ความคิดเห็นที่ 3
ความหมายเดิมของ The Professional
เคยอ่านบทความ ของเซี่ยงเส้าหลง เขียนไว้เมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗ ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการถึงเรื่อง จิตวิญญาณของผู้ประกอบวิชาชีพ ขอนำบางส่วนมาลง และขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้
,,,,จิตวิญญาณของ ผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าว กุญแจสำคัญในมุมมองของ เซี่ยงเส้าหลง อยู่ที่คำ วิชาชีพ อันครั้งหนึ่งเมื่อเริ่มบัญญัติขึ้นมาใหม่คือคำ อาชีวปฏิญาณ ท่านผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมาคือ พระองค์วรรณ หรือ เสด็จในกรมฯพระองค์วรรณ หรือขนานพระนามเต็มยศว่า พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นอกจากภาพรวมของความเป็น ปูชนียบุคคลแห่งชาติ แล้วยังทรงเป็น คนหนังสือพิมพ์ ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง ประชาชาติ ยุคแรกที่มีคำขวัญว่า ...บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิต วิทยาคม อุดมสันติ. ด้วย จากภาษาอังกฤษว่า Profession ทรงแปลว่า อาชีวปฏิญาณ เพื่อให้แตกต่างกับคำว่า อาชีพ ที่แปลมาจาก Occupation ความหมายของ อาชีวปฏิญาณ ที่ ณ วันนี้น่าจะเทียบไก้ใกล้เคียงกับคำว่า วิชาชีพ เสด็จในกรมฯพระองค์วรรณทรงกล่าวไว้ชัดเจนตามรากฐานที่มาของคำว่า ...การปฏิญาณตนต่อสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า จะประกอบอาชีพตามธรรมเนียมที่วางไว้เป็นบรรทัดฐาน หาใช่เป็นการทำมาหากิน หรือทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่เพียงอย่างเดียว. โดยรากศัพท์ของ Profession นั้นมาจากคำกริยา to profess อันมาจากคำในภาษาละติน pro + fateri แปลว่า ยอมรับ, รับว่าเป็นของตน เป็นคำที่แต่เดิมใช้ในทาง ศาสนา หมายความว่า การประกาศตนว่ามีศรัทธาในศาสนา, การประกาศปฏิญาณตน ใช้ในการปฏิญาณตนเป็น นักบวชในศาสนาคริสต์ โดยนัยนี้จึงถือได้ว่า นักบวชในศาสนาคริสต์ เป็น อาชีวปฏิญาณแรกของโลก หรือ วิชาชีพแรกของโลก ต่อมาจึงใช้สำหรับ แพทย์ และ ทนายความ และ ฯลฯ อีกมากหลาย มาตรวัดทั่วไปว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่า วิชาชีพ นั้น ปรีดี เกษมทรัพย์ อรรถาธิบายไว้ครั้งหนึ่งว่าควรจะต้องประกอบด้วย 3 ลักษณะ ด้วยกัน (1) เป็นอาชีพในแง่ที่เป็น การงานที่มีการอุทิศตนทำไปตลอดชีวิต (2) การงานที่ว่านั้นต้อง ได้รับการสั่งสอนอบรมเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในลักษณะใช้เวลาอบรมกัน หลายปี (3) ผู้ทำการงานประเภทนี้จะมี ชุมชน หรือ หมู่คณะ ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีสำนึกใน จรรยาบรรณ, เกียรติยศ และ ศักดิ์ศรี ตลอดจนมี องค์กรและกระบวนการเพื่อสอดส่องพิทักษ์รักษาขนบธรรมเนียม-เกียรติยศ-ศักดิ์ศรี นั้นด้วย ในระยะหลังคำว่า Profession ถูกใช้ในความหมายที่ กว้างขึ้น จนกลายเป็นคำที่มี ความหมายตรงข้าม กับคำว่า Amateur ที่ภาษาไทยแปลว่า สมัครเล่น ไปในที่สุดทำให้คำว่า วิชาชีพ กับ อาชีพ กลายเป็นคำที่ ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะใน วิชาชีพสื่อมวลชน ที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ ฝึกอบรมพิเศษเป็นระยะเวลาหนึ่ง และ กรอบกฎหมาย เหมือนดังเช่น แพทย์ และ วิชาชีพนักกฎหมาย ที่ยังคงสืบทอดต่อเนื่องมาจากอดีต แต่ถ้าจะพูดเลยไปถึง ความหมายที่แท้ ของคำ Amateur เฉพาะคำแปล สมัครเล่น น่าจะยังไม่เพียงพอ เจตนา นาควัชระ เคยแปลเอาไว้เต็ม ๆ ในชื่อหนังสือของท่านเล่มหนึ่งว่า ...เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น. สนใจหาอ่าน ศึกษา ดูได้
