Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
Digital Photography Asset Management ตอน 1-2 ติดต่อทีมงาน


ในการถ่ายภาพ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าภาพถ่าย ...นั่นก็จริง

แต่ในกระบวนการถ่ายภาพทั้งกระบวนการ พอจะกล่าวได้ว่าการบริหารจัดการคลังภาพถ่าย มีความสำคัญเหนือยิ่งไปกว่าการถ่ายภาพเองด้วยซ้ำ
เพราะหากไม่มีการบริหารจัดการคลังภาพที่ดี ในชีวิตช่างภาพอาจจะไม่มีภาพถ่ายเหลือเลยก็ได้

หากจะเรียก Digital Photography Asset Management เป็นภาษาไทยว่า "การบริหารจัดการคลังภาพ"
ก็ดูเหมือนว่าจะแคบไปหน่อย และไม่ค่อยครอบคลุมสักเท่าไหร่ เพราะเนื้อหาของเรื่องนี้มันกว้างมาก ขนาดเป็น Textbook เล่มโตๆ เรียนเอาปริญญาโทกันได้เลย
เรื่องนี้จะครอบคลุมกระบวนการทำงานตั้งแต่ การเตรียมระบบ และ Workflow ตั้งแต่ก่อนภาพถูกบันทึกลงบนเมมโมรี่การ์ด
กระบวนการเดินทางของไฟล์ ไปจนเก็บไฟล์ ใช้ไฟล์ ไปจนกระทั่งชั่วฟ้าดินสลายนั่นเลยทีเดียว
เพื่อให้ภาพนั้นสร้างผลตอบแทนได้มาก และนานเท่าที่เป็นไปได้
ทั้งผลตอบแทนในรูป เงินทอง ชื่อเสียง ความสุขทางใจ ความทรงจำ หรืออะไรก็แล้วแต่ ตามที่ต้องการ

เรื่องนี้ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของกฎหมาย และบัญชี เรื่องภาษี เรื่องอื่นๆ อีกเยอะ นอกเหนือไปจากเทคนิค และศิลปะอีกด้วย
หัวจะข้อเรียงตามลำดับที่นึกได้ครับ ไม่ได้มีหลักการอะไรทั้งนั้น


ใช้สองการ์ด มั่นใจสองเท่า

ก่อนจะไปเรื่องอื่น ผมเริ่มจากในกล้องเลย อย่างหนึ่งที่เราจะสังเกตได้สำหรับกล้องที่จัดประเภทได้ว่าเป็นกล้องโปร คือสามารถใส่เมมโมรี่การ์ดได้ 2 ใบ เราสามารถจะเลือกให้การ์ดสองใบนี้บันทึกต่อเนื่องกันทีละการ์ด จะบันทึกพร้อมกันสองการ์ด หรือแยกบันทึก jpg กับ RAW ก็ได้
จุดประสงค์หลักที่กล้องต้องมีสองการ์ด ไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มความจุ หรือแยก raw/jpg อย่างที่เราเข้าใจ
อันนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น เพราะเรื่องแรกสามารถแก้ได้ง่ายๆ ด้วการใช้การ์ดความจุสูง หรือมีการ์ดสำรองเยอะๆ เปลี่ยนการ์ดเป็นระยะๆ
เรื่องหลังก็มันไม่ได้ยากเย็นอะไรในการแยก jpg/raw ในคอมพ์ มันเป็นเรื่องหมูๆ สำหรับโปรแกรมจัดการคลังภาพ

สาเหตุหลักของการมีสองการ์ดคือ การแบ๊คอัพข้อมูลภาพเดียวไว้สองก็อปปี้ตั้งแต่ในกล้อง เพื่อป้องกันปัญหาการ์ดชำรุด หรือการ์ดหาย

