ตกผลึกความคิด The Legend of เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะ มิวสิคัล
|
|
ตกผลึกความคิด The Legend of เร่ขายฝัน เฉลียง เดอะ มิวสิคัล โดย Genmaicha (Akrat)
พ่อคะ หนูอยากมีความสุข พ่อช่วยจับหิ่งห้อยให้หนูได้ไหมคะ
คำพูดไร้เดียงสาที่ออกจากปากเด็กน้อยคนหนึ่ง คาดไม่ถึงว่าจะเป็นต้นกำเนิดของเรื่องราวต่างๆมากมาย ทั้งโศกนาฏกรรม ความรักต่างขั้ว และเมล็ดพันธุ์ความหวังแห่งอนาคต
ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่าสำนวนอาจไม่สละสลวยนักเพราะร้างราการวิจารณ์งานศิลป์มานาน และละครเวทีก็เป็นงานศิลป์ที่ไม่ค่อยได้เข้าไปสัมผัสบ่อยนักเนื่องด้วยงานนี้มีต้นทุนความคิดที่ค่อนข้างสูง ผู้เขียนซึ่งยังถือว่าไม่พ้นช่วงวัยเริ่มทำงานจึงอาจจะเสพงานศิลป์ประเภทนี้ได้ไม่บ่อยนัก ในโอกาสนี้จึงขอเขียนในลักษณะแบ่งปันความคิดที่ได้จากเรื่องน่าจะเหมาะกว่า นอกจากนี้ งานเขียนนี้เขียนขึ้นโดยที่ผู้เขียนยังไม่ได้อ่านงานวิจารณ์ละครเรื่องนี้จากที่อื่นใด จุดประสงค์เพื่อไม่ให้ความประทับใจแรกต่อละครถูกบิดเบือน ดังนั้นมุมมองบางมุมมองอาจจะยังไม่ครบถ้วน ซึ่งผู้เขียนจะยินดียิ่งถ้ามีการตกตะกอนความติดจากผู้ชมเพิ่มเติมต่อกันไปเรื่อยๆ
เรื่องย่อ เรื่องย่อของละครเรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อเกิดไฟดับขึ้นในเมืองตรรกะซึ่งทุกอย่างควรดำเนินไปอย่างมีระบบแบบแผน ทางฝ่ายปกครองของเมืองจึงสืบสาวเรื่องราวและพบว่าสาเหตุที่ไฟดับเกิดจากเด็กล้างจานละทิ้งหน้าที่ไปวาดรูป และผู้ที่แนะนำเด็กล้างจานให้ทำในสิ่งที่ใจอยากทำก็คือชายตาบอด ผู้นำเมืองตรรกะเห็นว่าความคิดของชายตาบอดขัดกับแบบแผนของเมืองอย่างสุดขั้วและอาจจะเป็นภัยกับความมั่นคงของเมือง จึงมอบหมายให้พันหนึ่งเดินทางไปสืบที่ป่าด้านตะวันออกซึ่งคาดว่าเป็นถิ่นฐานเดิมของชายตาบอดผู้นี้
แต่แล้วก็เกิดอุบัติเหตุนอกเหนือการคาดหมาย เครื่องบินของพันหนึ่งต้องบินฝ่าพายุและเสียการควบคุมจนตกลง พันหนึ่งผู้ซึ่งเครื่องบินเสียหายจนใช้การไม่ได้จึงต้องติดอยู่ในเมืองเอกเขนก เมืองซึ่งมีรูปแบบความคิดอีกขั้วหนึ่งของที่เขาคุ้นเคย เมื่อแรกพบ พันหนึ่งมองผู้คนในเมืองนี้ด้วยแววตาอคติ ผู้คนในเมืองนี้ดูเหมือนจะทำอะไรตามใจ ไร้เหตุผล ไร้สาระ ไร้แก่นสาร แต่เมื่อเขาได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของเมืองเอกเขนก มุมมองของพันหนึ่งก็เริ่มเปลี่ยน
จนวันหนึ่งวิทยุสื่อสารของพันหนึ่งเกิดใช้การได้ พิกัดวิทยุได้นำทางกองทัพเมืองตรรกะมารับตัวเขากลับ หลังจากที่พันหนึ่งกลับไปเมืองตรรกะ เขาก็ได้พยายามอธิบายถึงวิถีของชาวเมืองเอกเขนกให้เหล่าผู้นำเมืองตรรกะเข้าใจ แต่ผู้นำเมืองตรรกะกลับมองว่าเขาและเมืองเอกเขนกมีความคิดที่เป็นอันตราย จึงสั่งประหารชีวิตชายตาบอดและสั่งกองกำลังทหารให้ไปทิ้งระเบิดทำลายเมืองเอกเขนกให้ราบคาบ
****************
ละครเพลงเร่ขายฝันถือได้ว่าเป็นงานศิลป์ที่แฝงแง่คิดและสัญลักษณ์ไว้มากมาย ฉากแต่ละฉาก บทละครแต่ละองก์ ถ้าดูแบบเอกเขนกก็สนุกขบขันดี แต่ถ้าคิดตามและคิดต่อ จะพบว่าปรัชญาในบทเพลงเฉลียงได้ถูกถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบต่างๆทั้งโครงเรื่อง บทสนทนา และสัญญะต่างๆ ซึ่งร้อยเรียงเข้าด้วยกันได้อย่างค่อนข้างกลมกลืน หากจะจับทุกประโยค ทุกประเด็นมากล่าวไว้ในที่นี้ เห็นว่าจะยืดเยื้อเกินไป เบื้องต้นนี้จึงกล่าวถึงแนวคิดหลักของละครก่อน
ในฉากการแสดง ฉากเริ่มที่เด็กน้อยสองคนในพิพิธภัณฑ์กำลังเถียงกันเรื่องความถูกต้องของการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ แต่หากจะย้อนหาเหตุผลไปถึงต้นตอของประวัติศาสตร์นี้ (เหมือนที่ผู้นำเมืองตรรกะหาเหตุที่ไฟดับ) จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดคือการที่ พระจันทร์ เด็กผู้หญิงเล็กๆคนหนึ่งร้องขอ เตือนตะวัน พ่อของเธอ ให้ช่วยจับหิ่งห้อยมาให้ที ด้วยความรักลูก พ่อจึงตามหิ่งห้อยจนเกิดอุบัติเหตุสูญหายไปจากเมืองเอกเขนก อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เตือนตะวันกลายเป็นชายตาบอดร่อนเร่ไปจนถึงเมืองตรรกะ ด้วยความแตกต่างอย่างสุดขั้ว ชายตาบอดจึงถูกจับได้ และด้วยการไม่เข้าใจความแตกต่าง บวกกับการปิดตาปิดใจ จึงทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้น
แก้ไขเมื่อ 11 ต.ค. 52 23:02:05
จากคุณ |
:
Akrat
|
เขียนเมื่อ |
:
11 ต.ค. 52 22:51:55
|
|
|
|