Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    แม่นาคพระโขนงเดอะมิวสิคัล: ละครเวทีที่เต็มไปด้วย ‘อคติ’

    หลังจากได้อ่านความคิดเห็นบางความคิดเห็นของคนในบอร์ดนี้ที่มีต่อแม่นาคพระโขนงเดอะมิวสิคัล หรือที่เรียกกันว่าแม่นาครัชดา ทำให้ผมเกิดความรู้สึกก่อนที่จะไปดูละครเวทีเรื่องนี้ว่าคงเป็นละครที่ บทเบาหวิว ดนตรีธรรมดา ไร้ความเป็นศิลปะ มีแต่โปรดักส์ชั่นที่ตื่นตาตื่นใจอย่างเดียวโดยรวมแล้วต้องเป็นละครที่แย่มากๆ เรื่องหนึ่งแน่ๆ เลย แต่ทำอย่างไรได้ ซื้อตั๋วไว้แล้วก็เลยต้องไปดู แต่พอได้ไปดูเข้าจริงๆ แล้วกลับคิดว่า มันก็ไม่ได้แย่อย่างที่บางคนวิจารณ์แบบเสียๆ หายๆ นี่นา จนตัดสินใจซื้อตั๋วดูอีกรอบ ทำให้ได้เก็บรายละเอียดต่างๆ ของผู้สร้างละครเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ถึงตอนนี้ แม่นาคพระโขนงเดอะมิวสิคัล ในความคิดเห็นของผม นอกจากจะไม่ได้แย่ไปเสียทุกอย่างแล้ว มันยังมีความดีงามอีกหลายๆ อย่างที่ไม่เห็นมีใครพูดถึงเลยรวมอยู่ด้วย


    ดังนั้นผมจึงขอร่วมวงแสดงความคิดเห็นที่มีต่อละครเวทีเรื่องนี้ด้วยอีกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของการตีคุณค่า เพราะผมไม่คิดว่าการตีคุณค่ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แบบฟันธงลงไปว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่วโดยสมบูรณ์ จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการให้คุณค่าในแง่ของความเป็น ‘ศิลปะ’


    ภาพโมนาลิซ่าที่ชาวศิลป์ทั้งโลกต่างยกย่องว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเอก อาจเป็นเพียงแค่ภาพวาดผู้หญิงคนหนึ่งในสายตาของชาวนาสักคนหนึ่ง ในทางกลับกันภาพวาดทุ่งนาเหลืองอร่ามอาจจะโดนใจชาวนาคนนั้นมากกว่า ในขณะที่ชาวศิลป์ส่วนใหญ่ได้แค่ใช้หางตามอง


    ใช่หรือไม่ที่บางครั้งการมองศิลปะต้องขึ้นอยู่กับว่าใคร? มองอะไร?


    แล้วถ้าจะมาบอกว่า ก็ชาวนาไม่ใช่คนที่เข้าใจงานศิลปะ อันนี้ก็คงเป็นความคิดที่ค่อนข้างใจแคบไปสักหน่อยครับ


    วกกลับมาที่แม่นาคพระโขนงเดอะมิสิคัล หากลองมาตีความกันลึกๆ จริงๆ แล้ว ผมกลับไม่คิดว่าบทของแม่นาคจาก Scenario นั้นเบาหวิวและขาดความเป็นศิลปะอย่างที่บางคนในห้องนี้มองนะครับ


    เมื่อคิดจากการตีความของคนสร้างแม่นาคพระโขนงเวอร์ชั่นนี้ ซึ่งบอย ถกลเกียรติ เขาก็พูดตามสื่ออยู่หลายครั้งว่าจุดตั้งต้นในการคิดสร้างแม่นาคของเขา มันมาจากความคิดที่ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวแห่งบางพระโขนงนี้เป็นเรื่องเล่าที่เล่าสืบกันมาช้านาน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ละครเปิดเรื่อง ที่มีตัวประกอบแต่งเป็นชาวบ้านพระโขนง ออกมาพูดกันอื้ออึง ประมาณว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่... มันเป็นผีร้าย... ไม่เชื่ออย่าลบหลู่... มันเป็นผีร้าย” แสดงว่าเขากำลังพูดถึงผีตัวหนึ่งซึ่งทุกคนลงความเห็นว่ามันร้ายกาจ ซึ่งก็จริงอย่างที่คนทั่วไปรู้สึกว่า เมื่อพูดถึงแม่นาคแล้วนึกถึงอะไร ก็ต้องนึกถึงผี!! น่ะสิ


