 |
ความคิดเห็นที่ 91 |
อาจจะมาช้าแต่อยากให้หลายคนได้เห็นข้อความของผม ขอโทษที่พิมพ์เยอะมาก
ผมขอพูดในฐานะนักดนตรี,ผู้ซึ่งผ่านการเป็นคนซื้อ(เทป,ซีดี)และผู้เป็นเจ้าของผลงาน(คนดนตรี) ทั้งบนดิน ใต้ดิน เล่นมาทั้งเพลงปัญญาอ่อน เพลงขยะ เพลงฮิต เพลงได้รางวัล ฯลฯ ผมจะไม่บอกว่าผมรู้ดีหรือความเห็นผมถูกต้อง แต่ผมว่าผมไปยืนมาเกือบทุกจุดมีส่วนร่วมในปรากฏการณ์นี้
ผมจะข้ามเรื่องที่ทุก ๆ ท่านได้ให้ความเห็นไปแล้วนะครับ
1. ผมจะไม่โทษเรื่องคุณภาพด้านกายภาพของงานเช่น แพคเกจซีดี,หรือ Bitrate สูง ๆ เพราะมันอาจจะมีผลกับเฉพาะพวกเรา (หมายถึงคนที่เข้ากระทู้นี้) เท่านั้น แต่ต่อให้เค้าทำแพคเกจดีคุณคิดว่าจะทำให้ยอดขายกลับไปสูงเหมือนตอนขายเทป หรือเปล่าครับ? ดังนั้นประเด็นนี้ไม่ใช่คำตอบ สมัยก่อน แพคเกจเทป ก็ไม่มีอะไร ปก 2-3 พับ มีเนื้อเพลง แค่นี้คนก็ซื้อแล้วจริงไหมครับ ถึงปกพับเดียวไม่มีเนื้อไม่มีอะไร แต่เป็นศิลปินที่คุณชอบคุณก็ซื้ออยู่ดีอย่างมากก็บ่นนิดหน่อย เรื่องความละเอียดBitrate loselessในสมัยนั้นไม่ต้องพูดถึงเลยครับ(คืออะไรก็ไม่รู้) เป็นแค่เทปฟังไม่กี่ทียืดหรือโดนเครื่องกินเทป ไม่เป็นไรวิ่งไปซื้อใหม่ได้ "จริงไหมครับ"
2. เรื่องคุณภาพของศิลปิน ที่หลาย ๆ ท่านยกมา ผมก็คิดว่าไม่เกี่ยวครับที่บอกว่าไม่อุดหนุนของถูกลิขสิทธิ์เพราะเพลงไม่มีคุณภาพคู่ควรพอ เพราะถ้าทฤษฎีนี้ถูกต้อง งั้นผมเทียบบัญญัติไตรยางค์ นั่นก็แปลว่า อัลบั้มของพี่โอม ชาตรี คงสุวรรณ ก็จะต้องขายดีกว่า พวกร้อยเนื้อทำนองเดียวจริงไหมครับ เพราะว่าสมัยก่อน ถ้าศิลปินเพลงห่วยเราก็ไม่ซื้อทั้งของจริงและก็คงไม่ถ่อไปซื้อเทปผีฟังหรอกครับ เปิดเจอในทีวียังเปลี่ยนช่องหนีเลย ดังนั้นเรื่อง ส่วนคนที่ซื้อก็คือ "คนที่ไม่คิดว่ามันเป็นเพลงห่วย" เค้าชอบเค้าก็ซื้อ ใครว่าลอกมาว่าร้องห่วยลิปซิงค์ข้าก็ไม่สนข้ารักของข้าก็ซื้อ และผมก็เชื่อว่าเด็ก ๆ ที่โหลดของเถื่อนฟังทุกวันนี้ไม่ใช่แปลว่าเค้าคิดว่าเพลงมันห่วย เค้าต้องชอบอยู่ในระดับนึง รวมถึงคุณ ๆ ที่บอกว่าห่วยเลยไม่ซื้อ (อ้าวแต่โหลดเถื่อนมาฟังทำไม) แปลว่าอย่างน้อยคุณก็สนใจเพลงนั้น ๆ ในระดับนึง