อธิบายเพิ่ม
แน่นอนเนื่องจาก นักบวช และ แพทย์ สองวิชาชีพที่เก่าแก่ที่สุด มีมาอย่างยาวนาน จึงสร้างรากฐานไว้ในจิตใจ ก่อเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่มีแบบแผน และได้รับการยอมรับในหมู่ประชาชนของสังคมนั้นๆ จนเป็นกรอบที่มองไม่เห็นตรึงแน่นไว้
ถ้าฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัตินั้น คือละเมิดกรอบที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่ในความรู้สึกของทุกคนย่อม จะมีผลร้ายแรง และอื้อฉาว เช่นนักบวช ที่ไม่ทำตัวอย่างถูกทำนองครองธรรม หรือแพทย์ที่หลงกระทำผิด
ลองสังเกตดูหน้าข่าวในปัจจุบัน ถ้าเป็นเรื่องของแพทย์และพระ จะเป็นข่าวใหญ่เสมอ เพราะกระเทือนความรู้สึกของคนหมู่มาก จากความศักดิ์สิทธิ์ของวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับมานาน และมีกรอบที่มองไม่เห็นจำกัดอยู่
ในยุโรป เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อเรียกแพทย์ หรือนักบวชนั้น จะไม่มีใครที่ทำเพียงแค่เป็นการเลี้ยงชีพ หากแต่ต้องอุทิศเป็นวิชาชีพเลยเท่านั้น เพราะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งสำคัญใหญ่หลวง คือชีวิต และความเชื่อ ความดี ของคนทั้งมวล
และที่สำคัญ ผู้ประกอบวิชาชีพ จะไม่ต้องเห็นแก่รายได้เป็นหลัก หากแต่ต้องมีจริยธรรมแห่งวิชาชีพที่ต้องยึดมั่นอย่างแน่วแน่ เป็นหลักอันสำคัญที่สุด แม้จะไม่ได้ค่าตอบแทนจากการยึดมั่นนั้นก็ตาม และแม้จะต้องทำผิดกฎหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ก็อาจต้องกระทำ
ที่เขียนมานี้อาจสำคัญในอดีต แต่ในปัจจุบัน กฎหมายปรับปรุงดีขึ้น เป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่เขียนเข้าข้างชนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจแต่อย่างเดียว ผู้ประกอบวิชาชีพอาจไม่จำต้องเลี่ยงกฎหมายเพื่อรักษาจริยธรรมแล้ว
แต่ในอดีตที่ยังมีระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมต่างๆมาก กรณีการฝืนกฎหมายเพื่อรักษาจริยธรรมอาจเกิดได้มากมาย เช่นการรักษาตัวผู้ป่วยเชลยสงคราม โดยไม่อาจส่งตัวให้ทางรัฐ ที่ยึดครองอยู่ได้ เพราะเชลยผู้บาดเจ็บนั้นจะถูกทอดทิ้งให้เสียชีวิตอย่างน่าอนาถ
ต่างจากการประกอบอาชีพสร้างรายได้ ที่จะมุ่งผลกำไรเป็นหลักมากกว่า ไม่ต้องคำนึงอะไรมากมายนัก และผลที่กระทบจากการทำหรือไม่ทำนั้น มักไม่รุนแรงต่อความรู้สึกเท่า กับที่เป็นอยู่ในการประกอบวิชาชีพ
เหตุที่วิชาชีพ เก่าแก่ เหล่านี้ได้รับการยอมรับ อย่างกว้างขวางและยาวนาน คงจะด้วยหลายเหตุผล ที่สำคัญประการหนึ่งเช่น ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ นักบวช หรือทนายในสมัยก่อน ได้เสียสละและอุทิศตัว เพื่อรักษาและยึดมั่นในจริยธรรม อย่างไม่เห็นแก่ชีวิต
