Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ศิลปวัฒนธรรม หน้าปกไมเคิล แจ๊กสัน ปีที่ 14 ฉบับที่ 12 ตุลาคม 2536 (บทความที่ 1)  

เมื่อไมเคิล แจ๊กสัน มาเมืองไทย
โดยวาณิช จรุงกิจอนันต์

การมาเปิดแสดงคอนเสิร์ตของไมเคิล แจ๊กสัน ในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องที่ออกจะเป็นที่น่าตื่นเต้นอยู่มาก. ความตื่นเต้นที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงใครคนใดคนหนึ่งตื่นเต้น แต่ตื่นเต้นกันทั้งบ้านทั้งเมืองเลยทีเดียว. ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือการเลื่อนการแสดงล้วนเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวัน, เรียกได้ว่าขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับ

อันใดที่เป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับละก็, อันนั้นคือเรื่องที่เรียกได้ว่าทำให้สังคมไทยตื่นเต้น,

ปกติสังคมไทยจะตื่นเต้นกันในเรื่องการเปลี่ยนรัฐบาล, เรื่องที่เป็นความหายนะของบ้านเมือง, เรื่องที่เป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์ประเภทเด็กสองหัว หรือวัวแปดขา, เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมอย่างเพลง หรือหนัง หรือศิลปะสาขาอื่นๆ นั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่จะทำให้สังคมไทยตื่นเต้นได้เลย

แต่เรื่องการมาเมืองไทยของไมเคิล แจ็กสัน นั้น เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยตื่นเต้น

อันที่จริงวัฒนธรรมเพลงของไมเคิล แจ๊กสัน นั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่มากในกลุ่มคนต่างๆ ของสังคมไทย. คนที่ต่อต้านเหยียดหยามประณามวัฒนธรรมเพลงของไมเคิล แจ๊กสัน นั้นมีอยู่มาก, และคนที่ตื่นเต้นชื่นชมกับไมเคิล แจ๊กสัน ก็มีอยู่ไม่น้อย

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย, สังคมไหนก็เป็นได้ เช่นที่สังคมไทยเป็น. แปลกอะไรที่สังคมหนึ่งจะมีบุคคลเช่น ฯพณฯ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศีกษาฯ และมีบุคคลเช่นวัยรุ่นวัยผู้ใหญ่ที่เข้าใจและชื่นชอบ ไมเคิล แจ๊กสัน

เป็นเรื่องแปลกใจอยู่บ้างว่าไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนเลยที่เขียวข่าวในเชิงโจมตีไมเคิล แจ๊กสัน. ทุกฉบับดูเหมือนจะชื่นชอบชื่นอกชื่นใจกับการแสดงของไมเคิล แจ๊กสัน ทั้งนั้น. อันนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้บัตรผีเข้าชมคอนเสิร์ตของไมเคิล แจ๊กสัน นั้น สามารถจะขึ้นราคาไปได้กว่าเท่าตัว. บัตรราคาสองพันห้าร้อยบาทนั้น ข่าวว่าขายกันได้ถึงเก้าพันบาท

ใบละหนึ่งพันห้าก็ขายได้เป็นใบละสามพันห้า

สนามศุภชลาศัยนั้นเคยมีกี่ครั้งกี่หนที่มีผู้คนเข้าไปแออัดอยู่ในสนามถึงสี่หมื่นคนห้าหมื่นคน, นับครั้งได้เลยทีเดียว, ไมเคิล แจ๊กสัน เป็นสองครั้งของจำนวนนั้น

เป็นอย่างนี้เราจะปฏิเสธวัฒนธรรมเพลงของไมเคิล แจ๊กสัน ได้อย่างไร

วัฒนธรรมเพลงของไมเคิล แจ๊กสันนั้น เป็นวัฒนธรรมเพลงของโลกตะวันตก, คือเป็นเรื่องของเพลงฝรั่ง. วัฒนธรรมเพลงที่รุนแรงอันนำมาก่อนหน้าที่ไมเคิล แจ็กสันจะตามมานั้นคือวัฒนธรรมเพลงของเอลวิส เพรสลีย์, ของเดอะ บีทเทิ่ล, ของมาดอนน่า, และของใครต่อใครหลายคนหลายวงก่อนหน้านั้น

วัยสี่สิบเดี๋ยวนี้ถ้าหากว่าเป็นปัญญาชนมีการศึกษาสักหน่อยก็ต้องเคยฟังเพลงร้องเพลงของบีทเทิ่ลหรือไซม่อน คาฟังเก้น หรือ บ๊อบ ดีแล่นมา, นักวิจารณ์และนักประณามเพลงเดี๋ยวนี้ก็น่าจะรู้จักเคยครางเคยร้องเพลงของนักร้องฝรั่งพวกนี้มาด้วยกัน

ผมว่าผมโชคดีเหมือนกันที่ผมไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ตของไมเคิล แจ๊กสัน. สะตุ้งสตางค์หรือเส้นสายก็พอจะมีอยู่พอดอกนะครับ. ถ้าหากว่าอยากจะดูหรือคิดว่าจะกระเสือกกระสนไปดูก็ไม่ได้เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรง, ไปดูกับเขาได้สบายมาก, แต่ก็ไม่ได้ไป

เหตุที่ไม่ได้ไปเป็นเพราะขี้เกียจมากกว่าอย่างอื่น. มีเพื่อนหลายคนที่ไปดู ทั้งๆ ที่ไม่ได้คลั่งไคล้อะไรไมเคิล แจ๊กสัน สักเท่าไหร่. โดยบอกว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมไทย, ซึ่งก็เป็นความคิดที่เข้าที, นานๆ มีทีก็เอากับเขาเสียหน่อย

ถึงผมจะไม่ได้ไปดูเพราะขี้เกียจไปรอไปเบียดคนและเบื่อรถติด, แต่ก็จะรู้สึกยินดีนะครับที่จะได้ดู. ไม่ได้รู้สึกว่าการไปดูคอนเสิรต์ไมเคิล แจ๊กสัน เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ยินดีมากที่จะไปตะโกน ไมเคิล...ไอเลิฟยูกับเขา

ที่ว่าผมโชคดีที่ไม่ได้ไปร่วมประวัติศาสตร์กับเขาที่ไปดูคอนเสิร์ตไมเคิล แจ๊กสันนั้น ก็เพราะทำให้ผมรู้สึกว่า ผมจะเขียนเรื่องวัฒนธรรมเพลงในส่วนนี้ได้สะดวกใจ, แต่ผมก็ฟังเพลงไมเคิล แจ๊กสัน ได้สบายมาก

สิ่งที่ผมนิยมมากที่สุดเกี่ยวกับไมเคิล แจ๊กสัน นั้นไม่ใช่เพลง แต่คือการเต้น. การเต้นที่คนไทยจำนวนหนึ่งนิยามว่าเหมือนลิงเมาเหล้า หรือไส้เดือนโดนขี้เถ้า, ซึ่งในความรู้สึกและความคิดของผมนั้น, การเต้นของไมเคิล แจ๊กสัน นั้นโคตรจะสวยงามและแสนที่จะสร้างสรรค์และเป็นแบบฉบับของตัวเอง

ถ้าศาสตร์และศิลป์ที่เป็นคลาสสิค, ไม่เป็นวันนี้ ก็จะเป็นต่อไปในวันข้างหน้า, เหมือนท่าหักคอไมค์ของเอลวิส เพรสลีย์นั่นแหละครับ

เพลงที่เล่นและร้องสำหรับวัยรุ่นหรือที่เรียกว่าเพลงป๊อบในยุคนี้เป็นเพลงที่มีคนประณามหยามเหยียดกันอยู่มาก, ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนให้พะอืดพะอมอยู่ไม่น้อย. ผมไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องประณามเพลงในยุคสมัยปัจจุบันว่าเป็นเพลงที่เลว

เอาอะไรมาวัดว่ามันเลว

มีบางคนที่บอกว่าเพลงสมัยนี้ไม่ใช่เพลงไทย, แต่คือเพลงฝรั่ง. ถ้าฟังทำนองโดยไม่มีคำร้องแล้วก็คือเพลงฝรั่งนี่เอง

ถ้าไม่ใช่เพลงไทยเดิมแล้วมีเพลงไหนที่ฟังทำนองแล้วบอกได้เลยว่าเป็นเพลงไทยผมอยากจะรู้

ผมว่าในสมัยนี้แทบจะแยกไม่ออกแล้วนะครับว่าเพลงไหนคือเพลงไทย เพลงไหนคือเพลงฝรั่ง. โลกมันแคบเข้ามาทุกวัน. เพลงอย่างเพลงของสุเทพ, ชรินทร์, เพ็ญศรี, สวลี หรือสุนทราภรณ์ก็ไม่ได้เพลงไทย. ถ้าคนแต่งทำนองไม่เคยฟังเพลงฝรั่งมา, หน้าไหนจะทำเพลงอย่างนั้นได้

แล้วก็รังเกียจกันจัง, ทั้งๆ ที่มันก็เพลงฝรั่งด้วยกัน, ไม่ว่าจะเป็นสุเทพ, ชรินทร์, สวลี, สุนทราภรณ์, หรือเพลงลูกทุ่ง. เพลงไทยสมัยใหม่นี้ก็เป็นเพลงไทยนี่แหละครับ, ฟังแล้วรำคาญ, ฟังแล้วหมั่นไส้, เพราะมันไม่ใช่เพลงของคนยุคเก่าเท่านั้นแหละศ เป็นเพลงของคนยุคใหม่ซึ่งคนยุคเก่าจะตั้งข้อรังเกียจไว้เสมอ, จะด้วยความเขลาหรือความเชยก็ไม่รู้

การที่ไมเคิล แจ๊กสัน มาเมืองไทยแล้วเกิดปรากฎการณ์ต่างๆ ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน, น่าจะทำให้ตาหูของคนไทยเราสว่างขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเพลงได้บ้าง

ถ้าไม่ได้อะไรขึ้นมาก็กรรมใครกรรมมันแหละครับ
================================================================

ศิลปวัฒนธรรมเล่มนี้ยังมีบทความเกี่ยวกับ MJ อีกหลายบทความจ่ะ จะทยอยๆ พิมพ์มาให้ได้อ่านกันนะจ้า

 
 

จากคุณ : ลาช่า
เขียนเมื่อ : 2 ก.ย. 53 22:26:33




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com