Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
[บทบันทึก] Super Junior:Super Show 3 บทบันทึกปรากฏการณ์ “เอลฟ์” สั่นสะเทือนสังคมไทย ติดต่อทีมงาน

*หมายเหตุ บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะสร้างอารมณ์ดรามาใดๆ แต่เขียนขึ้นมาเพื่อเตือนสติน้องๆที่บางทีอาจจะไม่รู้ตัว และส่วนตัวที่ได้ไปชมคอนเสิร์ตนี้ก็เพราะสนใจปรากฏการณ์ KPOP Wave เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงอยากเอาเรื่องที่พยายามทำความเข้าใจมามองสังคมไทยของเราเวลานี้ ไม่ได้ต้องการที่จะพาดพิงบุคคลที่สามให้เกิดอคติหรือความเสียหายแต่ประการใด ขอบพระคุณอย่างสูง*


นี่อาจจะไม่ใช่รีวิวการแสดงคอนเสิร์ตแบบที่เคยเป็นมาเท่าไหร่ เพราะคิดว่าบทความ “เล่า” คอนเสิร์ตเกาหลี น่าจะมีให้อ่านกันเยอะแยะทั่วไปตามเวปไซต์แฟนคลับและเวปข่าวเกาหลียอดฮิตในบ้านเรา

เอาล่ะถ้าอย่างนั้นบทความนี้จะเขียนถึง “อะไรบางอย่างที่คุณอ่านแล้วอาจจะตกใจบ้าง” มันอาจจะไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด กระนั้นบางส่วนที่ผู้เขียนพยายามจะบอกก็เพื่อเตือนสติอะไรบางอย่าง ก่อนที่บางทีผู้ใหญ่ในสังคมอาจจะรู้ช้าเกินไป

จริงอยู่ที่ปรากฏการณ์การบ้าดาราต่างชาติโดยเฉพาะเอเชีย ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มันเกิดมานานนมแล้วตั้งสมัย JPOP F4 ฮ่องกง ไต้หวัน จนยาวเลยมาถึงยุค KPOP ครองเมือง คำถามก็คือ มันเคยรุนแรงและสามารถสร้างคำนิยามที่เรียกว่า “Artist Royalty” (ความจงรักภักดี) ในตัวศิลปินได้มากมายเท่านี้มาก่อนหรือไม่ สังคมเราควรจะตั้งคำถามกับการที่ “วัฒนธรรมเกาหลี ไหล่บ่าเข้าสู่ประเทศเราอย่างล้นทะลัก” แล้วหรือยัง

ราคาบัตรคอนเสิร์ต

นับวันมาหลายปีราคาบัตรคอนเสิร์ตเพลงเกาหลีก็ทะยานถีบตัวเองให้มีมูลค่าแพงลิบลิ่วขึ้นไปทุกที สืบเนื่องมาจากหลักเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ เมื่อความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย ผู้ผลิตย่อมสามารถ”ขึ้นราคา” ได้ตามใจ (ซึ่งความเหมาะสมของราคาก็ต้องอยู่ในความสามารถที่จะซื้อของลูกค้าได้ด้วย)

บัตรคอนเสิร์ตครั้งนี้ราคาถูกที่สุดคือ 900 บาทซึ่งเป็นโซนที่ไกลลิบเห็นศิลปินเท่ามด แถมยังโดนบดบังด้วย LED วงแหวนที่สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ ถัดลงมาอีกหน่อยเป็นราคา 1500 บาทและ 3000 บาทตามลำดับ ถัดลงมาอีกชั้นก็มีให้เลือกตั้งแต่ 4500 และ 5000 บาท ส่วนโซนยืนนั้นเท่ากันในหลุมละ 4000 บาทถ้วน และเอ็กคลูซีฟสุดๆสำหรับคนกระเป๋าหนัก 6000 จ่ายไปเลยนั่งข้างๆคอนโทรล

ถึงแม้หลายคนอาจจะดูเป็นเงินเล็กๆน้อยๆแต่สำหรับบัตรคอนเสิร์ตหนึ่งใบกับกลุ่มเป้าหมายที่กำลังอยู่ในวัยมัธยมต้นจนถึงปริญญาตรีนั้น ถือได้ว่ามันมีมูลค่าสูงพอๆกับที่เด็กคนหนึ่งสามารถใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้เดือนหนึ่งเลยทีเดียว เงินหกพันบาทจึงมีค่ามากๆสำหรับอีกหลายคน ที่สำคัญคือหลายคนไม่ได้มีบัตรคอนเสิร์ตแค่รอบเดียว จนนำไปสู่คำถามข้อถัดไปว่า
น้องๆหาเงินจากไหนมาดูคอนเสิร์ต?

“ทำงานแล้ว พอลูกชายมาทัวร์คอนเสิร์ตก็อดไม่ได้ที่จะมาเชียร์จริงๆเนอะ” เสียงเล่าจากหญิงสาวบนรถสองแถว

“หนูเก็บเงินเองค่ะ”

“พ่อแม่ให้รางวัลเพื่อแลกกับผลการเรียนที่ดีของหนู พี่หนูเกรด  3.5 ขึ้นไปเท่านั้นนะคะ พ่อถึงยอมให้หนูมาดูได้”

สองคำตอบบนอาจจะเป็นคำตอบของน้องๆวัยใสที่ยังไม่ได้เผชิญปัจจัยอะไรเท่ากับคำตอบล่าง

“ก็ ลูกสาวอยากดู พ่อก็เลยพาเค้ามาจริงๆถ้าเค้ารู้ว่าเงินที่พ่อให้เขาเพื่อเป็นรางวัลที่น้องตั้งใจเรียน พ่อก็เลยผ่อนสินเชื่อให้เค้าก่อน แล้วลูกสาวก็จะเอาเงินค่าขนม มาขอหักที่พ่อจะต้องผ่อนเงินเขาเป็นรายเดือนไป” คุณพ่อของน้องท่านหนึ่งตอบหลังจากที่ลูกสาวเข้าไปในงานแล้ว (สอบถามวันที่ 15 มกราคม 2554 รอบแรกของการแสดงคอนเสิร์ต)

นี่ถือเป็นเรื่องน่าตกใจของการหาเงินมาชมคอนเสิร์ตเกาหลีในปัจจุบันแล้วหรือยัง?


จริงอยู่ที่ว่าการที่เป็นเด็กตั้งใจเรียนเพื่อแลกกับสิ่งของบางอย่างเช่นบัตรคอนเสิร์ตที่ราคาสูงลิบลิ่วนั้น เด็กหลายคนอาจจะมองแค่ว่าตัวของหนูเองทำดีเพื่อให้ที่บ้านภูมิใจแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ก็ควรจะตอบแทนพวกเขาด้วยสิ่งที่ตนปรารถนา โดยหารู้ไม่ว่าความ “อยาก” เหล่านั้นเป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงพ่อแม่ของตัวเองโดยที่น้องๆอาจจะ “ยัง” ไม่ทันคิดหรือ “ยัง” ไม่ถึงเวลาที่จะคิด

จะรอให้สายไปกว่านี้กระนั้นหรือ อันนี้อยากลองให้น้องๆชาวเอลฟ์ลองกลับไปถามที่บ้าน ถามคุณพ่อคุณแม่น้องว่าทุกวันนี้พวกท่าน “มีเงินพอที่จะไม่เป็นหนี้ใครไหม” หรือเพราะพ่อแม่ของน้องๆก็อยากจะให้ลูกๆของตัวเองได้รับสิ่งที่ลูกต้องการ จึงพยายามจะหาเงินเพื่อมาให้น้องๆได้มาดูคอนเสิร์ตกันทั้งที่ความเป็นจริงแล้วก็อดที่จะรู้สึกไม่ได้ว่ามันเป็น “ส่วนเกินของชีวิต” อาจจะยากที่จะตั้งคำถาม แต่มันก็เป็นเรื่องที่ “ควร” จะทำมิใช่หรือกับเด็กไทยที่มีความคิดและเก่งกาจเรื่องความคล่องตัวในการตามศิลปิน เรียนรู้วัฒนธรรมจากชาติอื่นได้ไวไม่แพ้ชาติใดในโลก

ของที่ระลึกราคาสูงลิบลิ่ว

พะป้ายว่า Official Good ทุกครั้ง เหล่าแฟนคลับก็อดไม่ได้ที่จะไปรุมต่อคิวซื้อ ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดตัวราคา 1000 บาทและสินค้าอย่างอื่นที่ราคาก็สูงลิ่วไม่แพ้กัน ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปที่ต้นทุนของสินค้าเหล่านี้สามารถคำนวณได้เลยว่ามัน “กำไร” มากกว่า 300 เท่าของราคาต้นทุนวัตถุดิบ ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปเดินตลาดนัดและเอาเงินมาคำนวณเปรียบเทียบกันได้

การต่อแถวรอชมคอนเสิร์ต

น่าจะถือว่าเป็นที่ค่อนข้างปรากฏการณ์ใหม่ (ซึ่งจริงๆเกิดมาตั้งแต่สมัยคอนเสิร์ตใหญ่ของเรน ดงบังชินกิ แล้ว) ที่แฟนคลับจะยอมลงทุนหอบสื่อ หมอน เต้นท์ มาเฝ้าหน้าทางเข้า เพื่อให้ตนเองได้เป็น “คนกลุ่มแรกที่ได้วิ่งเข้าไปเกาะรั้ว เพื่อกรี้ดศิลปินที่ตนชื่นชอบอย่างใกล้ชิด ที่น่าห่วงคือน้องๆหลายคนยอมอดตาหลับขับตานอนเพื่อมารอตั้งแต่ สองทุ่มของอีกวันก่อนงานคอนเสิร์ต เพื่อที่จะรอเข้าไปในงานของอีกวันหนึ่งเวลา 16.00 น. มีเคสที่เป็นลมกันในงานมาก็ไม่ใช่น้อยๆ (บ้าดาราไม่ใช่เรื่องผิด แต่ตรงนี้มองในแง่ของความเหมาะสมด้านอายุ วุฒิการศึกษา และการตามใจตัวเอง)

แต่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียแต่อย่างเดียว มันถือเป็นปรากฏการณ์ที่มองอีกด้าน ก็น่าชื่นชมในการกระทำของน้องๆที่มีความพยายามสูงมากๆทีเดียว ถ้านำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันจะช่วยผลักดันประเทศได้ไม่น้อยและที่สำคัญแฟนคลับของวงเกาหลี “แทบจะไม่” มาดูคอนเสิร์ตสายเกินเวลา หรือถ้ามีก็อาจจะมีแค่ ไม่ถึง 1% เรียกได้ว่าเป็น “คนตรงต่อเวลาและรักษาผลประโยชน์ของตัวเองได้ดีจริงๆ”

เมื่อพูดถึงการรักษาสิทธิ

เป็นประเด็นที่น่าทำความเข้าใจอีกเช่นกันว่า ก็มีหลายคนที่เข้าใจ “สิทธิ” ของตนอย่างเต็มที่ นั่นคือ ตนเสียเงินมาแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ทว่า สิทธิเหล่านั้นกลับถูกจำกัดด้วยข้อห้ามต่างๆ เช่น “การนำกล้องเข้าไปในงาน” อันนี้มักจะเกิดเป็นกรณีศึกษาอยู่บ่อยครั้งที่น้องๆ ก็มักจะหาวิธีแอบนำกล้องเข้าไปในงาน จนเกิดการปะทะกันระหว่างแฟนคลับและซิเคียวริตี้อยู่บ่อยครั้ง จนมักลามเลยถึงขั้นการทะเลาะเบาะแว้ง และเสียน้ำตาได้บ่อยๆ หรือความพยามจะทำ “โปรเจ็คแท่งไฟ ลูกโป่ง” ให้กับศิลปินที่ตนรัก

เหตุการณ์พวกนี้สะท้อนอะไร? มันสะท้อนความพยายามที่เก่งกล้าของแฟนคลับได้เป็นอย่างดี เลยเถิดถึงใครที่สามารถนำกล้องเข้างานได้จะรู้สึกว่าฉันทำได้ คนตรวจทำไมไม่เห็นกล้องฉันหนอ แล้วก็นึกดีใจ จนกว่ากล้องที่นำไปถ่ายนั้นจะโดนเพ่งเล็ง และถูกลากตัวออกไปให้ฝากกล้อง ซึ่งจะตามมาด้วยโมนเมนต์ดราม่าอย่างที่ได้เล่าไว้ข้างต้น ซึ่งหนทางปฎิบัตินี้ “ง่ายนิดเดียว” ถ้าเราทำตามข้อห้าม เราก็จะได้ดูคอนเสิร์ตอย่างปกติสุข และไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่นอีก (อีกอย่างการบ่มเพาะการทุจริตเล็กๆ เมื่อทำนานๆมันอาจจะติดเป็นนิสัยแบบที่เรา “เคยชิน” ก็ได้)
แต่สิทธิของเราก็โดนละเมิดอยู่บ่อยครั้ง

