| กัมพูชา (1 คน) |
|
 |
|
| ทำมือ (0 คน) |
|
 |
|
| โนพลอมแพลม (1 คน) |
|
 |
|
| เวิล์ด โฟล์ค เซ็น (1 คน) |
|
 |
|
| พฤษภา (0 คน) |
|
 |
|
| เดอะ แมน ซิตี้ ไลอ้อน (0 คน) |
|
 |
|
| จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 3 คน |
"คาราบาว" เป็นกลุ่มคนดนตรีเพื่อชีวิตที่ยังค้างฟ้าอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ที่มีอายุขัยได้ ๒๕ ปี เป็นกลุ่มคนดนตรีที่มิเพียงมีผลงานของทางคณะเท่านั้น สมาชิกแทบทุกคนในคาราบาวเคยผ่านประสบการณ์ของตนเองมาแล้ว ผลงานเพลงของสมาชิกแต่ละคนทั้งๆที่แบรนด์คาราบาวยังคงอยู่ ก็ยังมีออกมาให้ได้เห็นได้ฟังกันเรื่อยๆ
"แอ๊ด คาราบาว" คือสมาชิกคนแรกที่ได้มีผลงาน "เดี่ยว" ก่อนสมาชิกคนอื่นๆ หากไม่นับสมาชิกที่มีอัลบั้มเดี่ยวก่อนจะมาอยู่กับคาราบาว
โลโก้ของ "ยืนยง โอภากุล" หรือ "แอ๊ด คาราบาว" จึงประเดิมด้วยอัลบั้ม "กัมพูชา" กลางปี พ.ศ.๒๕๒๗ "โค้ก" เป็นสปอนเซอร์ให้แอ๊ดและคาราบาวตั้งแต่ชุดนี้แหละ ในอัลบั้มนี้มี ๑๐ บทเพลง มิใช่มีแค่เพลงใหม่ๆจากฝีมือการสร้างสรรค์ของแอ๊ด และผองเพื่อน(ทั้งมาจากคาราบาว วงดนตรีอื่นๆ และผู้ที่กำลังจะเข้าวงคาราบาว)เท่านั้น ยังมีเพลงที่คนอื่นร้องก่อนหน้าอย่าง "เดือนเพ็ญ" ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายเรื่องราวภายหลังให้มาก และเพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง "ถามหาความรัก" ภาพยนตร์เรื่องแรกก่อนจะเป็นนักร้องของ ปุ๊ อัญชลี "จันทร์เจ้าขา" ผลงานการประพันธ์ของนายตำรวจสุรศักดิ์ สุทธารมณ์ ความจริงแล้วแอ๊ดร้องก่อนวงโฮป อัลบั้มชุดนี้ใช้ห้องบันทึกเสียงถึง ๓ แห่ง คือ อโซน่า, 722 และ CA (เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วมั้ง!)
ห่างหายจากงานเดี่ยวของแอ๊ดร่วม ๕ ปี เพราะวุ่นอยู่กับงานของทางคณะ งานเดี่ยวที่แสดงความเป็นตัวตนของเขาได้ดีที่สุดชุดหนึ่งของแอ๊ด "ทำมือ" จึงเกิดขึ้นด้วยใจที่ทุ่มเท จุใจด้วยบทเพลงดีๆ ถึง ๑๓ เพลง เพื่อให้สมกับการรอคอย มีเพื่อนใหม่อย่าง ปุ้ม พร้อมเพื่อนๆวงตาวัน และทีมซูซู และยังได้ อ.