 |
ความคิดเห็นที่ 24 |
20 ข่าวจากช่อง 7 นาที่ที่ 7.95 ค่ะ
http://www.ch7.com/news/news_royal_detail.aspx?c=1&p=1&d=101924
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
วันนี้เวลา 8.42 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปราสาทสด๊กก๊อกธม ที่อำเภอโคกสูงจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ เมื่อปี 2478 และได้ดำเนินการบูรณะมาตั้งแต่ปี 2539 เนื่องจากก่อสร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ตามหลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม พบว่า พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 ได้พระราชทานที่ดิน และคนในการสร้างปราสาทถวายแด่พราหมณ์สทาศิวะผู้เป็นพระอาจารย์ โดยปราสาทสด๊กก๊อกธม หมายถึง บึงต้นกกใหญ่ มีเนื้อที่ 641 ไร่เศษ ตัวปราสาทก่อสร้างด้วยหินทราย ศิลาแลง หันไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ศิลปะการก่อสร้างแบบคลัง-บาปวน มีส่วนประกอบสำคัญคือตัวปราสาท และบาราย หรือสระน้ำ ด้านนอกปราสาทเป็นกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง มีทางเข้าออก 2 ทาง มีปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลางรายรอบด้วยระเบียงคด และใช้ศิลาแลงเป็นฐานรองรับตัวปราสาทหินทราย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปราสาทมีความคงทนเนื่องจากศิลาแลงจะช่วยระเหยความ ชื้นของผิวดินก่อนขึ้นไปสร้างความเสียหายต่อตัวปราสาท การบูรณะใช้วิธีการประกอบคืนสภาพ โดยใช้วัสดุเดิมมาประกอบใหม่ ณ ตำแหน่งเดิม ตามข้อมูลทางโบราณคดี และสถาปัตยกรรมตามแบบ Anastylosis ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการบูรณะโบราณสถานสำคัญที่มีชื่อเสียงของโลก
ในการนี้ ทอดพระเนตรอนุสรณ์แห่งความสำเร็จในการเก็บกู้และกวาดทุ่นระเบิด ซึ่งเดิมในบริเวณนี้เต็มไปด้วยทุ่นระเบิด ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิพลเอกชาติชายฯ จึงได้ร่วมกันเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิด ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2547
จากนั้น ทรงปลูกต้นรักน้ำเกลี้ยง ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นที่มีความสำคัญเนื่องจากยาง สามารถรักษาเนื้อไม้ และยึดติด ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในงานศิลปะหัตถกรรมมาแต่โบราณ
ต่อมา ทรงพระดำเนินตามเส้นทางธรรมชาติทอดพระเนตรบารายหรือสระน้ำ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวปราสาท มีความกว้างคันดินล้อมรอบ 280 เมตร ยาว 440 เมตร เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในปราสาท และพื้นที่การเกษตรในบริเวณใกล้เคียง ในการนี้ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งเป็นราษฎรในพื้นที่อำเภอตาพระยา และอำเภอโคกสูง มีอาชีพทำการเกษตร ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และทำนาในพื้นที่ใกล้แนวชายแดนไทยกัมพูชา
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านใหม่ทหารบกพัฒนา อำเภอวัฒนานคร ทรงติดตามความก้าวหน้าในโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ประดู่ หรือแสมดำ ที่พระราชทานให้เลี้ยงเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ เนื่องจากเป็นไก่ดำ หรือไก่ชนสายพันธุ์ไทยแท้ดั้งเดิมที่หายาก โดยทรงให้โรงเรียนบ้านใหม่ทหารบกพัฒนา และโรงเรียนช่องกุ่มวิทยาอำเภอวัฒนานคร ทดลองเลี้ยงแบบวิถีชาวบ้าน แล้วขยายพันธุ์แจกจ่ายแก่ราษฎร และหน่วยราชการ พร้อมกันนี้ ได้ทอดพระเนตรแปลงพืชผักสวนครัว ไม้ผล และการเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงปลา และเลี้ยงกบในขวด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว ส่งผลให้ลดระยะเวลาในการเลี้ยง และสะดวกในการดูแล ทั้งการให้อาหาร และการถ่ายเทน้ำเสียซึ่งจะนำไปเป็นปุ๋ยในแปลงผักสวนครัว
เวลา 12.50 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคลองตะเคียนชัย อำเภอวังน้ำเย็น ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ โอกาสนี้ ทรงเปิดอาคารเรียนชมรมแม่บ้านเกษตรและสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ซึ่งสร้างขึ้นแทนอาคารไม้หลังเดิมที่ทรุดโทรม และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ เฝ้าทูลละอองพระบาทกราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษา
โดยนักเรียนโรงเรียนแห่งนี้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ส่วนวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงเนื่องจากขาดแคลนครู มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จึงได้ส่งนักศึกษามาช่วยฝึกสอน ส่วนทางโรงเรียนได้ส่งครูไปอบรมวิชาภาษาอังกฤษ ทั้งยังจัดหาคอมพิวเตอร์ให้ชั้นเด็กเล็กเรียนโปรแกรมวาดภาพระบายสี ส่วนเด็กโตให้พิมพ์ระบบสัมผัส และจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม นอกจากนี้ ยังดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริทั้ง 8 โครงการ ซึ่งทุกโครงการมีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีการจัดทำแปลงเกษตรผสมผสาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงจัดสหกรณ์โรงเรียน เพื่อฝึกการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ส่วนโครงการฝึกอาชีพ อบรมการแปรรูปอาหาร การจักสานไม้ไผ่หุ้มเซรามิค ซึ่งเป็นสินค้าโอท๊อปที่มีชื่อเสียงของอำเภอวังน้ำเย็น รวมถึงการตัดผม และซ่อมรถจักรยาน
โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน ซึ่งมีผู้ป่วยโรคสมองฝ่อ โรคสำลักน้ำคร่ำ และโรครูจมูกตีบตัน ไปเฝ้าทูลละอองพระบาท ส่วนผู้ป่วยที่ไปใช้บริการส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และตาฝ้าฟาง ในการนี้ ทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้ารับเสด็จด้วย
ในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง ซึ่งพระประภาโส จากวัดวังชัน อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี หรือพันโทนุรี และนางสมคิด เดชสอน ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโฉนดที่ดิน จำนวน 23 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เพื่อทรงใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชวินิฉัยให้ใช้ที่ดินนี้เป็นส่วนขยายการดำเนินงานของโรงเรียนกา สรกสิวิทย์
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโรงเรียนกาสรกสิ วิทย์ ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง ซึ่งมีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกกระบือ และให้เกษตรกรมาใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับกระบือเพื่องานเกษตรกรรม โดยเกษตรกรจะเข้ามาพักอาศัยตามสภาพแวดล้อมการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ขณะที่ปราชญ์ท้องถิ่นของโรงเรียนเป็นผู้ฝึกกระบือให้ทำการเกษตรได้ดี รวมทั้งฝึกคนให้เข้าใจถึงวิธีการใช้กระบือในการทำเกษตรกรรม โอกาสนี้ ปราชญ์ท้องถิ่น กราบบังคมทูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียน ทั้งเรื่องการฝึกกระบือ ชีวิตคนกับควายที่มีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ความเป็นอยู่ที่พอเพียง และอุปกรณ์ในการทำนา โดยเฉพาะคันไถ อุปกรณ์สำคัญในการทำนา, การสร้างบ้านดิน, การใช้ประโยชน์จากดิน และต้นไม้ในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ทั้งไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุก ที่ล้วนแต่รับประทานได้ เช่น ต้นมะรุม ต้นแค ที่นอกจากนำมาประกอบอาหาร ยังเป็นยาสมุนไพร
จากนั้น พระราชทานพระราชวโรกาส ให้นักเรียนที่สำเร็จหลักสูตรเฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการฝึกอบรม และการนำความรู้ และประสบการณ์กลับไปใช้ในท้องถิ่นของตน โดยมีเกษตรกรเข้ารับการอบรมแล้ว 16 รุ่น เป็นเกษตรกร 106 คน กระบือ 101 ตัว นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรอบรมยุวเกษตรกรกาสรกสิวิทย์แก่เยาวชนชั้นมัธยมศึกษา ให้เกิดความคุ้นเคยกับกระบือในการทำการเกษตรและได้สัมผัสวิถีชีวิตความเป็น อยู่แบบพอเพียง มีนักเรียนเข้าอบรม 14 รุ่น จากสถานศึกษา18 แห่ง รวม 131 คน
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการดูแลกระบือทรงเลี้ยง ซึ่งเดิมมี 14 ตัวต่อมาได้แพร่ขยายพันธุ์จนเพิ่มเป็น 37 ตัว ซึ่งได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีจากปราชญ์ท้องถิ่นจนสามารถนำไปใช้งานได้ดี จึงส่งต่อไปธนาคารโค-กระบือ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ทำการเกษตรที่อำเภอกบินทร์บุรี และขณะนี้เพิ่งได้กระบือมาใหม่อีก 7 ตัว กำลังอยู่ระหว่างการฝึกฝน คาดว่าเมื่อจบหลักสูตรประมาณ 10 วัน จะส่งไปพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนาต่อไป
จากนั้น ทรงเปิดร้านกาแฟ "ควายคะนอง" โดยทรงหมุนอุปกรณ์พื้นบ้านสอนเด็กหัดเดิน เป็นไม้ไผ่มีแกนกลาง มีที่จับให้เดินเป็นวงกลม เพื่อพยุงไม่ให้หกล้ม ขณะที่ทรงหมุน กระบือจำลองบนป้าย จะลากเลื่อนใส่ต้นข้าว ผ่านป้ายชื่อร้านกาแฟไปกินหญ้าที่อยู่ปลายทาง ซึ่งหมายถึง ร้านกาแฟในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เพิ่งจะเปิดรับผู้มาเยือน เปรียบเสมือนเด็กเพิ่งหัดเดิน เมื่อใช้อุปกรณ์หัดเดินจะสามารถเดินไปได้ด้วยความมั่นคง ส่วนกระบือที่ลากเลื่อนใส่ต้นข้าว เปรียบต้นข้าว คือผลผลิตที่ชาวนาได้รับเป็นความสำเร็จ หญ้าที่ปลายทาง คือ อาหารของกระบือ สื่อถึงผลตอบแทนที่ได้รับ โดยสรุปคือ การนำพาร้านกาแฟควายคะนองไปสู่ความสำเร็จ ร้านกาแฟแห่งนี้ เกิดจากพระราชดำริ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียน โดยได้พระราชทานชื่อร้านพร้อมลายพระหัตถ์สีม่วงบนแก้วกาแฟ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ นอกจากนี้ ยังมีร้านขายของที่ระลึกจากฝีมือของชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมหัตถกรรมพื้นบ้าน และเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
--------------------
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
จากคุณ |
:
kobie
|
เขียนเมื่อ |
:
1 ก.ย. 53 12:25:55
|
|
|
|
 |