 |
ความคิดเห็นที่ 1 |
มองผ่านเลนส์คม - แม่นาคฯ ดรีมบ๊อกซ์ "นันทพร ไวศยะสุวรรณ์"
คมชัดลึก :กลับมาอีกครั้งสำหรับ แม่นาค เดอะ มิวสิคัล ฉบับดรีมบ็อกซ์ รอบนี้แสดงเพียง 2 สัปดาห์ ถ้าพลาดแล้วถือว่าพลาดเลย!
แม่นาค ณ เอ็มเธียเตอร์เจ้านี้ แม้ฉากจะไม่อลังการล้านเจ็ด ไม่ได้มีดาราแม่เหล็กคอยดึงดูด แต่ก็มีดีที่บท และคนละครขนานแท้ หากมิใช่เป็นเพราะการพูดแบบปากต่อปาก ไหนเลยจะมีคนมาดูเต็มทุกรอบ
เพราะแม่นาคฯ ไม่ได้มีภาพจำแค่... เสียงร้องอันโหยหวน...พี่มากขาาา....หรือแขนที่ยาวเฟื้อยล้วงไต้ถุนไปหยิบ ลูกมะนาว หรือฉากพระเอกก้มมองลอดหว่างขาเพื่อพิสูจน์ความจริง ฯลฯ
ทว่า สิ่งสำคัญของเวอร์ชั่นนี้กลับอยู่ที่ "ความเป็นหญิง" ใน "สังคม" ยุคนั้น (หรืออาจเป็นทุกยุคทุกสมัย) เป็น "ตัวตน" ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่ "โจ้" ดารกา วงศ์ศิริ สะท้อนผ่านบทให้เห็นว่าหากผู้หญิงทำงานบ้านไม่เป็น ทำนาไม่ได้ ก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ใช้แรงงาน อย่าง "ควาย" !!
ให้ชอกช้ำใจนัก ...เมื่อ "แม่นาค" ในสายตาของแม่ผัว มีค่าน้อยกว่า "ควาย" ด้วยซ้ำ!! ผู้หญิงหัวอ่อน ลูกสาวคนเดียวของขุนศรีประจันแห่งอยุธยา ที่มีหน้าตาทางสังคม เธอหนีตามผู้ชาย ก็ด้วยเหตุผลเดียวคือ "ความรัก"
ความรักที่ยิ่งใหญ่ ที่ต้องทนให้ได้กับทุกสถานการณ์ เป็น "สีทนได้" ที่ไม่ปริปากบอกแม้แต่สามี เธอจึงถูกจิกด่า ตบตีไม่เว้นแต่ละวัน จนท้ายที่สุด "พ่อมาก" เองที่ต้องแยกครอบครัวออกมา
และ "น้ำมนต์" ธีรนัยน์ ณ หนองคาย ก็เป็น "แม่นาค" อย่างที่บทต้องการ และทำได้ดี โดยเฉพาะเสียงร้อง น้ำเสียงอันเปี่ยมสุข ที่ได้อยู่ใกล้คนรัก... เธอโหยไห้แทบขาดใจยามต้องจากไกล และเมื่อต้องสูญเสียทุกอย่าง เธอก็สำแดงออกมาจากความรู้สึกก้นบึ้งจริงๆ
ดรีมบ๊อกซ์ยังมีผู้กำกับมือดีอย่าง "ลิง" สุวรรณดี จักราวรวุธ ที่เหมือนเกิดมาคู่กับคนเขียนบท จึงกลมกล่อมครบรส
เรื่องนี้ได้ "พ่อมาก" ที่มีรูปร่างสมชายไทยโบราณ "น็อต" วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ และ นอกจาก "ตัวแม่" อย่าง "เอ๋" นรินทร ณ บางช้าง "ครูอ้วน" มณีนุช เสมรสุต "ต๊งเหน่ง" รัดเกล้า อมระดิษฐ์ "เด๋อ" ดอกสะเดา แล้ว ยังต้องพูดถึง ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล หรือ "ปุยฝ้าย" เอเอฟ 4 กับบท "สายหยุด" ที่โดดเด่นเหลือเกิน
แม้จะแค่ "นางรอง" แต่เมื่อใดที่ปรากฏตัวบนเวที เธอสามารถทุบทุกคนให้ตายไปต่อหน้าได้เลย ไม่ว่าอารมณ์รัก โกรธ น้อยใจ อิจฉา เสียสติ ทุกฉากเธอคุมมันอยู่ และแสดงได้ดีเกินคาดจริงๆ
ถ้าอยากดูละครเวทีที่มืออาชีพเขาทำกัน ยังมีรอบวันที่ 11-13 ธันวาคมนี้ ที่เอ็มเธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
จะได้ชม "ของสด" ที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แล้วจะเข้าใจว่า เรื่องยากๆ แต่ทำไมพวกเขายังทำกันอยู่ ถ้าไม่ใช่ "ของจริง" คงเปิดไปนานแล้วล่ะ!!
