 |
สมัยอาต้อย เศรษฐา และคุณจุ๋ม อุทุมพร เป็นพิธีกรนั้น การประกวดตอนนั้นยังดูตื่นเต้นกว่า KPN ยุคนี้มาก ก่อนเริ่มต้นการประกวด อาต้อยจะบอกผู้ชมในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยทุกครั้งว่า ขอความกรุณาปิดสัญญาณเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเพื่อไม่ให้รบกวนผู้เข้าแข่งขัน (คนดูจะรู้สึกตื่นเต้นว่าการประกวดจะเริ่มแล้ว แล้วก็ให้ความร่วมมืออย่างดี)
สำหรับการประกวดนั้น จะเป็นการร้องประกวดทีเดียวรวดทั้ง 10 คน โดยเริ่มต้นจากเพลงไทยสากลก่อน เมื่อผู้ประกวดร้องเพลงไทยสากลครบทั้ง 10 คนแล้วจึงเริ่มต้นการประกวดเพลงสากลจนครบทั้ง 10 คนอีกครั้ง
สมัยก่อนจะไม่มีโฆษณาเลย ประกวดรวดเดียวจบจริงๆ กระแสธุรกิจไม่รุนแรงเหมือนยุคปัจจุบันนี้ (แต่ยุคอาต้อยหลังๆ ก็เริ่มมีโฆษณาสอดแทรกเข้ามา) เพราะฉะนั้นเวลาดูประกวด จะเป็นการดูที่เต็มอิ่มจริงๆ และผู้ชมก็จะเห็นความสามารถและศักยภาพของผู้เข้าประกวดอย่างเต็มที่ ใครมีเท่าไหร่ก็งัดออกมาใช้จนหมด เรียกว่าต้องโชว์ของกันอย่างเต็มที่
และด้วยความที่คณะกรรมการและผู้ชมไม่มีความผูกพันกับผู้เข้าประกวด (ไม่มีแฟนคลับเหมือนสมัยนี้) ทำให้ทั้งกรรมการและผู้ชม "โฟกัส" ไปที่คุณภาพของการร้องเพลงเป็นหลัก คนที่จะคว้าถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปครองได้นั้นต้องเป็นคนที่ร้องดีจริงๆ เท่านั้น ชนะกันด้วยพลังเสียงและการถ่ายทอดอารมณ์เพลงจริงๆ
อย่าว่าแต่ผู้ชนะเลิศเลย แม้แต่นักร้องดีเด่นแต่ละคน ก็ยังร้องเพลงได้เพราะ โดดเด่น และจับใจกว่าผู้ชนะเลิศสมัยนี้มาก เช่น ปานวาด อภิโช เป็นนักร้องดีเด่นด้วยการประกวดเพลงเก่า "สิ้นรักสิ้นสุข" และ "THOSE WERE THE DAYS" ซึ่งน้ำเสียงของเธอหวานเย็นยะเยือก ตรึงใจผู้ชมมาจนถึงทุกวันนี้ หรืออย่างปนัดดา เรืองวุฒิ เป็นนักร้องดีเด่นด้วยการประกวดเพลงของครูของเธอเอง "รักที่หลุดลอย" และ "FREE AGAIN" ที่ยังคงก้องกังวานสดใสในโสตประสาทของผู้ชมมาจนถึงทุกวันนี้อีกเช่นกัน (อย่าให้พูดถึงผู้ชนะเลิศในปีนี้เลย ที่ร้องรอบชิงชนะเลิศก็เพี้ยน และเสียงยังแหบอีกต่างหาก)
แล้วเพลงแต่ละเพลงที่ผู้เข้าประกวดเลือกมาร้องนั้น ก็มักจะเป็นเพลงที่ร้องยาก เป็นเพลงในตำนาน เป็นเพลงที่เอามาเรียกคะแนนโดยเฉพาะ ไม่ใช่เพลงป๊อบฟังง่ายๆ เหมือนในยุคนี้ ทำให้การประกวดแต่ละครั้งน่าจดจำมากขึ้นไปอีก เพราะเพลงเหล่านั้นจะเข้าไปอยู่ในความทรงจำของผู้ชมตราบนานเท่านาน แม้ผู้ชมอาจจะลืมชื่อจริง นามสกุลจริง ของผู้เข้าประกวดไปแล้ว แต่ผู้ชมยังคงจำ "ชื่อเพลง" ที่ร้องประกวดได้ (นั่นไง...คนที่ร้อง "เพลิงพ่าย", อ๋อ คนที่ชนะจากเพลง "ชีวิตบัดซบ" ไง, อ๊ะ...ผู้หญิงที่เอาเพลง "กระจกร้าว" ของไฮร็อคมาประกวดไง) ต่างกับสมัยนี้ ที่ผู้ชมสามารถจดจำชื่อของผู้เข้าประกวดได้เป็นอย่างดี รู้รายละเอียดของพวกเขาไปหมดทุกอย่าง เขาอายุเท่าไหร่ เรียนที่ไหน ชอบอะไร ฯลฯ แต่แทบจำไม่ได้เลยว่าพวกเขาร้องเพลงอะไรไปบ้าง แล้ว....มันเพราะตรงไหนกัน?
จากคุณ |
:
paul_pipat
|
เขียนเมื่อ |
:
29 พ.ย. 53 13:10:45
|
|
|
|
 |