Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คราบความทรงจำอดีต....เกี่ยวกับ "สีน้ำ"  

ไปอ่านมาได้ความรู้เลยเอามาฝากเพื่อนห้องศิลป


การระบายสีน้ำ


การระบายสีน้ำเป็นกิจกรรมศิลปะที่รู้จักกันดี นับตั้งแต่เริ่มเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เพราะสีน้ำเป็นสื่อวัสดุสำหรับแสดงออกที่ใหม่และแปลกไปจากระดับประถมศึกษา

         ช่วงเวลาแรกที่รู้จักสีน้ำในชั่วโมงวาดเขียนรู้สึกว่ามีแต่ความสนุกสนาน ตื่นเต้น แม้ว่าจะมีสีเพียงสามสี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน มีพู่กันด้ามหนึ่งหรือสอง ขนาดใหญ่ที่สุดคงไม่เกินเบอร์ 7 เราก็ระบายสีน้ำ ผสมสีน้ำด้วยความตั้งใจ ภาพแรกที่ระบายเสร็จแล้วดูกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ รู้สึกเหมือนว่าเป็นแหล่งรวบรวมความภาคภูมิใจให้มองเห็น เตือนให้นึกถึงช่วงเวลาที่มีเสรีภาพในการแสดงความรู้สึกด้วยสีน้ำ ไม่ว่าจะมีครูวาดเขียนคอยให้คำแนะนำในการระบายหรือไม่มีก็ตาม

                  เมื่อเริ่มเรียนสูงขึ้น ระดับอาชีวศึกษาหรือระดับอุดมศึกษา สีน้ำก็ยังติดตามเตือนให้เรานำมาเป็นสื่อในการแสดงออกที่ทอดทิ้งไม่ได้อีก ช่วยส่งเสริมผลงานที่เราเขียนหรืองานที่ออกแบบมีความสมบูรณ์ รู้สึกว่ามีบรรยากาศ ไม่แห้งแล้งจืดชืด จนน่าเบื่อเกินไป จำนวนสีน้ำก็มีมากกว่าสามสีอย่างที่เคยใช้กันมาก่อน ไม่จำเป็นต้องผสมสีตามที่เคยมีอย่างจำกัด จะเลือกสีอะไรตามที่ต้องการก็ได้ แสดงให้เห็นว่า สีน้ำและการระบายสีน้ำเป็นสื่อวัสดุที่ช่วยในการถ่ายทอดรูปแบบที่ขาดไม่ได้ และได้เป็นที่รู้จักกันดีมานานแล้ว

         หากจะสอบทานคราบความทรงจำของอดีตเกี่ยวกับสีน้ำ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ประกอบกับหลักการศึกษาในเชิงปฏิบัติและการแสวงหาความรู้ตามแนวทางการเรียน การสอนในปัจจุบันที่ยอมรับกันว่ามีขั้นตอนที่สำคัญตามลำดับคือ 1. แสวงหาความรู้ 2. ทำความเข้าใจ 3. การนำไปใช้ถ่ายทอดแบบ 4.การวิเคราะห์ผลงาน 5. การสามารถสังเคราะห์ และ 6. การประเมินผล ก็จะพบว่าการเรียนการสอนสีน้ำที่เราได้รับประสบการณ์มานั้นมิได้รับการ สั่งสมมาตามลำดับขั้นตอน กล่าวคือ เมื่อเริ่มขั้นที่ 1 แล้วข้ามไปขั้นที่ 3 ขาดขั้นสองที่สำคัญยิ่งไป และส่งผลให้ติดอยู่เพียงขั้นที่ 3 เท่านั้น ไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นที่ 4, 5 และ 6 ได้ ดังนั้นบทความนี้จึงมีเป้าหมายที่จะเสนอแนะให้เห็นความสำคัญของขั้นที่สอง คือทำความเข้าใจสีน้ำ


ส่วนที่หลงหูหลงตา

         คงเป็นที่จำกันได้ว่า เมื่อเราเริ่มรู้จักสีน้ำ ซึ่งอาจจะบรรจุเป็นหลอดหรือเป็นตลับ เรารู้ด้วยสามัญสำนึกว่าเวลานำไปใช้ระบาย ต้องผสมกับน้ำ ระบายด้วยพู่กันบนกระดาษสีขาว หากนำไประบายบนกระดาษสีอื่นไม่ใคร่ได้ผล แสดงว่าเรารู้แล้วนำไปใช้ถ่ายทอดรูปแบบทันที โดยปราศจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติและคุณค่าของสีน้ำ ดังนั้นเมื่อประสบปัญหาบางอย่างโดยที่ไม่ทราบสาเหตุและแก้ไขไม่ได้ ก็จะส่งผลทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อสีน้ำ และสรุปว่าสีน้ำเป็นสื่อวัสดุที่ระบายยาก เป็นต้น

         อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะคุณสมบัติและธรรมชาติของสีน้ำจะช่วยเสริมสร้างให้การนำสีน้ำไปใช้เกิดผลมากที่สุด และทั้งยังช่วยขจัดทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับสีน้ำด้วย สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสีน้ำมี 6 ประเด็นดังต่อไปนี้

  1. สีและคุณสมบัติของสี
  2. กระดาษและคุณภาพของกระดาษ
  3. พู่กันและหน้าที่ใช้สอย
  4. การควบคุมปริมาณสีน้ำ และกติกาในการระบาย
  5. การเสริมแต่ง ดัดแปลง แก้ไข
  6. การเข้ากรอบและนำไปใช้


สีและคุณสมบัติของสี

      นับว่าเป็นความเข้าใจที่ต้องสอบทานด้วยตนเองให้กระจ่างแจ้งก่อนเกี่ยวกับสีและคุณสมบัติ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  1. สีแต่ละสีมีคุณสมบัติต่างกัน เช่น บางสีมีคุณสมบัติติดกระดาษแน่น (Stained Color) บางสีไม่ติดแน่นถาวร วิธีสอบทานก็คือ เอาสีที่มีอยู่ทุกสีระบายบนกระดาษ ปล่อยทิ้งให้แห้งแล้วล้างน้ำ สีใดที่ไม่ลอกก็แสดงว่าเป็นสีมีคุณสมบัติแน่น เมื่อทราบแล้วจดจำไว้ เวลาจะระบายควรระบายสีอื่นก่อน สีติดแน่นควรระบายทีหลังหรือระบายทับสีอื่น
  2. สีบางสีมีคุณสมบัติระราน หรือบุกรุกแพร่เข้าไปหาสีอื่นขณะระบาย (Advancing Color) จะต้องสังเกตและจำไว้ เพื่อนำไปใช้ระบายรูปทรงที่มีลักษณะแผ่ฟูขยายตามที่ต้องการ วิธีสอบทานเพื่อความเข้าใจสามารถกระทำได้โดยระบายตามวิธีผสมผสานหลายสี (Mingling)
  3. สีบางสีมีคุณสมบัติสดอยู่เสมอตามส่วนประกอบทางเคมี หรือเป็นสีที่มีกำลังส่องสว่างถาวรไม่มัวหมอง เวลาผสมกับสีอื่นก็คงกำลังส่องสว่างของตนเองไว้ เราอาจทราบได้จากสัญลักษณ์ข้างหลอดที่บริษัทผู้ผลิตแจ้งให้ทราบ หรือทราบได้จากราคาที่สูงกว่าอื่น นับว่าเป็นสีที่จำเป็นต้องเข้าใจ เพื่อที่จะนำไปใช้อย่างเหมาะสม
  4. สีบางสีมีคุณสมบัติทึบแสง ทั้ง ๆ ที่โดยลักษณะคุณสมบัติของสีน้ำโปร่งแสง สีประเภทนี้จะต้องสอบทานจำให้ได้ เพื่อที่จะนำไปใช้สำหรับเน้นบริเวณที่ต้องการแสดงให้เห็นส่วนที่เด่น
  5. สีบางสีผสมสารเคมี ซึ่งอาจเป็นพิษต่อผู้ระบาย ควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ผลิตจะต้องแจ้งไว้ข้างหลอดเตือนผู้ใช้
     