มีหลายเหตุการณ์ ที่ยืนยัน ทั้งในประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมต่างๆ เช่น บาทหลวงสละร่างกาย และทรัพย์ของตัว ช่วยโจร ในวรรณกรรมอมตะ เหยื่ออธรรม
แพทย์ จำต้องผ่าตัดช่วยชีวิตทหารฝ่ายตรงข้ามที่รุกรานประเทศของตัวแพทย์เองในยามสงคราม
ทนายที่ดีในยุคก่อนรับว่าความให้แม้ ลูกความจะไม่มีเงินจ่ายค่าทนาย แต่เพื่อความเป็นธรรมก็ต้องทำแม้ตัวจะขาดรายได้
ทนายที่ยึดมั่นในจริยธรรม ทราบว่าลูกความของตัวเป็นฝ่ายผิด ได้แจ้งข้อกฎหมายตามแง่มุมต่างๆ เพื่อขอให้ลูกความได้รับการตัดสิน อย่างเป็นธรรม อาจเป็นการตัดสินลงโทษด้วยซ้ำ
แต่ ไม่ใช่ใช้ข้อกฎหมายและแง่มุมต่างๆ ช่วยให้ไม่ต้องรับโทษ หรือรับอามิสจากลูกความแล้วหาทางให้พ้นผิด
เกียรติภูมิ ของ professional ไม่ได้มาจากการทำ เท่านั้น
หากแต่ การ ไม่ทำ นั้นสำคัญยิ่งกว่า
แพทย์ปฏิเสธการทำให้ แม้จะได้รับผลตอบแทนมากมาย เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อผู้รับการรักษา
ถ้าเป็นแค่อาชีพ มีคนจ้างจะทำอะไรก็ทำได้ ไม่ผิด แต่เมื่อเป็นวิชาชีพ ไม่ใช่เช่นนั้น ไม่ใช่แค่นั้น
ต้องคำนึงถึงหลายๆอย่าง บางอย่างต้องทำ บางอย่างก็ต้อง ไม่ ทำ คำว่าลูกค้าคือพระเจ้า จะใช้กับ วิชาชีพไม่ได้
เมื่อไหร่ ให้คนที่ไม่รู้เรื่องในวิชาชีพนั้นๆ มาบอกมาสั่ง และเป็นผู้กำหนดให้ทำหรือไม่ทำ คนที่ทำตามคำสั่งหรือคำร้องขอจากลูกค้านั้นซึ่งอาจไม่ตรงตามหลักการแห่งวิชาชีพ
ก็ไม่อาจเรียกตัวว่า professional ได้ เป็นได้แค่กำลังประกอบอาชีพเท่านั้น
ตัวอย่างจริงที่มีให้เห็น เช่น วิศวกรไม่ยอมลดเหล็กเส้นลง เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของอาคารแม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการก่อสร้าง และอาจทำให้ล่าช้า ถูกปรับเสียเงินอีกมาก
นี้ละคือการประกอบวิชาชีพที่ควรแก่การยกย่อง หรือเภสัชกรปฏิเสธการขายยาบางอย่างที่อยู่ในข้อห้ามของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งๆที่ลูกค้า ต้องการมาก และ ให้เงินที่สูงกว่ามูลค่าจริง ได้กำไรมากมาย แต่เภสัชกรก็ไม่ยอมขาย นี้คือการกระทำของ Professional
ที่สำคัญของการ ไม่ทำ ที่ขอเน้นคือ เมื่อรู้ว่าตัวเองความสามารถไม่พอ ต้องกล้าที่จะยอมรับ และหาทางออกให้ผู้รับบริการ อย่างไม่กลัวเสียหน้าของตัวเอง
เช่น แพทย์ ไม่อาจทำการผ่าตัดรักษาด้วยเทคนิคที่ยากๆได้ เพื่อความปลอดภัยจึงจำต้องเรียกแพทย์ที่ทำได้มาทำ หรือแม้การยอมให้ผู้ป่วยที่ไม่มั่นใจในตัวแพทย์เอง ไปขอความเห็นที่สอง จากแพทย์ท่านอื่นๆมาช่วยในการตัดสินใจ
ซึ่งบางคนบางอาชีพ อาจไม่ยอมให้มีทางเลือกเช่นนี้ ด้วยเกรงว่าอาจเป็นการถือว่าดูถูก หรือหมิ่นศักดิ์ศรีได้ และที่สำคัญอาจขาดรายได้ไป
ขอสรุปว่า การทำ และ การไม่ทำ ในบางสิ่ง โดยยึดหลักแห่งวิชาชีพ และจริยธรรม ไม่คำนึงถึงเหตุส่วนตัว การเงิน ฯลฯ นี้คือการคงไว้ซึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์แห่งวิชาชีพ
การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและดำรงเกียรติภูมิมาต่อเนื่องยาวนาน ก่อเกิดเป็นความเชื่อมั่นต่อวิชาชีพต่างๆเหล่านั้น จากประชาชนในสังคม
รายละเอียดของ จริยธรรม แห่งวิชาชีพนั้น ยังมีอีกมาก ขอข้ามไปก่อน
จากคุณ :
บางคนที่เป็นprofessional (lexusman)
- [
29 ส.ค. 47 20:30:33
]
|
|
|