 |
การถือกำเนิดของภาพยนตร์กลางแปลงในโลก ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าเกิดที่ประเทศใดกันแน่
แต่สันนิษฐานว่า น่าจะมีขึ้นภายหลังจากการที่สองพี่น้องตระกูลลูมิแอร์ของฝรั่งเศสที่ได้ฉายภาพยนตร์ขึ้นด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า "ซีนีมาโตกราฟ" (Cinematograph)
แล้ว ต่อมาจึงได้มีการเผยแพร่อุปกรณ์ดังกล่าวไปทั่วโลก คล้าย ๆ กับ "หนังเร่" ในบ้านเรา
ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2440 ได้มีโฆษณาแจ้งความลงในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์
เกี่ยวกับการจัดฉายภาพยนตร์เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ
และมีการเก็บค่าชมด้วย โดยในคืนแรก มีผู้ชมจำนวน 600 คนได้เข้าไปชมสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทย แต่การจัดฉายภาพยนตร์ยังไม่ถือว่าเป็น "หนังกลางแปลง"
หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีคณะหนังเร่จากต่างประเทศเข้ามาฉายโดยเก็บค่าเข้าชมเป็นระยะ ๆ
ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สถานที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น โรงละคร โรงแรม เป็นต้น เพราะในขณะนั้นยังไม่มีโรงมหรสพสำหรับจัดฉายภาพยนตร์โดยเฉพาะ
ซึ่งคณะหนังเร่ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่นิยมอย่างมาก นั่นคือ คณะของ ที. วาตานาเบ้ ของญี่ปุ่น โดยได้เข้ามาฉายภาพยนตร์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2447 ที่บริเวณที่ว่างข้างวัดตึก (ปัจจุบันคือ เวิ้งนาครเขษม)
โดยตั้งเป็นกระโจมสำหรับวางเครื่องฉาย ส่วนจอภาพยนตร์จะอยู่ด้านนอก ซึ่งลักษณะดังกล่าวน่าจะเรียกว่าเป็น "หนังกลางแปลง" ก็ได้ เพราะไม่ได้นำเครื่องฉายไปจัดไว้ในสถานที่เฉพาะเหมือนอย่างคณะอื่น ๆ นั่นเอง
และนอกจากนี้ยังได้นำไปฉายในงานวัดเบญจมบพิตรอีกด้วย จนกระทั่งงานวัดสิ้นสุดจึงได้เดินทางกลับประเทศ และด้วยความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ปลายปี พ.ศ. 2448 ได้กลับเข้ามาตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้นเป็นแห่งแรก โดยใช้สถานที่ที่เคยนำภาพยนตร์มาฉายครั้งแรก นั่นคือ ที่ว่างข้างวัดตึก นั่นเอง
ส่วนการฉายภาพยนตร์กลางแปลงให้ผู้ชมได้ชมฟรีนั้น ได้เกิดขึ้นเมื่อ สำนักข่าวสารอเมริกัน หรือ ยูซิส (USIS) ได้นำภาพยนตร์เกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาฉายในประเทศไทย
เพื่อให้คนไทยได้รู้จักประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้น การจัดฉายในครั้งนั้นจะเป็นเครื่องฉายที่ใช้กับฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตร และตัวจอภาพยนตร์จะเป็นขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสเหมือนจอภาพของเครื่องฉายภาพ วิดีโอ โปรเจคเตอร์ ในปัจจุบัน
ภาพยนตร์ที่ฉายในขณะนั้นจะเป็นภาพยนตร์ข่าว หรือสารคดี เป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาพยนตร์เรื่องนั้นมีน้อยมาก เช่น ภาพยนตร์ตลกของชาลี แชปปลิน , ลอเรลแอนด์ฮาร์ดี้ (คนไทยจะรู้จักกันในชื่อ "อ้วนผอม") หรือตลกคณะ The Three Stooges (สามเกลอหัวแข็ง)
รวมไปถึงภาพยนตร์การ์ตูนของดิสนีย์ อย่าง โดนัล ดั๊กและมิคกี้ เมาส์ เป็นต้นซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
จากการที่ ยูซิส เป็นต้นแบบของการฉายภาพยนตร์กลางแปลง ทำให้องค์กรที่เป็นบริษัทหรือผู้ผลิตยาหรือสินค้าประเภทอื่นได้ริเริ่มการจัดฉายภาพยนตร์กลางแปลง
ประกอบกับได้เข้าสู่ยุคของภาพยนตร์ที่ใช้ฟิล์ม 16 มิลลิเมตรพอดี ที่สำคัญมีเฉพาะหนังต่างประเทศ ส่วนหนังไทยมีน้อยมาก แต่ได้รับความนิยมจากคนดูมากกว่า
ส่วนหนังขายยาที่ริเริ่มฉายภาพยนตร์ด้วยฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ซีเนมาสโคปจอกว้างนั้น เริ่มมาจาก บริษัท อารยะโอสถ ตรามือ เป็นแห่งแรก หนังที่ฉายก็ยังเป็นหนังต่างประเทศอีกเช่นเดิม
เพราะหนังไทยมีราคาแพงมาก และที่สำคัญจะเน้นเฉพาะหนังฮอลลีวู้ดที่เป็นหนังตึก อย่าง ฟ็อกซ์ , วอร์เนอร์ , เมโทร โกลวิน เมเยอร์ (สัญลักษณ์สิงโตคำราม) เป็นต้น
ทั้งที่เป็นฟิล์มระบบ 35 มม. โดยตรงและที่พิมพ์ฟิล์ม 35 มม. ขึ้นใหม่ เพื่อลดขนาดจากฟิล์ม 70 มม. ซึ่งตัวฟิล์มมีขนาดใหญ่และมีฉายเฉพาะที่โรงในกรุงเทพ ฯ เท่านั้น (ภาษาวงการเรียกว่า "โบลว์") เช่น ยอดคนจังโก้ , เจ็ดสิงห์แดนเสือ , เบน-เฮอร์ , คลีโอพัตรา , วันเผด็จศึก (ฉบับเดิมที่เป็นภาพขาว-ดำ) เป็นต้น
ทำให้บริษัทอื่น ๆ ที่เคยฉายแต่ฟิล์มระบบ 16 มม. ต้องปรับเปลี่ยน และยังมีอีกกรณีหนึ่งนั่นคือ การฉายภาพยนตร์ด้วยฟิล์ม 16 มม.ที่พิมพ์ลดขนาดจากฟิล์ม 35 มม. เพื่อสะดวกในการฉาย แต่ต้องใช้เลนส์อะนามอร์ฟิก หรือเลนส์สโคปเพื่อขยายภาพออกเหมือนกับการฉายจากฟิล์ม 35 มม.
ป.ล.คำถามน้าลีโอผมไม่ทราบ แต่จะให้เดาก็คงจะมาจาก หนังที่ฉายกลางที่โล่ง(ที่แปลง)นั่นเอง
จากคุณ |
:
9george (ge-or-ge)
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ก.พ. 55 14:23:54
|
|
|
|
 |