|
ขอนำมะพร้าวห้าวมาขายสวนสักครั้ง สมาชิกท่านใดทราบดีอยู่แล้วก็ขอให้ผ่านความเห็นนี้ไป ความเห็นนี้เป็นเพียงความเข้าใจส่วนตัวซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ แต่คิดว่าพอจะใช้เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายที่ยังค้างคาใจอยู่ได้บ้างไม่มากก็น้อย
ค่าเสียหายที่ใช้เป็นมูลพื้นฐานในการเรียกร้องค่าเสียหายนี้พอจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ
1.ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง คือค่าใช้จ่ายที่ช่างภาพไม่ว่าจะเป็นช่างภาพมืออาชีพหรือช่างภาพมือสมัครเล่นต้องเสียไป เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร และอื่น ๆ ที่ได้จ่ายไปจริงเพื่อให้ได้ภาพที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ภาพนี้ออกมา ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพมืออาชีพหรือช่างภาพมือสมัครเล่นล้วนแต่ต้องจ่ายออกไป ซึ่งอาจจะไม่เท่ากันแล้วแต่สถานะของช่างภาพแต่ละคน เช่น ช่างภาพมืออาชีพมีรายได้สูงกว่าช่างภาพมือสมัครเล่นก็อาจจะเข้าพักอาศัยในโรงแรมที่มีราคาแพงได้ ในขณะเดียวกันช่างภาพสมัครเล่นที่มีฐานะดีก็อาจจะพักในโรงแรมที่ดีกว่าช่างภาพมืออาชีพก็เป็นได้ ค่าเสียหายในกลุ่มนี้นำสืบได้ไม่ยากและโดยมากศาลมักจะพิจารณาให้เต็มตามความเป็นจริง
2.ค่าขาดประโยชน์ (อันนี้แหละที่ผมเรียกว่า "มูลค่าทางสังคม") เป็นความเสียหายที่เจ้างของภาพต้องขาดหายไปเพราะเหตุแห่งการละเมิดลิขสิทธิ์นี้ เช่น ภาพ ก.นี้โดยปกติจะสามารถสร้างรายได้ไม่ว่าจะด้วยการขาย หรือนำไปลงในหนังสือของช่างภาพเองก็แล้วแต่ สามารถสร้างรายได้เป็นเงินจำนวน 100 บาท แต่เมื่อมีคนอื่นแอบเอาภาพนี้ไปโฆษณาแพร่หลาย ภาพนี้จึงขายได้เพียง 20 บาท เช่นนี้เจ้าของภาพก็ขาดประโยชน์ไป 80 บาท อย่างนี้เป็นต้น
ค่าเสียหายในกลุ่มที่ 2 นี้ เป็นค่าเสียหายที่เรียกร้องกันเป็นหลักใหญ่และคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นค่าเสียหายที่นำสืบหรือแสดงให้ศาลทราบยากมากที่สุดเช่นกัน "มูลค่าทางสังคม" จึงเข้ามาเกี่ยวข้องตรงจุดนี้ เพราะช่างภาพมืออาชีพโดยมากมักจะขายภาพให้กับแหล่งรับซื้อภาพเป็นหนังสือหรือนิตยสารที่มีชื่อเสียง และหนังสือหรือนิตยสารที่มีชื่อเสียงก็มักจะเลือกซื้อภาพจากช่างภาพมืออาชีพเป็นส่วนใหญ่ ช่างภาพมือสมัครเล่นมีโอกาสเข้าถึงได้ยากถึงยากมาก ตรงประเด็นนี้ช่างภาพมืออาชีพจึงนำสืบหรือแสดงประกอบการพิจารณาของศาลได้ง่ายกว่าช่างภาพมือสมัครเล่น ในขั้นตอนนี้เป็นการนำสืบหรือแสดงประกอบให้ศาลเห็นว่าโดยปกติแล้วเขาสามารถซื้อขายได้ในราคาที่สูงซึ่งเป็นข้อมูลชี้นำในเบื้องต้น ต่อมาก็นำสืบประกอบให้ชัดเจนเข้าไปอีกถึงการที่ถ้าจำเลยหรือผู้ที่เอาภาพเจ้าปัญหานี้ไปใช้ถ้าเป็นนิติบุคคลก็นำสืบโยงเข้าไปที่ประโยชน์ที่จำเลยหรือผู้ที่เอาภาพนี้ไปใช้แล้วก่อให้เกิดรายได้หรือผลกำไรเป็นเงินเท่าไรก็เรียกค่าเสียหายตามนั้น โดยอาจจะดูจากงบการเงินก็ได้ ถ้ามีรายได้จากภาพนี้ไปโผล่หรือเกี่ยวข้องที่โครงการไหนก็ยึดเอาตรงนั้นเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าช่างภาพมืออาชีพมีโอกาสเรียกค่าเสียหายได้สูงกว่าช่างภาพมือสมัครเล่น โดยมากค่าเสียหายในส่วนนี้ศาลมักจะพิจารณาให้ไม่เต็มที่เรียกร้อง
