CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    จุดประกาย 17 มกราคม 2549 : จับตาวงการแจ๊สไทยปี 2549

    http://www.bangkokbiznews.com/2006/01/18/w006_68817.php?news_id=68817

    ๐ อนันต์ ลือประดิษฐ์ anant@nationgroup.com

    ท่ามกลางคำถามที่หลายๆ คนยังรู้สึกค้างคาในใจว่า กระแสความสนใจดนตรีแจ๊สที่เกิดขึ้นในบ้านเราห้วงเวลาที่ผ่านมา เป็นความเคลื่อนไหวแบบวูบวาบชั่วคราวหรือไม่

       เพียงไม่ทันไร วงการแจ๊สไทยปี พ.ศ.2549 ก็เริ่มต้นกันอย่างคึกคักอีกครั้ง ด้วยข่าวคอนเสิร์ตของวง แพท เมธินี ทริโอ (Pat Metheny Trio) ซึ่งมีกำหนดจะมาเปิดการแสดงอย่างแน่นอนแล้ว ณ บางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ในวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม ศกนี้

    แพท เมธินี เป็นมือกีตาร์ชั้นพระกาฬ นักดนตรีผิวขาวจากย่านมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกา ฝีมือดีเด่นมากในระดับที่อายุเพิ่งพ้นวัยละอ่อนได้ไม่นาน ก็รับคำเชิญให้ไปเป็นครูสอนกีตาร์ที่สถาบันดนตรี เบิร์กลี (Berklee College of Music) ในเมืองบอสตัน

    นับตั้งแต่ทำอัลบั้มแรก Bright Size Life ในปี ค.ศ.1975 จากนั้นเป็นต้นมา แพท เมธินี ดำรงสถานภาพอันสง่างามบนเส้นทางสายดนตรีมานานกว่า 3 ทศวรรษ การเดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเขาในประเทศไทย จึงนับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางดนตรีครั้งสำคัญของปีนี้ก็ว่าได้

    นอกจาก แพท เมธินี แล้ว ในช่วงปลายเดือนมีนาคม หากไม่มีอะไรผิดพลาด ยังมีมือกีตาร์ชาวสวีเดน อูลฟ์ เวเคนเนียส (Ulf Wakenius) มาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงของ Katrine Madsen ในคอนเสิร์ตที่ประสานงานโดยค่ายเพลง ฮิตแมน

    อูลฟ์ เป็นมือกีตาร์ชั้นแนวหน้าของยุโรปในปัจจุบัน เคยเล่นในวงของ ออสการ์ ปีเตอร์สัน ระยะหนึ่ง เขามีผลงานอัดแผ่นกับ Dragon Records และล่าสุดเพิ่งมีอัลบั้มทริบิวต์ให้แก่ คีธ จาร์เรทท์ ในชื่อชุดว่า Notes from the Heart ออกกับ ACT ซึ่งเป็นสังกัดเพลงสัญชาติเยอรมัน

    นอกจาก 2 คอนเสิร์ตที่ออกมาเรียกน้ำย่อยแฟนเพลงแจ๊สทั้งเก่าและใหม่แล้ว ในปี พ.ศ.2549 ยังมีปัจจัยด้านบวกอีกหลายๆ ด้านด้วยกัน ซึ่งพอจะสรุปเป็นหัวข้อคร่าวๆ ได้ดังนี้


    การเติบโตของพื้นที่สื่อสำหรับดนตรีแจ๊ส

    ในรอบปีที่ผ่านมา คลื่นวิทยุสมู้ธแจ๊ส 98.5 เอฟเอ็ม มีบทบาทในการเปิดทางให้แฟนเพลงวงกว้างสามารถซึมซับและเสพรับดนตรีสีสันใหม่ๆ แม้ว่าฟอร์แมทของคลื่นนี้อิงอยู่กับดนตรีเชิงพาณิชย์เสียเป็นส่วนใหญ่ อาทิ ในกลุ่ม Adult Contemporary, Pop และ Rhythm & Blues และไม่ได้ให้ความสำคัญแก่การให้ข้อมูลในเชิง Edutainment ก็ตาม แต่นับว่า อย่างน้อยๆ คลื่นนี้น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างประชาคมแจ๊สขึ้นมา

    ในด้านสื่อสิ่งพิมพ์ หลังจากนิตยสาร Jazz Scene ได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาดจากคอเพลงแจ๊สในไทย ในปีนี้ ข่าวว่าทีมงานกำลังปรับตัวอย่างเต็มที่ เพื่อเปลี่ยนจากฐานะรายสามเดือนมาเป็นนิตยสารรายเดือน ซึ่งความสำเร็จ ณ ระดับหนึ่งของ Jazz Scene ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า ตลาดเฉพาะ (niche market) อย่างแจ๊สนั้น ไม่ใช่ตลาดที่ไร้ศักยภาพและสมควรมองข้ามไปเสียทีเดียว

