Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
TATA YOUNG หญิงไทยผู้โกยเงินเข้าประเทศกว่า 800 ล้านบาท กับอุตสาหกรรมบันเทิงไทย !!!!!!  

คนบันเทิงรับลูก ครีเอทีฟ อีโคโนมี
Source - เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น (Th)
Monday, September 14, 2009  11:01

วงการบันเทิงรับลูก ที่อยู่ๆ รัฐก็โยนมาให้ตูมใหญ่ ในการผลักดันยุทธศาสตร์ครีเอทีฟ อีโคโนมี เรียกให้หรูว่า การพัฒนาศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
         วงการบันเทิงรับลูก ที่อยู่ๆ รัฐก็โยนมาให้ตูมใหญ่ ในการผลักดันยุทธศาสตร์ครีเอทีฟ อีโคโนมี เรียกให้หรูว่า การพัฒนาศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ นำร่องด้วยอุตฯภาพยนตร์-บันเทิง หวังสลัดคราบมือปืนรับจ้าง พูดกันเกินเลยไปถึงการเกิดขึ้นของฟิล์ม สคูล อะคาเดมี แม้จะยังไม่รู้ว่าจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ ตามสไตล์การเมืองไทย
         นัดดา บุรณศิริ นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมบันเทิง ทั้งงานภาพยนตร์และดนตรี ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพราะคนไทยค่อนข้างมีความโดดเด่นด้านนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังขาดระบบการพัฒนาและส่งเสริมที่ดีพอ ต่างกันลิบลับเมื่อเทียบกับเกาหลี


         จะเห็นได้จากการผลักดันศิลปิน นักร้องของไทย สามารถทำเงินได้มหาศาล เฉพาะ "ทาทายัง" คนเดียว สามารถนำเงินตราเข้าประเทศมาแล้วไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึง"ค่า"ของความคิดสร้างสรรค์ว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมายมหาศาลเพียงใด


         “ตอนนี้ค่าแรงของไทยเริ่มสู้กับอีกหลายประเทศไม่ได้ ขณะเดียวกัน เราก็ถูกบีบจากประเทศที่มีเทคโนโลยีที่สูงกว่า ทำให้ไม่มีทางไป หากไม่เริ่มพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาให้กลายเป็นจุดขายของประเทศ"
         เขายังบอกว่า หน่วยงานของรัฐควรจะต้องสื่อสารให้คนโดยทั่วไปรับรู้ตรงกันว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" คืออนาคตของประเทศ ความคิดสร้างสรรค์เป็น "ดีเอ็นเอ" ที่ฝังอยู่ในสายเลือดของคนไทย จะเห็นได้จากการที่คนไทยเข้าไปติดหนึ่งในกลุ่มที่รับรางวัลจากเวทีประกวดผลงาน ทั้งงานภาพยนตร์ และโฆษณา ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในหลายต่อหลายเวที
         อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตผลงาน ก็มักจะต้องต่อสู้กับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหลาย ที่ใช้ความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อจ้องจะก็อปปี้ผลงานไปจำหน่ายอย่างเดียว ยอมรับว่าสิ่งนี้ปั่นทอนกำลังใจของคนที่อยู่ในแวดวงนี้ค่อนข้างมาก
         นอกจากนี้ การที่จะส่งเสริมให้คนในชาติมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น นโยบายต่างๆก็ควรเปิดกว้างทางความคิดในทุกรูปแบบ ไม่จำกัดด้วยพันธนาการจากคณะกรรมการบริหารกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ที่คอยควบคุมการผลิตผลงาน
         การจำกัดกรอบความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าว ทำให้ผลงานจำพวกความรัก อกหัก ชวนกันมาเต้นรำ ถูกเผยแพร่ วนเวียนออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีใครอยากจะคิดนอกกรอบ หรือผลิตผลงานที่สะท้อนสังคมออกมา
         “รัฐควรจะเปิดกว้างด้านความคิดเห็น คิดอย่างไรก็แสดงออกมาทางผลงาน โดยไม่ต้องมาโกรธกัน ต้องช่วยกัน ทำให้คนเกิดความคิดทะลุโลก”
         ด้านกษม อดิศัยปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนธุรกิจเพลง บริษัท GMM Grammy บอกว่า หากมีการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างจริงจังแล้ว เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคตได้มหาศาล ยิ่งถ้านำธุรกิจบันเทิงเข้าไปเสริมกับธุรกิจท่องเที่ยว ที่มองว่าเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของประเทศด้วยแล้ว ยิ่งจะเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น
         "การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศผ่านภาพยนตร์ เพลง จะเป็นช่องทางเสริมการท่องเที่ยว เช่นเดียวกันเกาหลี ขณะเดียวกันก็จะเชื่อมโยงกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทย เพราะการส่งออกสินค้าโดยอิงวัฒนธรรมจะไม่ถูกกีดกันทางการค้าเท่ากับการส่งออกสินค้าไปตรงๆ"
         สมศักดิ์ ทรงธรรมากุล นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย กล่าวถึงกระบวนการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของคนในชาติให้ตะหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาว่า ควรจะต้องสร้างระบบให้คนยอมรับ ซึ่งยังขัดกับสภาพของสังคมไทย ที่คนไม่ค่อยจะเคารพทรัพย์สินทางปัญญา เห็นได้จากการสนับสนุนสินค้าผิดกฎหมายโดยปล่อยให้วางจำหน่ายกันดาษดื่น
         ทำให้โครงสร้างทางการจำหน่ายบิดเบี้ยวไปจากระบบที่ควรจะเป็น คนจำหน่ายสินค้าถูกกฎหมายกลับต้องค่อยปิดตัวเอง เพราะผู้ที่จำหน่ายสินค้าผิดกฎหมายมีต้นทุนต่ำ และยังมีความต้องการสูง เท่ากับสังคมยอมรับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ไปโดยปริยาย
         การยอมรับให้จำหน่ายสินค้าละเมิดกันอย่างกว้างขวาง ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าถูกกฎหมายแข่งขันไม่ได้ และค่อยๆ หายไปจากตลาดเพราะขาดทุน ขณะเดียวกันผู้ที่คิดผลงานสร้างสรรค์ก็ค่อยๆหมดแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานขึ้นมาใหม่ จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีมีผลงานใหม่ทั้งเพลง ภาพยนตร์ลดลงไปถึง 60%
         สะท้อนให้เห็นว่า แม้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นกลับไม่ได้เป็นตัวช่วยให้ผู้ผลิตผลงานทำให้ได้ดีขึ้น ตรงกันข้ามกลับเข้ามาช่วยให้ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้สามารถก็อปปี้ผลงานได้ง่ายขึ้นอีก ซึ่งรัฐควรจะต้องเข้ามาดูแล
         ขณะที่วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท GMM Tai Hub (GTH) เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างจริงจัง ด้วยการตั้งโรงเรียน ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์ที่จะสอนตั้งแต่ การเขียนบทไปจนถึงการถ่ายทำ รวมไปถึงการตั้งหน่วยงานหรือสถาบัน (ฟิล์ม สคูล อะคาเดมี) ขึ้นมาดูแลและส่งเสริมด้านการสร้างผลงานจากความคิดสร้างสรรค์โดยเฉพาะ โดยในระยะแรกภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เมื่อองค์กรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงค่อยๆวางมือ และลดการอุดหนุนลง
         “คนไทยที่ผลิตผลงานจนเก่งขึ้นมาได้ส่วนใหญ่ เกิดจากครูพักลักจำเป็นหลัก บางคนเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมานาน หรือ บางคนไปเทคคอร์สในต่างประเทศในช่วงระยะสั้นๆ ขาดการส่งเสริมที่เป็นระบบเหมือนอย่างเกาหลี ที่ส่งเสริมตั้งแต่การตั้งโรงเรียนผลิตภาพยนตร์ ทำให้ภาพยนตร์จากเกาหลีมีมาตรฐานเกือบทุกเรื่อง แต่สำหรับภาพยนตร์ไทยนานนานครั้งจะมีผลงานที่โดดเด่นขึ้นมาหนึ่งเรื่อง

         ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

 
 

จากคุณ : gazzotata
เขียนเมื่อ : 15 ก.ย. 52 04:00:16




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com