3.ค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เช่น ค่าธรรมเนียมศาล, ค่าทนายความ ค่าพยานและอื่น ๆ เป็นต้น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับศาลและมีใบเสร็จรับเงินศาลมักจะให้เต็มจำนวน แต่ค่าทนายความที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าค่าวิชาชีพนั้นศาลจะพิจารณาให้ตามความเหมาะสมซึ่งอาจจะเป็นเงิน 8,000 บาท หรืออาจจะมากน้อยกว่านี้ก็ได้นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่ค่าวิชาชีพที่ทนายความที่รับจ้างทำคดีจะสูงกว่านี้อย่างแน่นอนอาจจะเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสนก็ได้ ส่วนต่างนี้จะเรียกร้องจากฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ในการเรียกร้องค่าเสียหายนี้ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพมืออาชีพหรือช่างภาพมือสมัครเล่นก็คงหนีไม่พ้นจากสามกลุ่มนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางจิตใจ คุณค่าแห่งการหาดูได้ยาก หรือคุณค่าแห่งความยากลำบากก็ตาม ช่างภาพมืออาชีพจะได้เปรียบที่นำสืบเกี่ยวโยงเป็นลูกโซ่ให้ศาลเห็นได้ง่าย ช่างภาพมือสมัครเล่นนำสืบได้ยากกว่า ไม่ว่าคุณค่าใดที่ช่างภาพมือสมัครเล่นอ้างอิงถึง ช่างภาพมืออาชีพก็สามารถอ้างอิงถึงได้เช่นกัน แต่พอมาถึงเรื่องคุณค่าที่ช่างภาพมืออาชีพนำเสนอถึงเรื่องโดยปกติเขามีรายได้จากการถ่ายภาพในลัษณะนี้เป็นจำนวนเงินที่สูงเพราะฉนั้นภาพที่มีปัญหานี้ก็ควรจะมีมูลค่าที่สูงด้วย (ประเด็นนี้ไม่ใช่เป็นประเด็นหลักแต่เป็นประเด็นชักโยงให้เห็นแจ่มชัดขึ้น) ในส่วนนี้ช่างภาพมือสมัครเล่นนำเสนอชักโยงได้ยากครับ และขอยืนยันอยู่เช่นเดิมว่าช่างภาพมืออาชีพหรือช่างภาพมือสมัครเล่นจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน และศาลก็จะไม่นำเรื่องมืออาชีพหรือมือสมัครเล่นเข้ามาร่วมพิจารณาเพราะไม่มีปรากฏอยู่ในกฎหมายที่ใดเกี่ยวกับความเป็นมืออาชีพหรือมือสมัครเล่น การแบ่งแยกออกเป็นสองลักษณะนี้เป็นการแบ่งแยกกันขึ้นมาเอง จะมีความต่างในทางปฏิบัติอยู่เพียงว่าช่างภาพมืออาชีพนำสืบหรือแสดงให้ศาลเห็นได้ง่ายกว่า (ซึ่งผมเรียกว่าคุณค่าทางสังคม) และมีโอกาสเรียกร้องค่าเสียหายได้สูงกว่าช่างภาพมือสมัครเล่นเท่านั้น ขอเน้นย้ำอีกครั้งครับว่า ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพมืออาชีพหรือช่างภาพมือสมัครเล่น ในความหมายทางกฎหมายช่างภาพทั้งสองท่านเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกัน
ด้วยความเคารพในความเห็นของคุณ "ไอ้คุณแหลม" ผมยังมองไม่เห็นถึงจุดที่เห็นแย้งหรือแตกต่างกัน เพียงแต่ความคิดเห็นของผมอาจจะยังไม่ชัดเจนตรงประเด็นเพียงพอ ก็ต้องขออภัยด้วยครับ
จากคุณ |
:
โคมส่องทาง
|
เขียนเมื่อ |
:
30 ส.ค. 55 10:21:53
|
|
|
|
|