CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    แนะนำอัลบั้มมาสเตอร์พีซที่(เกือบ)ถูกลืม : Roger Waters - Amused to Death มาสเตอร์พีซจากผู้สร้างอัจฉริยะแห่ง Pink Floyd

    สวัสดีครับผม ช่วงนี้ก็เปิดเทอมแล้ว ผมก็มีโครงการจะเขียนโน่นเขียนนี่อะไรเยอะแยะไปหมด วางแผนแล้ว วางแผนอีก สุดท้ายก็ไม่ได้เขียน วันนี้เลยตั้งใจว่าจะเอาเรื่องนี้ให้เสร็จให้ได้ เนื่องจากล้มเลิกมาหลายรอบแล้ว เพิ่งเปิดเทอมครับ เลยต้องรีบเขียน เนื่องจากหากปล่อยเวลาให้ผ่านไปใกล้ๆ Mid-Term แล้ว อาจจะไม่ได้เขียนอีก

    จากที่ผมเขียนเขียนเรื่องของเดฟไปในกระทู้ก่อนๆ ผมก็ชมเดฟซะเยอะแยะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเปรียบกระทู้นี้เลยขอชมโรเจอร์บ้าง (สลับกันไป) เดี๋ยวโรเจอร์จะน้อยใจเอา

    จากที่ผมสังเกตในห้องของเรา มีแฟน Pink Floyd อยู่หลายท่าน ส่วนใหญ่ก็จะปลื้มกับอัลบั้มมาสเตอร์พีซของพวกเค้าในยุค 70's เป็นหลัก โดยเฉพาะ Dark Side of the Moon เนื่องจากความเป็น "นวัตกรรม" ของมันที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน หรือว่าจะเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มระดับตำนานอย่าง The Wall เหล่านี้ผมพยายามจะไม่เขียนถึง เพราะเนื่องจากมีเรื่องราวเกี่ยวกับอัลบั้มเหล่านี้มากมายให้อ่านกันอยู่แล้ว

    วันนี้ผมขอพูดถึงอัลบั้มชุดหนึ่งซึ่งเป็นงานเดี่ยวของโรเจอร์ ซึ่งผมฟันธงได้เลยว่า นับตั้งแต่ The Wall เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน นับรวมทั้งงานเดี่ยวของสมาชิกในวงและงานของ Pink Floyd ในยุคหลังทั้งหมด อัลบั้ม Amused to Death ของโรเจอร์ชุดนี้ มีความเป็นฟลอยด์และมีมาตราฐานใกล้เคียงกับคำว่า "มาสเตอร์พีซ" มากที่สุด

    สิ่งนึงที่ควรทำความเข้าใจก่อนรับฟังและเสพงานของโรเจอร์คือ งานของโรเจอร์ค่อนข้างจะโดดเด่นที่คอนเซ็ปต์และเนื้อหาทางด้านวรรณศิลป์เป็นหลัก ต่างจากงานในยุคหลังของเดฟ ถ้าจะเทียบให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ เดฟมีความเป็น "นักดนตรี" สูงกว่าโรเจอร์ ในขณะที่โรเจอร์เข้าขั้นเป็น "ศิลปิน" มากกว่า ดังนั้นหากจะนำผลงานของโรเจอร์ไปเทียบกับอัลบั้มของฟลอยด์ในยุคหลัง ด้วยการใช้ดนตรีเพียงอย่างเดียว ก็คงจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เหมาะสมนัก เพราะฉะนั้นการฟังอัลบั้มชุดนี้ของโรเจอร์จึงควรเน้นหนักไปที่การทำความเข้าใจในคอนเซ็ปต์และคำร้องเป็นหลัก

    ความจริงอัจฉริยะภาพในการเป็นศิลปินของโรเจอร์ฉายแววตั้งแต่อัลบั้ม Dark Side แล้ว แต่หลายๆ คนมักมองข้ามและให้ความสนใจการซาวน์เอกเฟคค์และดนตรีมากกว่า คอนเซ็ปต์และคำร้องทั้งหมดของ Dark Side เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากที่ทำให้อัลบั้มชุดนี้ยิ่งใหญ่และเป็นตำนาน การพูดถึงด้านมืดของมนุษย์ ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญการดำเนินชีวิตและเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป ในด้านวรรณศิลป์ก็เช่นกัน Dark Side น่าจะเป็นจุดสูงสุดทางด้านวรรณศิลป์ของโรเจอร์ ด้วยสัมผัสและความงามทางภาษาระดับน้องๆ Bob Dylan

