 |
ความคิดเห็นที่ 5 |
ผมต้องขอขอบคุณในความคิดเห็นจากพี่ชายผู้ใจดีของผมข้างบนนี้ด้วยนะครับ...รู้สึกอบอุ่นดีจริงๆ :-) แต่ถึงกระนั้น ผมก็หวังว่า คุณผู้อ่านคงจะยังติดตามอ่านกันอยู่เนาะ? ผมก็กลัวผีหลอกเหมือนกันน๊า อิอิ...
หลายปีมาแล้ว ผมเคยไปยืน แอบ อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ใกล้ๆ กับเจ้าหน้าที่สาวสวยซึ่งกำลังหาข้อมูลให้ลูกค้าด้วยความกระตือรือร้นจากจอคอมพิวเตอร์ น่าเสียดายที่ผมจำชื่อหนังสือและผู้แต่งไม่ได้ หากแต่จำได้แต่ชื่อกับใบหน้าของ จนท.สาวสวยผู้นั้น (กล้าเล่าเนาะ HA HA :-p) คลับคลาว่า เป็นข้อเขียนของศาสตราจารย์เจตนา นาควัชระ ท่านพูดถึงบทความของนักวิจารณ์ดนตรีนิรนามที่อ้างว่า The Beatles เป็นวงดนตรีที่ประพันธ์เพลง (Songs) (ที่มีความยาวไม่เกินสามนาที) ได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนับตั้งแต่ชูเบิร์ต! ถึงกระนั้น อาจารย์เจตนา ท่านก็ไม่ได้ให้ความเห็นอะไรเพิ่มเติม นัยว่าผู้อ่านคงเข้าใจความหมายของประโยคที่กล่าวโดยนักวิจารณ์ดนตรีนิรนามท่านนั้นอยู่แล้ว...
ปล. วงเล็บที่ขยายความว่า ที่มีความยาวไม่เกินสามนาที เพิ่มเข้าไปโดยตัวผมเอง เพื่อเน้นให้เห็นอัตลักษณ์จากเพลงของเดอะ บีตเทิลส์ ชัดๆ น่ะครับ...
ต่อมาไม่นาน มีท่านสมาชิกในห้อง Rock and Roll แห่งบอร์ดพันทิปได้พูดถึงเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของ เดอะ บีตเทิลส์ และได้อ้างถึง Quote ข้างต้นด้วย ตอนนั้น ผมรู้สึกน้อยใจแทน Johannes Brahms แห่งมหานครเวียนนา ก็เลยพยายามเอาบราห์มส์ ผู้ซึ่งประพันธ์ Lied ไว้มากกว่า 200 ชิ้น เข้าขวางกระแสแห่งเวลาระหว่างชูเบิร์ตกับเดอะ บีตเทิลส์ ด้วยหวังว่า ผู้อ่านขณะนั้น ไม่ควรจะหลงลมไปกับโควทของนักวิจารณ์นิรนามโดยแสร้งละเลยความยิ่งใหญ่ของบราห์มส์ไปเสีย เพราะหากเราเปรียบว่างานสเกลใหญ่ๆ ของบราห์มส์นั้นมีคุณค่าและถือเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ของโลก (เช่น ซิมโฟนี และ คอนแชร์โต) เป็นอวัยวะใดๆ ของร่างกายแล้ว...ลีดของบราห์มส์ก็เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงแทรกซึมเป็นองค์ประกอบย่อยแห่งอวัยวะชิ้นนั้นๆ นั่นเอง ดังนั้น การที่เราจะยกย่องเพลงของเดอะ บีตเทิลส์ เสมอสิ้นไปกับลีดของชูเบิร์ตที่มีมากกว่า 600 ชิ้นอย่างกล้าหาญ เราก็ไม่ควรที่จะอายที่จะยกเอาลีดของบราห์มส์มาพิจารณาร่วมด้วยเฉกเช่นกัน...
โมเมนตัมแห่งความรู้สึกน้อยใจแทนบราห์มส์ในเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน ได้เปลี่ยนย้ายไปที่ชูเบิร์ตโดยบัดดล เมื่อผมได้อ่าน Program-notes สำหรับ Brahms: Symphony No. 1 in C minor ซึ่งเขียนโดยของ Mr. Harry Rolnick สำหรับสูจิบัตรในงานคอนเสิร์ต BSO ของวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา (ดังกล่าวไว้ในกระทู้ C9064170 และ C9067644 ด้านล่าง)
คุณรอลนิคได้เขียนไว้ว่า Yes, this (หมายความถึง ซิมโฟนีเบอร์หนึ่งของบราห์มส์) was a homage to Beethoven, whose reputation Brahms both loved and hated. In fact he refused to name his first two major orchestral works at all, and instead called them Serenades. You dont know what it is, he said, to feel the tramp of a giant like him (Beethoven) behind us. et al
ผมยอมรับว่า ความรู้สึกและคำพูดของบราห์มส์ที่มีต่อเบโธเฟน ที่คุณรอลนิค (และผู้สันทัดกรณีหลายต่อหลายท่าน) ได้ยกมา ถือเป็นสิ่งที่จะต้องกล่าวถึงอยู่เสมอ เมื่อเราจะพิจารณาคุณค่าของซิมโฟนีหมายเลขหนึ่งของบราห์มส์ และเราต้องยอมรับโดยดุษณีถึงเรื่องราวอันเกี่ยวพันดังกล่าว แต่สิ่งที่ยังคงเป็นหนามรบกวนใจผมอยู่ก็คือ...
ทำไมบราห์มส์ในห้วงแห่งการประพันธ์ซิมโฟนีชิ้นแรกของเขาที่วนเวียนอยู่ในร้านกินดื่มในมหานครเวียนนาในช่วง 1862-67 ไยจึงไม่กล่าวถึงชูเบิร์ตที่เคยเวียนวนอยู่ในร้านกาแฟแลหนังสือในมหานครเวียนนาในช่วง 1822-28 เลยแม้แต่น้อย?
.
จากคุณ |
:
St@rGazer
|
เขียนเมื่อ |
:
3 พ.ค. 53 21:50:45
|
|
|
|
 |