ใครจะไปบอกได้ว่าการ์ดที่ใช้ได้ดีๆ อยู่เมื่อวานนี้ วันนี้มันจะดีอยู่ หรือเสียหายไปแล้ว
หรือการ์ดที่เพิ่งถ่ายภาพรับปริญญาใส่ไว้เต็มปรี่เมื่อเช้านี้ พอถึงบ่ายดันทำหล่นหายไปไหนไม่รู้

ดังนั้นหากกล้องเราสามารถใส่ได้ 2 การ์ด ให้ใส่ทั้งสองการ์ด อย่าปล่อยว่างไว้ และให้ตั้งเป็นแบบ Mirror ไว้เสมอ ถ่าย 1 รูป เขียนลง 2 การ์ดพร้อมๆ กัน
เวลาเอาการ์ดออกจากกล้อง ให้เก็บ 2 การ์ดนี้ แยกจากกันคนละที่เสมอ ใบหนึ่งอาจจะใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงไว้ อีกใบหนึ่งใส่ไว้ในกระเป๋ากล้อง จนกว่าจะไปถึงบ้านค่อยเอาการ์ดหนึ่งในนั้น สำเนาภาพถ่ายลงคอมพ์

เมื่อสำเนารูปออกไปแล้ว อย่าเพิ่งฟอร์แมทการ์ดทั้งหมด
ให้ฟอร์แมทแล้วเอาไปใช้ใหม่การ์ดเดียวพอ แล้วเก็บอีกการ์ดนึงเอาไว้ใกล้ๆ คอมพิวเตอร์ก่อน อย่าเพิ่งเอาไปใช้ อย่าเพิ่งย้ายที่ไปไหนไกล
จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าไม่มีเหตุที่ต้องให้ก็อปกันอีกแล้ว ค่อยเอาการ์ดที่สำรองนั้นไปฟอร์แมทใช้ใหม่

เมื่อไหร่ที่จะแน่ใจว่าไม่ต้องใช้แล้ว?

  • เมื่อส่งงานเรียบร้อยแล้ว และลูกค้าคอนเฟิร์มเรียบร้อยแล้วว่าได้งานครบถ้วนตามสัญญา
  • เมื่อมีแบ็คอัพอย่างน้อย 2 ก็อปปี้เรียบร้อยแล้ว นอกเหนือไปจากชุดที่อยู่ในคอมพ์ที่ทำงานอยู่
ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่างนี้แล้ว ถึงจะเอาการ์ดนั้นมาฟอร์แมท เอาไปใช้ใหม่ได้อย่างสบายใจ

ถ้ามีการ์ดเดียว ทำไง?
ทำใจครับ ก็ทำเท่าที่ทำได้ คือระวังหายเอา และอย่าเพิ่งรีบฟอร์แมทเอาการ์ดมาใช้


Label, Label, Label
ความผิดพลาดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเมมโมรี่การ์ดที่เจอบ่อย คือ
เอาการ์ดใบที่เพิ่งถ่ายมา ไปฟอร์แมทใช้ใหม่โดยที่ยังไม่ทันสำเนาลงคอมพ์
หรือจำไม่ได้ว่าไอ้ที่เพิ่งถ่ายไปวันก่อน มันคือการ์ดใบไหน ต้องมาไล่หากันทีละการ์ด

วิธีแก้คือ หากมีการ์ดหลายใบ ทุกใบ ต้องใส่เลขไว้เสมอ ว่าเป็นการ์ดหมายเลขที่เท่าไหร่
อย่าใช้วิธีจำ เพราะมันจะพลาดแน่นอน และทุกคนเคยพลาดมาแล้วแน่ 

เวลาใช้การ์ด ให้ใช้เรียงลำดับเลขไปทางเดียวเสมอ ห้ามใช้การ์ดย้อนศร จนกว่าจะสุดทาง ค่อยกลับมาเริ่มต้นที่การ์ดเลข 1 ใหม่