เอาหล่ะครับขอบคุณที่อ่านมาซะยืดยาว แต่ผมยังไม่เข้าเรื่องเลย เรื่องของเรื่องที่คนสมัยก่อนซื้อของถูกลิขสิทธิ์มากกว่าสมัยนี้ เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ 1."ไม่ค่อยมีของปลอมให้ซื้อครับ" ทันทีที่มีเทปผีคนก็ซื้อเทปผี ในยุคที่มีร้านขายแผ่นผีคนก็ซื้อ ต่อมามี CD writer สามารถติดตั้งที่บ้านได้คนก็ก๊อปแจกกัน ต่อมามีโหลดบิท คนก็โหลดกัน ดังนั้นค่ายเพลงแต่ครั้งโบราณมา ก็จึงอิ่มเอมเปรมปรี กับเทคโนโลยีที่ตามพวกเขาไม่ทันในวันวานตลอดมา
2. สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาของวงการเพลงมันอยู่เหนือกว่านั้นเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้นครับ มันคือ "การให้มูลค่ากับศิลปะ" ครับ ผมยกตัวอย่างคนญี่ปุ่น ที่นั่นเค้าไม่ซื้อของปลอมครับไม่ใช่หาซื้อไม่ได้,ไม่ใช่เรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อินเตอร์เน็ตก็อยู่ตรงหน้า เว็บ 4shared ไม่ได้เข้ายากสำหรับเขา แต่เขาตีมูลค่าของศิลปินในราคาที่เขาคิดว่าเขาสมควรจ่าย ทั้งศิลปินแนวไหน ๆ ป๊อบ,ร็อค,แจ๊ส,จอนนี่จูเนียร์,ไอดอล ฯลฯ รวมไปถึงการ์ตูน หรือแม้แต่แผ่นหนังโป๊!!! นั่นเพราะเขาถือว่านี่คือศิลปะครับคนฟังตั้งใจฟังคนทำก็ตั้งใจทำ แม้แต่เอาไอดอลที่ร้องเพลงไม่เอาอ่าว มาเดบิวต์ เขาก็ตั้งใจกับรายละเอียด
แต่ที่นี่เมืองไทยเราไม่ได้ให้คุณค่าของดนตรีเป็นศิลปะ วิชาดนตรี เป็นวิชาที่มีชั่วโมงเรียนน้อยที่สุดตอนผมอยู่ประถม,มัธยม น้อยกว่าวิชาพละและจริยะธรมมซะอีกแปลว่าเราให้ความสำคัญกับดนตรีเป็นอันดับท้าย ๆ ผมเชื่อว่าหลายคนเรียนวิชานี้มาแล้วทั้งนั้นในหลักสูตรภาคบังคับ หลายคนบอกว่าเคยได้ยินคำว่า ตัวดำ ตัวขาว ขเบ็ต 1 ชั้นสองชั้น แต่มีใครอธิบายให้ผมฟังได้บ้างครับว่าเราได้ความรู้อะไรเกี่ยวกับดนตรีจากการเรียนในครั้งกระโน้น เด็ก ๆ ดูจะเหมือนถูกสอนเรียงวิชาที่สำคัญคือ เลข,ภาษาไทย,อังกฤษ,สปช.,สลน. ฯลฯ ดนตรีอยู่อันดับที่เท่าไหร่ครับ
3. เรากำหนดราคาของดนตรีคือเครื่องบำบัดความเครียด,ความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว อันนี้ไม่ได้ว่าคนฟังนะครับ มันรวมถึงคนผลิตด้วย มีวงดนตรีหน้าตาดีวงหนึ่งเคย บอกผู้ใหญ่ในค่ายว่าอยากทำเพลงดี ๆ ผู้ใหญ่ท่านนั้นตอบว่า เมิงคิดจะเป็น Silly Fools เหรอ หน้าตาอย่างพวกคุณเล่นดนตรีดีไม่ได้ไม่มีใครเชื่อหรอก หน้าตาอย่างนี้ต้องขายความลุ่มหลง พี่ทำเพลงมานานเชื่อพี่... งั้นพวกผมขายหน้าตาด้วยทำเพลงดีด้วยไม่ได้เหรอ.... ไม่ได้หรอกว่ะคนฟังมัน"ไม่รู้เรื่องหรอก"ทำง่าย ๆ นี่แหละขายชัวร์....นี่ครับ ค่ายเพลงเค้ามีทัศนคติกันแบบนี้พวกเขาก็สอนคนฟังให้รับอะไรง่าย ๆ มาตลอดโดยไม่รู้ตัว คนฟังก็เลยไม่ได้ถูกฝึกให้ "หูมีคุณภาพ" ศรัทธามันเลยไม่เกิด แล้ววันนึงพอขายไม่ได้จะมานั่งออกแคมเปญ ศิลปินร้องไห้ ศิลปินตั้งใจทำงาน โธ่ ก็คุณเป็นผู้ผลิตยังตีมูลค่ามันต่ำเลย แล้วคนฟังก็เลยตีมูลค่ามันต่ำไปด้วย เพียงแต่รอเวลาที่จะหาทางได้มันมาถูก ๆ แค่นั้นเอง
