Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ข้อสังเกตุและข้อเสนอเกี่ยวกับคอนเสิร์ต/ งานดนตรีสด Rock, Hard Rock, Metal ฯลฯ ในไทย !!!  

ช่วงนี้ผมขอบคิดอะไรต่ิอมิอะไรหนักมากๆ ในฐานะของคนในแวดงวง Underground (กินความมากกว่า Metal) คนหนึ่ง และคนจัดงานคนหนึ่ง

คือ ปีนี้ก็อย่างที่หลายๆ ท่านทราบว่างานมันเยอะมาก วงดนตรีพาเหรดกันมาเป็นตับ

แต่เอาจริงๆ คนดูในแต่ละงานนี่ถือว่าน้อยมาก พวกงานที่จัดมาหลายๆ ปี ปีนี้คนดูก็น้อยลง

ผมก็เลยพยายามขอบคิดว่ามันเป็นเพราะอะไรกันแน่

และสิ่งที่ผมไปพลิกดูเพื่อเปรียบเทียบเพื่อหาคำตอบก็คือ หน้าประวัติศาสตร์ของแวดวงดนตรีร็อค/ Underground ไทยเอง

ข้อคิดอย่างหนึ่งที่ได้ผมจากการเก็บข้อมูลราคาบัตรงานแสดงดนตรี Rock/ Metal ในและนอกประเทศตั้งแต่ช่วงต้น 1990's มาก็คือ

1. ราคาบัตรวงต่างประเทในปัจจุบันเพิ่มมาประมาณเท่านึงจากตอนนั้น เมื่อก่อน 500 เรื่องปกติ (Metallica มาปี 1993 ราคา 500 เท่านั้น) เดี๋ยวนี้ราคามาตรฐานคือ 1000

แน่นอนจะบอกว่านี่เป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อก็ถูก แต่จำนวนคนดูนี่โดยทั่วไปก็ลดลงกว่าสมัยก่อนมากๆ สมัยก่อนผมคิดว่าหลักพันสองพัน นี่เป็นสิ่งที่คาดหวังได้สบาย ไม่ว่าจะวงไหนมา แต่สมัยนี้ได้สัก 500 ก็ปาฏิหาริแล้วสำหรับงานระดับกลางๆ (แบบ Dream Theater ที่มาหลายรอบและคนก็ยังเยอะนี่ผมว่าข้อยกเว้นมากๆ นะผม)

เอา จริงๆ ช่วงต้นปี 2000 ผมก็พอจำได้ว่าตอน Sodom มาบัตรก็ถูกนะ คราวแรก 330 บาท คราวสอง 500 กว่าบาทไรงี้ แม้ว่าคนจะไม่เยอะเท่าต้น 1990's แต่ก็เยอะกว่าตอนนี้แน่ๆ (คราวแรกคนน่าจะราวๆ  300 คราวสองน่าจะ ราว 500)

มันทำให้ผมเริ่มสงสัยจริงๆ ว่าัปัญหาคือ ผู้จัดตั้งราคาแพงไปหรือเปล่า? คนเลยมาน้อย

2. พวกงาน Underground สมัยก่อนโน้น กับสมัยนี้เอาจริงๆ ราคาบัตรแทบไม่เปลี่ยนเลย เผลอๆ สมัยก่อนแพงกว่าด้วยซ้ำ แบบยังไม่ต้องปรับอัตราเงินเฟ้อด้วยซ้ำ

งานตั้งแต่ปี 1994 ที่ถือเป็นยุคแรก มาจนถึงต้นปี 2000 ที่มีแต่วงไทยเล่นนี่ราคาบัตร 200 บาทนี่เรื่องปกตินะครับ 150 นี่ถือว่าถูกมาก

สมัยนี้ถ้างาน Underground ทั่วๆ ไปราคาเกิน 150 คนก็ยากจะไปดูละ

พูดอีกแบบคือ ราคาบัตร Underground ไทยมันค่อนข้างเสถียรมาเป็น 10 ปี หรือกระทั่งถูกลง

แน่นอนว่าราคาที่ลดลงนี่มันก็เกิดขึ้นพร้อมกับปริมาณงานที่มากขึ้นๆ ระดับว่าถ้าจะดูจริงๆ มีงานดูทุกอาทิตย์เผลอๆ อาทิตย์ละเกิน 1 งานด้วย แน่นอนว่าคนดูแต่ละงานมันก็สู้งานสมัยต้นๆ กลางๆ 1990's ไม่ได้ เผลอๆ ยอดขายบัตรของทุกงานในเดือนหนึ่งๆ สมัยนี้รวมกันในบางเดือนยังจะสู้พวกงาน Underground ใหญ่ๆ ยุดแรกๆ เพียงงานเดียวในสมัยก่อนไม่ได้เลย (ประเด็นนี้พูดบ่อยแล้ว ไม่ขออธิบายและแจงรายละเอียดซ้ำ)

คืออยากให้ลองคิดดู

ว่าเมื่อราคาบัตรวงต่างประเทศใหญ่ๆ สูงขึ้น พร้อมๆ กับราคาวงในประเทศถูกลงและมีทางเลือกเยอะขึ้นจะเกิดไรขึ้น?

