Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
Review: Atheist - Jupiter ติดต่อทีมงาน

Tracks
1. Second to Sun
2. Fictitious Glide
3. Fraudulent Cloth
4. Live and Live Again
5. Faux King Christ
6.Tortoise the Titan
7. When the Beast
8. Third Person

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว นานมาเกือบจะสามสิบปีเห็นจะได้ ณ รัฐฟลอริดาในสหรัฐฯ โลกของเราก็ได้ให้กำเนิดวงดนตรีที่ถือว่าเป็นรุ่นใหญ่วงหนึ่งในวงการเดธเมทัล และเป็นหนึ่งในวงผู้เบิกทางในสาขาเทคนิคัลอีกด้วย พวกเขาคือ Atheist ซึ่งยุบวงมาสองครั้งแล้วโดยล่าสุดนั้นคือหลังจากการทำอัลบั้ม Elements เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการทิ้งช่วงที่นานมาก นานถึง 13 ปี ก่อนที่จะกลับมารวมตัวเพื่อเดินสายแสดงสดกันอีกทีตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา และข่าวคราวของพวกเขาก็เงียบหายไปช่วงหนึ่งจนกระทั่งแกนนำของวงอย่างน้าเคลลี่ แชเฟอร์ ได้ประกาศว่าตอนนี้พวกเขากำลังทำงานใหม่กันอยู่ โดยใช้ชื่อชุดว่า Jupiter นี้เอง แถมแกก็ได้เปรยไว้อีกนิดหน่อยว่าอนาคตแกอาจจะมีงานเดี่ยวของตัวเองที่ออกเป็นแนวแจ๊สๆอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายนิดหน่อยสำหรับงานใหม่ของวง ตรงที่จะไม่มีมือเบสจอมลีลาอย่างน้าโทนี่ ชอยมาร่วมลงขันในสตูดิโอด้วย แต่ก็มีโอกาสที่แกจะมาร่วมแสดงสดด้วย เพราะ Atheist นี้มีอิทธิพลของน้าเคลลี่กับน้าโทนี่เป็นหลักอยู่แล้ว สำหรับงานชุดใหม่นี้จึงได้โจนาธาน ธอมป์สันมาเล่นเบสแทนน้าโทนี่ในห้องอัด ส่วนตอนแสดงสดน้าโทนี่จะมาเล่นเบสหรือไม่นั้นคงต้องรอติดตามกันต่อไป และงานนี้พวกเขาก็ได้สังกัดใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือ Season of Mist ซึ่งเป็นสังกัดใหญ่จากแดนน้ำหอม โดยงานชุดนี้ได้ออกมาพร้อมกับงานใหม่ของวงแบล็คเมทัลเจ้าถิ่นอย่าง Deathspell Omega (ติดตามได้จากรีวิวของ Lilium ครับ) เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมานี้เอง

งานชุดนี้ พวกเขาจะนำพาเราไปอดีตอันรุ่งเรื่องกับเพลงเดธเมทัลขนาดสั้นที่เน้นเทคนิคจัดจ้านอย่างที่พวกเขาเคยทำไว้ในงานระดับขึ้นหิ้งอย่าง Piece of Time และ Unquestionable Presence แต่ก็มีบางเสี้ยวที่อาจทำให้ชวนนึกถึงงานที่เบาที่สุดและแจ๊สที่สุดอย่าง Elements อยู่บ้าง แต่ถือว่าน้อยมาก และแม้ซาวด์จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เรื่องความหนักแน่นและซับซ้อนของภาคดนตรีนั้นก็ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน และอีกประการหนึ่งก็คือการได้มือกลองยุคก่อตั้งอย่างน้าสตีฟ ฟลินน์กลับมาร่วมชายคาตั้งแต่การเริ่มต้นของช่วงรียูเนียนก็อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับแฟนเก่าๆที่ติดตามผลงานของวงมาตั้งแต่ชุดแรก และแม้ทางวงจะไม่มีน้าโทนี่ก็ตาม พวกเขาก็ยังสามารถรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้อย่างดีทีเดียว