         การทำความเข้าใจสีและคุณสมบัติของสีดังกล่าวนี้ ผู้สนใจระบายสีน้ำจะต้องสามารถแยกได้ว่าสีของบริษัทใดมีคุณสมบัติต่างกับบริษัทสีอื่นอย่างไร เพราะแต่ละบริษัทต่างก็ผลิตสีมีคุณสมบัติต่างกัน


กระดาษและคุณภาพของกระดาษ

      กระดาษมีความสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพ เพราะมีส่วนเสริมสร้างให้ สีระบายมีกำลังส่องสว่าง มีคุณภาพโปร่งใส และความชุ่มเยิ้มอยู่เสมอ ดังนั้นควรสอบทานคุณภาพของกระดาษดังต่อไปนี้

  1. ธรรมชาติและความหนาของกระดาษ นับว่ามีผลต่อการระบายสีเป็นอย่างยิ่ง กระดาษนั้นโดยตัวเองแล้ว เมื่อถูกน้ำยืดตัว และเมื่อแห้งหดตัว กระดาษยิ่งบางมากก็ยิ่งยืดมากเมื่อถูกน้ำ ดังนั้นเมื่อเข้าใจธรรมชาติของกระดาษแล้วก็จะสามารถควบคุมการระบายสีน้ำให้พอเหมาะตามที่เข้าใจได้ ศิลปินสีน้ำบางท่านเคยเตือนไว้ว่า การเปลี่ยนกระดาษระบายสีน้ำใหม่เท่ากับท่านต้องเริ่มหัดพูดภาษาใหม่
  2. ลักษณะผิวของกระดาษที่เขียนก็เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจอย่างถี่ถ้วน กระดาษบางประเภทมีผิวหยาบทั้งสองหน้า เวลาจะใช้ระบายสีควรระบายด้านที่มีลายน้ำ ในกระดาษที่อ่านออก หากไม่มีลายน้ำก็ต้องสังเกตด้วยตนเองว่าด้านไหนเป็นด้านหน้าและด้านไหนเป็นด้านหลังจากลวดลายหยาบของกระดาษ หากเป็นกระดาษที่มีผิวเรียบด้านหนึ่งและผิวหยาบอีกด้านหนึ่ง ควรเขียนหน้าหยาบ เพราะเป็นด้านสำหรับเขียนไม่ซึมน้ำ
  3. กระดาษระบายสีน้ำมีทั้งประเภทที่อัดเย็นและอัดร้อน ผลิตด้วยมือและด้วยเครื่องจักร บางชนิดผู้ผลิตก็ผนึกเข้าเป็นเล่มโดยทากาวตามริมกระดาษ เพื่อความสะดวกในการระบาย เมื่อระบายแผ่นบนเสร็จแกะออกก็ระบายแผ่นต่อไปได้ กระดาษประเภทเล่มนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กระดานรองเขียน หากใช้กระดาษเป็นแผ่น ควรติดกระดาษบนกระดานรองเขียนด้วยกระดาษกาว เพื่อความสะดวกในการระบาย แก้ปัญหากระดาษย่นได้ และเมื่อลอกกระดาษออกแล้ว ก็จะทำให้ได้ริมขาวของกระดาษช่วยให้ภาพเด่นและทั้งยังแสดงว่าผู้ระบายมีความเอาใจใส่พิถีพิถันในการระบายสีน้ำ