หงา ฅาราวาน มาแสดงตัวตนของหงาแบบ "สุรชัยสามช่า" และร่วมรำลึกอัศนี "พลจันทร์ เดือนเพ็ญ" ที่ยังได้ป้อม อัสนี ที่ขอวางตัวออกจากวสันต์ไว้ชั่วคราวเพื่อมาร่วมร้องเพลงด้วย เพลงรักๆจากอัลบั้มทับหลังอย่าง "รักทรหด" ยังมีภาคต่อเนื่องด้วย ใครที่เคยฟังเพลงเจนกิสซ่านก็ต้องฟัง "ฉานสเตท" บทเพลงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มากด้วยยี่ห้อรถยนต์ดังๆ "ออกซิเจน" และเพลงใหม่่เนื้อหาน่ารักๆที่น่าฟังอย่าง "แง้มใจ", "รักต้องสู้" ชีวิตของนักเรียนที่มาเป็นนักการภารโรง "ไอ้โต" และเพลงสุดท้ายที่ต้องฟัง "โอ้ลาล้า" แถมโค้กอีกขวดเป็นการปิดท้าย อัลบั้มชุดนี้ใช้ห้องบันทึกเสียงถึง ๓ แห่ง คือ ห้องอัดของมันเอง(เซ็นเตอร์สเตจ) , ห้องอัดใหม่ มิกซ์ สตูดิโอ(ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วมั้ง!) และ ศรีสยาม ห้องบันทึกเสียงที่ถูกใช้ในการอัดเสียงเพลงในอัลบั้มวณิพก และ เมด อิน ไทยแลนด์ มาแล้ว อาจเป็นเพราะว่าเสียงกลองในห้องอัดอัลบั้มนี้จึงต่างกัน เพลงที่อัดในห้องนั้นๆก็ได้กลิ่นได้รสของห้องอัด สังเกตได้จากทุกๆเพลงในอัลบั้ม
อัลบั้ม "ก้นบึ้ง" ขอผ่านไป เพราะเป็นการหยิบเพลงเก่ามาเล่าใหม่กันทั้งนั้น ปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ตัวตนของแอ๊ด คาราบาว มีการเปลี่ยนไป และดูเหมือนว่าจะเสี่ยงในเรื่องการเขียนเพลงมากยิ่งขึ้น "โนพลอมแพลม" อัลบั้มไร้ปัญหาที่แฟนเพลงไม่เอ่ยถึงก็ไม่ได้ จุถึง ๑๐ บทเพลงที่หาฟังได้ง่ายและหาฟังได้ยาก(ที่อาจมีปัญหาในภายหลัง) เพลงที่กล่าวถึงตัวตนของเขาสมชื่อ "ยืนยง" เรื่องราวชาวบ้านๆอย่าง "มากะพระ", "แมงกะไซด์" บทเพลงที่เขียนขึ้นเพื่อให้ประชาชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(ตามกระแสแห่งยุค) บอกถึงการทำลายและการฟื้นฟู อย่าง "เขื่อน", "สนั่นป่า" "ภควัทคีตา" ก็น่าฟัง และร่วมรำลึก สืบ นาคะเสถียร "สืบทอดเจตนา" มีเพื่อนๆมาให้กำลังใจอย่างทีมตาวัน ซูซู และพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
อีก ๗ เดือนนับจากการวางแผงชุดโนพลอมแพลม ยืนยงหันมาทำอะไรที่เทคโนโลยีช่วยได้น้อยลงไว้บ้าง เป็นอัลบั้มโฟล์คทั้งอัลบั้ม(ที่ไร้เบสส์ และเปียโน) "เวิล์ด โฟล์ค เซ็น" (เอาชื่อลูกสาวของพ่อแอ๊ดมาตั้งชื่ออัลบั้ม) จึงเกิดขึ้น จุถึง ๑๐ เพลงที่หาฟังง่ายและหาฟังยาก เพลงที่แสดงความเป็นตัวตนอีกแล้ว "ยืนยงอย่างเนลยัง" เรื่องของคน "บ้า" เพลง "World" ที่ทอดด์ ทองดี มาร่วมงานให้กับแอ๊ด จากโฆษณาน้ำดำโค้ก "เพื่อเมืองไทย" มาอีกครั้งในฉบับเวิล์ด โฟล์ค เซ็น ที่ได้เทียรี่ เมฆวัฒนา(ซึ่งช่วงนั้นมีอัลบั้มเดี่ยวที่มีโค้กเป็นสปอนเซอร์ตามพี่แอ๊ด) กลับมาร่วมงานกับแอ๊ดอีกครั้ง จากภควัทคีตามาถึง "ศรอรชุน" บทเพลงชาวบ้านๆ อย่าง "บรรพบุรุษชาวนา"