คราวนี้ก็จะง่าย พอเอาการ์ดออกมาจากกล้อง ใบนึงใส่กระเป๋ากล้อง ใบหนึ่งใส่กระเป๋ากางเกง แล้วเอาการ์ดหมายเลขต่อไปขึ้นมาใช้ได้เลย
ไม่ต้องจำว่าอันไหนใช้แล้ว อันไหนยังไม่ใช้ อันไหนมีงานค้างอยู่ หรือไม่มี เพราะมันจะเรียงลำดับกันเรียบร้อยตามหมายเลขอยู่แล้ว
ต่อให้การ์ดปนกันมั่ว ก็ยังไล่ลำดับหาภาพได้ไม่ยาก

ควรก็อปไฟล์ออกจากการ์ดทันทีที่เสร็จงานในวันนั้น ไม่ต้องรอวันอื่น ไม่งั้นจะลืม

และก่อนเอาการ์ดไปใช้ ให้ฟอร์แมทการ์ดก่อนจะยัดใส่กระเป๋ากล้องเสมอ
อย่าไปคิดว่าเดี๋ยวค่อยฟอร์แมทกันหน้างาน เพราะรับประกันได้ว่าจะลืม
แล้วก็ถ่ายไปโดยที่เหลือพื้นที่ในการ์ดนิดเดียว ต้องมาไล่ลบรูปเก่าๆ ทีละรูป

RAW เท่านั้น
มีการถกเถียง และเหตุผลมากมายระหว่าง RAW กับ JPG 
สำหรับมือสมัครเล่น
แต่หากเป็นช่างภาพอาชีพ และทำงานอาชีพแล้ว ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ให้ถ่าย RAW เท่านั้นครับ
ไม่ว่าจะฝีมือขั้นเทพมาจากไหน ก็จะไม่มีการถ่าย JPG เพียวๆ เด็ดขาด

RAW+JPG ก็ดูจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ ยกเว้นในกรณีงานบางอย่างที่ต้องการรูปด่วนหลังกล้องเลยเท่านั้น

RAW เปิดโอกาสให้มีอุธรณ์ ฎีกา ได้ หากมีอะไรไม่เป็นไปตามฝัน แม้โอกาสผิดพลาดจะมีไม่เยอะ
แต่ถ้ามี มันคือเรื่องใหญ่ และมันเกี่ยวพันกับปากท้อง เพราะฉะนั้น ป้องกันได้ให้ทำก่อนครับ

แต่อย่าไปหวังว่าถ่ายแล้วจะเอามา “แก้ไข” ทีหลัง
ควรจัดการให้ภาพออกมาสมบูรณ์แบบให้มากที่สุดในขั้นตอนการถ่ายภาพ
ยิ่งได้ต้นฉบับมาดี ขั้นตอน post-processing ก็จะยิ่งราบลื่น ง่าย เร็ว และได้คุณภาพ output ที่ดี
ช่างภาพได้ค่าจ้างถ่ายภาพนะครับ การแต่งภาพ หรือแก้ไขภาพ เป็นงานที่ไม่มีค่าตอบแทน
อย่าไปให้เวลาตรงนั้นเยอะ ประณีตตั้งแต่การถ่าย ชีวิตจะสบายในภายหลัง