ปัญหาคือ งานพวกวงไทยมันเยอะ และซอยย่อยมาก กลุ่มคนดูก็ต้องหั่นกระจายกันไปตามงานต่างๆ แทนที่จะเฮโลมางานเดียวแบบสมัยก่อน งานยิ่งเยอะ การแข่งขันในการตัดราคามันก็เกิดราคาบัตรมันก็ถูกลง

พอราคาบัตรถูกลงมันก็สร้างกลุ่มผู้ฟังที่เฉพาะขึ้นมาก

ซึ่งมันชัดขึ้นมากเมื่อราคาวงต่างประเทศแพงขึ้น (เอาจริงๆ พื้นที่สื่อที่ใช้ในการกระจายงานพวกข่าวงานไทยสมัยนี้ในภาพรวมแทบไม่กระจายด้วยสิ่งพิมพ์เลยมันก็ต่างกัน)

สองอย่างนี้มันก็เป็นคนละโลกกันมากขึ้นกว่าสมัยก่อนตอน 1990's เยอะ เพราะสมัยนั้นราคางานร็อค/เมทัลของไทยแหละเทศมันใกล้กัน (คิดง่ายๆ ว่าสมัยก่อนอัตราส่วนราคางานวงไทยล้วนกับราคาวงต่างประเทศดังๆ มัน คือ 200/500 แต่เดี๋ยวนี้ราคามัน 150/1000) และคนกลุ่มดูก็ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ดีภาวะแบบนี้ในภาพรวมมันทำให้ทุกๆ ฝ่ายเจ๊งหมด

พวกงานวงนอกคนมันก็น้อยลงในระดับที่ยากจะทำกำไร หรือกระทั่งคืนทุน ถ้าไม่มี Deal พิเศษก็อย่าหวังว่าจะมีวงดังๆ มา ผมไม่แน่ใจว่าผู้จัดงานบางงานที่มี Sponsor ใหญ่ๆ จะขาดทุนหรือเปล่า แต่ถ้ายอดขายบัตรมันแค่ 100 ใบแผ่นๆ หรือไม่ถึง 100 นี่ผมว่ามันก็ดูไม่สวยแน่ๆ ในสายตา Sponsor

ผู้จัดอิสระที่เอาวงนอกมาขาดทุนไปหลายรายมากๆ ในระดับที่ต่างๆ กัน เรื่องกำไรใหญ่โตมันไม่ต้องหวังอยู่แล้ว วงจำนวนมากที่มาเล่นมาเล่นด้วยดีลพิเศษ

ค่าตัวของวงระดับกลางๆ เท่าที่ทราบก็น่าจะอยู่ราวๆ 3-5 แสนบาท ซึ่งนี่แค่ค่าเล่น ไม่รวมค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเช่าที่ ค่าเครื่องเสียง ค่าโปรโมต ฯลฯ อีกที่ไม่น่าจะต่ำกว่าแสน

แล้วคุณคิดดูละกัน ว่าขายบัตร 1000 บาท ได้สักกี่ใบถึงจะแค่คืนทุน

500-600 ใบ? ตัวเลขนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เว้นแต่วงจะใหญ่จริงๆ

แต่วงพวกนั้นค่าตัวไม่น่าจะต่ำกว่าล้าน ก็บวกกันขึ้นไปอีก

สมมติว่าต้นทุนสัก 2 ล้าน (ค่าอื่นๆ ก็ต้องเพิ่มตามๆ มา ตั้งแต่ค่าดูแล ค่าสถานที่ ค่าเครื่องเสียง) บัตรราคา 1000 ก็ต้องขายได้ 2000 ใบ เพื่อจะให้เท่าทุน

มันเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ดีงานระดับนี้ คงไม่มีใครคลั่งจะจัดแบบไม่มี Sponsor

แต่ปัญหาคือ สภาพตลาดแบบนี้ คนน้อยๆ แบบนี้ ใครมันจะให้? ผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีเจ้าใหญ่ๆ เจ้าไหนให้ Sponsor งานพวก Hard Rock/ Metal ถึงหลักล้าน นั่นหมายถึง ผู้จัดต้องพร้อมจะรับความเสี่ยงขาดทุนเป็นหลักแสน

ใครจะมาเปลืองตัวตรงนี้?

