี่ปีที่ผ่านมา ฉันอัดรูป ขนาดใหญ่กว่า 8×10 ไปกี่รูป” ผมเชื่อว่าคำตอบส่วนมากคือ “แทบไม่มีเลย” หรือ ให้ตายก็ไม่ เกิน 50-60 รูป สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานด้านการพิมพ์ หรือ เป็นตากล้อง

-

คำถามมันจึงย้อนกลับมาว่า “แล้วจำเป็นรึปล่าวที่เราต้องเสียเงิน เพิ่มอีกหลายหมื่น เพื่อ สิ่งที่เราแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์”

-

มือโปรหลายท่าน ใช้อุปกรณ์ ราคาแพง เพราะงานที่ทำต้องใช้ความละเอียด และคุณภาพสูงมากจริงๆ เช่นถ่ายภาพ พอลล่า ไปแปะผนังรถไฟฟ้า ที่ขนาดสูง กว่าตัวพอลล่า? หากคุณไม่ได้จะถ่ายภาพเมียที่บ้าน ไปอัดให้ขนาดใหญ่กว่าตัวจริง ความละเอียดสูงๆ ก็ไม่ได้มีความจำเป็นอย่างใด มีแต่จะทำให้ต้องไปเสียเงินซื้อ Harddisk ใหญ่ๆ มากเก็บรูปใหญ่ๆ โหลดช้าๆกันไป

-

เสป็คของตัวกล้องปัจจุบัน ที่อัพเกรดกันล่าสุดในครึ่งปีหลังนี้ แทบจะเป็นการอัพเกรด “เล็กน้อย” คือ แทบจะไม่ได้ทำให้ ภาพสวยขึ้น ได้เลย แค่ ละเอียดขึ้น เนี๊ยบขึ้น ซึ่งเป็นไปได้มากว่า เมื่ออัดรูปออกมา (หรือดูแค่ขนาดเต็มจอ LCD ) จะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย กับกล้องรุ่นก่อนหน้า

-

อย่างไรก็ดี หากคุณ เห็นว่า การสะสมเลนส์ สะสมกล้อง เป็น”ความสุข” ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ที่ผมไม่กล้าไปขัดใจ
ซึ่งนั่นก็เป็นงานอดิเรก เหมือนคนเล่นรถ เล่นแสตมป์ เล่นพระเครื่อง

———————————————————
4. งบประมาณ และ แผนการเสียตังค์

การที่คุณไม่ได้เป็นคน “เงินถึง”? มีเงินเก็บก้อนหนึ่ง หรือ พ่อแม่ให้เงินมาจำนวนหนึ่ง จะช่วยได้มากกับการเลือกซื้อกล้องผมพูดมาตลอด และจะพูดต่อไป ว่า “เลนส์สำคัญกว่ากล้อง” มาก สำหรับการเริ่มต้น

-

การที่ มือใหม่หัดเล่นกล้อง งบจำกัด จะสามารถทำใจ “ซื้อกล้องรุ่นเล็ก” แล้วเอางบไปถมกับเลนส์ Prime ดีดีสักตัว
หรือ เลนส์ Ultra Wide จะมีประโยชน์ในด้านคุณภาพของภาพ หรือ Effect จากภาพมากกว่า ความละเอียดของกล้องเป็นไหนๆ
การพยายามซื้อ กล้องดีดี จนไม่เหลือเงินไปซื้อเลนส์ จึงอาจจะเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่า สำหรับ คนที่งบประมาณจำกัด
เพราะมักจะทำให้เกิดข้อจำกัด ที่กล้องดีไม่ช่วยอะไรในระยะยาว

-

เรื่องงบประมาณ จริงๆ แทบจะเป็นเรื่องเดียวกันกับ เรื่องเลนส์โปรกล้องเทพ เพราะมันมักจะมาด้วยกัน นอกจากนี้ คำถามพื้นฐาน

-

ที่มือใหม่มักจะถามคือ? “ซื้อกล้องอะไรดีครับ”? “เลือกกล้องตัวไหนดีระหว่าง xx กับ xxx”?? “ช่วยเปรียบเทียบกล้อง Dxx กับ Dxxx หน่อยครับ” คนมาตอบ ก็ต้องบอกว่ารุ่นที่ “แพงกว่า มันดีกว่า” อยู่แล้ว หากแต่การถ่ายรูปจริง กล้อง เป็นส่วนประกอบหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด หากกำหนดงบประมาณ ไว้ชัดเจนที่ระดับหนึ่ง ตัดสินใจเลือก กล้องและเลนส์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะซื้อก็จะมีตัว เลือกชัดเจนแค่ตัวเดียว (หรือ รุ่นเทียบกันแต่ต่างยี่ห้อ)

-

ในทางเดียวกัน (อย่างไม่น่าเชื่อ) หากคุณ “เงินถุงเงินถัง” แล้วอยากเริ่มต้นถ่ายภาพ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อกล้องรุ่นใหญ่ เพราะหากคุณเงินหนาจริง การจะซื้อกล้องรุ่นเล็ก มาหัดถ่าย สัก 1ปี แล้วขายขาดทุน สัก 5000 บาท เพื่อนำเงินไปโปะซื้อกล้อง รุ่นใหญ่ขึ้น คงไม่ได้เป็นประเด็นอะไรมากมาย เพราะนั่นก็หมายความว่า คุณรู้ตัวว่าอยากจะจริงจังกับการถ่ายภาพแล้ว ถึงได้ตัดสินใจอัพเกรดกล้อง แถมถ้าลงทุนกับเลนส์ไว้ ตอนอัพเกรด ก็สามารถอัพเกรดเฉพาะตัวกล้อง เก็บเลนส์ไว้ใช้กับกล้องรุ่นใหญ่ได้