ภาคกีต้าร์ในชุดนี้ถือว่ามีความซับซ้อนพอสมควร โดยเฉพาะงานนี้มีคนเล่นกีต้าร์ถึงสามคน สามไลน์ คอยสอดประสานไปพร้อมทำให้เกิดเสียงที่มีรายละเอียดซับซ้อน ท่อนริฟฟ์แต่ละท่อนนั้นทั้งสามตัวก็เล่นกันได้อย่างหนักแน่นและแพรวพราว ส่วนท่อนลีดกับโซโลที่หวือหวานั้นก็เป็นอะไรที่ทางวงจะขาดไปไม่ได้ โดยเฉพาะท่อนโซโลนี่กะเล่นเพื่อเซอร์วิสให้กับนักดนตรีโดยเฉพาะเลยละ ส่วนเบสของโจนาธานนั้นก็ทำหน้าที่ได้ดีในการดึงความแข็งแกร่งของภาคดนตรีทั้งหมดออกมา แม้จะยังเป็นรองต้นตำรับอย่างน้าโทนี่ในด้านประสบการณ์ก็ตาม สุ้มเสียงนั้นก็ถือว่าทำได้ใกล้เคียงที่น้าโทนี่เคยทำไว้ในชุดก่อนๆ แต่รายละเอียดอาจจะไม่มากเท่า อย่างไรก็ตามภาคเบสของเขายังสามารถพัฒนาได้อีก ไลน์กลองของน้าฟลินน์นั้นทำให้นึกถึงบรรยากาศในสองชุดแรกได้ชะงัดแม้สุ้มเสียงหรือองค์ประกอบอื่นๆอาจจะไม่เหมือนเดิมแล้วก็ตาม แต่แกก็แอบมีลูกเล่นของแจ๊สอยู่ในเพลงด้วย เพื่อเป็นการสร้างสีสันให้กับงานเพลง ส่วนเรื่องเทคนิคนั้นคงไม่ต้องพูดถึงกันเพราะไลน์กลองของแกในชุดนี้ถือว่ามีรายละเอียดที่ซับซ้อนอยู่พอสมควร ส่วนเสียงร้องของน้าเคลลี่นั้น แม้แกจะแก่ลงแต่เสียงของแกก็ไม่ได้แก่ลงไปเลยแม้แต่น้อย (จะว่าแก่แล้วยังไฟแรงก็คงได้) และวิธีการร้องเดธเมทัลของแกก็ไม่เหมือนชาวบ้าน (สันนิษฐานเอาว่าแกอาจจะร้องแบบนี้เพื่อรักษาเสียงตัวเองก็เป็นได้) มาตั้งแต่ Elements แล้ว (สองชุดแรกแกยังเน้นสำรอกอยู่) แต่การที่ทิ้งช่วงมานานแบบอาจทำให้พลังเสียงลดลงไปบ้างนิดหน่อย

พวกเขาทำออกมาแค่แปดเพลง และทุกเพลงล้วนเป็นงานขนาดสั้นที่กะว่าจะเอาแฟนๆให้อยู่หมัดเลยทีเดียว เริ่มด้วยเพลงเปิดตัวที่มีมาให้ชิมลางกันก่อนที่อัลบั้มจะออกอย่าง Second to Sun ซึ่งก็ทำให้หวนนึกถึง Elements ที่เด่นด้านไลน์กีต้าร์ประสานและใส่ริฟฟ์กีต้าร์หนักๆแบบสองชุดแรก ถัดมากับ Fictitious Glideที่อัดท่อนบลาสต์มาตรฐานเดธและมีการสลับสัดส่วนกันไปเรื่อยๆ รวมถึงไลน์กีต้าร์ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในช่วงท่อนโซโล แถมช่วงท้ายๆมีการตบโชว์อีกด้วย แต่กลับไม่โดดเด่นมากนัก แทร็คที่สาม Fraudulent Cloth มาเพลงนี้น้าๆกะโชว์ฝีมือกันเต็มที่อัดสัดส่วนขัด ไลน์กีต้าร์ซับซ้อนเหนือมนุษย์ และก็เร่งความหนักหน่วง ส่วนแทร็คที่เหลือก็จะให้โทนอารมณ์คล้ายๆกับสามแทร็คแรกดั่งที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นมาตรฐาน

งานนี้ถือว่าเป็นการกลับมาของน้าๆกลุ่มนี้จริงๆ เป็นนัยๆว่าถึงจะแก่แต่ก็ยังมีไฟจะทำเพลงอยู่ (โดยเฉพาะน้าเคลลี่ละนะครับ ฮา...) แต่ถ้าหากให้เปรียบเทียบกับความสำเร็จที่ได้มาจากสองชุดแรก พวกเขายังทำได้ไม่ถึงในจุดนั้น ฉะนั้นงานชุดนี้อาจจะทำให้แฟนๆผิดหวังไปบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังรักษามาตรฐานมาได้จวบจนทุกวันนี้ แต่ถ้าหากใครชอบดนตรีที่เน้นเทคซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็คงจะชอบได้ไม่ยากนัก และงานนี้อาจจะเหมาะกับนักดนตรีในสาขาเมทัลที่จะเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการเล่น (แต่ถ้าจะเอามาคัฟเวอร์อาจต้องคิดหนักเหมือนกับ Brain Drill ฮา...) และหลังจากนี้ ทางวงจะได้น้าโทนี่มาร่วมเล่นในช่วงทัวร์อีกหรือไม่นั้น ก็คงต้องติดตามกันตอนต่อไป

Rating: 7.3 /10

จากคุณ : JPMR
เขียนเมื่อ : 27 พ.ย. 53 15:55:08




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com