Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    "ถนัดศรี สวัสดิวัตน์"...ศิลปินแห่งชาติ....เก็บตกจาก"มติชน" วันนี้

    ใครๆ เรียกเขาว่าหม่อมถนัดศรีบ้าง คุณชายบ้าง พี่หมึกบ้าง แต่ผมเรียก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ว่า "ถนัดศรี" และเขาก็เรียกผมว่า "วสิษฐ" บางครั้งเขาเรียกผมว่า "พ่อหนู" ตามลูกของผม

    ถนัดศรีแก่กว่าผมสองปี หากนับตามรุ่นการศึกษามหาวิทยาลัย เขาก็อยู่ในรุ่นพี่ผมแม้จะต่างมหาวิทยาลัยกัน ถนัดศรีเรียนธรรมศาสตร์ ส่วนผมเรียนจุฬาฯ แต่สำหรับผมหรือใครๆ ก็ตาม ถนัดศรีเป็นคนไม่มีรุ่น ความเป็นหม่อมราชวงศ์ของถนัดศรีไม่เคยเป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์ระหว่างถนัดศรีกับใครๆ จนทุกวันนี้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่รุ่นไหนคราวไหน ถ้าได้เข้าไปใกล้ถนัดศรี ทุกคนจะถูกดึงดูด และสนิทสนมกับถนัดศรีได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

    ผมจำไม่ได้ว่าถนัดศรีกับผมพบกันครั้งแรกเมื่อใด ที่ไหน หรือในโอกาสใด เพราะถนัดศรีสามารถปรากฏตัวได้เสมอ ไม่ว่าเมื่อใด ที่ไหน หรือในโอกาสใด ผมอาจจะพบและรู้จักกับถนัดศรีที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ "สยามรัฐ" สมัยเมื่อท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเจ้าของและผู้อำนวยการ ตั้งแต่ปี 2494 ตอนนั้นผมกลายเป็นนักเขียนคนหนึ่งของ "สยามรัฐ" แล้วทั้งที่ยังเรียนไม่จบ ส่วนถนัดศรีดูเหมือนจะเป็นนักเขียนอยู่ก่อนแล้ว โดยใช้นามปากกา "หม่อมราษฎร" ถ้ามิฉะนั้น เราก็อาจจะพบกันที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่องเดียวที่มีอยู่ที่บางขุนพรหมเมื่อราวปี 2497 หลังจากที่ผมกลับจากเรียนหนังสือที่อเมริกาแล้ว ขณะที่ถนัดศรีไปทำรายการเพลงของเขาอยู่ที่นั่น และผมได้รับเชิญให้ไปออกรายการจำพวกที่สมัยนี้เรียกว่าทอล์กโชว์

    ที่ "สยามรัฐ" และที่บ้านซอยสวนพลูของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นแน่นอน เราพบกันเสมอที่โต๊ะอาหารมื้อค่ำบ้าง มื้อกลางวันบ้าง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เข้าครัวเป็นผู้ปรุงอาหารเอง และถนัดศรี เป็นลูกมือ ตอนนั้นถนัดศรีเริ่มเขียนหน้า เชลล์ชวนชิม ของเขาแล้ว

    เรากลายเป็นนักแสดงและยิ่งสนิทสนมกันมาก เมื่อเราร่วมกันผลิตละครชวนหัวทางวิทยุชุด "ครอบครัวอนาทร" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. (ไทยโทรทัศน์) บ้านผมที่อาคารพิบูลเวศม์เป็นที่เขียนบทละครเรื่องนั้น ผมเป็นคนเขียนบทก็จริง แต่ถนัดศรีและ ประจักรา บุนนาค ช่วยกันแก้ เติมและเสริมบท ด้วยอารมณ์ขันที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เมื่อเขียนบทจบแล้ว เราก็แสดงกันเองโดยบันทึกเสียงที่สตูดิโอในบ้านของ ฉลอง ปราณีประชาชน ถนัดศรีเล่นเป็น หลวงพาณิชยาดูร พ่อของ วิสามัญ นางเอก (ผู้แสดงคือ อาพันธ์ชนิตร สุวรรณกร) ผมเป็น ธรรมดา พระเอก ส่วนประจักรา บุนนาค เล่นเป็นตัวประกอบอื่นตามท้องเรื่อง ทั้งๆ ที่มีคนแสดงเพียงสี่คน แต่เราก็สามารถเล่นได้เหมือนมีหลายคน เพราะถนัดศรีมีพรสวรรค์สามารถเลียนสำเนียงไทยภาคต่างๆ และสำเนียงคนต่างชาติพูดไทยได้ จึงสามารถเปลี่ยนเสียงเล่นเป็นคนอื่นๆ ได้ด้วย ผมเขียนบทให้ถนัดศรีล้อบุคคลบางคนที่มีชื่อของสังคมในสมัยนั้น ในรายการนั้น เราคั่นเวลาด้วยเพลงไทยสากลของถนัดศรีที่กำลังฮิตอยู่ แต่ผมแก้เนื้อร้องให้เขาเสียใหม่ เช่นเพลง "ยามรัก" ของเขาที่เนื้อเพลงเริ่มด้วย "ยามเช้าพี่ก็เฝ้าคิดถึงน้อง" นั้น ผมแต่งเนื้อให้เขาใหม่ว่า "ยามเช้าพี่ก็เฝ้าคิดถึงท้อง" คนฟังจะชอบหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ปรากฏว่าทั้งคนเล่น (ละคร) และคนบันทึกเสียงหัวร่อกันงอหาย ต้องหยุดบันทึกเสียงและเริ่มต้นใหม่กันบ่อยๆ