-

ประเด็นคือ หากซื้อมาแล้ว “ไม่ค่อยได้ถ่าย จะขายก็เสียดาย” การซื้อกล้องรุ่นเล็ก คือการประหยัดเงินไปได้อีกหลายตังค์ นอกจากนี้ ราคาเลนส์ มักจะขาดทุนไม่มาก ถึงจะผ่านเวลาค่อนข้างนาน การลงทุนกับเลนส์ จึงเรียกได้ว่า ปลอดภัยกว่า และได้ผลลัพท์ ดีกว่า แต่ราคากล้อง มักจะตกฮวบฮาบ เมื่อมีรุ่นใหม่ออกมา บางกรณี จะถึงกับ “ไร้ค่า” ขายไม่ออกไปเลย
แถมถ้ากล้องโปรมาก ก็จะหาคนมาซื้อต่อยาก เป็นเงาตามตัว(ยกเว้น จะขายขาดทุนมาก)
-
อีกสิ่งหนึ่งที่ เวลาซื้อกล้องมักจะลืม รวมไปด้วย คือ รายจ่ายแฝงจากอุปกรณ์เสริม
เช่น

•Memory card? 500 – 1,000 บาท แล้วแต่รุ่นและความจุ
•กระเป๋า? 1,000-3,000 บาท แล้วแต่ยี่ห้อกับขนาด
•แบตสำรอง ประมาณ 1,000-1,500 สำหรับแบตแท้
•ชุดทำความสะอาด 200 บาท
•ฟิตเตอร์? ตั้งแต่ 500-1,000 บาท
ซึ่งหากรวมราคาจริงๆ จะใช้เงินส่วนนี้ กว่า 3,000 – 4,000 บาท
“จำเป็นต้องซื้อ”
การที่มีงบ 40000 อาจจะต้องตัด เงินเผื่อส่วนนี้ 3,000 บาทไว้อย่างน้อย
ซึ่งหมายความว่า เรามี เงินสำหรับกล้องและเลนส์ จริงๆ แค่ 37,000 บาท!!

————————————————————

5. มองคนรอบๆตัว ความช่วยเหลือที่หาได้

ข้อหนึ่งที่ผมมักจะ แนะนำสำหรับคนซื้อกล้องมือใหม่ คือ “ซื้อตามคนรอบๆตัว” เพราะ ในการหัดถ่ายภาพ หลายๆครั้ง การที่มีคนที่เคยใช้กล้องยี่ห้อเดียวกันอยู่ใกล้ตัว จะช่วยให้เรา “ถามปัญหา” ที่เราไม่เข้าใจ โดยเค้าจะอธิบายการใช้งานได้ชัดเจน

-

นอกจากนี้ ข้อดีอีกข้อคือ “เราสามารถยืมเลนส์ มาลองได้” เช่นเพื่อนสนิทผมคนหนึ่ง ก็เคยยืมเลนส์ sigma 10-20 mm ไปลองอยู่สองสามวัน แล้วเค้าก็พบว่า ตัวเองชอบเลนส์แนวนี้ ถึงได้ไปถอย Canon 10-22 มาใช้

-

บางกรณีที่ออกไปทริปถ่ายภาพ ก็มีหลายครั้งที่ผม แลกเลนส์ กับรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่ไปด้วยกันก็ทำให้ได้รู้ว่า เลนส์ตัวไหนผมไม่ชอบ ตัวไหนชอบ ตัดสินใจได้ง่าย ไม่ซื้อเลนส์ สะเปะสะปะ

————————————————————

สุดท้ายแล้ว หากรอบๆ ตัวคุณใช้กล้องหรือเลนส์ ที่ คุณใช้แล้วไม่เหมาะกับคุณ ไม่ชอบสี ปุ่มไม่ถนัดมือ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ตามมามากมาย ที่เป็นเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่กิเลส ที่เกิดจากความอยากมีอยากได้ ก็แปลได้ว่า คุณเริ่มพ้นสภาพ “มือใหม่หัดถ่าย” แล้ว ถึงได้รับรู้เรื่องพวกนี้? ซึ่งก็หมายความว่าคุณก็จะสามารถ ซื้อกล้อง และเลนส์ ตัวต่อๆไป ได้อย่างมีความมั่นใจ
หรือคุณอาจจะเก่งจน ไม่ต้องสนใจระดับของกล้องแล้ว เพราะรู้ว่า

“ใช้กล้องตัวไหน ก็มีความสุขกับการถ่ายภาพได้”
สวัสดี

ที่มา :
http://www.halfbottle.net/wp/photography/how_to_buy_new_camera

แก้ไขเมื่อ 13 มี.ค. 54 15:45:26

จากคุณ : Nosten
เขียนเมื่อ : 13 มี.ค. 54 10:39:09




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com