Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เทคนิคการถ่ายพลุ (ฉบับประพันธ์จากประสบการณ์จริง){แตกประเด็นจาก O12538550} ติดต่อทีมงาน

ตามมาตอบกระทู้คุณ  babyfresh คห.10 ครับ เนื่องจากถามคำถามเข้ามา ผมก็ขออธิบายทั้งจาก การพบเจอ การอ่านเจอ การเซิร์จเจอ การได้เจอของจริง ฯลฯ ดังนี้ครับ

เทคนิคการถ่ายพลุ (ฉบับประพันธ์จากประสบการณ์จริง)

๑. สนใจในสิ่งแปลกใหม่ และอยากทำสิ่งนั้นให้เป็นจริง แรก ๆ ลองผิดลองถูก ถ้าไม่สำเร็จอย่าเพิ่งท้อและสิ้นหวัง พึงระลึกไว้เสมอว่า "ทำจนกว่าจะสำเร็จ"
๒. อุปกรณ์ในการพิชิตภาพถ่ายพลุ
- ขาตั้งกล้อง
- สายลั่นชัตเตอร์ หรือ รีโมท
- ไฟฉาย
- ผ้าสีดำ
- เลนส์กล้อง
๓. การเตรียมขั้นตอนการถ่าย
๓.๑ การศึกษาทำเล สถานที่ตั้งการจุดพลุ (ที่ไหน) ตลอดจนสืบเสาะหาข่าว พลุจุดตอนไหน กี่โมง ระยะเวลาจุดนานกี่นาที
    ที่ต้องทราบสถานที่จุดพลุก็เพื่อประโยชน์ในการเลือกทำเล เราต้องการที่กว้าง ๆ โล่ง ๆ เพื่อจะได้ภาพพลุที่สวยงามปราศจากสิ่งบดบัง จาก ต้นไม้ สายไฟฟ้า เสาไฟ และอื่น ๆ ระยะที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพพลุ คือระหว่าง 500 800 1000 จนถึง 1500 เมตร (ขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์ที่ใช้ ถ้าเป็นเลนส์ไวด์กว้าง ๆ ระยะ 500 เมตร ภาพพลุของเราก็จะเห็นได้ตั้งแต่เส้นไฟตอนจุดขึ้นฟ้า ไปจนพลุแตกเต็มลูก แต่ถ้าเป็นเลนส์เทเล หรือเลนส์ซูม ภาพที่ได้ก็จะได้เฉพาะภาพตอนดอกไม้ไฟแตก ข้อดีของเลนส์เทเลคือ สามารถถ่ายได้แม้ในระยะไกล ๆ มากกว่า 1500 เมตรขึ้นไป
    การทราบเวลาในการจุดก็เพื่อเราจะได้เตรียมอุปกรณ์ได้ทัน ไม่ฉุกละหุก ลืมโน่น ลืมนี่ เพราะเวลาจุดพลุจริง ๆ แล้ว แค่แป่บเดียว ช่วยป้องกันความผิดพลาดในเรื่องการเตรียมอุปกรณ์ได้ (บางทีการลืมสายลั่นไกชัตเตอร์อาจจะเป็นการเสียหัวที่สุดของการถ่ายพลุครั้งแรก)
    ทำไมต้องอยากรู้ว่าพลุจุดกี่นาที นานแค่ไหน ก็เพื่อจะทำให้เราได้มีเวลาปรับหามุมได้ ในกรณีที่เราตั้งหน้ากล้องไม่ได้มุม พูดสั้น ๆ คือ สมารถถ่ายซ่อมได้นั่นเอง ถ้าจุดสองนาที เรายังพอมีโอกาสปรับหน้าเลนส์ได้ทัน ถ่ายชัตเตอร์แรก พลุเกิดเบี้ยวไม่กลางภาพ หรือ ไม่เต็มลูก หรือ แหว่งบ้าง บิ่นบ้าง เราก็สามารถใช้เวลาระยะสั้น ๆ นั้น ปรับหน้าเลนส์ได้ทันท่วงทีนั่นเอง
๓.๒ การทดสอบหน้าเลนส์ในขณะที่ยังไม่จุดพลุ ทดลองตั้งกล้องแล้วกดถ่ายดู จากพื้นดินถึงฟ้า ว่าภาพที่ทดลองถ่ายนั้น พลุจะอยู่ตรงส่วนไหนของภาพ คล้าย ๆ ว่าเราก่ะระยะไว้ล่วงหน้านั่นเอง พอเราก่ะระยะจนมั่นใจแล้ว อย่าขยับเขยื้อนกล้องอีกเป็นอันขาด เพราะถ้าฟ้ามืดแล้วจะทำให้เรากะได้ยากขึ้น เพราะความมืดเริ่มถามหานั่นเอง
๓.๓ ศึกษาวิธีการถ่ายพลุให้ได้ความรู้ติดตัวไว้ในระดับหนึ่ง เพราะถึงเวลาจริง จะทำให้เรามองภาพสิ่งที่รู้มาได้ทันท่วงที จะช่วยให้เราแก้ไขสถานการณ์ได้เร็วขึ้น
๔. อุปกรณ์ต้องเตรียมอย่างไรบ้าง
- ขาตั้งกล้อง เป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้ ขาตั้งที่นิยมใช้คือ แบบสามขา หาที่ตั้งให้มั่นคง แน่ใจว่าจะไม่สั่นไหว และวางในลักษณะไม่กีดขวางตัวเอง
