 |
ใจเขาใจเรา : ศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอดส์
เปิดตัวพร้อมหัวใจ (ใหญ่ๆ) กับบรรดาพี่บิ๊ก ในโครงการ ใจเขาใจเรา : ศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอดส์
**********************
เมื่อเร็วๆนี้ (26 มิถุนายน 2551) องค์กรอาร์ตเอดส์ (ART AIDS) ร่วมกับ อีฟแนท (HIV-NAT) ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างไทย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้จัดงานเปิดตัว พี่บิ๊ก กลุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้พร้อมที่จะเข้าใจทุกคน ภายใต้โครงการ ใจเขาใจเรา : ศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกัน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เป็นประธาน นำคณะกลุ่มนายแพทย์ จากฮีฟแนท , กลุ่มหน่วยงานพัฒนาเอกชนเกี่ยวกับเรื่องโรคเอดส์ , กลุ่มคนทำงานศิลปะร่วมสมัยในไทยและต่ายประเทศ , กลุ่มศิลปิน พี่บิ๊ก ซึ่งมาพร้อมหัวใจใหญ่ๆ นำทีมโดย หมอโอ๊ค สมิทธิ์ , บอย ตรัย ภูมิรัตน์ , โอปอลล์ ปาณิสรา พิมพ์ปรุ และ โอ อนุชิต สหพันธุ์พงษ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องเชื้อ Hiv (เอชไอวี) นำไปสู่ความเข้าใจในการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค กล่าวว่า โครงการ ใจเขาใจเรา ศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกัน ต้องการให้ศิลปะสามารถสื่อและแสดงให้คนในสังคมเข้าใจได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา พร้อมกับลดการตรีตรา ลดทัศนคติ และความรู้สึกรังเกียจ ผู้ติดเชื้อได้อย่างละมุนละม่อม ศิลปินมีความพิเศษเพราะสามารถทำเรื่องที่ดูน่ากลัวน่ารังเกียจให้เป็นสิ่งที่น่ารัก น่าเห็นใจ ทำความไม่เข้าใจให้เข้าใจ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อีกทั้งศิลปินไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้องหรือผู้สร้างศิลปะย่อมมีผู้ชื่นชม มีผู้สนใจใคร่รู้ใคร่ฟังว่าศิลปินคิดอย่างไร พูด แนะนำ หรือทำอะไร สิ่งที่ศิลปินพูด แสดง หรือสื่อสารสามารถแพร่กระจายได้กว้างขวาง ทำให้คนอื่นคิดตาม ทำตาม เชื่อในสิ่งที่เขาได้ยินได้เห็น นี่คือ สิ่งที่ศิลปินจะทำให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ ดูแลรักษาและลดความรังเกียจของสังคมต่อผู้ติดเชื้อได้ อีกทั้ง น้ำลาย น้ำตา หรือเหงื่อ ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ ดังนั้นผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แค่เพียงทุกคนให้โอกาส มองว่าผู้ติดเชื้อสามารถทำงาน ทำคุณประโยชน์ต่อครอบครัว ต่อสังคม หรือต่อประเทศชาติต่อไปได้ นายแพทย์ประพันธ์ กล่าวถึง ผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ว่าแตกต่างกัน ผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี คือผู้ที่ได้รับไวรัสชนิดหนึ่งเข้าไปในร่างกาย ไวรัสตัวนี้จะค่อยๆทำลายภูมิคุ้มกันไปเรื่อยๆ โดยจะไม่ทำให้เราป่วยในทันที หรือเรียกได้ว่ามีภาวะสุขภาพเหมือนเดิม ซึ่งเรียกว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเมื่อภูมิคุ้นกันต่ำลงจนมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรง จึงเรียกว่า ผู้ป่วยเอดส์ อัตราเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะใช้เวลา 7-10 ปี ตั้งแต่รับเชื้อ จึงเริ่มป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ดังนั้น ถึงคู่ของเราจะดู..