 |
ความคิดเห็นที่ 6 |
Schumann: Overture to "Manfred", Op. 115 (1848) -- Villaret (Live Concert in 2010, Jun 26th)/ Thailand PO/ MACM Hall, College of Music, Mahidol University, Salaya, Nakhonpathom, Thailand
ในความเป็นจริง แมนเฟร็ด ของชูมันน์นั้น ประกอบไปด้วยบทที่ใช้ในการบรรเลงสำหรับวงดุริยางค์ในรูปแบบของ Symphonic Poem หรือ ดนตรีสลับฉาก (Incidental music) อันมีความยาวมากกว่า 50 นาที (ซึ่งผู้เขียนเองก็อยากจะอธิบายถึงความแตกต่างของคำว่า ซิมโฟนิกโพเอ็ม-คติ กับคำว่า ดนตรีสลับฉาก-คติ อยู่เหมือนกัน แต่ก็หักใจไม่เขียน เพราะเกรงจะเยิ่นเย้อเกินไปอีก) แต่สำหรับบทโหมโรงแมนเฟร็ดหรือ MO ซึ่งมีความยาวราว 10 นาทีนี้ ชูมันน์ได้นำไปใช้สำหรับการแสดงอุปรากรของเขาในเรื่อง Genoveva อยู่ด้วย และถือกันว่าเป็นบทโหมโรงของชูมันน์ที่มีชื่อเสียงอยู่ด้วยเหมือนกัน...
เราจะต้องระลึกไว้เสียแต่ขณะนี้ว่า ชูมันน์เป็นดุริยกวีที่จงรักสมัครจิตอยู่ด้วยบทกวีแลงานเขียนเชิงสะเทือนอารมณ์ของนักเขียนและกวีในยุคนั้นเป็นอย่างมาก เขาไม่ลังเลที่จะสะท้อนงานวรรณศิลป์ที่เขารักแลหลงใหลให้พรูพรั่งถั่งท้นออกมาเป็นสังคีตศิลป์เชิงเพลงร้องอันเคล้าคลออยู่กับเปียโนอย่างมากมาย แม้กระทั่งงานซึ่งไม่มีบทร้อง อาทิ งานเดี่ยวเปียโนของเขา ก็ยังคงได้อิทธิพลมาจากความซาบซึ้งในบทโคลงกลอนแลลำนำกวีจากมหากวีในยุคนั้นอยู่ด้วยเช่นกัน...
นั่นคือ ชูมันน์ประพันธ์แมนเฟร็ดจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจากกวีนิพนธ์แนวสะท้านสะเทือนใจแลมีองค์ประกอบเหนือธรรมชาติเรื่อง Manfred ของ George Gordon Byron (1788-1824) นักเขียนจินตนิยายชาวอังกฤษ ซึ่งหากเป็นดนตรีสลับฉากจะมีความยาวถึงเกือบ 50 นาที แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมนัก ผิดกับในรูปแบบของ MO ดังที่ TPO ของวิลลาเรต์ได้บรรเลงไป นอกจากนี้ กวีนิพนธ์เรื่องดังกล่าวยังส่งแรงบันดาลใจไปให้ Tchaikovsky ได้ประพันธ์ในรูปแบบซิมโฟนีในเวลาต่อมา แลมีชื่อเสียงกว่าชูมันน์อีกด้วย...