- สายลั่นชัตเตอร์ เนื่องจากการถ่ายภาพพลุ ภาพที่สวยงามนั้นต้องได้ความคมชัดของเส้นดอกไม้ไฟ เราไม่ต้องการให้พลุของเราเหมือนเงาะ แต่เราต้องการพลุที่เป็นพลุ การขยับเยื้อนแม้แต่การใช้ปลายนิ้วกดชัดเตอร์ค้างไว้ ภาพพลุของเราก็อาจจะไม่สวยคมสมใจนึกเท่าที่ควร
- ไฟฉาย อันนี้ไม่ขออธิบายมาก ประโยชน์ของไฟฉายคือ เอาไว้หาของในที่มืด และใช้เวลาเราต้องการเซ็ตค่ากล้อง (อย่าลืมปิดไฟฉายทุกครั้งที่เลิกใช้งาน เพราะแสงอันไม่พึงประสงค์อาจจะเข้าหน้าเลนส์ได้)
- ผ้าสีดำ จะว่าไปแล้ว ภาพพลุที่สวยงามในลักษณะเป็นกลุ่ม เค้าใช้เทคนิคการใช้ผ้าดำมา เปิด-ปิด ที่หน้าเลนส์นั่นเอง วิธีการก็คือ พลุจุดตูมแรก (เรากดชัตเตอร์ และชัตเตอร์ยังคงค้างอยู่) ให้เราเปิดผ้าดำที่ปิดหน้าเลนส์แล้วปิดเมื่อพลุดับ พลุจุดตูมที่สอง เราเปิดผ้าดำที่หน้าเลนส์แล้วปิด พลุจุดตูมที่สาม เราเปิดผ้าดำที่หน้าเลนส์แล้วปิด จบสามตูมแล้วปล่อยชัตเตอร์ แค่นี้เราก็จะได้ภาพพลุแบบที่เป็นกลุ่ม ดูแล้วสวยงามครับ (การใช้ผ้าดำปิดหน้าเลนส์แต่ละครั้งควรทำด้วยความแผ่วเบาอย่างยิ่งยวด)
- เลนส์กล้อง และการเซ็ตค่าต่าง ๆ ของกล้อง
    รูรับแสง การถ่ายพลุรูรับแสงที่เหมาะสมคือ F 8 , F 11 บางครั้งอาจต้องใช้ F 16 ขึ้นอยู่กับขนาด และระยะทาง ถ้าพลุไทย เป็นพลุลูกเล็ก F 8 ก็พอแล้วครับ แต่ถ้าระยะถ่ายไกลจากพลุไม่มาก เช่นที่ 500 m. F 11 คือตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะเราจะได้ความคมชัดของเส้นแสงจากพลุสวย ๆ นั่นเอง แต่ถ้าเป็นพลุลูกใหญ่ หรือพลุเมืองนอก เช่น จีน อิตาลี่ ญี่ปุ่น อเมริกา ฯลฯ จะเป็นพลุลูกใหญ่ F 11-16 คือตัวเลือกที่เหมาะสมครับ (ระยะทางก็ไม่ควรละทิ้ง)
    ISO คำตอบเดียวไปเลยครับ ตั้งไว้ที่ ISO 100 เท่านั้น
    โหมดกล้อง ให้ปรับมาที่โหมด M แล้วตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ไปที่ตัว B เพราะเราจะสามารถคอนโทรลการ กด-ปล่อย สายลั่นไกชัตเตอร์ได้ตามที่ต้องการ (พลุจุด >> กด >> ค้างไว้ >> รอจนดวงพลุแตกเต็มใบ >> ปล่อยชัตเตอร์) ทำตามในวงเล็บซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าการแสดงพลุจะสิ้นสุดลงไป แค่นี้เราก็จะได้ภาพพลุแบบถ่ายทีละช็อตสวยงามถูกใจแล้วครับ ถ้าต้องการถ่ายพลุเป็นกลุ่ม เพียงแค่เรากดสายลั่นไกชัตเตอร์ค้างไว้ แล้วทำตามเทคนิคของการใช้ผ้าดำ ! ตามที่กล่าวไปแล้ว
    เลนส์ถ่ายพลุที่นิยมส่วนใหญ่คือเลนส์ ระยะไวด์ หรือเลนส์มุมกว้าง ระยะที่ 10 mm. ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 mm.

เทคนิคการถ่ายพลุฉบับประสบการณ์จริง ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ หากให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากนั่งพิมพ์สด ๆ จากสิ่งที่พอนึกได้ หากอ่านแล้วยังสับสน หรือไม่เข้าใจตรงไหน กรุณาช่วยตั้งคำถามไว้ ณ ที่นี่ได้เลยครับ แล้วผมจะกลับมาตอบคำถามทุก ๆ คำถามที่คาใจครับผม หรือท่านใดจะเพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการก็สามารถแชร์ประสบการณ์ได้เช่นกันครับ

แก้ไขเมื่อ 22 ส.ค. 55 06:54:33

 
 

จากคุณ : nasongfoto
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 55 23:27:51




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com