ทีนี้ก็เลยไปกันใหญ่เมื่อคนซื้อน้อยแทนที่จะสำนึก กลายเป็นว่า เมื่อกำไรลดลง เขาก็แก้ด้วยการลดต้นทุนครับ เดี๋ยวนี้นักแต่งเพลง,โปรดิวเซอร์,ซาวด์เอ็นจิเนียร์,นักดนตรี ค่าตัวเป็นไง ลองไปถามรุ่นเก่า ๆ ดูว่าเมื่อก่อนเขาได้เยอะแค่ไหน เมื่อลดต้นทุน เพลงก็ห่วยลงไปอีก คนก็จะตีมูลค่าเพลงต่ำลงไปอีกเป็นงูกินหางแบบนี้ไปเรื่อย
ทางแก้ไขหรือครับ คำตอบผมอาจจะดูสิ้นหวังนะครับ คือ "ภาวนาให้ค่ายเพลง สองค่ายนี้เจ๊ง เลิกทำเพลง" มันจะได้หยุดวงจรนี้ซะที ผมแอบดีใจนะครับที่วันนี้ มี โหลดเืถื่อน, แผ่นผี, เพื่อนแจก ฯลฯ เพราะมันได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของเนื้องานที่พวกเขาทำกันมานับสิบ ๆ ปี เพียงแต่คนที่ทำงานคุณภาพก็ต้องพลอยโดนหางเลขไปด้วยบ้าง เมื่อทุกอย่างตกต่ำถึงขีดสุด มันก็จะเกิดการเริ่มต้นใหม่ ผู้ที่จะอยู่ได้ขายได้ไม่ใช่คนที่ถูกเห็นเยอะที่สุด เสียงดังที่สุด แต่คือคนที่อยู่ได้ด้วยความศรัทธาของคน ผมมีตรรกะ ง่าย ๆ ให้มาลองคิดดูกันเล่น ๆ ลองเทียบกันระหว่าง A.อัลบั้มของศิลปินที่มีเพลงที่ขึ้น Chart อันดับต้น ๆ มีคนชอบ 1 แสนคนตอนนี้ มีคนหาเพลงของศิลปินท่านนี้มาฟัง 1 แสนคน ถามว่า 1 แสนคนนี้มีคนอุดหนุนของจริง กี่คนครับผมว่า ไม่ถึง 1 ใน 5 B.อัลบั้มของ....เอ่อ... พี่โอมชาตรีก็ได้ (ไหน ๆ ก็ยกตัวอย่างตอนต้นไปแล้ว) สมมติว่า มี 200 คนชอบไปหามาฟัง คุณว่า 200 คนนี้ ซื้อของปลอมกี่คนครับ (ว่าแทบจะเป็นศูนย์เปอร์เ็ซ็นต์)
ผมหวังว่า วงการเพลงจะกลับมาดีไม่ใช่เพราะเราหาวิธีขายแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ แต่เป็นเพราะว่า "คนผลิตและคนฟัง มีคุณภาพขึ้นแล้ว"
ปล. เดิมทีผมคิดว่าจะเก็บเรื่องนี้ไว้เขียนในคอลัมน์ของนิตยสารที่ผมเขียนอยู่ประจำ แต่คิดไปคิดมาผมเอามาลงให้คนอ่านฟรี ๆ ที่นี่คงจะเกิดประโยชน์กว่า เรื่อง เรื่องเงินเดี๋ยวหา Topic ใหม่ก็ได้
แก้ไขเมื่อ 16 ก.ย. 53 00:27:23
จากคุณ |
:
Just A Drummer (The Drummer)
|
เขียนเมื่อ |
:
16 ก.ย. 53 00:23:55
|
|
|
|
 |