    ดังนั้นละครเรื่องนี้จึงบอกอะไรบางอย่างในเรื่องของความเชื่อ และการตัดสินของคนที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสังคม เฉกเช่นชาวบ้านบางพระโขนงตัดสินแม่นาค ที่พอแม่นาคท้องแล้วก็หนีตามพ่อมากมา เป็นการทำผิดประเพณี หรือในเรื่องที่เรียกว่า ‘ผิดผี’ ทำให้วัวควายตาย นาล่ม ฝนไม่ตก เพราะมีตัวเสนียดจันไรอย่างแม่นาคมาอยู่ในหมู่บ้าน จึงกลายเป็นความมี ‘อคติ’ ที่ชาวบ้านมีต่อแม่นาคและแน่นอนว่าเมื่อใครที่มีอคติแล้ว การใช้ ‘เหตุผล’ จึงเป็นเรื่องรองลงมา เพราะทุกอย่างก็เต็มไปด้วยอคติอย่างเต็มเปา โดยเฉพาะตัวละคร ‘ยายปริก’ ที่หลายคนมองว่าร้ายอย่างไม่มีเหตุผล ลองคิดดูจริงๆ สิครับว่า ถ้ายายปริกร้ายเพราะมีอคติขนาดนั้นแล้วยังต้องมีเหตุผลอะไรมาสนับสนุนอีก


    ตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องอคตินี้ไม่ต้องดูอื่นไกล ก็บ้านเมืองเราในตอนนี้นี่แหละ เวลาคนสีหนึ่งทำอะไร มันก็ดูร้าย ดูขัดใจในสายตาของคนอีกสีหนึ่งไปเสียทั้งหมด


    ในประเด็น ‘ความเชื่อ’ นี้เองจึงเป็นตัวขับธีมของละครเรื่องนี้นั่นก็คือเรื่อง ‘การปล่อยวาง’ ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เพราะชาวบ้านที่ยึดติดในเรื่องความเชื่อ โชคลาง ลางสังหรณ์ นั้นก็ไม่ต่างจากแม่นาคที่ยังยึดติดในความรักที่มีต่อพี่มาก เราจึงได้เห็นการพูดถึงเรื่องความเชื่อและอคติของชาวบ้านสลับไปกับเรื่องความรักของแม่นาค เช่นถ้าลองสังเกตดีๆ จะเห็นชาวบ้านหลายคนทำท่ากระฟัดกระเฟียดแม่นาคตั้งแต่ฉากลอยกระทงซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบพอของชาวบ้านที่มีต่อหญิงสาวผู้มาใหม่ตั้งแต่ละครเปิดเรื่อง


    อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือฉากหลังจากที่แม่นาคตายไปแล้ว แล้วมีชาวบ้านมาจับกลุ่มกันพูดเล่าลือกันถึงความน่ากลัวของผีแม่นาค ซึ่งก็ยังเป็นการย้ำประเด็นเดิมของละครเรื่องนี้ว่า แต่ละคนยังไม่ทันเห็นอะไรกันเลย แต่กลับพูดลือกันไปแล้ว แล้วบางทีก็ลือกันไปด้วยความเกินจริงด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงมีตัวละครอย่าง ‘ยอด’ ที่คอยขัดทุกคนว่าไม่เชื่อว่าผีมีจริง ผีไม่มีจริง ต้องพิสูจน์ให้เห็นกันก่อน จึงนำพาไปสู่ฉากของการพิสูจน์ว่าผีมีจริงไหมที่บ้านแม่นาค (และที่น่าปรบมือให้คือมันถูกนำเสนอออกมาในมุมขบขันตามแบบฉบับผีไทยได้อย่างตื่นเต้น น่ากลัว และตลกมาก เรียกเสียงกรี๊ดของผู้ชมกับเสียงหัวเราะได้สนั่นโรงละคร) แม้กระทั่งในเพลงสุดท้ายของเรื่อง ประเด็นนี้ก็ยังถูกพูดถึงอยู่เมื่อแม่นาคร้องว่า ยามถ้านึกเรื่องของฉันแล้วให้นึกถึงเรื่องของผู้หญิงที่ยึดมั่นในความรัก ทำให้ธีมของบทละครเรื่องนี้ครบถ้วน


    สำหรับประเด็นเรื่องของความรักระหว่างพ่อมากกับแม่นาคที่หลายคนอาจจะมองว่าดูแล้วยังไม่มีเหตุให้คิดว่าทั้งคู่รักกันสักเท่าไหร่ ความจริงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องพูดยากเพราะเพียงแค่คำว่า ‘ความรัก’ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่นามธรรมไม่มีหน่วยวัดตายตัว เพราะประสบการณ์ความรักของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนหากจะรักใครสักคนอาจจะต้องใช้เวลา ในขณะที่บางคนแค่เพียงสบตาก็ตกหลุมรักเสียแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาดูหนังหรือดูละคร ความซาบซึ้งหรืออินไปกับความรักของตัวละครของคนดูแต่ละคนจึงจะไม่เท่ากัน