    ในอนิจสาร อนาทร ที่ผมเขียนล้อนิตยสารลงใน "สยามรัฐ" ผมมีคอลัมน์ล้อ เชลล์ชวนชิม ชื่อ สามทหารชวนหิว (สามทหารเป็นชื่อน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตโดยกรมพลังงานทหารสมัยก่อน) หรือ เอสโซ่ชวนอ้วก และในอนิจสารนั้น ผมใช้ชื่อผู้เขียนล้อถนัดศรีว่า ถนัดถู

    ถนัดศรีเป็นคนมีความรู้รอบตัวมากอย่างเหลือเชื่อ จนอาจเป็นสารานุกรมที่มีชีวิตเล่มหนึ่งทีเดียว เขาจำแม่นและสามารถอ้างคำหรือประโยคหรือวลีจากหนังสือต่างๆ ได้โดยคล่องแคล่วและไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เมื่อครั้งบวชและยังเป็นนวกภิกษุ (พระบวชใหม่) อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น ถนัดศรีทำความตื่นเต้นและประหลาดใจให้แก่ครูบาอาจารย์ด้วยการสวดปาฏิโมกข์ได้ การสวดปาฏิโมกข์คือท่องวินัยสงฆ์เป็นภาษาบาลีทั้ง 227 ข้อนั้น ตามปกติพระเณรจะต้องใช้เวลาท่องบ่นแรมเดือนหรือแรมปีจึงจะจำและสวดได้

    ผมจำได้ว่าเราเคยเล่นละครเรื่อง ลูกคุณหลวง ด้วยกัน เมื่อประมาณปี 2502-03 ละครเรื่องนั้นเป็นบทประพันธ์ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงหน้าที่นั่ง (คือหน้าที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ) ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เพื่อหาเงินให้มูลนิธิโรคมะเร็ง (หรือหัวใจ) ของโรงพยาบาลศิริราช ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่นเป็นตัวคุณหลวง มีภรรยาและลูกหลายคน คุณ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เล่นเป็นภรรยาคนหนึ่งของคุณหลวง ผมเล่นเป็นลูกชายคนเล็กของคุณหลวงซึ่งเกิดจากคุณสุพรรณ ส่วนผู้เล่นเป็นลูกคุณหลวง (ที่เกิดจากภรรยาคนอื่นๆ) ก็ได้แก่ อาคม มกรานนท์ และ รจิต ภิญโญวนิช เป็นต้น ตัวละครอื่นๆ ล้วนเป็นดาราดังในสมัยนั้น รวมทั้ง สหัส บุญ-หลง และ สุลาลีวรรณ สุวรรณทัต ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าถนัดศรีเล่นเป็นใครในเรื่องนั้น

    นอกจากละครแล้ว เรายังเคยโต้วาทีด้วยกันหลายครั้ง เราเคยเป็นฝ่ายค้านในญัติ "เป็นคนดีกว่าเป็นหมา" เป็นการโต้วาทีแบบมีกติกาและมีกรรมการตัดสิน โต้กันที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นหัวหน้าฝ่ายสนับสนุน ส่วนฝ่ายค้านมีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นหัวหน้า ถนัดศรีและผมเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน กรรมการตัดสินให้ฝ่ายค้านชนะ

    ที่ผมยังภูมิใจอยู่ก็คือ เราเคยร้องเพลงไทยออกโทรทัศน์กันด้วย ดูเหมือนจะเนื่องในวันปิยมหาราชปีหนึ่ง เพราะเนื้อเพลงทุกเพลงที่ร้องเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ร้องก็ได้แก่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถนัดศรี และผม ก่อนร้องหลายวันเราต้องลงเรือไปต่อเพลงกับคุณครู (ต่อมาเป็นคุณหญิง) ไพฑูรย์ (พาทยโกศล) กิตติวรรณ ที่บ้านของคุณครูริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดกัลยาฯ ที่ฝั่งธน

    ไม่ต้องสงสัยว่า ผมเป็นแฟนคนหนึ่งของเพลงถนัดศรีอย่างเหนียวแน่นมาจนทุกวันนี้ ผมมีแผ่นดีวีดีที่บรรจุเพลงของถนัดศรีไว้ทุกเพลง สำหรับผม เพลงที่ถนัดศรีร้องเป็นเพลงคลาสสิคที่ผมฟังได้ทุกเมื่อ

    วันนี้เวลาค่ำ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการจัดงานแสดงความยินดีให้ถนัดศรีที่เขาได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ผมตั้งใจจะไปแสดงความยินดีกับเขาด้วย ผมยินดีมาก แต่ไม่แปลกใจเลยที่ถนัดศรีได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ จะแปลกใจอยู่ก็ตรงที่ทำไมเขาจึงได้เป็นศิลปินแห่งชาติช้านักเท่านั้นเอง


    โดย วสิษฐ เดชกุญชร

    ที่มา:http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act04240252&sectionid=0130&day=2009-02-24

    จากคุณ : sao..เหลือ..noi - [ 24 ก.พ. 52 13:31:53 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com