    หลายๆ เพลงใน Dark Side ที่โรเจอร์พยายามสื่อสารกับผู้ฟังอย่างตรงไปตรงมา อย่างในเพลง Time หรือ Money ที่เราสามารถฟังหรืออ่านคำร้องแล้วเราสามารถบอกได้ทันทีว่าโรเจอร์ต้องการจะสื่อสาระสำคัญอะไรกับผู้ฟัง ในอัลบั้มถัดมา Wish You Were Here ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงกับ Syd Barrett ผู้ฟังค่อนข้างที่จะเข้าถึงเนื้อหายากขึ้น เนื่องจากอัลบั้มนี้มีความเป็นส่วนตัวอยู่มาก โดยเฉพาะกับเพลง Shine On You Crazy Diamond แต่เราก็ยังสามารถสัมผัสได้กับความงามทางวรรณศิลป์ที่สุดยอดอยู่ ขนาดเดฟเองยังถึงกับเอ่ยปากว่า เค้าชอบคำร้องในเพลงนี้มาก และรักที่จะร้องมันออกมา

    หลังจาก Wish You Were Here เป็นต้นมา โรเจอร์เริ่มให้ความสำคัญกับคอนเซ็ปต์เป็นหลัก และเริ่มเขียนคำร้องที่มีสำนวนเปรียบเทียบมากขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเสมือนว่าโรเจอร์กำลังพยายามเล่นเกมกับผู้ฟัง อย่างเพลงในอัลบั้ม Animals ที่ถ้าฟังเผินๆ จะดูไม่ออกเลยว่าโรเจอร์กำลังจะพยายามสื่ออะไรกับผู้ฟังอยู่ ผู้ฟังต้องพยายามคิดว่าโรเจอร์กำลังพยายามเอาสิ่งนั้นมาเปรียบเทียบกับอะไร และสุดท้ายแล้วในเพลงนั้นๆ ต้องการสื่ออะไรแก่ผู้ฟังกันแน่

    ตั้งแต่ยุค The Wall เป็นต้นมา โรเจอร์ก็เปลี่ยนคำร้องของเขามาเป็นแบบดราม่าเต็มตัว อาศัยการเล่าเรื่องผ่านตัวละครต่างๆ ให้ผู้ฟังคิดจินตนาการเอาเองว่าโรเจอร์ต้องการจะสื่ออะไร The Wall เป็นงานที่ซับซ้อนและเข้าใจยากที่สุดชุดหนึ่ง หลายๆ คนจะสามารถเล่าเรื่องในอัลบั้ม The Wall ได้ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่เราก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเพลงบางเพลงต้องการจะสื่ออะไรแก่ผู้ฟัง

    อัลบั้ม The Final Cut เป็นอัลบั้มสุดท้ายของ Pink Floyd ที่มีโรเจอร์อยู่ด้วย และเป็นอัลบั้มที่โรเจอร์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างเต็มที่ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับพ่อของโรเจอร์ที่เป็นทหารออกรบในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โรเจอร์พูดถึงความรุนแรงในสงครามเป็นหลัก เราทำสงครามไปแล้วได้อะไร? สงครามพรากอะไรไปจากชีวิตเราบ้าง?

    โรเจอร์นำเดโมเทปโปรเจ็คหนึ่งที่ผลิตในช่วงเดียวกับ The Wall ออกมาทำเป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตนเอง (หรืออาจเป็นชุดที่สอง หากนับอัลบั้ม Music from The Body ด้วย) อัลบั้มนั้นคือ The Pros and Cons of Hitchhiking ซึ่งได้นักดนตรีฝีมือเยี่ยมหลายคนมาร่วมงานบวกกับทีมงานชุดเก่าที่เคยร่วมงานในอัลบั้ม The Final Cut ซึ่งอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ได้มาตราฐานและ "น่าฟัง" ชุดหนึ่ง โดยเฉพาะแขกรับเชิญระดับเทพอย่าง Eric Clapton และ David Sanborn มาช่วยสร้างสีสันให้กันงานชุดนี้ได้ไม่เลวทีเดียว ทางด้านเนื้อหาก็ยังคงเป็นคอนเซปต์อัลบั้มดราม่าเข้มข้นแบบ The Wall แต่ไม่ซีเรียสและกดดันเท่า เนื้อหาเกี่ยวกับความฝันของชายคนหนึ่ง ซึ่งเจออะไรมากมาย แต่สุดท้ายก็ตื่นจากความฝันและได้สติในที่สุด นอกจากนี้อัลบั้มนี้ยังเป็นอัลบั้มที่โรเจอร์ขึ้นถึงจุดพีคในด้านเสียงร้อง ไม่เชื่อลองฟังเพลง Go Fishing ที่โรเจอร์แผดเสียงได้อย่างถึงใจจริงๆ