การจัดระบบไฟล์ และโฟลเดอร์ภาพถ่ายในคอมพิวเตอร์
มาถึงขั้นตอนการก็อปภาพจากการ์ดลงคอมพ์
วิธีที่ทำให้จัดการได้ง่ายที่สุดคือ อย่าเพิ่งเอาโปรแกรมจัดการคลังภาพ หรือโปรแกรมอื่นใดเข้ามายุ่งตอนนี้
ให้ก็อปด้วยวิธีลากวาง เหมือนก็อปไฟล์ตามปกติ
โดยหลักการในการเก็บไฟล์คือให้เก็บเป็นระบบสากล ที่พร้อมจะย้ายเอาไปใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแมค ลินุกซ์ วินโดวส์เวอร์ชั่นอื่น
สามารถเอาไปใช้ หรือแชร์ไฟล์ผ่านเน็ตเวิร์ก ได้อย่างง่ายๆ
หากใช้โปรแกรมจัดการคลังภาพอาจจะเก็บไฟล์ด้วยวิธีเฉพาะ ทำให้เพิ่มความยุ่งยากในการจัดการข้ามระบบได้
ระบบโฟลเดอร์ที่ใช้ ต้องสามารถค้นหาโฟลเดอร์ที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องมีโปรแกรมเฉพาะทางอื่นใด
ภาพที่สำเนามาให้เก็บแยกไว้ในโฟลเดอร์ให้เรียบร้อย แยกโฟลเดอร์ตามวันเวลา เหตุการณ์ 

ตั้งชื่อโฟลเดอร์โดยใช้ระบบ ปี-เดือน-วัน_คีย์เวิร์ด-คีย์เวิร์ด_คีย์เวิร์ด_คีย์เวิร์ด

แยกคีย์เวิร์ดสำคัญด้วย under scroll _  คีย์เวิร์ดไม่สำคัญ อยู่ในกลุ่มเดียวกันใช้ยัติภังค์ - (hyphen)
คีย์เวิร์ด ก็อย่างเช่น ชื่อคน-ชื่อคน_ชื่องาน-สถานที่ เรียงตามลำดับความสำคัญของคีย์เวิร์ด อันนี้ไม่ได้มีให้โปรแกรมอ่าน แต่มีไว้ให้เราอ่านเอง เช่น

2012-08-02_Portrait-Oily_ChaAm_Anniversary

ถ้ามีสองกล้อง หรือเป็นงานเดียวกัน แต่นานต่อเนื่องกันหลายวัน
ให้จับมันโยนลงโฟลเดอร์เดียวกันเลยไม่ต้องแยก แต่ให้แน่ใจก่อนว่าชื่อไฟล์ไม่ซ้ำกันนะ
แล้วตั้งชื่อโฟลเดอร์ โดยใช้ยัติภังค์คู่ -- เป็นตัวเชื่อมเวลา เช่น

2012-04-01--2012-04-28_MuaythaiProject_MuaythaiRangsitSchool

ระบบวันที่ ที่ใช้ในการตั้งชื่อโฟลเดอร์นี้ ผมยึดตามมาตรฐาน ISO 8601 นะครับ ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง
และโปรแกรมจัดการคลังภาพ โปรแกรมจัดการไฟล์ จะเข้าใจฟอร์แมทนี้อยู่แล้ว

เราไม่จำเป็นต้องไปยุ่งกับชื่อไฟล์ในตอนนี้ จริงๆ ถ้าเปลี่ยนชื่อไฟล์ให้ชัดเจนก็ดี แต่ไม่จำเป็นเท่าไหร่
เพราะโปรแกรมจัดการคลังภาพมันอ่านข้อมูลจาก metadata เองได้
ยกเว้นไฟล์จากสองกล้องชื่อซ้ำกันให้เปลี่ยนชื่อไม่ให้ซ้ำกันก่อน
ถ้ามีทั้งไฟล์ jpg, movie และ raw ก็ใส่รวมกันให้หมดเลย ไม่ต้องแยก โปรแกรมจัดการคลังภาพทุกโปรแกรมแยกให้ทีหลังได้
วิธีที่จะทำให้โปรแกรมจัดการคลังภาพใช้ไฟล์ได้อย่างสะดวกคือ ฝัง keywords เข้าไปใน metadata ด้วยเลย

เมื่อเก็บโฟลเดอร์แยกตามวันเวลา เหตุการณ์แล้ว พอครบเดือน ก็ใส่ไว้ในโฟลเดอร์แยกตามเดือนอีกที เช่น เป็น 2012-07
พอครบปีก็แยกโฟลเดอร์ตามปีอีกชั้นหนึ่ง