แมนเฟร็ดเป็นเรื่องราวของคนหนุ่มที่มีชีวิตหลงผิดคล้ายคลึงกับ Faust ของมหากวี Goethe แต่เรื่องราวการผจญภัยของแมนเฟร็ดเกิดขึ้นที่ Bernese Alps แถบเทือกเขาแอลป์ในยุคหนึ่ง... แมนเฟร็ดหลงใหลในอำนาจลึกลับเหนือมนุษย์ที่เขาบังเอิญได้มันมาแลสามารถจะใช้อย่างระเริงใจ แต่ต่อมาอำนาจนั้นกลับเพิ่มพูนความร้ายกาจเสียจนควบคุมไม่ได้แลครอบงำเขาเสียจนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี แต่ท้ายที่สุด แมนเฟร็ดก็ถึงแก่ความตายด้วยความกล้าหาญ เขาท้าทายแลไม่ยี่หระต่ออำนาจอันร้ายกาจด้วยการเลือกที่จะตายแทนที่จะยอมให้วิญญาณชั่วร้ายมีพลังอำนาจสูงขึ้นและครอบงำเขาต่อไปได้อีก เขากล่าวในตอนท้ายกับนักบวชท่านหนึ่งว่า Old man! It is not so difficult to die
MO ของชูมันน์ออกจะแตกต่างกับบทโหมโรงสำหรับดนตรีในยุคต้นโรแมนติคอื่นใดอยู่บ้างหากจะพิจารณาสีสันแห่งเสียง เพราะ MO ของชูมันน์จะมีท่วงทำนองอันครึ้มหม่นแลเดินจังหวะที่เนิบช้าเสียเป็นส่วนใหญ่ บางช่วงจะมีคีตวลีอันบรรเลงโหยโหนชวนให้ขนลุก หากจะมีเสียงอันแสดงลักษณาการนินนาทอยู่บ้าง ก็เป็นเพียง Dramatic อันชั่วครู่ชั่วขณะเท่านั้น บางขณะทั้งวงจะนิ่งเงียบสนิทประหนึ่งอาการเงียบงำ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ MO ชิ้นนี้จบลงอย่างอึมครึม ผะแผ่ว ชวนให้หดหู่นัก เปรียบได้กับการลาจากกันไปชั่วนิจนิรันดร์ของแมนเฟร็ดผู้กล้าหาญ...
วิลลาเรต์กับ TPO บรรเลง MO ได้มั่นคงแลนิ่งเป็นรถไฟสายเหนือยามลอดอุโมงค์ขุนตานช่วงเวลาเช้ามืด (อะไรกันเนี่ย! HA HA) ที่แน่ๆ คือ ผู้เขียนชอบการเคลื่อนพลวัตหรือความหนักเบาของเสียงที่วิลลาเลต์ประณีตบรรจงอยู่ด้วย แม้อาจจะคิดว่า บางคีตวลีจะห้วนแลจางหายเร็วไปหน่อยก็ตาม ถึงกระนั้น ความโปร่งใสบางเบาในแบบที่ผู้เขียนเคยเจอจนคุ้นชินกับวิลลาเรต์ที่ผ่านมาอาจจะทำให้ความลึกลับเร้นหลอนในงานชิ้นนี้บางเบาในอารมณ์ฟังไปบ้าง แต่การจบลงของ MO จาก TPO ในวันนั้น ก็ทำให้ผู้เขียนหายใจได้ไม่ทั่วท้องจนอึดอัดสมใจผู้เขียนอยู่เหมือนกัน (นี่เป็นคำชมน๊า...ผู้ฟังบทโหมโรงแมนเฟร็ดจะต้องรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ)
ท้ายสุดนี้ คุณผู้อ่านอาจจะหาฟัง MO ได้อย่างครึกครื้นในยูทูบ แลผู้เขียนควรจะต้องกล่าวไว้ในที่นี้ว่า คุณผู้อ่านท่านใดที่เคยอภิรมย์ในดนตรีของชูมันน์ในรสอ่อนละมุนวาบหวามมาก่อน อาจจะต้องขนลุกกึ่งสงสัยไปกับคีตวลีบางวรรคตอนใน MO ชิ้นนี้อยู่บ้าง อย่างน้อย คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยใน สภาพจิต ของชูมันน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย แลคุณผู้อ่านท่านใดที่เคยปรามาสหรือดูเบาดนตรีของชูมันน์เมื่อเปรียบเทียบกับดุริยางควิวัฒน์ในกาลต่อมาของบราห์มส์มาก่อน ก็อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ก็ได้...
ผู้เขียนขอจบความคิดเห็นนี้ด้วยการแสดงภาพจิตรกรรมชื่อ Manfred and the Alpine Witch ของจิตรกร John Martin (1789-1854) ชาวอังกฤษ ซึ่งบ่งชี้คติโรแมนติคเหนือจริงอันอิงแอบกับกวีนิพนธ์ของลอร์ดไบรอนอย่างชัดเจน อย่างน้อย เราอาจจะระลึกถึงฉากหนึ่งในจินตนิยายเรื่อง Manfred ได้ไม่มากก็น้อย...
Enjoy n~a
^__________^
จากคุณ |
:
St@rGazer
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ก.ค. 53 20:43:15
|
|
|
|
 |