 |
Sonny Rollins Plays for Bird (RVG Edition)
วันนี้เอาแผ่นมาฝากครับ เป็นแผ่น reissue จากอเมริกา ผมรอคอยแผ่นนี้มานานแสนนาน เพราะอะไรเหรอครับ ตามอ่านต่อไป
Sonny Rollins เป็นตำนานของนักเทนเนอร์แซ็กที่ยังมีชีวิตอยู่ สรรพคุณขนาดไหน แฟนเพลงแจ็สคงทราบกันดีอยู่ ไมล์ เดวิสเคยอยากได้ตัวเขามาร่วมวงควินเท็ต แต่เนื่องจากช่วงนั้นเขามีปัญหาชีวิตอยู่ ไมล์จึงหันไปหาจอห์น โคลเทรนแทน
ช่วงเวลาที่ยอมรับกันว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดของซันนี รอลลินส์คือช่วงปี 1956-1958 โดยเฉพาะแผ่นที่ออกกับค่าย Prestige อย่าง Saxophone Collosus, Worktime, Sonny Rollins Plus Four, Tenor Madness จนไปถึง Way Out West แผ่นทรีโอที่ถือว่ามีการบันทึกเสียงดีที่สุดแผ่นหนึ่ง
แผ่นที่ผมกำลังพูดถึงคือ Rollins plays for Bird ซึ่งบันทึกเสียงในปี 1956 โดยมี Kenny Dorham เล่นทรัมเป็ต Max Roach เล่นกลอง ในแผ่น LP และซีดีเวอร์ชันแรก จะมีเพียง 3 เพลง คือ 1. Bird Medley 2. Kid's Know 3. I've Grown Accustomed To Your Face
Bird Medley มีความยาวถึง 26 นาทีกว่า เป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับ Bird หรือชาร์ลี พาร์กเคอร์ ผู้บุกเบิกดนตรีแบบบีบ็อป บางเพลงในเมดเลย์เป็นเพลงที่ Bird แต่งขึ้น บางเพลงเป็นเพลงที่เขานิยมเล่นจนเหมือนเป็นเพลงประจำตัว ซันนี่ รอลลินส์ไม่ได้เล่นทุกเพลงในเมดเลย์ แต่สลับกับมือทรัมเป็ตและเปียโนกันคนละเพลงในเมดเลย์ ทุกคนเล่นในท็อปฟอร์มตลอด ส่วนเพลง Kid's Know เป็นแจ๊สวอลซ์ รอลลินส์เป็นนักดนตรีแจ๊สที่นิยมเพลงในจังหวะวอลซ์และแต่งเพลงแจ๊สในจังหวะนี้ไว้หลายเพลง เพลง I've Grown Accustomed To Your Face เป็นเพลงบัลลาดมาตรฐานที่แสดงทางหวานของเครื่องเป่าทั้งสอง
ในเวอร์ชัน Rudy Van Gelder ที่เพิ่งออกมาเมื่อต้นปี 2008 นี้ ได้นำเพลงใน session เดียวกันคือ The House I Live In ที่ไม่สามารถบรรจุลงในแผ่น LP และซีดีเวอร์ชันแรกได้เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องความยาวของเพลงที่ยาวเกือบ 10 นาที ทำให้เพลงนี้ต้องกระเด็นไปอยู่ในแผ่นอื่น (คือแผ่น Sonny Boy รวมกับเพลงอื่นซึ่งเป็นคนละอารมณ์กันอย่างสิ้นเชิง) ผมรอเวอร์ชันนี้ที่นำเพลงนี้กลับมารวมกับเพลงอื่น ๆ เป็นครั้งแรก ทำให้แผ่นนี้มีความสมบูรณ์ตามที่ควรจะเป็นอีกครั้ง ได้อารมณ์ต่อเนื่องกัน เพลงนี้เป็นเพลงที่ผมชอบมาก ๆ เพลงหนึ่ง
สำหรับคุณภาพเสียง เท่าที่ฟังเปรียบเทียบก็คิดว่ามีความชัดเจนมากขึ้น ผมไม่ใช่ audiophile จึงไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นได้ แต่ในแง่คุณภาพดนตรีแล้ว แทบทุกแผ่นในช่วงนี้ของชีวิตถือว่าเป็นจุดสูงสุดของรอลลินส์ในวิธีเล่นแบบ thematic improvisation คือการด้นโดยใช้เมโลดี้ของเพลงมากกว่าด้นโดยใช้คอร์ดอย่างที่นิยมกัน ทำให้เพลงมีเมโลดี้ที่ไพเราะชวนฟัง แนะนำให้หามาฟังครับ
จากคุณ :
Cherokee1
- [
13 พ.ค. 51 00:26:29
]
|
|
|
|
|