หล่อ สวย แข็งแรง สะอาด เรียบร้อย เนื้อตัวไม่มีตุ่ม แต่พวกเขาเหล่านั้น อาจเป็นผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี ก็ได้ ฉะนั้น จึงมีคนจำนวนมากที่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยง โดยไม่รู้ว่าตัวเองเสี่ยง ขณะเดียวกัน คนในสังคมยังมีทัศนคติว่า โรคเอดส์เป็นแล้วต้องไปอยู่วัดพระบาทน้ำพุเท่านั้น หรือเป็นแล้วต้องตาย หรือผู้ที่ติดเชื้อเป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมไม่ดี แท้จริงแล้วพฤติกรรมที่นำไปสู่การติดเชื้อ แม้คนดีหรือคนที่ไม่รู้เรื่องก็สามารถติดเชื้อได้ เช่น แม่บ้านติดเชื้อจากสามีสุดที่รัก หรือแม้กระทั่งติดไปถึงตัวลูกในครรภ์ ยังมีเด็กน้อยอีกหลายคนที่ไม่รู้เรื่อง แต่กลับกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่ได้รับเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่มีเชื้อเอชไอวีเหมือนกัน พวกเขาต่างมองสังคมว่า..คนในสังคมไม่มีใครเข้าใจโรคเอดส์ คนเป็นเอดส์มีแต่คนรังเกียจ มีแต่คนดูถูก และมองว่าคนเป็นเอดส์อยู่ร่วมกับคนปกติในสังคมไม่ได้..แต่หลังจากที่น้องๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมมุมมองของพวกเขาก็ได้เปลี่ยนไป พวกเขากล่าวว่า..ชีวิตเขาได้เรียนรู้มากขึ้น เริ่มปรับตัวได้ มีมุมมองด้านดีๆ อื่นๆ อีกมากมายที่เขาไม่เคยนึกถึง แต่ตอนนี้มุมมองเหล่านั้นมันทำให้พวกเขามีความสุข เพราะชีวิตของพวกเขาไม่ได้มีแต่เรื่องเอชไอวีเท่านั้น..การได้รับความรู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเข้าใจความหมายของโรคเอดส์มากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกับผู้ที่ได้รับเชื้อนั้นก็คือการได้รับความรักและความเข้าใจจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ที่จะทำให้คนเราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขบนโลกใบนี้ หมอโอ๊ค สมิทธิ์ อารยะสกุล ตัวแทนกลุ่มพี่บิ๊ก กล่าวว่า ชื่อโครงการนี้สะดุดใจผมมากที่บอกว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา ผมรู้สึกว่าเป็นความรู้สึกที่จำเป็นมากๆ เป็นคุณสมบัติที่สังคมทุกวันนี้ขาดแคลน ผมเชื่อว่าปัญหาทั้งหมดในโลกนี้มันมากขึ้นแล้วก็หาทางแก้ไขไม่ได้เมื่อเราไม่รู้จักนำจิตใจคนอื่นมาคิดในแง่มุมของเขา แล้วถ้าเกิดคนเราคิดแบบนี้ไม่ได้ มันก็จะเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นปัญหามันจะคลี่คลายไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่ได้ร่วมมือกัน ผมไม่อยากให้คนในสังคมไปกีดกันผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี เพราะว่าบุคคลเหล่านั้นมีกำลัง มีความสามารถ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมนี้อย่างมากมาย ควรจะให้โอกาสเขาทัดเทียมกับผู้อื่น แล้วก็คนที่ไม่ได้ติดเชื้อมีโอกาสที่ดีกว่า ก็ควรที่จะช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าผู้ที่ติดเชื้อทุกๆ ท่านก็ไม่ได้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพราะอย่างไรก็ตามเขาก็ยังมีความรู้ความสามารถแล้วก็มีพลังทางร่างกาย ยิ่งผู้ติดเชื้อในระยะแรกๆ เขาก็คงต้องการที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป คงไม่ได้เป็นการดูแลที่มากเกินไปหรือว่าเป็นการไปกีดกันเขา ก็คือเป็นคนปกติทั่วไปที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเท่านั้นเอง ท้ายสุดนี้ ผมอยากให้คนในสังคมตระหนักถึง ใจเขาใจเรา ก็คือ คิดถึงจิตใจคนอื่นด้วยไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม อย่านึกถึงแต่ประโยชน์ของตัวเราเพียงฝ่ายเดียว คิดถึงผู้อื่นด้วยว่าเขาจะได้รับผลกระทบอย่างไร เขาจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเกิดว่าทำได้อย่างนี้แล้ว ผมว่าเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่สำคัญสำหรับโลกปัจจุบันนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกๆ คนใช้ความคิดในแง่มุมนี้มากขึ้น ผมว่ามันจะทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น
โครงการใจเขาใจเรานี้ จะไม่ประสบความสำเร็จเลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในสังคม
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2645-2460 หรือ 0-2628-8818-9
จากคุณ :
skee
- [
7 ก.ค. 51 14:40:27
]
|
|
|
|
|