โฟลเดอร์ต้นฉบับภาพถ่ายนี้ ให้แยกเก็บไว้ต่างหาก ไม่ปนกับภาพอื่นๆ หรือภาพที่ใช้งาน
เทคนิคส่วนตัวคือผมจะใส่ไว้ในโฟลเดอร์ /PhotosArchive ก่อน แล้วใส่ไว้ในโฟลเดอร์ /Pictures ของ /MyDocuments อีกทีหนึ่ง
(เอาน่า.. ผมรู้ว่าในระบบวินโดวส์ใช้ \ ไม่ใช่ / แต่ผมชินระบบ Linux/Mac มากกว่า)

คราวนี้มันจะง่ายในการแบ็คอัพ เพราะโฟลเดอร์มันเรียงลำดับกันหมดตาม วันเดือนปี และสามัญสำนึก
และในเมื่อมันอยู่ใน /MyDocuments/Pictures ซึ่งเป็นจุดที่โปรแกรมแบ๊คอัพ และโปรแกรมจัดการภาพทุกตัว คาดหมายไว้แล้ว ทำให้ไม่ยุ่งยากในการทำงาน สามารถใช้ค่า default ของโปรแกรมได้ โดยไม่ยุ่งยาก และลดความผิดพลาด

ข้อดีของการเก็บแบบนี้อีกอย่างหนึ่งคือเราสามารถค้นหาโฟลเดอร์ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งโปรแกรมอื่นใด สามารถย้าย ก็อปปี้ได้โดยสะดวก

เมื่อเก็บภาพลงโฟลเดอร์เสร็จเรียบร้อย เราค่อยมา import เข้า Lr หรือ Aperture ทีหลัง
(บางคนอาจจะถนัดให้ Lr อิมพอร์ตมาจากการ์ดเลย แต่ผมว่ามันจัดระบบโฟลเดอร์ให้ค้นหาได้ยาก หากไม่ผ่าน Lr)

เวลาอิมพอร์ต ให้อิมพอร์ตโฟลเดอร์ของเราแบบไม่ย้ายตำแหน่งไฟล์ ไม่ก็อปปี้ อะไรที่เกิดขึ้นให้เป็นไฟล์ที่สร้างไว้ใน Library ของโปรแกรมไป โดยไม่ยุ่งกับต้นฉบับ
ในโฟลเดอร์ library ของ Lr ก็จะมีแต่ thumbnail กับไฟล์เซ็ตติ้งของภาพ จะมีอะไรเสียหาย ต้นฉบับมันก็ยังอยู่อีกที่นึง

ในขั้นตอน import มันจะมีให้ใส่คีย์เวิร์ดใน metadata โปรดตั้งใจใส่ให้เรียบร้อยตั้งแต่ตอนนี้ ชีวิตจะมีความสุข

หากเราใช้โปรแกรมอื่นที่ไม่ได้ทำงานในลักษณะ Library เหมือน Lr และไม่จำเป็นต้อง import ก่อน เช่นกรณี Adobe Bridge ก็ข้ามขั้นตอนนี้ไป
แต่มันก็จะมีส่วนที่สามารถจัดการ Metadata/Keyword ทีหลังได้ ก็ให้ทำเหมือนกันนะครับ อย่ามองข้ามไป