    ในแม่นาคพระโขนงเดอะมิสสิคัล เราจะเห็นพ่อมากปกป้องแม่นาคตลอดตั้งแต่โดนยายปริกต่อว่า รวมทั้งการพูดถึงเรื่องการ ‘กอด’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ปล่อยวาง โดยเฉพาะประโยคที่พ่อมากและแม่นาคกอดลากัน แล้วแม่นาคบอกว่า “กลัวว่ากอดครั้งนี้จะเป็นกอดครั้งสุดท้าย” แล้วพ่อมากก็พูดประมาณว่า “ไม่มีใครรู้ว่ากอดครั้งสุดท้ายจะเป็นเมื่อไหร่” หากใครที่ได้ดูละครช่วงนี้แล้วลองนึกถึงคนที่เรารักว่า เราได้กอดลาเขาทุกเช้า แต่เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วกอดครั้งนี้จะเป็นกอดครั้งสุดท้ายหรือเปล่า เพราะอะไรมันก็เกิดขึ้นได้ในชีวิต ก็อาจจะทำให้ถึงกับน้ำตาคลอได้ เพราะฉะนั้นในประเด็นเรื่องของความรักที่ทั้งสองคนนี้มีต่อกันสำหรับผมแล้วมันเพียงพอที่ทำให้ผมน้ำตาคลอและรู้สึกได้ว่าสองคนนี้รักกันจังเลย (ในมุมของคนที่เคยผ่านทั้งประสบการณ์ความรัก และการลาจาก... ซึ่งขอไม่พูดถึงนะครับ เพราะไม่เกี่ยวกับแม่นาคเท่าไหร่)


    หากมาพูดเรื่องของเพลง อันนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่าผมก็ไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเพลงมากมายนัก แต่เมื่อไปดูรอบแรกกับเพื่อนของผมซึ่งเขาเรียนดนตรีมา เขาเอ่ยปากชมเพลงช่วงฉาก ‘ทำคลอด’ ว่าคนแต่ง แต่งทำนองได้อย่างไร คีย์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดทั้งเพลง และยากมากที่แต่งให้ร้องสวนกันไปสวนกันมาได้ขนาดนี้ และในมุมของผมที่เป็นคนดูละครก็เห็นว่าโดยภาพรวมของฉากทำคลอดแม่นาคมันถูกเล่าเรื่องได้อย่างครบถ้วน สื่อสารชัดเจน และที่สำคัญก็ได้อารมณ์หลากหลายภายในฉากเดียว ทั้งตื่นเต้น ลุ้นระทึก และสงสารแม่นาค


    สำหรับเพลงในฉากที่เตี้ยกับโอ่งปรึกษากันว่าจะหนีผีแม่นาคอย่างไร ที่ดูเหมือนจะเป็นฉากที่ไร้สาระที่สุด เพราะมันถูกนำด้วยความตลก แต่ผมกลับมองว่าเนื้อเพลงของซีนนั้นฉลาดเขียนขึ้นมาที่สุด ยิ่งได้ฟังเพลงจากซีดีก็ยิ่งคิดว่าเป็นเพลงที่ผู้แต่งผ่านการคิดมาเยอะมาก ฉากนี้เริ่มจากทั้งสองคนคิดกันว่าจะหนีผีอย่างไร ไล่เถียงกันไปตั้งแต่แกล้งตาย ปีนต้นไม้ ดำน้ำ และอื่นๆ (และก็นำเสนอด้วยคำคล้องจองกันเป็นที่สุด) แล้วสุดท้ายจึงไปลงเอยที่ ‘ตุ่ม’ ซึ่งเป็นเบสิคของการหนีผีของชาวบ้านในหนังไทยมากๆ เป็นการนำวัฒนธรรมพื้นบ้านในการหนีผีแบบไทยๆ มานำเสนอในแบบมิวสิคัลได้อย่างลงตัว โดยที่เรื่องก็ยังเดินอยู่แต่ก็ยังสามารถเอนเตอร์เทนผู้ชมได้อย่างเต็มที่ ด้วยเปลือกที่ห่อหุ้มไปด้วยความตลกขบขัน อาจทำให้หลายคนมองว่ามัน ‘ไร้สาระ’ แต่หากตั้งใจมองดีๆ จะเห็นว่ามันไม่ได้ไร้สาระ แต่มัน ‘ถูกมองข้าม’ สาระที่มีอยู่ไปต่างหาก


    การสร้างศิลปะที่ทำให้เหมือนดูง่ายซะจนคุณคิดว่ามันไม่ใช่ศิลปะ นั่นแหละเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยจริงไหม


    ส่วนเพลงที่เป็นเลิฟธีมของละครเรื่องนี้ก็คงเป็นเพลง ‘อ้อมกอด’ ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้อย่างดี ทั้งเนื้อร้องที่กินใจ และทำนองที่ต้องพูดตรงๆ ว่า ‘เพราะ’ สังเกตได้ว่าเมื่อละครจบแล้ว หลายคนยังเดินออกจากโรงละครพร้อมกับฮัมเพลงนี้อยู่เลย ในขณะเดียวกันเพลงนี้ก็ทำหน้าที่เสริมธีม (ของความไม่ปล่อยวาง) ในมุมของความรักได้อย่างดี


    ผมคิดว่าละครเรื่องนี้ผ่านการตีความมาพอสมควรแล้ว แม้กระทั่งเหตุผลว่าทำไมแม่นาคถึงยอมปล่อยวางในตอนท้าย ถ้าสังเกตดีๆ ในช่วงที่อาจารย์คงกำลังต่อสู้กับพี่มากจะมีประโยคที่แม่นาคร้องโหยหวนในเฮือกสุดท้ายว่า “ปล่อยพี่มาก ปล่อยพี่มาก” จนทำให้ฉุกคิดได้ว่า แม่นาคบอกสั่งแต่จะให้คนอื่นปล่อยพี่มาก แต่ตัวเองต่างหากที่ไม่ปล่อยพี่มาก แล้วพอหลังจากปราบอาจารย์คงได้แล้วพ่อมากก็เข้ามากอด แม่นาคกลายเป็นเฉยไม่ได้กอดกลับ (ต่างกับการกอดในทุกๆ ฉากที่ผ่านมา) นั่นมันทำให้รู้สึกถึงการเรียนรู้ของตัวแม่นาคที่สื่อออกมาและเข้าใจได้ แล้วแม่นาคก็พูดว่าตนเองทำผิดมากแล้วใช่ไหม ซึ่งก็สมเหตุสมผลดีที่จะทำให้เรารู้สึกว่าแม่นาคยอมปล่อยวางแล้ว แล้วสุดท้ายเราก็ได้ตื้นตันกับความรักของเขากับการลาจากของทั้งคู่


    หากจะให้พูดถึงข้อติของละครเรื่องนี้แบบที่เห็นได้ชัด น่าจะเป็นเรื่องของฉากการปราบผีที่เสียงดังไปหน่อยจนทำให้หมอคงที่แสดงโดย ติ๊ก ชีโร่ นั้นดูไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนการเดินเรื่องนั้นก็ยังมีช่วงอืดอยู่บ้างในช่วงกลางองก์สอง แต่ก็ยังพอทำใจรับได้เมื่อดูต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นการสร้างเหตุและผลให้กับตัวละคร และพล๊อตที่ดำเนินต่อไป จนในสุดท้ายนำไปสู่ความรู้สึกสงสารแม่นาคในตอนท้าย (เห็นได้จากผู้ชมหลายคนรวมทั้งตัวผมเองที่น้ำตาคลอในตอนจบของละคร) ซึ่งก็น่าจะเป็นไปอย่างที่ประเด็นที่เขาต้องการจะนำเสนอนั่นก็คือมุมมองที่มีต่อแม่นาคเปลี่ยนไป


    โดยสรุปแล้ว แม่นาคพระโขนงในเวอร์ชั่นนี้ จึงเป็นความลงตัวระหว่างศิลปะในการทำละครกับการให้ความบันเทิงต่อผู้ชม สุดท้ายแล้วผมก็ยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่มาชมละครเวทีนั้นยังเป็นคนที่มาเสพความบันเทิง แต่หากใครคิดจะได้รับมุมมองในเชิงศิลปะ หรือได้แง่คิดเพื่อจรรโลงจิตใจ ผมว่าละครเวทีเรื่องนี้ก็ยังมีให้อยู่ในหลายๆ มุม สุดแท้แต่ใครจะตีความครับ เพราะละครเวทีนั้นมีเครื่องมือหลายอย่างในการสื่อสารกับคนดู ไม่ใช่แค่เพียงคำพูดของตัวละครเท่านั้น แต่ยังมีดนตรี ฉาก แสงสี หรือแม้แต่การกระทำโดยปราศจากคำพูดของตัวละครก็ใช้เป็นสิ่งสื่อสารกับผู้ชมได้เช่นกัน ส่วนใครจะรับสารนั้นได้หรือไม่ได้นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต่างจากการนั่งอ่านหนังสือที่เราจะสามารถรับรู้หมดทุกอย่างผ่านทางตัวหนังสือได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น


    ดังนั้นหากบางคนยังมองว่าละครแม่นาคพระโขนงนี้ขาดความเป็นศิลปะ (โดยสิ้นเชิง) ก็คงไม่ต่างอะไรกับชาวบ้านบางพระโขนงที่มองแม่นาคว่า ผียังไงก็ยังเป็นผีร้ายวันยังค่ำ

    จากคุณ : Focus - [ 8 มิ.ย. 52 23:23:12 A:203.107.204.187 X: TicketID:219436 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com