    ในปีนี้ สิ่งที่น่าจับตามากขึ้น คือบทบาทของสื่อใหม่ (new media) ทั้งหลาย นับตั้งแต่การรวมตัวกันเป็นประชาคมแจ๊สที่เปิดกว้าง ประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายสาขาวิชาชีพและต่างวัย ของ แจ๊สคลับพันธุ์ทิพย์ (http://jazzclub.pantipmember.com) ทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์รวมของคนรักดนตรีแขนงนี้ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

    ในอนาคต แม้เงื่อนไขการถือกำเนิดของ กสช. ยังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างซ้ำซาก แต่เมื่อความพร้อมด้านเทคโนโลยีสุกงอม มีแนวโน้มจากข่าวคราวของผู้คนในแวดวงว่า เราอาจจะได้ฟังรายการวิทยุแจ๊สบรอดแบนด์ หรือรายการทีวีแจ๊สบรอดแบนด์ ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเสพฟังดนตรีแขนงนี้


    การขยายตัวของอุตสาหกรรมดนตรีแจ๊สในไทย

    แม้ภาพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนนักว่าอุตสาหกรรมดนตรีแจ๊สจะเดินเครื่องอย่างครบวงจร แต่เราสามารถประเมินความเป็นไปได้นับจากช่วงปีนี้จนถึงปีต่อๆ ไปว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดนตรีแขนงนี้กำลังเชื่อมต่อความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดกิจกรรมและการผลักดันงานอย่างเป็นธรรมชาติ

    นอกจากโปรโมเตอร์อย่าง เทอร์มินัล เอ็กซ์ตรา ซึ่งดูแลงานใหญ่ประจำปี คือ เทศกาลดนตรีแจ๊สกรุงเทพ แล้ว ยังมีโปรโมเตอร์ใหญ่น้อยเข้ามาแสดงบทบาทในดนตรีแขนงนี้เพิ่มขึ้น ดังกรณีของ เอเอ็มไอ ผู้นำเข้าคอนเสิร์ตนักกีตาร์ชาวอังกฤษ มาร์ติน เทย์เลอร์ และ แพท เมธินี หรือกรณีของ ค่ายเพลง ฮิตแมน ซึ่งแม้ด้านหนึ่งจะมุ่งทำตลาดเพลงแจ๊สจากยุโรปในบ้านเรา แต่ในด้านหนึ่งยังมีบทบาทในการผลักดันให้มีการนำเข้าคอนเสิร์ตศิลปินแจ๊สยุโรปด้วยเช่นกัน

    นอกจากนี้ ยังมีองค์กรห้างร้านที่มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมดนตรีทางด้านนี้หลายรายด้วยกัน อาทิ เซ็ทเทรด, โรงแรมชั้นนำทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง, ห้างสรรพสินค้า ดิเอ็มโพเรี่ยม , ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ซึ่งเป็นร้านกาแฟแรกๆ ที่มีดนตรีแจ๊สบรรเลงในช่วงเดือนธันวาคม และ ฯลฯ

    อย่างไรก็ตาม ในบรรดากิจกรรมทางดนตรีที่เชื่อมต่อกับความสนใจรับรู้ของผู้คนอย่างมีรากฐาน คือกิจกรรมดนตรีที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี โดยสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาแขนงนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต

    ไฮไลต์ที่โดดเด่นที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา และกำลังจะขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้และปีต่อๆ ไป คือ การประกวดวงดนตรีแจ๊สชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (King's Cup Jazz Band Competition) โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร

    กว่าจะมาเป็นการประกวดวงดนตรีครั้งสำคัญ ซึ่งดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่ควรมองข้ามไป คือการที่ทีมคณาจารย์ผู้จัด ได้ดำเนินโครงการ แจ๊ส เหอะ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปีเต็มๆ