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยถึงบ่อยมากช่วงเพลงสุดท้ายของคอนเสิร์ต ที่น้องแฟนคลับมักจะวิ่งกันกรูลงมาเพื่อเกาะราวเหล็กด้านหน้า เพื่อมองศิลปินใกล้ๆ แต่หารู้ไม่ว่ายิ่งลงมากันมาก ก็จะยิ่ง “บังคนที่นั่งในโซน ที่นั่งอยู่ด้านล้างจนมิด การละเมิดสิทธิเกิดขึ้นแล้ว ณ จุดๆนี้ ซึ่งเหล่าเจ้าหน้าที่ ก็ต้องบอกตรงๆเลยว่า “การรับมือกับฝูงชนจำนวนนับสิบที่กรูกันลงมาจากที่สูง ให้ไปไล่ยังไง “แฟนคลับ กี่คนที่จะยอมเชื่อฟัง”

“พวกแกจะบังอะไรกันนักหนา ที่ตัวเองไม่มีนั่งหรือไง ถ้าอยากดูใกล้ๆก็จ่ายเงินมาดูสิ” เมื่อแฟนคลับคนที่ถูกบังทัศนียภาพอดรนทนไม่ไหว ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของตัวท่ามกลางความชะงักงันของแฟนคลับคนอื่น พวกเขารู้ตัวจนเริ่มนั่งลง เพื่อไม่ให้เป็นการบังคนอื่น เอื้อโอนต่อเจ้าที่ที่จะเดินมาเคลียร์ให้ความเรียบร้อยเกิดขึ้นก่อนจะจบลงโดยปราศจากการตบตีกันของน้องๆ

จริงอยู่ที่ว่า “เรารักเราชอบ” แต่อย่าลืมว่าคนอื่นเขาก็รักเหมือนที่เรารัก “อย่าคิดถึงแค่ตัวเองแต่นึกถึงคนอื่นบ้าง” คนสอนนี้ยังคงฮิตติดหูของเราเสมอ อย่าลืมเก็บไปคิดและปรับใช้ดูกับชีวิตของเรา

โปรดักชั่นดี แต่กลบความไม่สมูทของการแสดง ที่เน้นความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าจะทำโชว์ภาพรวม

ไหนก็พูดมาถึงโมเมนต์สุดท้าย การแสดงความองค์รวมของโชว์ครั้ง ถ้ามองในแง่ของความเป็นคอนเสิร์ตโชว์ ถือได้ว่าสมบูรณ์แบบทั้งแสงสีเสียง มีทั้งพลุ นักร้องเหาะได้ ไฮโดรลิก การเล่นกับแสง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำโชว์ที่น่าสนใจ

แต่ (อีกแล้ว : ) ) เหมือนการให้ความสำคัญที่ตัวบุคคลจะให้ความสำคัญมากกว่า การร้องเพลงให้ดี การเพอร์ฟอร์มให้พร้อมเพรียงมากกว่านี้ (Super Show 1-2) ทั้งสิบคนนี้เคยทำหน้าที่ “ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่” เพราะดูเหมือนว่าการแสดงครั้งนี้ เป้าประสงค์หลักคือ “เซอร์วิสแฟนคลับ” แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ว่าจะจิ้น จะถอดเสื้อ จะแบ้วหน้าให้ เรียกได้ว่า “แฟนคลับ” ล้วนแล้วแต่รักและชื่นชมในการกระทำอยู่แล้ว  

ทั้งหมดที่เขียนมานี้ ไม่ได้จะต้องการโจมตีแฟนคลับชาวเอลฟ์แต่อย่างใด แต่พยายามนำเสนอมุมมองต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่ามันสร้างผลกระทบอะไรให้กับเราบ้าง แน่นอนบางคนอ่านแล้วอาจจะทนอ่านไม่ได้ ก็ต้องขออภัยจริงๆ แต่สำหรับคนที่อ่านจบ สิ่งเดียวที่ผู้เขียนปรารถนาก็คือแค่อยากให้เก็บเอาไปคิดพิจารณาดู ว่า “สติ” ของเรายังอยู่ดีไหม สิ่งที่เราทำไปเหมาะสมกับวัยของเราแล้วหรือยัง ถ้าดีแล้วก็จงทำต่อไป ถ้าไม่ดีก็ลอง “ปรับ” แก้ไขดูไหม

ฝากเอาไว้ให้มองอีกมุม

 
 

จากคุณ : Onlineza
เขียนเมื่อ : 16 ม.ค. 54 12:12:26




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com