    ในปี 1985 โรเจอร์ก็ส่งจะหมายลาออกจากวงอย่างเป็นทางการ โรเจอร์คงเข้าใจว่า Pink Floyd คงเดินหน้าต่อไปไม่ได้ถ้าไม่มีเค้า แถมโรเจอร์ยังเห็นเดฟออกอัลบั้มโซโล่ About Face ในปีก่อน โรเจอร์จึงเข้าใจว่า Pink Floyd คงหมดอนาคตแล้วแน่ๆ ช่วงนั้นเดฟรับจ๊อบเป็นนักดนตรีรับเชิญให้กับศิลปินอื่นๆ มากมาย ในปีถัดมาโรเจอร์รับงานซาวน์แทร็กประกอบภาพยนต์อนิเมชั่นเกี่ยวกับพิษภัยของสงครามนิวเคลียร์ When the Wind Blows

    และแล้วในปี 1987 โรเจอร์ก็ต้องผิดคาด เนื่องจากเดฟจับมือนิก ร่วมกับพลพรรคนักดนตรีอีกหลายคนเข้าสตูดิโอเพื่อผลิตอัลบั้มชุดใหม่ของ Pink Floyd แถมยังไปดึงตัว Richard Wright ซึ่งถูกโรเจอร์ตะเพิดออกไปจากวงในช่วง The Wall เข้ามาร่วมงานด้วยอีก ทำให้โรเจอร์ไม่พอใจเพื่อนๆ เป็นอันมาก โรเจอร์พยายามยับยั้งเดฟทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องต่อศาลหรือส่งทนายโทรศัพท์ไปกวนเพื่อนๆ ถึงสตูดิโอจนไม่เป็นอันทำงานกัน

    และแล้วในท้ายที่สุด ทั้งคู่ก็หาข้อยุติได้และตกลงกันถึงในสิทธิ์ที่แต่ละฝ่ายพึงมี เดฟยังสามารถใช้ชื่อ Pink Floyd ได้ต่อไป แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับโรเจอร์หากเดฟเล่นเพลงของ Pink Floyd ที่เป็นเครดิตของโรเจอร์ในการแสดงสด ปี 1987 Pink Floyd ยุคสามเกลอออกอัลบั้ม A Momentary Lapse of Reason ส่วนโรเจอร์ออกอัลบั้ม Radio K.A.OS. และทัวร์มาชนกัน ผลคือโรเจอร์แพ้ราบคาบ ทำให้โรเจอร์เสียใจมาก โรเจอร์ให้สัมภาษณ์ว่าเค้ารู้สึกแย่มากเนื่องจากการแสดงในทัวร์ของโรเจอร์บางรอบมีคนดูไม่ถึงครึ่งสเตเดี้ยม ในขณะที่การแสดงของ Pink Floyd มีผู้เข้าชมต่อรอบเป็นแสนเป็นหมื่น

    ถ้าจะว่ากันจริงๆ โรเจอร์ก็น่าจะแพ้อยู่ ความจริงก็คือ ทั้งอัลบั้ม A Momentary Lapse of Reason และ Radio K.A.O.S. ต่างก็มีมาตราฐานที่ต่ำพอๆ กัน เนื่องจากทั้งคู่ก็อบอวลไปด้วยซาวน์อิเล็กโทรนิกฟุ้งๆ เหมือนกัน แต่ถ้าให้ผมเลือก ผมยังยอมเลือก A Momentary Lapse of Reason ซะดีกว่า เนื่องจากผมยังพอทนฟังมันจนจบได้ ไม่เหมือน Radio K.A.O.S. ที่แค่เพลงแรกผมก็เบือนหน้าหนีแล้ว อันที่จริงเนื้อหาของอัลบั้มนี้ก็ไม่เลวเหมือนกัน ยังเป็นคอนเซปต์อัลบั้มดราม่าแบบที่โรเจอร์ถนัด แต่ซาวน์ดนตรีมันไม่ไหวจริงๆ ต้องโทษโปรดิวเซอร์ Ian Ritchie กับ Nick Griffiths สองคนนี้

    3 ปีถัดมา ในขณะที่เดฟกับนิกยังคงนับเงินกันไม่เสร็จ โรเจอร์จัดงานอภิมหาใหญ่ยักษ์ ที่กำแพงเบอร์ลิน เป็นการแสดงสด The Wall ด้วยโปรดักชั่นที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งเชิญแขกรับเชิญคนดังมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ในที่สุด มันก็เป็นได้แค่งานที่ขายโปรดักชั่นซะจนออกนอกหน้า แขกรับเชิญก็มากมายจนทำให้ The Wall ฟังดูไม่กลมกลืนอย่างที่มันควรจะเป็น โชคดีที่มันยังมีผู้ชมมากถึง 3 แสนคน

    แก้ไขเมื่อ 13 มิ.ย. 49 01:15:57

     
     

    จากคุณ : Agent Fox Mulder - [ 13 มิ.ย. 49 01:12:09 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com