    แจ๊ส เหอะ เป็นการตระเวนนำคณาจารย์และนักศึกษาไปแสดงดนตรีตามแคมปัสต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านประสบการณ์เล่นดนตรีเบื้องหน้าผู้ชม ตั้งแต่มีจำนวนไม่กี่สิบคนไปจนถึงหลายร้อยคนมาแล้ว บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ทีมงานมองเห็นศักยภาพและข้อจำกัดของดนตรีแจ๊สในสังคมไทยได้ดี และนั่นกำลังนำมาสู่โครงการใหม่ โน อีโก แจ๊ส แคมป์ (No Ego Jazz Camp) ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นโครงการที่ต่อยอดจาก แจ๊ส เหอะ เพื่อสร้างนักดนตรีรุ่นใหม่ โดยมีงานประกวดวงดนตรีแจ๊สเป็นส่วนยอดของพีระมิด

    ทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรทางดนตรีแจ๊สออกสู่สังคมไทย ขณะที่กิจกรรมทางดนตรีที่จัดขึ้น เป็นเสมือนการเชื่อมโยงคนดนตรีออกสู่ผู้ฟังในสังคมไปพร้อมๆ กัน

    .................................

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยบวกหลายด้านที่ยืนยันว่ากิจกรรมดนตรีแขนงนี้ในปี พ.ศ.2549 และปีอื่นๆ นับจากนั้น ยังจะดำเนินต่อไปแน่นอน แต่ข้อจำกัดที่ยากลำบากที่สุดในการทำให้ดนตรีแจ๊สในบ้านเราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน คือ ทัศนคติผิดๆ ที่ว่าดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีของชนชั้นสูง มีเอาไว้ฟังเพื่ออวดรสนิยมเท่านั้น หรือดนตรีแจ๊สกลายเป็นเพียงเครื่องมือของนักโฆษณาและนักการตลาดในการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตัวสินค้า

    ไม่เพียงเท่านั้น โอกาสในการเข้าถึงแจ๊สของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังถูกกำหนดด้วยต้นทุนในการฟัง ไม่ว่าจะเป็นการฟังแห้ง (จากซีดี) หรือฟังสด (จากคอนเสิร์ต) ก็ตาม ซึ่งหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ช่วยกันผลักดันเพื่อทำลายกำแพงเหล่านี้แล้ว (ลดราคาซีดีให้สอดคล้องกับรายได้ของคนไทย) โอกาสที่จะเกิดตลาดคนฟังที่แข็งแกร่ง เหมือนอย่างตลาดนักฟังในประเทศญี่ปุ่น ย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง

    ในส่วนของต้นทุนการฟังสดจากการแสดงคอนเสิร์ต อาจจะแก้ไขยากสักหน่อย แต่บางครั้งทดแทนได้ด้วยการแสดงของนักดนตรีภายในประเทศ แต่สำหรับการฟังแห้งจากแผ่นซีดีนำเข้าราคาสูง นักฟังส่วนหนึ่งเริ่มหาทางออกด้วยการฟังจากแผ่นซีดีจากจีน หรือแผ่นก๊อบปี้

    ทางออกล่าสุดสำหรับโลกยุคใหม่ คือ การดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เวบไซต์ให้บริการเพลงแจ๊สที่ถูกกฎหมาย เช่น Itunes หรือ emusic.com ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็มีงานเพลงแจ๊สระดับขึ้นหิ้งไว้ให้ดาวน์โหลดได้ ในราคาค่อนข้างประหยัด

    เช่นที่ http://www.emusic.com คิดค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 90 เพลงต่อ 800 บาท (90 downloads at 19.99 $) ผู้ดาวน์โหลดจะได้ไฟล์ vbr mp3 (vbr = variable bit rate) สำหรับนำไปเบิร์นเป็น ออดิโอ ซีดี ไว้ใช้งานในเครื่องเล่นซีดีปกติได้อย่างสะดวกง่ายดาย

    ไม่เพียงผลงานแจ๊สเก่าเท่านั้น หากเวบไซต์แห่งนี้ยังมีผลงานออกใหม่ของศิลปินแจ๊สหลายๆ ราย ซึ่งค่ายเพลงสากลในบ้านเราไม่เคยคิดจะนำเข้ามาจำหน่าย เช่น อัลบั้มใหม่ของ ชาร์ลี ฮันเตอร์, เดฟ ดักลาส, เดฟ ฮอลแลนด์ เป็นต้น (รายละเอียดของ อีมิวสิค รวมถึงเวบไซต์ดาวน์โหลดที่ถูกกฎหมายแห่งอื่นๆ ผมจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป)

    ปัจจัยทั้งบวกและลบตามที่กล่าวมานี้ คือ สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมไทย แต่จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดอย่างแน่ชัดนั้น บางทีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องนั่งลงเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างจริงจังได้แล้วในอนาคตอันใกล้นี้

    จากคุณ : Cherokee1 - [ 21 ม.ค. 49 15:58:51 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป