Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    “เธอควรจะทำอย่างไรดี หากถูกโจมตีด้วยข่าวลือ?” กับการใช้ชีวิตเฉกเช่น “กลอง” ไม่แจ็สแต่น่าสนใจ

    ใช้ชีวิตเฉกเช่น “กลอง” ไหม?  จาก นสพ. โพสทูเดย์
    รายงานโดย :รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์: วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

    ลูกศิษย์คนหนึ่งขอคำปรึกษาว่า “เธอควรจะทำอย่างไรดี หากถูกโจมตีด้วยข่าวลือ?”

    ฉันนิ่งไปพักใหญ่ ในขณะที่ใช้สมองทบทวนสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ข่าวลือ”

    ข่าวลือมักมีคู่กรณี?

    แถมบ่อยครั้งคู่กรณีมักเป็นคนใกล้ๆ ที่คอยสังเกตวิถีการปฏิบัติของเราในแต่ละวัน แล้วนำเหตุการณ์ต่างๆ ไปปะติดปะต่อกับเหตุการณ์อื่นๆ แล้วปรุงแต่งให้เกิดสีสัน แบบที่เจ้าตัวหรือคนใกล้ชิดก็แทบไม่เชื่อว่าเป็น “เรื่องของเรา” แต่คนไกลๆ หน่อยอาจมองด้วยความสงสัยว่า “จริงเหรอ” แถมหลายคนอย่างเผลอเมาท์กันอย่างเมามัน แบบลืมตรวจสอบไปว่า ตนเองมีส่วนร่วมกับการ “ทำร้ายเหยื่อ” เหมือนกัน

    เมื่อหลายปีก่อน ใครบางคนก็ตั้งคำถามนี้ในการประชุมวิชาการนานาชาติ เกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อการพัฒนา ซึ่งจัดขึ้นชานเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้

    หลายคนยอมรับว่า “ระดับความดังของบุคคล” มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ “ระดับการแพร่กระจายของข่าวลือ” หรือพูดง่ายๆ ว่า ยิ่งเป็นเรื่องของคนดัง...คนก็ยิ่งชอบเมาท์กันต่อ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติใด พูดภาษาใด หรือนับถือศาสนาใดๆ ก็ตาม แถมยิ่งมีระบบออนไลน์ และระบบมือถือเข้ามาอำนวยความสะดวก ก็ยิ่งทำให้กระแสข่าวลือต่างๆ แต่ละเรื่อง สามารถกระจายกันอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่บุคคลในข่าวลือเป็น “คนดัง”
    แล้วเราจะทำอย่างไรกันหละ?

    นักวิเคราะห์คนหนึ่ง เปรยว่า...หากเป็นเรื่องดีๆ แพร่กระจายได้ในวงกว้างอย่างรวดเร็วก็คงดีไม่น้อย
    อีกคนหนึ่งกล่าวว่า หากเราสามารถนำช่องทาง และทิศทางในการแพร่กระจายข่าวลือ มาประยุกต์ใช้ในการแพร่กระจายสาระความรู้ดีๆ ได้ก็ยิ่งดีใหญ่

    แต่แล้วบทสนทนาวันนั้นก็ต้องหยุดลง เมื่อนักกิจกรรมเตือนว่า “ถึงเวลาไปฝึกตีกลองกันแล้ว”

    “ตึง...ตึง...ตึง”

    เสียงกลองของครูฝึกเริ่มดังขึ้น ในขณะที่ทุกคนซึ่งกำลังนั่งล้อมวงกำลังดูว่า ครูฝึกจะอธิบายอะไรต่อ...

    “หลายคนฝึกตีกลอง...เพื่อตีกลอง แต่วันนี้เราจะมาฝึกการตีกลองเพื่อเรียนรู้กระบวนการสื่อสารกัน” ครูฝึกเริ่มต้นนำเข้าสู่บทเรียน

    ฟังดูอาจจะเครียด แต่ไม่จริงหรอกค่ะ ก็บรรดาโปรเฟสเซอร์ด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนา ซึ่งเดินทางมาจากทั่วโลก ต่างเล่นบทบาทเป็น “นักเรียนตีกลอง” กันอย่างสนุกสนาน

    เสียงหัวเราะดังลั่น แข่งกับเสียงกลองที่ทุกคนร่วมมือตีกัน

    บางคนตีถูกจังหวะ...บางคนตีผิดจังหวะ...บางคนตีคร่อมจังหวะ

    ก็มือใหม่หัดขับกันนี่ค่ะ...ต่อให้เก่งสารพัดเก่งในเรื่องอื่นๆ แต่ครั้นต้องมาทำในเรื่องราวที่ตนเองไม่ถนัด โอกาสผิดพลาดก็ย่อมเกิดขึ้นกันได้

    จริงไหมคะ?