ความสำคัญของ Metadata
ในขั้นตอนหลังจากตกแต่งภาพเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราได้ไฟล์ภาพออกมาแล้ว จะเอาไปส่งงานให้ลูกค้า หรือจะโพสอวดเพื่อนฝูง ครอบครัว ก็แล้วแต่ สิ่งที่เรามักจะมองข้าม หรือลืมไปอย่างนึงคือ Metadata

metadata มีความสำคัญอย่างไร?
เมตะดาต้า จะเป็นตัวเก็บข้อมูลสารพัดสารเพของภาพถ่ายเรา นอกจากในส่วนของ EXIF ที่เรารู้จักกันดีแล้ว อันที่น่าสนใจคือ IPTC กับ description
IPCT จะเก็บข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ ช่างภาพ ตัวแบบ บุคคล วันเวลา สถานที่
ส่วน description จะเป็นข้อมูลทั่วไปที่เราจะใส่เข้าไปเพื่ออธิบายภาพของเรา
ข้อมูลสองหัวข้อนี้ ควรกรอกให้ละเอียดที่สุด
เพราะเป็นข้อมูลที่ search engine และโปรแกรมแคตาล็อก ดัชนี ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับภาพถ่ายจะดึงไปใช้

โดยเฉพาะ keywords ที่อยู่ใน description ต้องใส่ให้ครอบคลุม ใส่ให้ครบ ชื่อที่อยู่ ที่ติดต่อช่างภาพ ก็ต้องให้ชัดเจน
เพื่อความง่ายในการบริหารจัดการเองทีหลัง และง่ายสำหรับซอฟท์แวร์ต่างๆ จะเอาข้อมูลนี้ไปใช้ หรือแม้แต่การค้นหาภาพทางอินเตอร์เน็ตจะได้เจอง่ายๆ

ไฟล์ภาพต้นฉบับ
ข้อที่ต้องทำ และต้องจำให้ขึ้นใจ ในการทำงานกับคลังภาพถ่ายคือ จะไม่มีการทำงานบนไฟล์ต้นฉบับโดยตรงอย่างเด็ดขาด ทุกกรณี ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
การทำงานจะเกิดขึ้นบนสำเนา หรือไฟล์เซ็ตติ้งพวก side car files เท่านั้น
หากใช้โปรแกรมจัดการคลังภาพอย่าง Lightroom หรือ Aperture จะไม่มีปัญหา
เพราะสองโปรแกรมนี้จะไม่เข้าไปยุ่งกับต้นฉบับ แต่จะทำงานบนไฟล์พิเศษใน library
แต่หากใช้โปรแกรมอื่น ต้องแน่ใจว่าไม่มีการเขียนทับไปที่ไฟล์ต้นฉบับ
ต้นฉบับที่เป็น RAW คงไม่มีปัญหา เพราะยังไงมันก็แก้ไขอะไรไม่ได้อยู่แล้ว
แต่หากต้นฉบับเป็น JPG ต้องระวังให้ดี ว่าเวลาเซฟ ไม่ได้เซฟทับไปบนต้นฉบับ เวลาทำงานให้ก็อปปี้ออกมาก่อน แล้วค่อยทำงานจะดีกว่า

หากเป็น Adobe Bridge สิ่งที่ควรทำคือให้ใช้วิธีเปิด jpg เป็น RAW โดยคลิ๊กขวาบนภาพแล้ว Open in camera raw
หรือเปิดภาพจากโฟโต้ช็อป File --> Open เลือก ไฟล์ jpg ที่ต้องการเปิด แล้วคลิ๊กตรง format จะมี drop down list ให้เลือกที่ Camera Raw

คราวนี้ไฟล์ jpg ต้นฉบับเราก็จะถูกเปิดใน Adobe Camera RAW ในลักษณะเดียวกับ RAW โดยไม่ถูกแตะต้อง
การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เราทำใน ACR ก็จะถูกบันทึกลงบนไฟล์ .xmp แยกต่างหาก

การจัดการไฟล์ภาพระหว่างการทำงาน
ในบางไฟล์ที่ต้องมีการแต่งภาพอย่างต่อเนื่องปริมาณเยอะๆ หรือไฟล์ที่ทำปกอัลบั้ม เราอาจจะเก็บไฟล์ไว้ในรูป .PSD ของโฟโต้ช็อป
ให้แยกเก็บตามโฟลเดอร์ เหมือนเดิม ตั้งชื่อแบบเดิม แล้วใส่รวมกันไว้ในโฟลเดอร์ /Working ของ /Mydocument/Pictures

