 |
ความคิดเห็นที่ 5 |
Joaquin Rodrigo (1901-99): Concierto de Aranjuez -- Trapaga with Suphanrojn (Live Concert in 2010 Jun, 19th)/ Thailand PO/ MACM Hall, College of Music, Mahidol University, Salaya, Nakhonpathom, Thailand
I Allegro con Spirito II Adagio III Allegro Gentile
นอกกว่าที่ผู้เขียนติดภารกิจจากงานประจำหรือต้องด้วยงานพิเศษอย่างใดแล้ว ผู้เขียนยอมรับตามตรงว่า ในหลายครั้ง ผู้เขียนไม่รู้จะเริ่มต้นกล่าวถึงงานแลการแสดงการบรรเลงอย่างไรดี (HA HA) เนื่องจากผู้เขียนไม่เคยพล็อตเรื่องเล่าไว้ในใจอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หากนึกจะเขียนอะไรก็เขียนเรื่อยเปื่อยไปตามแต่ที่นึกได้และเห็นควรว่าจะเขียน แลบางครั้ง สภาพจิตใจของผู้เขียนก็มีผลต่อตัวหนังสืออันแสดงออกถึงความเลื่อนเปื้อนของตัวผู้เขียนอยู่ด้วย...ผู้เขียนออกตัวไว้อย่างนี้ ก็เพียงขอร้องคุณผู้อ่านอย่าได้ถือสาหาความผู้เขียนเลยน๊า...
กล่าวสำหรับ คอนซิเอร์โต เอ อารันฆูเอส ซึ่งผู้เขียนจะขอเรียกย่อๆ ว่า CA แล้ว... ผู้เขียนขอสารภาพว่า ตกหลุมรักงานกีตาร์คอนแชร์โตของรอดดริโก (หรือโรดริโก) ชิ้นนี้ตั้งแต่แรกฟัง... ว่ากันตามประสาแล้ว เครื่องดนตรีพวกกีตาร์ก็เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกๆ ที่ผู้เขียนหลงใหลในน้ำเสียงมาตั้งแต่เด็กๆ และเมื่อผู้เขียนรู้จักงานชิ้นนี้ โดยเฉพาะเมื่อถึงกระบวนที่ II ผู้เขียนจะตกอยู่ในห้วง Nostalgia ทุกครั้งไป... ความรู้สึกของผู้เขียนจะจ่อมจมแลดิ่งลึกลงไปถึงความทรงจำที่บ่งบอกความผูกพันครั้งหนึ่งระหว่างตัวผู้เขียนในวัยเด็กกับพ่อของผู้เขียน... นี่เป็นประสบการณ์ทางดนตรีของตัวผู้เขียนที่ไม่สามารถจะอธิบายได้ว่า กระบวนช้าของ CA ที่ถูกประพันธ์ขึ้นมาในห้วงปี 1930-40 ของดุริยกวีชาวสเปนผู้ซึ่งอยู่ห่างไกลในเวลาถึงห้าทศวรรษแลห่างไกลในสถานที่ร่วมห้าพันไมล์กับตัวผู้เขียน จึงสามารถกระตุกห้วงนอสแตลเจียหรืออดีตอันแสนหวานในวัยเยาว์ของผู้เขียนกับพ่อของผู้เขียนได้? ทั้งๆ ที่ช่วงเวลานั้น ผู้เขียนเติบโตมากับเพลงปลุกใจของคณะสุนทราภรณ์, เพลงลูกทุ่ง แลเพลงป็อปตามสมัยนิยมที่เปิดจากสถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ และเพลงเหล่านั้น ก็ผ่านหูผู้เขียนในวัยเด็กไปตามประสา...
ผู้เขียนยินดีที่จะเก็บความพิศวงนั้นไว้กับตัวผู้เขียนประหนึ่งสมบัติอันหาค่ามิได้ โดยไม่เคยเพียรหาคำตอบ... คุณผู้อ่านเอง ก็คงจะเคยมีประสบการณ์อันน่าทึ่งดังกล่าวสำหรับงานดนตรีชิ้นหนึ่งชิ้นใดมาอยู่บ้างใช่ไหม? เก็บมันไว้ในความพิศวงเถิด แลอย่าหาคำตอบให้กับตัวเองเลยน๊า...
คุณผู้อ่านจะเห็นว่า CA หรือแปลในแบบทื่อๆ ว่า ดนตรีประชันสำหรับเอรันฆูเอสสถาน (บางแห่งจะออกเสียงว่า อารันเวซ แต่ผู้เขียนจะขออิงจากสูจิบัตรของ TPO เป็นสำคัญ) นั้น ชื่อเอรันฆูเอสจะพ้องไปด้วยนามพระราชวังฤดูร้อนแห่งหนึ่งของสเปน และเมื่อเราจะกล่าวถึง CA ชิ้นนี้แล้ว ก็เห็นจะต้องกล่าวถึงแรงบันดาลใจของโรดริโกไว้ด้วยว่า CA evokes a vast array of colorful imagery and feelings. Being a history lover, especially Spanish history, when I created this concerto I had in mind the courts of Charles IV, a Bourbon king of 18th-century Spain, whose summer residence was the palace of Aranjuez. ทั้งนี้ Program-notes ในสูจิบัตรสำหรับการแสดง CA ของ TPO ในวันนั้น (ซึ่งเขียนได้ดีมาก) ได้ระบุถึงแรงบันดาลใจของโรดริโกไว้เพิ่มเติมโดยละเอียดว่า On the whole, the concerto as capturing the gardens fragrance of magnolias, the singing of birds, and the gushing of fountains. แน่ละ เมื่อคุณผู้อ่านได้เห็นเจตจำนงของดุริยกวีผู้ประพันธ์ ผู้ซึ่งประหนึ่งนฤมิตสีสันแห่งดนตรีของเขาแทนภูมิภาพและความรู้สึกของความรักในประวัติศาสตร์ของสเปนแห่งตนผ่านความภูมิใจในสิ่งปลูกสร้างอันโอ่อ่าโอฬาริกแห่งพระราชวังฤดูร้อนในยุคโรโคโคของมหากษัตริย์ในห้วงคริสตศตวรรษที่ 18 โดยใช้กลิ่นหอมของดอกแมกโนเลีย เสียงเพลงของหมู่นก แลสายน้ำที่พวยพุ่งจากน้ำพุ ในราชอุทยานแห่งพระราชวังเอรันฆูเอสเป็นองค์คติแห่งคอนแชร์โตชิ้นนี้แล้ว ก็ย่อมต้องตั้งมโนคติแลมโนสำนึกของพวกเราให้เดินทางกว่าห้าพันไมล์ไปยังเอรันฆูเอสสถานแห่งมาดริด ประเทศสเปนในรัชสมัยแห่งราชวงศ์บอร์บอนเสียก่อน...จินตนาการของพวกเราจึ่งจะสอดคล้องกับเจตคติของดุริยกวีผู้ประพันธ์!
แต่กระนั้น ในความเป็น Picturesque ของ CA นั้น อาจจะสร้างความกว้างไกลในจินตภาพแลจินตนาการของผู้ฟังอยู่อย่างไม่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณผู้อ่านระลึกไปถึงเครื่องดนตรีเดี่ยวในงานชิ้นนี้แล้ว เห็นทีว่า ความเป็นสแปนิชของโรดริโกคงไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่ด้วยประวัติศาสตร์อันว่าด้วยความสง่างามในแบบกษัตริยานุภาพในอารันฆูเอสสถานแต่เพียงถ่ายเดียวเสียแล้ว... เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าความเป็น Gypsy ในเครื่องดนตรีประเภทกีตาร์อันหมายถึงความโดดเดี่ยว การเดินทาง การเร่ร่อน แลความเวิ้งว้างแห่งจุดหมาย ถูกแสดงตัวตนในท่ามกลางราชอุทยานอันโอ่อ่าสง่างาม แลสดชื่นไปด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์อยู่ด้วย? ...ช่างน่าสนใจจริงๆ เนาะ :-)
ผู้เขียนเคยรู้สึกเมื่อฟัง CA ในบางครั้งว่า งานชิ้นนี้ของโรดริโกอยู่ในลักษณาการ Picturesque-music นั่นคือ ถึงแม้ว่า เจตจำนงของดุริยกวีจะให้ความกระจ่างชัดอยู่ด้วยความงามในราชอุทยานแห่งอารันฆูเอสสถาน แต่โรดริโกเองก็ไม่เคยบอกว่า CA ของเขาเป็น Program-music
ถึงกระนั้น จนเมื่อผู้เขียนได้รู้จักกับงานจิตรกรรมของ Santiago Rusinol (1861-1931) จิตรกรชาวบาร์เซโลนา ผู้ซึ่งอุทิศส่วนหนึ่งของชีวิตการเป็นจิตรกรของเขาให้กับภาพทิวทัศน์แลภูมิภาพของราชอุทยานดังกล่าวนั่นเอง ผู้เขียนจึงอาจจะกระจ่างชัดขึ้นว่า สีสันแลเงาแดด อันบ่งบอกถึงความสดชื่น ความอึมครึม ความสงบเย็น ความเงียบเหงา อันมีแตกต่างกันในแต่ละภาพของอารันฆูเอสจาก Rusinol นั้น ได้สะท้อนเป็น CA ของโรดริโกได้ในอีกทางหนึ่งด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ผู้เขียนจะเชื่อถือเจตคติของโรดริโก แลชื่นชมภาพจิตรกรรมของ Rusinol ว่าด้วยอารันฆูเอส แต่ผู้เขียนมักจะตกอยู่ในสภาวะนอสแตลเจียอยู่เสมอกับ CA จนบางครั้ง ผู้เขียนต้องย้อนกลับมาคิดว่า ราชอุทยานแห่งอารันฆูเอสสถานของโรดริโกคงจะไม่ได้สถิตเสถียรอยู่ ณ ประเทศสเปนเสียแล้ว... บางทีความเป็นยิปซีของเสียงกีตาร์ใน CA อาจจะเดินทางมาไกลถึงจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือเมื่อเกือบสามสิบปีก่อนด้วยละกระมัง...
.
Jardin de Aranjuez (1907) by Santiago Rusinol
จากคุณ |
:
St@rGazer
|
เขียนเมื่อ |
:
25 มิ.ย. 53 20:44:15
|
|
|
|
 |