ที่มา: นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม 2552 http://www.komchadluek.net/detail/20091210/40525/มองผ่านเลนส์คม-แม่นาคฯดรีมบ๊อกซ์.html
แม่นาค เดอะ มิวสิคัล คนร้ายกว่าผี คอลัมน์ - หนึ่ง ธนาธร
อาจจะช้าไปสักนิด แต่ก็ยังดีที่มีโอกาสได้เขียนถึงละครเวทีเรื่อง “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล” ของค่ายดรีมบ็อกซ์ ที่เปิดการแสดง ที่โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ที่ ว่าช้า เป็นเพราะว่าผมพลาดการชมในการเปิดการแสดงครั้งแรก เพิ่งจะได้มาดูในการเปิดการแสดงครั้งล่าสุด แต่ไม่สายแน่สำหรับการเขียนถึง สำหรับหนึ่งในละครเวทีเรื่องเยี่ยมประจำปีนี้
ที่ บอกได้ก็คือ หลังจากที่ผมเคยเขียนวิจารณ์ถึงเรื่อง “คู่กรรม เดอะ มิวสิคัล” ที่ค่อนข้างจะมีข้อบกพร่องในหลายส่วน ทั้งเรื่องการเลือกเรื่อง ที่ไม่เหมาะกับเวทีแสดง (ตอนนั้นแสดงที่โรงภาพยนตร์ที่ เมโทรโปลิส) การเลือกตัวนักแสดง งานด้านฉาก ฯลฯ ที่ทำให้ผลลัพธ์โดยรวม ออกมาไม่น่าประทับใจนัก มาหนนี้ดูเหมือนผู้กำกับ สุวรรณดี จักราวรวุธ จะไปซุ่มฝึกเคล็ดวิชาใหม่ และกลับมาพร้อมวิทยายุทธที่แก่กล้า ส่งผลให้ “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล” ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง
นี่ คือหนึ่งในละครเวทีที่มีบทละครที่ยอดเยี่ยม เรื่องหนึ่งของปีนี้ มีการตีความที่ลึกซึ้ง การวางตัวนักแสดงถือว่า “เป๊ะมาก” เพลงและดนตรี ประกอบเยี่ยมมาก ฉาก แสง สี เสียง รวมทั้งการย้ายมาเปิดการแสดงที่ โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโรงละครเวทีจริงๆ ทำให้ทุกสิ่งอย่างออกมาลงตัวมากมาย
“แม่ นาค เดอะ มิวสิคัล” เวอร์ชั่นของ ดรีมบ็อกซ์ ทำให้ “แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล” เวอร์ชั่นของค่ายเอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ ดูกลายเป็นงาน ตลาดจ๋าไปเลย ไม่ใช่ว่าจะว่าว่า ของใครดีกว่าของใคร เพราะต่างก็มีดีอยู่ในตัวในมุมที่แตกต่าง ต่างมีแนวทางในการนำเสนอที่แตกต่างกัน
“แม่นาคฯ”เอ็กแซ็กท์ฯ ดูตั้งใจทำให้เป็น ความบันเทิงครบรสชาติสไตล์หนัง-ละครไทย นั่นคือ มีครบรสทั้ง รัก โศก ตลก ผี อีโรติก ขณะที่ “แม่นาคฯ” ดรีมบ็อกซ์ ออกมาในรสชาติคลาสสิค เข้มข้นด้วยอารมณ์ดรามา ผ่านการตีความที่ลึกซึ้ง ชนิดที่เรียกได้ว่า น่าจะเป็นการตีความที่ลึกซึ้งที่สุดเท่าที่เรื่อง “แม่นาคพระโขนง” เคยสร้างกันมา
จากที่ “แม่นาค เอ็กแซ็กท์ฯ” ตีความว่าการที่ แม่นาค ต้องพบกับชีวิตรันทด น่าจะเป็นเพราะกรรมในเรื่องที่หนีตามผู้ชายมา “แม่นาค ดรีมบ็อกซ์” ได้ขยี้...ลงลึกไปอีกด้วยเน้นให้เห็นว่า แม่นาค ได้สร้างกรรมโดยที่ไม่ตั้งใจ นั่นคือ การทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจ ที่ลูกสาวหนีตามผู้ชาย ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรงในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะเมื่อแม่ต้องตรอมใจตายเพราะความเสียใจ
บทละครของ ดารกา วงศ์ศิริ ที่ต้องขอบอกว่า นี่คือ ผลงานมาสเตอร์พีซ ที่น่าจดจำของเธอ ได้ฟุ่งเป้าไปที่สำนวนไทยโบราณที่พูดกันว่า “คนร้ายกว่าผี” ให้เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน ผ่านพฤติกรรมของชาวบ้านพระโขนงที่รุมกระทำต่อ แม่นาค โดยเฉพาะแม่ของพ่อมาก , สายหยุด ที่หลงรัก พ่อมาก เป็นตัวละครสำคัญ
แต่ทุกตัวละครหลักต่างก็มี “เหตุผลของการกระทำ” ที่สะท้อนถึง “หัวใจของเรื่อง” ซึ่งก็คือ “การยึดติดในเรื่องของความรัก” แม่เหมือน แม่ของพ่อมากที่รักลูกมาก และทำทุกอย่างเพื่อที่จะเป็น “เจ้าของ” ลูกชายสุดที่รักของตัวเอง, สายหยุด ก็ทำทุกอย่าง เพื่อหวังครอบครองพ่อมาก และ แม่นาค ที่กลายเป็น ผีร้ายแห่งคลองพระโขนง ไม่ยอมไปไหน ก็เพราะยึดติดกับความรักที่มีต่อ พ่อมาก ต่อเมื่อ พ่อมาก แสดงให้เห็นว่าเขารักเธอมากเพียงไร นั่นเองที่ทำให้ แม่นาค ยอม “ปล่อยวาง”
นอกเหนือจากประเด็น “กรรมของแม่นาค” ที่หนีตามผู้ชาย ทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจจนต้องรับกรรมแล้ว “แม่นาคฯ” เวอร์ชั่นนี้ ยังมีมุมที่น่าสนใจคือ ประเด็นเรื่อง แม่กับลูก ที่ถูกนำเสนออย่างค่อนข้างชัดเจน
ขณะที่ แม่นาค เป็น “ลูกที่ทิ้งแม่” จนทำให้แม่เสียใจจนตาย แม่เหมือน ก็รักลูก(พ่อมาก) และทำทุกอย่างเพื่อที่จะเก็บลูกไว้กับตัว ทั้งการกลั่นแกล้ง จนทำให้ แม่นาค ต้องคลอดลูกตายเพียงลำพัง แม้กระทั่ง แม่นาค ตายไปแล้วก็ยังไม่วายใส่ร้ายว่าเธอเป็น “ผีฆาตกร” จนชาวบ้านพากันเกลียดชัง และ แม่นาค ก็เป็น “แม่” ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกของตัวเอง
การนำเสนอภาพที่ทำให้การหลอกหลอนชาวบ้านของแม่นาค อยู่ก้ำกึ่งระหว่างความจริงกับอาการหลอนอันเนื่องมาจากบาปกรรม ที่ตัวละครทำเอาไว้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ สำหรับชะตากรรมของ แม่เหมือน , สายหยุด และ ป้าแก่ หมอตำแย
การขับเน้นให้เห็นว่า การที่แม่นาค พยายามจะหาทางอยู่กับพ่อมาก หลังการเสียชีวิต เป็นการหลบหนีจากโลกความจริงที่โหดร้าย ที่ เธอถูกชาวบ้านพากันตั้งข้อรังเกียจ ด้วยการ “สร้างโลกใหม่” ที่มีเพียง พ่อ-แม่-ลูก ที่ใช้ชีวิตกันเพียงลำพังอย่างมีความสุขเท่านั้น
ฉากที่พ่อมาก รู้ความจริงว่าเธอเป็น “ผี” บ้านของเธอก็พังลงมา จึงแสดงนัยถึงการพยายามสร้างครอบครัวที่ล่มสลายของแม่นาค เป็นหนึ่งในฉากที่ “ซ่อนความหมาย” และน่าจดจำ
เวอร์ชั่นนี้ มีหลายฉากที่ “โดนใจอย่างแรง” ผมชอบการตีความและสร้างคาแรคเตอร์ให้ หมอตำแย กับ สัปเหร่อ ในเรื่องนี้เป็น สามีภรรยากัน ที่ ทำให้เกิดฉากที่ หมอตำแย กับ สัปเหร่อ ถกเถียงกันว่า ใครสำคัญกว่ากันระหว่าง “หมอตำแย” ที่เป็นเหมือน “ผู้ให้กำเนิด” กับ “สัปเหร่อ” ที่เป็นเหมือน “ผู้จัดการความตาย” ซึ่งทั้งสองเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจปฏิเสธ เป็นอีกหนึ่งความลึกซึ้งที่บทละครเวอร์ชั่นนี้จัดให้คุณผู้ชม (ยังมีต่อ)
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ วันพุธที่ 9 ธันวาคม 2552 http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=91&nid=52434
จากคุณ |
:
สเต๊กลูกครึ่ง
|
เขียนเมื่อ |
:
11 ธ.ค. 52 21:14:52
|
|
|
|
 |