โฟลเดอร์ /Working นี้ เราจะจัดการเหมือนกับ /Output คือลบได้เมื่อส่งงานเรียบร้อยแล้ว

การจัดระบบไฟล์ภาพที่จะส่งงาน
ในกรณีที่ไม่มีการปรับแต่งกันหนักหนาเป็นพิเศษ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเก็บไฟล์ .psd เอาไว้ใช้หลายๆ วัน
หรือกรณีที่เรา Export ภาพออกมาจาก Lightroom แล้วส่งงานเลย หรือปรับในโฟโต้ช็อปเล็กๆ น้อยๆ แล้วเอาไปใช้เลย

แบบนี้ไม่มีไฟล์งาน .psd ให้เป็นภาระ เราสามารถเอาไฟล์ท้ายสุดที่จะส่งงานไปใส่รวมไว้ในโฟลเดอร์ที่จะส่งงานได้ โดยไม่ต้องสร้างโฟลเดอร์สำหรับพักงาน

วิธีการเก็บไฟล์ส่งงาน ก็ใช้วิธีเก็บเข้าโฟลเดอร์ในลักษณะเดียวกับไฟล์ต้นฉบับ เอาไว้ใน /MyDocuments/Pictures เหมือนเดิม
แต่ไม่ควรเอาไปไว้ใน /PhotosArchive รวมกับต้นฉบับ
ให้แยกออกมาเป็น /Output เพื่อความง่ายในการติดตามว่าเป็นไฟล์สุดท้ายที่จะส่งงานแล้ว

ภายใน /Output ก็ใช้วิธีเรียงโฟลเดอร์ด้วยชื่อเดียวกับต้นฉบับ สิ่งที่ต่างกันคือ เราไม่จำเป็นต้องเก็บ เอาไว้ชั่วฟ้าดินสลายเหมือนต้นฉบับ

หลังจากได้เงิน และลูกค้าตอบกลับว่าได้รับไฟล์ และตรวจสอบว่าครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว เป็นอันหมดภาระผูกพัน
เราสามารถลบโฟลเดอร์ได้ทันที แต่ว่าหากต้องการจะเก็บเข้าคลังไว้ก็สามารถเก็บได้ ถึงจะไม่จำเป็นเท่าไหร่

สิ่งที่น่าทำกว่าการลบ หรือเก็บทั้งโฟลเดอร์ คือเก็บโฟลเดอร์นี้ไว้ แต่เก็บรูปไว้เฉพาะบางรูปที่ดีๆ เป็นตัวอย่างงานได้
เพื่อเราจะใช้เป็น Profile หรือเพื่อทำ Portfolio ในภายหลัง

หลังจากลบรูปที่ไม่ได้ใช้แล้ว ก็ย้ายโฟลเดอร์นี้ จาก /Output ไปเก็บไว้ใน /PortfolioPhotos แทน ก็เป็นอันใช้ได้

หมายเหตุตรงนี้ไว้หน่อย: ปกติงานจ้างลักษณะถ่ายรูปรับปริญญา หรือ พรีเว็ดดิ้ง ถึงไฟล์จะเป็นสมบัติของช่างภาพ แต่ลิขสิทธิ์ในภาพจะเป็นของผู้จ้างนะครับ
ดังนั้นการเอาภาพไปใช้ต้องระวังตรงนี้ด้วย ทางที่ดีตอนตกลงงาน ให้แจ้งลูกค้าให้ทราบก่อนว่า จะเอาภาพไปใช้ทำอะไรบ้าง

โดยทั่วไปตามมารยาท ไม่ควรนำภาพไปใช้อย่างอื่น นอกจากเพื่อใช้ในแฟ้มรวบรวมผลงานช่างภาพ