ผ่านเหตุการณ์ขั้นรุนแรง จากเดือนพฤษภาปีต่อมาจนถึงเดือนกรกฎา อัลบั้ม "พฤษภา" จึงเกิดขึ้น งานนี้แอ๊ดมาเดี่ยวๆไม่มีพี่มีน้องคงไม่ไหว ชวนพี่อี๊ด โอภากุล ที่ว่างเว้นจากงานเพลงของตนเองอยู่สักพัก มาร่วมทำอัลบั้มกับน้องแอ๊ดในบางเพลง อย่างที่อัสนีกับวสันต์ทำกัน "เอดส์", "นักสู้บลูยีนส์" เรื่องราวที่ยังคงเป็นอยู่ทุกวันนี้ "ใครฆ่าประชาชน", "ราชดำเนิน", "ก้นโด่ง", "กระบี่มื้อเดียว" มาถึง "ใจอยู่ที่กระบี่" บรรยายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืมเลือน "ล้างบาง" เพลงมันส์ๆ เพื่อปราบการซื้อสิทธิ์ขายเสียงให้หมดไป และไม่ลืม... "ทะเลใจ" ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายให้มากนัก งานนี้ใช้สมาชิกคาราบาวมาร่วมบันทึกเสียง(ยกเว้นเล็ก)
อัลบั้มต่อมา "รอยคำรณ" ก็เป็นเพลงเก่าๆมาทำใหม่ ดนตรีอัดสดทุกชิ้น ขอผ่านไป มาถึง "ข้าวสีทอง" ก็นำมาสู่ "เดอะ แมน ซิตี้ ไลอ้อน" อัลบั้มเต็มแบบฉบับของคาราบาวที่จุใจด้วยบทเพลงดีๆถึง ๑๒ บทเพลง ที่เขียนถึงความรักทรหดจนสร้าง "วิมานดิน" เขียนถึงบุรุษลูกทุ่งผู้ได้ขนานนามว่า "เดอะ แมน ซิตี้ ไลอ้อน" เขียนถึงสหายเทอด "ศิลปินมาแล้ว" เขียนถึงชาวนา "รวงข้างสีทอง", "คนทำนา" เรื่องราวของนักรบอาจหาญ "นักรบคนจน" บทเพลงจากกวีของ อ.หงา "นกน้อย" เพลงที่เขียนขึ้เมื่อ ๑๗ พ.ย.๒๕๓๙ "คลานไปตายดาบหน้า" เพลงจากโฆษณาอย่าง "คนสู้ชีวิต" และ "ทุ่มฝัน" ก็อยู่ในอัลบั้มนี้ด้วย และไม่ลืมอีกด้านหนึ่ง... "นายขนมต้ม" เพลงจากละครดังที่ใช้นักมวยเหรียญทองโอลิมปิกเป็นพระเอกของละคร งานนี้แอ๊ดชวนทีมคาราบาว(อ๊อด,ดุก,น้อง,หมี,โก้)มาร่วมบันทึกเสียง ร่วมด้วยนักดนตรีเครื่องเป่าจาก ๒๒ น.
ตั้งแต่โนพลอมแพลม จนถึง เดอะ แมนซิตี้ ไลอ้อน ใช้ห้องที่ทำการบันทึกเสียงเพียงแห่งเดียวคือห้องอัดของมันเอง
เราจึงขอยกมาเพียง ๖ ชุดให้ท่านได้เลือก เป็นผลงานเดี่ยว-เพลงใหม่ในยุคแรกๆของ "ยืนยง โอภากุล" หรือ "แอ๊ด คาราบาว" ที่จัดเป็นผลงานอันทรงคุณค่า ผ่านการบันทึกเสียงอย่างมีคุณภาพ
จึงขอเชิญทุกท่านร่วมตัดสินว่า ใน ๖ ชุดแรก อัลบั้มชุดใดที่ยกให้เป็น "อัลบั้มบันทึกเสียงยอดเยี่ยมที่สุด" ของแอ๊ด คาราบาว โดยพิจารณาการบันทึกเสียงในบทเพลงและในอัลบั้ม รวมถึงบรรยากาศในห้องบันทึกเสียงด้วย(ถ้ารู้ลึก) มิได้พิจารณาคำร้อง ทำนอง ดนตรี ชื่อเสียง และความสำเร็จในภายหลัง
เชิญร่วมตัดสินได้ ณ ที่นี้
จากคุณ :
คนหยังเขียด
- [
2 พ.ค. 50 21:07:06
]