    “โปรเฟสเซอร์...พวกคุณเรียนรู้อะไรจากการตีกลองบ้าง”

    ครูฝึกตั้งคำถาม หลังจากหนึ่งชั่วโมงผ่านไป

    “การตีกลอง...ช่วยให้เราได้ระบายความเครียด” ใครคนหนึ่งเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
    แต่ฉันว่าการตีกลองทำให้เราลืมเรื่องราวอื่นๆ “...และหันมามุ่งมั่นกับกิจกรรมที่อยู่ข้างหน้า” ใครบางคนกล่าวเสริม

    “แต่การตีกลองคนเดียว ก็ไม่เหมือนกับการตีกลองเป็นกลุ่ม...เพราะงานนี้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตีกลอง และพร้อมจะฟังผู้นำแบบไม่มีใครเถียง” เสียงของชายคนหนึ่งตะโกนให้ทุกๆ คนได้ยิน

    “แล้วกลองที่มีผิวหน้ากลองหนา...หรือบางหละ ที่มีเสียงไพเราะ” ครูฝึกตั้งคำถามเพิ่ม ในขณะที่การสนทนาวันนั้นยังคงดำเนินการต่อไปอีกเป็นชั่วโมงๆ...

    คุณรู้ไหมคะว่า คำตอบในประเด็นนั้น จากที่ประชุมในวันนั้นคืออะไร?

    บางคนมองว่า ผิวหน้ากลอง “หนา” แต่บางคนก็เชื่อว่า ผิวหน้ากลอง “บางๆ” ต่างหากที่จะทำให้เสียงกลองไพเราะ
    โชคดีที่ไม่มีใครเรียกร้องให้ดำเนินการวิจัยแบบสำรวจ เพื่อที่จะให้ได้ข้อสรุปที่เป็นกลางจริงๆ แต่ถ้าหยิบคำตอบมาทบทวน จะเห็นได้ชัดเจนว่า แค่มุมมองต่อ “เสียงกลอง” ผู้คนยังมีความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายกันเลย ดูอย่างคุณภาพของ “วัสดุ” หรือหนังสัตว์ที่นำมาใช้ทำเป็นหน้ากลองซิคะ นี่ดีนะที่ยังไม่ต้องอภิปรายกันถึงจังหวะในการตีกลอง หรือการใช้น้ำหนักในการตีกลอง ไม่อย่างนั้นบทสนทนาอาจจะยาวนานข้ามคืนกันก็ได้

    “ส่วนหนึ่งที่การสนทนาเรายาว...ก็เป็นเพราะว่า คนเราชอบให้ข้อคิดเห็น และอยากให้เหตุผลของตนเป็นฝ่ายชนะ” เสียงโปรเฟสเซอร์ท่านหนึ่งยังคงก้องอยู่ในหูฉัน

    เรื่องราวเกี่ยวกับ “การแพร่กระจายข่าวลือ” ที่ยังไม่มีข้อสรุป และประสบการณ์จากการตีกลองที่เคปทาวน์ที่ผุดขึ้นมาในสมองอีกครั้ง...เมื่อฉันกำลังคิดหาคำตอบให้กับลูกศิษย์ว่า

    “เธอควรจะทำอย่างไรดี หากถูกโจมตีด้วยข่าวลือ?”

    “ฟ้องซิ...” นั่นคงเป็นคำแนะนำ หากฉันกำลังสวมหมวกนักกฎหมาย หรือผู้ที่ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น
    แต่หากต้องคำนึงถึง “เวลา” และ “ค่าใช้จ่ายต่างๆ” ที่ต้องเสียเพิ่มเติม รวมทั้งความรู้สึกและความกดดันที่ต้องเผชิญระหว่างการดำเนินการ ซึ่งมักใช้เวลาสืบสวนสอบสวนกันยาวนาน...ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า “คุ้มหรือเปล่า”

    ในที่สุดฉันเก็บข้อแนะนำให้ “ฟ้อง” ไว้ในใจ และเปลี่ยนมาให้คำแนะนำกับลูกศิษย์ว่า

    “ใช้ชีวิตเฉกเช่น...กลอง...ดีกว่านะ”

    ฉันกำหลังหมายความว่า หากเป้าหมายของเธอ คือ “ชื่อเสียง” หรือ “ความโด่งดัง” สิ่งที่มักเป็นสัจธรรมควบคู่กันก็คือ การที่ถูกใครต่อใครอิจฉา ริษยา ปล่อยข่าวลือต่างๆ นานา

    แต่ถ้าเธอใช้ชีวิตเฉกเช่นกลอง...

    ยอมเจ็บปวด...

    ยอมปล่อยให้เขาตี...

    ยอมให้เขาระบายความรู้สึกโดยที่ไม่ตอบโต้

    ในขณะที่ตนเองและคนใกล้ชิดรู้ตัวเสมอว่า ตนเองยังคงประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี เสียงตีเหล่านั้นก็ไม่มีวันทำลายเธอได้ ในทางกลับกัน “เสียงตี” ก็ย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่า เธอกำลังเป็นคนดัง และยิ่งจะทำให้ “โด่งดังยิ่งขึ้น” เมื่อคนพิสูจน์ได้ว่า “เธอเป็นคนดี” แต่ที่สำคัญตัวเธอเองก็ยังได้ใช้จังหวะเวลาดังกล่าวในการตั้งสติ และเรียนรู้ว่า “คนตีเป็นใคร” รวมทั้งมีความสุขจากการฝึกฝน “ให้อภัย” ผู้ที่ลงมือตีกลองให้ดัง

    ถึงแม้กลองจะต้องเจ็บปวดบ้างก็ตาม

    จากคุณ : POB_BALLAD - [ 4 ก.พ. 52 10:12:47 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com