สิ่งสำคัญสำหรับไฟล์ภาพที่จะส่งงานคือ Metadata ต้องใส่ให้ครบ และให้เปลี่ยนชื่อไฟล์ให้เรียบร้อย จะใช้วิธีเปลี่ยนชื่อไฟล์ในขั้นตอน Export ก็ได้
หากใช้ Lr ก็สะดวกดี
หากใช้โปรแกรมอื่น ก็เอามาเปลี่ยนทีหลังด้วยโปรแกรมพวก files rename ก็ไม่ยากอะไร
วิธีการตั้งชื่อไฟล์ ควรระบุ วันเวลา สถานที่ ชื่อ ต่อด้วยลำดับภาพตามเวลา เช่น

17July12_Nan_PostCommencement_Chula_064.jpg

จะเห็นว่าวิธีตั้งชื่อไฟล์ส่งงานจะต่างไปนิดหน่อยจากการตั้งชื่อโฟลเดอร์คลังภาพของเรา
เพราะชื่อไฟล์คราวนี้มีจุดประสงค์ที่จะให้ลูกค้าอ่านแล้วรู้ทันทีว่าภาพอะไร เมื่อไหร่ ใคร ที่ไหน ภาพลำดับที่เท่าไหร่

ฟอร์แมทของวันที่จึงมาในรูปที่อ่านง่าย ไม่ได้ใช้ระบบมาตรฐานเหมือนโฟลเดอร์ของเรา
จากนั้นเรียงตามความสำคัญ เริ่มด้วยชื่อเจ้าของภาพ  เหตุการณ์ สถานที่ ลำดับภาพ

การตั้งชื่อไฟล์ และโฟลเดอร์ ให้ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น
ใช้เป็นตัวเลข ตัวอักษร และสัญลักษณ์มาตรฐาน อย่ามีช่องว่าง อย่าใส่สัญลักษณ์แปลกๆ
อย่าใช้ภาษาอื่น ไม่งั้นความลำบากจะมาเยือนได้ในอนาคต
โดยเฉพาะภาษาไทย ห้ามเด็ดขาด เพราะภาษาไทยไม่มีมาตรฐานกลางที่ใช้ได้ทุกระบบโดยไม่มีปัญหา
เรามีทั้ง UTF8, ISO 8859-11, Windows 874, TIS 620, Western เอาไปเปิดในคอมพ์บางเครื่องอาจจะออกมาเป็นตัวยึกยืออ่านไม่ออก

ชื่อไฟล์ต้องชัดเจน สั้น กระชับ ได้ใจความ หากมีชื่อคนไม่ต้องใส่ khun, p, nong
ใส่แค่ชื่อก็พอ จะเป็นชื่อจริง หรือชื่อเล่นก็ได้ดูเอาตามความเหมาะสม
หรือถ้ากลัวสับสนใส่ทั้งคู่เลย คำอธิบายชื่อเอาให้เหมาะ ไม่จำเป็นต้องเอาชื่อล็อกอิน หรือชื่อเฟสบุ๊คไปใส่
เพราะมันเปลี่ยนแปลงได้ง่ายไม่ถาวร และบางทีมันก็หวือหวาเกินเหตุไปสักหน่อย 

อย่าลืมคิดเผื่อลูกค้าในอนาคตด้วยว่าอีกสี่สิบห้าสิบปีข้างหน้าลูกหลานเค้า มาดู แล้วลูกหลานจะรู้สึกยังไง
ถ้าเห็นไฟล์ภาพงานบวชของคุณปู่ชื่อ

31July12_NongDeawVanVan_OrdainPriesthood_077.jpg

เอาเป็น

31July12_Deaw-Suradej_OrdainPriesthood_077.jpg

จะดีกว่ามั้ย

จากคุณ : อะธีลาส
เขียนเมื่อ : 7 ส.ค. 55 17:57:43




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com