Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    หยาดเหงื่อแรงงาน

    NUMBER ONE 2498 (1955) " SIXTEEN TONS "

    คอลัมน์ CD-D มีอดีต (มติชน 29/4/2550)
    โดย ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช

        วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2499 เป็นวันกรรมกรแห่งชาติเราครั้งแรก ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น "วันแรงงาน" ให้ฟังรื่นหูขึ้นในภายหลัง
        ความจริงคณะราษฎร (ส่วนใหญ่เป็นทหาร) ที่ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในบ้านเราเมื่อปี พ.ศ.2475 ได้มีน้ำใจใส่บางส่วนเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานลงไปในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่ก็มัวยุ่งแสวงหาอำนาจ เงินตรา และแย่งชิงชิ้นปลามันกันเองจนไม่มีเวลาใส่ใจกรรมกรเท่าใดนัก

        Sixteen Tons หรือ "สิบหกตัน" เป็นเพลงเพื่อชีวิต ที่ขึ้นอันดับหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2498 ก่อนที่เราจะมีวันแรงงานเป็นเรื่องเป็นราวเกือบปี และก่อนที่เราจะมีเพลงเพื่อชีวิตหลายสิบปีอยู่

    "สิบหกตัน" เป็นเรื่องราวของชีวิตกรรมกรเหมืองรุ่นโบราณในสหรัฐ กลุ่มคนที่อาบเหงื่อต่างน้ำในเหมืองนั้นคล้ายๆ กันทุกประเทศ งานหนัก เงินน้อย มิหนำซ้ำสิ่งแวดล้อมในเหมืองยังทำลายสุขภาพ มีทั้งโรคปอดดำ ผิวหนังเปื่อย และอันตรายจากเครื่องมือที่ใช้ รวมทั้งสภาพการทำงาน
    บริษัทที่จ้างก็เอาเปรียบทุกทาง ยิ่งจ่ายเงินให้กรรมกรน้อยเท่าไร นายทุนก็ร่ำรวยขึ้นเท่านั้น

    ในสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่และห่างไกลจากตัวเมือง ของกินของใช้ทุกอย่างบรรดากรรมกรต้องซื้อจาก "company store" หรือร้านค้าของบริษัท ซึ่งมักจะเป็นร้านเดียวที่มีอยู่ในบริเวณเหมือง

    เนื้อเพลงนี้จึงได้บอกว่า
    โกยถ่านหินไป 16 ตันแล้วได้อะไรขึ้นมา
    You load sixteen tons, and what do you get?
    Another day older and deeper in debt.
    ในแต่ละวัน วัยก็เพิ่ม หนี้ก็พอก
    Saint Peter, don"t you call me "cause I can"t go...I owe my soul to the company store.
    นักบุญปีเตอร์ (ผู้เฝ้าประตูสวรรค์) อย่าได้อาจหาญมาเรียก...ข้าฯไปไม่ได้ร้อก แม้แต่วิญญาณก็ยังเป็นหนี้ร้านค้าของบริษัท

        โถ...ทั้งตัวมีแต่หนี้ แม้แต่วิญญาณก็ยังไม่เป็นไท ฟังแล้วเหมือนจะชวนหัวเราะ แต่หากฟังดีๆ จะได้ยินเสียงสะอื้นและรสขมของชีวิตคนยาก ที่ถูกตรึงคุดคู้อยู่กับผืนโลก เพื่อหาทรัพย์ในดินให้กับนายทุน

    ใครอยากรู้ชีวิตคนเหมือง ต้องไปหาหนังสือรวม "เหมืองแร่" จากฝีมือราชาเรื่องสั้นของไทยคือคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ มาอ่าน ก็จะพอรู้ได้ เพราะชีวิตคนเหมืองที่ไหนๆ ก็คล้ายๆ กัน
    คุณ Merle Travis คนที่แต่งเพลงนี้เป็นลูกคนเหมืองแท้ๆ
    สภาพของพ่อที่เมิร์ล เทรวิส เห็นมาตั้งแต่เกิด (ค.ศ.1917) ก็คือคนงานเหมืองที่เพลงนี้กล่าวถึงไม่ผิดเพี้ยน สำนวน "วัยยิ่งเพิ่ม หนี้ยิ่งพอก" นั้น คือคำพูดที่เจ้าหนูเมิร์ลได้ยินจากปากพ่อของเขานั่นเอง บ้านที่พ่อแม่เช่าอยู่ใกล้ๆ เหมือง ไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา ห่างไกลความเจริญใดๆ ทั้งมวล ในยามพักผ่อน ไม่มีสิ่งบันเทิงเริงใจอะไร นอกจากจะร้องเพลง หรือเล่นเครื่องดนตรีที่ทำกันขึ้นเองตามมีตามเกิด

         พ่อและเพื่อนชาวเหมืองมีแบนโจและกีตาร์แบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ว่า พ่อจึงหัดให้เจ้าหนูเมิร์ลเล่นมาตั้งแต่เด็ก เมิร์ลจึงมีโอกาสได้แสดงบนเวทีกลางบ้านเป็นประจำ ยิ่งเห็นใครๆ ชอบ เจ้าหนูก็ยิ่งใฝ่ฝันจะโตขึ้นเป็นนักดนตรี ไม่ได้นั่งฝันเฉยๆ แต่ขวนขวายด้วย เห็นนักกีตาร์ประจำโบสถ์เขาเล่นเก่ง ก็ไปขอเรียนกับเขา จนเก่งพอที่จะแสดงหากินได้ ทั้งเล่นกีตาร์ ทั้งร้องเพลง แถมยังหัดแต่งเพลงเอง ใครๆ ได้ยินแล้วพากันชอบใจว่าเพลงของคุณเมิร์ลนี้เป็นลูกทุ่งชั้นดีแท้

    Tennessee Ernie Ford เป็นดีเจเสียงแบริโทนที่คนติดกันทั้งรัฐแคลิฟอร์เนียในครั้งกระโน้น เป็นคนนำเพลง "สิบหกตัน" ไปร้องด้วยเสียงน่าฟังจนขึ้นอันดับหนึ่ง

    ความดังของเพลงทำให้คนทั่วไปสนใจชีวิตคนเหมือง ถึงตอนนั้นเป็นยุคของโทรทัศน์แล้ว สภาพชีวิตคนงานเหมืองจึงถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ นายจ้างไม่อาจเอาเปรียบลูกจ้างได้อีกต่อไป

    อำนาจของดนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ โดยบางครั้งคนในสังคมก็ไม่รู้สึก ความไพเราะของดนตรีมีอำนาจแรง ลึก และยาวนานกว่าเสียงกรีดตะโกนของบรรดานักเรียกร้องสิทธิทั้งหลายเสียอีก เป็นความจริงที่กาลเวลาพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วนักต่อนัก

     
     

    จากคุณ : coif - [ 29 เม.ย. 50 12:01:07 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom