Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เด็กสมัยนี้และคนสมัยนี้ยังฟังเพลงเป็นอัลบั้มกันอยู่หรือเปล่า ???

เด็กสมัยนี้และคนสมัยนี้ยังฟังเพลงเป็นอัลบั้ม? กันอยู่หรือเปล่า

ผมเริ่มจะรู้สึกคล้ายๆ กับว่ารูปแบบการฟังเพลงเป็นอัลบั้มมันเป็นรูปแบบการฟังเพลงของคนรุ่นเก่าไป แล้ว (เหมือนจะได้ประเด็นมาจากเพื่อนสักคน)

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ว่าจะได้อะไรมาผมก็พยายามจะฟังตามรูปแบบที่มันถูกกำหนด มาแต่แรก จะไม่มีการสลับเพลงฟัง ฯลฯ

แต่ผมไม่แน่ใจว่าสมัยนี้ หรือสมัยต่อๆ ไปมันจะเป็นยังไง

ถ้าคุณย้อนดู Album Format มันก็ไม่ใช่สิ่งที่มีอายุยาวนานเท่าไร มันเป็นสิ่งที่โผล่มาชัดเจนช่วงปี 1950's เพราะว่าเทคโนโลยีมันเอื้อ (ก่อนหน้านั้นรูปแบบหลักในการค้ากำไรกับการขายงานดนตรีของธุรกิจดนตรีคือซิ งเกิล) และรูปแบบอัลบั้มก็เป็นรูปแบบหลักในธุรกิจดนตรีตะวันตกตั้งแต่ราวๆ ทศวรรษที่ 1960

รูปแบบการออกงานเป็นอัลบั้มเป็นสิ่งที่สร้างนิสัยการฟังเพลงในบางแบบขึ้น กล่าวคือการฟังเพลงต่อเนื่องในฐานะเรื่องเดียวกันเป็นเวลา 40-60 นาที

ยิ่งสมัยก่อนคุณฟังแผ่นเสียงคุณก็ยิ่งต้องฟังแบบยาวรวดเลย (โอเค อาจมีเปลี่ยน Side เพื่อฟังต่อ)

ไอ้รูปแบบการฟังแบบนี้มันก็มีมาตลอดตั้งแต่ 1960's-1990's คนที่โตมาในรุ่นนั้นๆ ก็จะมีรูปแบบการฟังเพลงแบบนี้

แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ ผมไม่แน่ใจ

ผมคิดว่าการคิดว่าคนทุกๆ คนจะฟังเพลงบนฐานของอัลบั้มมันดูจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะนำไปสู่ข้อเท็จจริง ของพฤติกรรมคนเ่ท่าไร จึงอยากจะชวนอภิปรายเรื่องนี้กันครับ

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่อง Album มันก็มีความซับซ้อน

ดนตรีหลายๆ ชนิดมันก็ไม่เคยอยู่ด้วย ซิงเกิล เป็นหลัก (ลองคิดถึงพวก Progressive Rock, Heavy Metal, Jazz ในยุคครึ่งหลังศตวรรษที่ 20's)

หรือไม่ก็อยู่บนการออกงานแบบอื่นเป็นหลัก (เช่นพวก Underground Punk ยุค 1980's ที่ Release มันจะเป็น แผ่น 7 นิ้ว แผ่น 12 นิ้ว หรือ Split เต็มไปหมด ซึ่งของพวกนี้เข้าใจบนฐานของ EP ไม่ได้ บางวงดังๆ จะหา "อัลบั้มสำคัญ" ยังยากเลย)

ถ้าคนเลิกทำอัลบั้มแล้วอนาคตของสิ่งเหล่านี้จะเป็นอย่างไรก็น่าสนใจ

ผมในฐานะของคนทำเพลงก็ตั้งคำถามออกมาในการทำงานบนฐานของอัลบั้มมากขึ้น เรื่อยๆ

คือ ผมไม่ต้องการจะทำดนตรีเพียงแค่จะใ้ห้มันออกมารับใช้รูปแบบการฟังคนรุ่นใด รุ่นหนึ่ง แต่ผมต้องการหลายๆ อย่างในการทำงานออกมา

การทำงานออกมาใน Album Format ในฐานะสิ่งที่สมบูรณ์ในตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ชวนเหนื่อยอ่อนมาก เพราะ คุณต้องแต่งเพลงออกมาให้ยาวรวมกันกว่าครึ่ง ชม.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ต้องการให้มี "เศษเพลง" ในอัลบั้มของคุณ

ในแง่นี้การจะ Release แต่ละครั้ง มันก็ต้องใช้เวลานานมากๆ เพราะ กว่าจะขัดเกลาอารมร์ให้มาเป็นเพลงมันก็ต้องใช้เวลา

บางคนอาจบอกว่า การออกอัลบั้มมันมีข้อดีคือ เวลาคุณลงทุน คุณลงทุนไปทีเดียวเลย เพลงมันจะยาวแค่ 10 นาที หรือ 40 นาที คุณก็ต้องไปหาคนวาดปก และคุณต้องต้องเสียค่าปั๊มแผ่น ทำปก บรรจุหีบห่อ ฯลฯ เท่ากันอยู่ดี

ยังงั้นผมก็กังขาอีกว่าเวลาคุณทำงานเพลง คุณกำลังทำอะไรกันแน่? ผลิตเสียง? หรือผลิตวัฒนธรรมทางสายตาและผัสสะชนิดอื่น?

ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรื่องผิด แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่ง "จำเป็น"

คือทุกวันนี้ทางเลือกในการนำเสนองานในแบบอื่นก็มีเยอะแยะ อินเตอร์เน็ตก็เป็นทางออกที่ดี คุณจะขายงานก็ได้อะไรก็ได้

จะพูดถึงการ "สนับสนุนศิลปิน" ผมก็คิดว่าควรจะมองสถานการณ์ให้มันสมจริงขึ้นจะดีกว่าใหม แล้วเลิกมองว่า การซื้ออัลบั้มเป็นการสนับสนุนศิลปิน เพียงแบบเดียว คุณอาจต้องมาขาย Merchandise แบบอื่น เล่นสดมากขึ้นแล้วกระตุ้นให้คนมาดู ฯลฯ

เพราะ ข้อเท็จจริงก็คือ ทุกวันนี้อัลบั้มมันขายยากจะตาย ยอดที่เมื่อก่อนคาดหวังได้หลักหลายแสน เดี๋ยวนี้มันได้แค่หลักหมื่นก็โคตรหรูแล้ว

ธุรกิจดนตรีมัน ขยับตัวไปเน้นขาย Ringtone และเริ่มมอง Business Model เปลี่ยนไปมันก็ถูกแล้วในแง่ธุรกิจ

พอประเด็นไปไกลไปหน่อย แต่หลักๆ คือ อยากจะชวนคิดเรื่องอนาคตของวัฒนธรรมดนตรีในยุคที่การทำงานออกมาเป็นอัลบั้ม ดูจะไม่ใช่รูปแบบหลักอีกต่อไปแล้ว

ซึ่งมันก็ต้องซับซ้อนแน่ เพราะ วัฒนธรรมดนตรีมันเป็นสิ่งที่มีปีกย่อยๆ ที่มีรายละเอียดที่แตกต่างหลากหลายไม่ใช่แค่ "วงการดนตรี" ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว

ป.ล. ผมขอไม่พาไปประเด็นที่ว่า "การโหลดเพลงทำลายวงการดนตรี" เพราะนี่เป็นเรื่องซับซ้อนที่ผมว่าไม่ควรจะจบลงด้วยภาษิตง่ายๆ ที่พูดแล้วดูเป็นคนดีมีศีลธรรม (เอาจริงๆ "วงการดนตรี" เสื่อมลงด้วยหลายปัจจัย การขยายตัวของการบริโภคสินค้าบันเทิงอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยที่คนไม่กล่าวถึงเท่าไร)

เอาจริงๆ ธุรกิจดนตรีสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 ก็ "ทำลายวงการดนตรี" สมัยเก่าที่มีมาก่อนหน้านั้นเหมือนกัน คนสมัยก่อน เขานั่งฟังงานแสดงดนตรีสดกันยาวๆ ได้เป็นครึ่งวันหรือข้ามคืน ธุรกิจดนตรีและธุรกิจบันเทิงสมัยใหม่ ต่างๆ หากที่ทำลายวัฒนธรรมเหล่านั้นไป ถ้าใกล้ๆ ก็ดูในไทยแล้วกันว่าเพลงพื้นบ้านหายไปแค่ไหน ถ้าใกลๆ หน่อย คุณก็จะเห็นรุปแบบการแสดง Vaudeville ในอเมริกาที่เคยได้รับความนิยมมันหายไปพร้อมๆ กับภาพยนตร์และธุรกิจดนตรีสมัยใหม่

พูดง่ายๆ คือ รูปแบบการฟังเพลงในศตวรรษที่ 20 มันก็เกิดขึ้นมาด้วยการทำลายรูปแบบการฟังดนตรีแบบอื่นเหมือนกัน การเกิดขึ้นของมันทั้งทำให้คนไปฟังดนตรีสดน้อยลง ทำให้สมาธิสั้นลงสารพัด แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้จะดำรงอยู่อย่างอมตะนิรันดร์การ

จากคุณ : FxxkNoEvil
เขียนเมื่อ : 13 ต.ค. 53 10:06:00




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com