 |
ความคิดเห็นที่ 1 |
|
1 หลังจาก น้ำใสใจจริง แต่ละรอบปิดม่านลง แฟนเก่า ที่เคยติดอกติดใจ เดอะมิวสิคัล ของดรีมบอกซ์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็น คู่กรรม หรือ แม่นาค รวมทั้งอาจคาดหวังว่าละครของค่ายนี้จะต้องเน้นดราม่าเข้มข้นบีบคั้นหัวใจ อาจถึงขั้น อกหัก เอาได้ง่ายๆ รวมทั้งคงหงุดหงิดเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไม้... น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล ถึง ไม่มีอะไร ได้ขนาดนี้ ไม่มีไคลแมกซ์ ไม่มีฉากเร้าอารมณ์ ไม่มีปมขัดแย้งรุนแรงใดๆ แถมไม่มีเพลงโชว์พลังให้นักแสดงด้วย ที่มีอยู่เป็นเพียงชิ้นส่วนของเรื่องเล่าจำนวนมากที่ปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน
แต่หากใครเคยอ่านนวนิยาย น้ำใสใจจริง มาก่อน ก็จะรู้ทันทีว่า นี่คือการถอดถ่าย หัวใจ หรือ วิญญาณ ของหนังสือมาด้วยความเคารพต้นฉบับอย่างยิ่ง
เพราะที่จริงแล้ว อาการเรื่อยๆ มาเรียงๆ ทำนองนี้ มีอยู่ตั้งแต่ในนิยายของ ว. วินิจฉัยกุล ผู้อ่าน น้ำใสใจจริง คงยังจำได้ดีว่า นิยายครึ่งเล่มแรกช่างไม่สนุกเอาเสียเลย ด้วยความที่มีตัวละครยุ่บยั่บมาก แต่พร้อมกันนั้น ครึ่งเล่มแรกก็คือการปูพื้น สร้างฉาก พร้อมกับวาดภาพของทัดภูมิ โจม ครีม อ้อมพร พี่มหา ป๊อ โหม่ง แคน ป้าทอง ป๋าพอดี อาจารย์อัญชลิกา และคนอื่นๆ ขึ้นในใจของเรา ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้ว ในครึ่งเล่มที่เหลือ ตัวละครเหล่านั้นก็เปลี่ยนจากคนแปลกหน้ากลับกลายเป็นคนคุ้นเคย ลุกขึ้นมาโลดแล่นขึ้นในใจผู้อ่านได้อย่างน่าอัศจรรย์
ยิ่งไปกว่านั้น น้ำใสใจจริง ฉบับนวนิยาย ยังมีลักษณะเป็นเหมือนเรื่องสั้นจบในตอนจำนวนมากมาร้อยเรียงต่อกัน ซึ่งแม้ว่าอาจเหมาะกับการดัดแปลงให้เป็นบทละครโทรทัศน์ แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับการนำเสนอในรูปแบบละครเวที
ในแง่นี้ ต้องถือว่า ดรีมบอกซ์ โดยคุณดารกา วงศ์ศิริ ในฐานะผู้เขียนบทและประพันธ์คำร้อง คุณสุธี แสงเสรีชน ผู้ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรี รวมถึงคุณสุวรรณดี จักราวรวุธ ผู้กำกับการแสดง ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แม้ว่า น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล จะเป็นละครอีกสไตล์หนึ่งที่ต่างออกไปจาก คู่กรรม หรือ แม่นาค หากแต่สิ่งที่เหมือนกับสองเรื่องก่อนหน้าของค่ายนี้ ก็คือ บท ที่ฉลาด และ เพลง ไพเราะ อันมีคำร้องเป็นร้อยกรองสละสลวย
มิหนำซ้ำ น้ำใสใจจริง เดอะมิวสิคัล ก็ยังดำเนินพลความได้งดงามตามแนวทางของต้นฉบับเดิมอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แถมยังเก็บตก มุกตลก เด่นๆ จากนิยายไว้ได้อีกหลายเรื่อง เช่นหมาบอย, สัตว์ประหลาด ของโจม, และวิกฤตการณ์บัวลอย
ในความรู้สึกของผมแล้ว ความงามที่ดำเนินไปอย่างเรียบเรื่อยนี้อาจเทียบเคียงได้กับการร้อยเรียงชีวิตใน มหาลัยเหมืองแร่ (2548) ภาพยนต์จากผลงานการเขียนบทและกำกับการแสดงของจิระ มะลิกุล ที่ตัดต่อเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่สองเล่มหนาปึ๊กของคุณลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้กลายมาเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอเงินได้อย่างมีชีวิตชีวา
จากคุณ |
:
Khrua Tae
|
เขียนเมื่อ |
:
12 ก.ย. 53 23:19:54
|
|
|
|
 |