ถ้าถามผมนะว่าจะแก้ไง ผมขอเสนอสิ่งที่เป็นไปไม่ได้พวกนี้

1. ราคางานในประเทศต้องสูงขึ้น โดยคนดูลดลงไม่มาก เพื่อจะได้ไม่เจ๊งกัน

2. ราคางานวงต่างประเทศใหญ่ๆ ต้องต่ำลง เพื่อจะได้ดึงคนดูมามากขึ้น

ลองไปดูราคาบัตรในประเทศเพื่อนบ้านดูครับ เอาวงที่พึ่งมา Asian Tour เร็วๆ นี้ก็ได้ คุณจะพบว่าบัตรมันถูกกว่าไทยเกือบครึ่ง ...แต่คนดูอาจจะมากกว่าไทยราวๆ 7-10 เท่า (งานไทยได้คน 400 นี่กว่าเยอะละ ไปโน่นคนอาจจะ 3000-4000 ได้)

แต่นี่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้ผล ผมก็ขอเสนอไปลอยๆ เพราะไม่เคยและไม่คิดจะจัดงานระดับนั้นอยู่ละ

3. งานทุกชนิดควรจะดีลกันดีๆ ไม่ควรจะมีการจัดงานตรงกัน หรือใกล้กันเกินไป

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำยาก เพราะ หลายๆ ฝ่ายก็ยากจะมาพูดกัน ก็ต้องอาศัยการปล่อยข่าวลือว่าจะจัดงานเดือนไหนเพื่อจะปรามๆ อีกฝ่าย ไม่ให้จัดตรงกัน

แต่บางทีมันก็ยากจริงๆ ที่จะเลื่อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าวงต่างประเทศมา เพราะ ส่วนใหญ่ช่วงเวลาที่วงพวกนี้มามันจะ Fix อยู่ละ ว่าต้องผ่านมาแถวนี้เวลานี้ ดังนั้นทางเลือกจึงมีแต่จะจัดหรือไม่จัด

และแน่นอนว่าผู้จัดส่วนใหญ่ที่เป็นนักฟังเพลงอยู่แล้วก็จะจัดและจำนวนมากก็ "เจ๊ง" ไปไม่มากก็น้อย

คือ ผมเขียนสิ่งเหล่านี้ด้วยความเป็นห่วงถึงอนาคตของวัฒนธรรมดนตรีสดในแนวทางร็อคหนักๆ ในไทยจริงนะ

ผมค่อนข้างเซ็งมากที่หลายๆ ฝ่ายเอาแต่ไปบ่นเรื่อง "คนไม่ซื้อของจริง" อะไรกัน ผมว่านั่นไม่ใช่ปัญหาแล้วตอนนี้ ควรจะปล่อยวางได้แล้ว มันไม่มีอะไรจะกอบกู้วัฒนธรรม CD ได้อีกแล้ว

แต่วัฒนธรรมดนตรีสดนี่สิน่าเป็นห่วง เพราะ คนไม่ใส่ใจในการซบเซาของมันเลย

โดยส่วนตัวผม ผมห่วงที่จะไม่มีงานแสดงดนตรีสดดูมากกว่าที่จะไม่มี CD ให้ซื้อ

เพราะ สำหรับผมวัฒนธรรมดนตรีร็อคมันไม่ตายไปพร้อม CD หรอก แต่ถ้าวัฒนธรรมดนตรีสดตาย วัฒนธรรมดนตรีร็อคตายแน่ๆ

ดังนั้น ผมว่าถ้าเราเริ่มรณรงค์ให้คนออกจากบ้านไปดูดนตรีสดให้มันได้ครึ่งหนึ่งของการรณรงค์ให้คนซื้อ CD ก็คงจะดีไม่น้อย

ป.ล. มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ผมไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ แต่มันเกี่ยวแน่ๆ เช่น เรื่องการแบ่งสรรค์ปันส่วนงบในการสร้างความบันเทิงของคนที่ต่างไปในแต่ละยุค ถ้าคุณดูในประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมคุณก็จะพบว่าบางครั้งเมื่อสิ่งใหม่ที่ให้ความบันเทิงเกิดขึ้น มันก็แทบจะทำลายสิ่งเก่าๆ ไปเลย เพราะคนเลิกบริโภค การเกิดขึ้นของภาพยนตร์ตอนต้นศตวรรษที่ 20 ก็เป็นตัวอย่างที่ดี แต่โอเค ผมไ่ม่ขอลงรายละเอียดตรงนี้

จากคุณ : FxxkNoEvil
เขียนเมื่อ : 1 ต.ค. 53 12:05:43




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com