4. กระดาษระบายสีน้ำมีคุณสมบัติต่างกัน บางชนิดไม่ดูดซึม บางชนิดไม่ดูดน้ำ บางชนิดให้คราบสีน้ำลักษณะอย่างหนึ่ง
        ต่างกับชนิดอื่นซึ่งให้คราบต่างออกไป ผู้ระบายสีน้ำจะต้องเข้าใจคุณสมบัติอันสำคัญของกระดาษที่ระบายอย่างละเอียด
        เพื่อจะได้สามารถคุมคราบที่เกิดขึ้นตามที่ต้องการได้ และสร้างความกลมกลืนระหว่างคราบและรูปแบบตามที่เห็นว่า สวยงาม
5. กระดาษที่มีลักษณะผิวอยู่แล้ว หากต้องการสร้างสรรค์ลักษณะผิวพื้นใหม่ให้น่าสนใจ ก็สามารถกระทำได้โดยใช้กระ
        ดาษทรายถูบริเวณผิวหน้ากระดาษนั้น กระดาษที่มีความหนามากเมื่อระบายสีแล้วหากต้องการให้เกิดพื้นที่ขาว
        ของกระดาษ ก็สามารถใช้เกรียง หรือของแหลมขูดขีดรูปร่างตามต้องการได้ แต่ถ้าเป็นกระดาษบางการขูดขีดด้วยเกรียงแทนที่จะได้เส้นขาวกลายเป็นเส้นสีแก่แทน

         กระดาษและคุณภาพของกระดาษดังได้กล่าวมานี้ ผู้สนใจระบายสีน้ำจะต้องเข้าใจชนิดและประเภทของกระดาษอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้ปรับและเลือกวิธีการระบายให้สอดคล้องกับคุณภาพของกระดาษชนิดนั้น ๆ


พู่กันและหน้าที่ใช้สอย

      อุปกรณ์ในการระบายสีน้ำที่สำคัญยิ่งคือพู่กัน ซึ่งอาจทำด้วยขนสัตว์ หรือขนใยสังเคราะห์ พู่กันสีน้ำมีลักษณะอ่อนและอุ้มน้ำ มีลักษณะและหน้าที่ใช้สอยตามรูปแบบต่าง ๆ กัน คือ

  1. พู่กันกลมพอง ขนาดใหญ่ ใช้สำหรับระบายเรียบบริเวณพื้นที่กว้าง ฉากหลังหรือบริเวณที่เป็นท้องฟ้า ส่วนมากมักจะทำด้วยขนกระรอก หรือขนในหูวัว
     

    2. พู่กันกลมธรรมดาใช้สำหรับระบายทั่ว ๆ ไปมักจะมีขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่เรียงตามเบอร์ 0-12 ส่วนมากมักจะทำด้วย
        ขนในหูวัว หรือขนเซเบิล ที่มีลักษณะนิ่มและอุ้มน้ำได้ดี พู่กันกลมธรรมดานี้ที่ดีมักจะมีลักษณะปลายแหลม เวลาไป
        ซื้อควรจะได้ทดลองจุ่มน้ำดู เพื่อสอบทานว่าปลายแหลมหรือไม่นอกจากนี้แล้วยังมีสปริงพอเหมาะด้วย หากจะเปรียบ
        เทียบกับพู่กันขนใยสังเคราะห์แล้ว พู่กันขนสัตว์ธรรมดาจะมีสปริงน้อยกว่าพู่กันขนใยสังเคราะห์

    3. พู่กันแบน ใช้สำหรับระบายสิ่งโครงสร้างหรือรูปทรงเรขาคณิต รวมทั้งอาคารสถาปัตยกรรมอื่น ๆ พู่กันแบนมักจะใช้
        ขนสัตว์ธรรมชาติ หรือขนใยสังเคราะห์และมีขนาดต่าง ๆ กัน พู่กันทั้งสามลักษณะนี้ ผู้สนใจระบายสีน้ำควรจะเลือก
        พู่กันที่ทำด้วยขนสัตว์ธรรมชาติ เพราะอุ้มน้ำได้ดีกว่าพู่กันที่ทำด้วยขนใยสังเคราะห์ และควรมีทั้ง 3 ชนิด เพื่อใช้
        ระบายตามหน้าที่ของพู่กันนั้น ๆ และจะต้องรู้จักรักษาให้อยู่ในสภาพดีด้วย

จากคุณ : ไทไท
เขียนเมื่อ : 27 ก.ค. 52 20:31:09




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com