 |
ความคิดเห็นที่ 5 |
|
Sibelius: Violin Concerto in Dm Patocka with Emilsson (Live Concert in 2010 Feb, 27th)/ Thailand PO/ College of Music, Mahidol University, Salaya, Nakhonpathom, Thailand
I. Allegro Moderato II. Adagio di Molto III. Allegro, ma non tanto
ผู้เขียนเคยพบนักฟังผู้มีอายุท่านหนึ่งในร้านซีดีอัน (เคย) ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในห้างหรูแถบถนนสุขุมวิท และผู้เขียนชอบที่จะเข้าไปเสียมารยาทยืนฟังนักฟังท่านนี้พูดคุยเรื่องราวของดนตรีแคลสสิคอย่างเป็นกันเองกับพนักงานขายท่านหนึ่งซึ่งมีอัธยาศัยดีมากๆ พอๆ กับหน้าตาอันหล่อเหลาคมคายของเขา...เวลานั้น ทางร้านได้สั่งแผ่นของสังกัด Melodiya อันหาได้ยากยิ่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก แผ่นซีดีหลายแผ่นเป็นงานบันทึกของ David Oistrakh อันต่างกรรมต่างวาระและแผ่นหนึ่งเป็นงานบันทึกไวโอลินคอนแชร์โตของซิเบลิอุสที่มีออยสตราคบรรเลงเดี่ยวร่วมกับ Rozhdestvensky กับวง Moscow Radio SO ในปี 1968 อันมีชื่อเสียง หลังจากที่พนักงานขายกด play ตอนเริ่มต้นที่ออยสตราคบรรเลงเดี่ยวเปิดท่อนแรกของคอนแชร์โต...พลันผู้เขียนก็ได้ยินเสียงไวโอลินอีกคันหนึ่งดังมาจากริมฝีปากของนักฟังผู้อาวุโสท่านนั้นในแบบไม่ผิดเพี้ยนสักโน้ตเดียวล้อไปกับออยสตราคในแผ่นซีดี! หลังจากนั้น นักฟังผู้อาวุโสซึ่งท่านเป็นเพื่อนกับอาจารย์ไขแสง ศุขะวัฒนะก็เปิดเผยความในใจว่า นี่เป็นงาน VC ที่ท่านชื่นชอบเป็นการส่วนตัวมากที่สุด...
ผู้เขียนเพียงอยากเล่าเรื่องราวดังกล่าวให้คุณผู้อ่านฟัง ไม่ใช่เพราะผู้เขียนอยากจะไบแอสว่า VC บทนี้นั้น ไพเราะยิ่งใหญ่จนกระทั่งมีผู้คนที่อยู่ห่างจากฟินแลนด์นับหมื่นๆ ไมล์และอยู่ห่างจากห้วงเวลาที่ประพันธ์นับร้อยปี จะสามารถฮัมทำนองได้โดยไม่ผิดเพี้ยน! แต่เหตุผลที่ผู้เขียนเฉไฉเล่าไปก็เพราะเวลาผู้เขียนฟัง VC บทนี้ทีไร ผู้เขียนจะนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นทุกที และจะใช้เป็นเครื่องเตือนความจำของผู้เขียนสำหรับความยิ่งใหญ่ของเดวิด ออยสตราคที่มีต่องานของซิเบลิอุสอีกด้วย...
คุณผู้อ่านคงทราบกันอยู่แล้วว่า งานดนตรีของซิเบลิอุสในช่วงแรกๆ ก่อนยุคหลังโรแมนติค (ค.ศ. 1890-1920) มีอัตลักษณ์ผูกพันอยู่กับ... หนึ่ง ความเป็นส่วนตัวของซิเบลิอุสเอง สอง มุมมองที่มีต่อธรรมชาติในแดนดินถิ่นเกิดของเขา สาม เรื่องราวในเทพนิยายปรัมปราของยุโรปเหนือ สี่ ดนตรีเต้นรำพื้นบ้านของฟินแลนด์ ห้า อิทธิพลจากดุริยกวีในยุคโรแมนติค และ หก อัตตาหรือ Egoism ของเขา ซึ่งข้อนี้ ผู้เขียนขอกล่าวไว้โดยเด็ดขาดว่า ปรากฏชัด เฉพาะในงาน VC ชิ้นนี้นี่เอง!
ลักษณะเอกเอกาและทอดถอนใจในห้วงสนธยากาล เป็นลักษณะความเป็นส่วนตัวของซิเบลิอุส ซึ่งเราพบเห็นผ่านท่วงทำนองในซิมโฟนีของเขาอย่างน้อยสามเบอร์ คือ เบอร์ 1, 2 และเด่นชัดยิ่งในกระบวนที่ I ของเบอร์ 4 และแน่นอนว่า ของ VC ในกระบวนที่ I และ II ก็มีอิทธิพลของท่วงทำนองลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่วงทำนองการตัดพ้อระคนเจ็บปวด ซึ่งบางคราแฝงความเก็บงำความรู้สึกโหยหา ต่างก็คลาคล่ำ ครวญคราง ไปตลอดห้วงการบรรเลงเดี่ยวภายในกระบวนแรกของ VC นี้ และความรู้สึกสงบระคนหดหู่ก็ปรากฏชัดในกระบวนที่ II
มุมมองที่มีต่อธรรมชาติของซิเบลิอุส มักผูกพันอยู่กับความงามของทะเลสาบ ป่าสน และสายลมหนาว ซึ่งผู้เขียนขอเน้นย้ำว่า มักจะเกิดขึ้นในยามบ่ายคล้อยถึงเย็นในห้วงเวลาที่ท้องฟ้ามีสีส้มช้ำ...สิ่งเหล่านั้น ส่งผลให้เกิด Sibelian sound ที่มีเสียงเครื่องสายหวือไหวแบบโอนเอน แผ่วโผย สอดผสานกับเครื่องลมไม้ที่หวีดหวือ หวู่หวิว ประหนึ่งเสียงลมปะทะยอดสนสูง, เครื่องลมทองเหลืองที่แผดปร่าแต่หน่วงลึกเสมือนท้าทายต่อความเงียบงันที่ลึกลับ และเครื่องเพอร์คัชชันที่ป่าเถื่อนไร้ซึ่งการประนีประนอม! สิ่งเหล่านี้ ปรากฏโดยการสัมผัสอย่างผะแผ่วในหลายห้วงการบรรเลงเดี่ยวของไวโอลินใน VC ของเขา เสมือนหนึ่งล้อเลียนท่วงทำนองที่เคยปรากฏในซิมโฟนีหมายเลขหนึ่งในกระบวนที่ I และ II
และเสียงการบรรเลงเดี่ยวไวโอลินของการเริ่มกระบวนที่ III นี่เอง ที่ทำให้เราระลึกถึงกระบวนสุดท้ายของ VC ของ Beethoven เรื่อยมาถึง Mendelssohn, Brahms, Bruch และแม้กระทั่ง Schumann แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เสียงไวโอลินที่จงใจทำให้เฉเพี้ยนไปแบบเหน่อๆ ผสานกับลักษณะการเต้นรำอย่างพร้อมเพรียงของกลุ่มเครื่องสายในวงที่ทะมัดทะแมง กระทั่งกลเม็ดของการคุยกันระหว่างวงดุริยางค์กับเครื่องไวโอลินที่บรรเลงเดี่ยว ส่งผลทำให้ VC ชิ้นนี้ของซิเบลิอุสโดดเด่นไปด้วยอัตลักษณ์ของดนตรีเต้นรำพื้นถิ่นของชาวฟินแลนด์และไม่น่าเบื่อไปด้วยลักษณะการหาทำนองลงแบบไม่ไปไหนสักทีอย่าง สิ้นคิด ของบรุคกับชูมานน์ในแบบ Viennese romantic ก่อนหน้า...ผู้เขียนคงต้องกล่าวว่า หากคุณผู้อ่านสามารถจับสัญญาณการจบลงของ VC ชิ้นนี้ของซิเบลิอุสจากวงดนตรีที่บรรเลงได้มาตรฐานสูง คุณผู้อ่านจะต้องรู้สึกชื่นชมอัจฉริยภาพเชิงจินตกวีแบบบ้านนอกในแบบของซิเบลิอุสอย่างชื่นชมโสมนัสเป็นแน่...
ผู้เขียนคงต้องสรุปรวบยอดว่า ด้วยเหตุแห่งอัตตาของซิเบลิอุสที่ผยองตัวว่าเป็นนักไวโอลินในระดับ Virtuosic อยู่ด้วยนี่เอง ส่งผลให้ VC บทนี้ของเขาโดดเด่นอยู่ด้วย Virtuositic และ Egoism ของผู้บรรเลงเดี่ยวไวโอลินอยู่มาก ตลอดทั่วทั้งสามกระบวนของ VC บทนี้ เราจะพบเห็นลีลาและลวดลายของผู้บรรเลงเดี่ยวแผ่ปกคลุมอยู่อย่างไม่รู้วาง...ส่งผลให้ตัวผู้เขียน ผู้ที่เคยตกหลุมรักสีสันแห่งเสียงแบบ Sibelian ที่ผ่านการบรรเลงโดยออเคสตราทั้งวงต้องถึงกับเสียดายเสียงที่บ่งชี้ศักยภาพทั้งวงอยู่มากทีเดียว...
และถึงแม้เราจะได้ภาพเขียนภูมิทัศน์แห่งฟินแลนด์ผ่านอัตลักษณ์เฉกเช่นหนึ่งถึงสี่ แต่ผู้เขียนคงไม่ต้องเกรงใจที่จะกล่าวว่า ฝีแปรงแบบ Sibelian sound บนผืนผ้าใบของซิเบลิอุสนั้น ใช้วัตถุดิบจากดุริยกวีในยุคโรแมนติคหลายต่อหลายท่าน อย่างน้อย สีที่ได้ก็ผลิตมาจากโรงงานของ Tchaikovsky, แปรงและพูกันก็มาจากโรงหัตถกรรมของ Borodin และ จานสีก็มาจากร้านของ Bruckner...ผู้เขียนกำลังจะบอกว่า ดุริยกวีทั้งสามท่านมีอิทธิพลต่องานของซิเบลิอุสในยุค 1890-1920 อย่างชัดเจน และเราต้องยอมรับโดยดุษณีว่า ทั้งสามท่านยิ่งใหญ่และมีเงื้อมเงาปกคลุม Orchestration ของ Sibelian sound อยู่ด้วยจริงๆ
ปัญหาของผู้เขียนคือ ผู้เขียนเสียดายศักยภาพของวงดุริยางค์สำหรับงาน VC ของซิเบลิอุสชิ้นนี้...และก็ให้รู้สึกน้อยใจแทนซิเบลิอุสที่มักจะมีคนเปรียบเทียบงานของเขากับ VC ของไชคอฟสกีอันฟูมฟาย ร้อนแรง และปั่นป่วนอยู่เสมอ.....คุณผู้อ่านคิดเห็นว่ายังไงบ้างครับ? อิอิ
.
แก้ไขเมื่อ 09 มี.ค. 53 20:15:11
จากคุณ |
:
St@rGazer
|
เขียนเมื่อ |
:
9 มี.ค. 53 20:12:07
|
|
|
|
 |