 |
Kamen Puang Thao -- Traditional Thai Music -- Arranged by Parteep Supannaroj MA BA LRSM Mueller: Eiger, Symphonic Music (2004) Mueller: Dialogues Cellestes*, for Two Cellos and Orchestra (2009)
*Antonio Meneses and Pi-Chin Chien (Cellos)
Villaret (Live Concert 2011, Feb 19th)/ Thailand PO/ MACM Hall, College of Music, Mahidol University, Salaya, Nakhonpathom, Thailand
ภาษาอังกฤษข้างบนซึ่งลายตาคุณผู้อ่านไปหมดนั้น เป็นงานที่บรรเลงเป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของคอนเสิร์ต ซึ่งผู้เขียนยอมรับตามความรู้สึกของตนเองว่า ผู้เขียนตั้งใจจะกล่าวถึงซิมโฟนีของดวอชาคอันเป็นงานที่บรรเลงในช่วงครึ่งหลังเป็นหลัก แลเกรงว่าตัวเองจะหมดแรงไปกับการเขียนถึงงานของมึลเลอร์ไปเสียก่อนจะไปถึงโลกใหม่ ดังนั้น ผู้เขียนจะกล่าวถึงการบรรเลงงานทั้งสามชิ้นของ TPO อย่างรวดเร็วและจะไม่ปราณีตเท่าใดนัก...
TPO และวิลลาเรต์ผู้เป็นวาทยกรกำกับการบรรเลง เริ่มต้นด้วยการบรรเลงเพลง เขมรพวงเถา ซึ่งเดิมเป็นทำนองเพลงเก่าสำเนียงเขมร และได้ปรับ แต่งขยาย หรือ ตัดอัตรา โดยศิลปินและครูเพลงแห่งรัตนโกสินทร์หลายท่านหลายสำนวนเรื่อยมา สำหรับในคอนเสิร์ตครั้งนี้ พันตรีประทีป สุพรรณโรจน์ ได้เรียบเรียงและเสริมสีสัน (สำนวนในสูจิบัตร) สำหรับการบรรเลงด้วยวงดุริยางค์ ซึ่งในความทรงจำอันรางเลือนของผู้เขียนจากการรับฟังนั้น ผู้เขียนก็ยังเห็นอยู่เช่นเดิมว่า ให้ความเย็นใจในความไพเราะแบบไทยๆ ได้เป็นอย่างดี
ถึงกระนั้น เมื่อผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาถึงคำว่า แบบไทยๆ แล้ว ผู้เขียนเห็นทีจะต้องกล่าวถึงเพลงไทยเดิมที่มีการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีในวงดุริยางค์ของชาวตะวันตกไว้สักเล็กน้อย...
เพลงไทยเดิมของเรานั้น ไม่มีเพลงไหนของสยาม (ผู้เขียนหมายถึง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, แม่กลอง, ท่าจีน, ป่าสัก, ลพบุรี และสาขา) ที่ประพันธ์ขึ้นมาแล้วมีความเป็นเอกแห่งพื้นถิ่น! เราต้องยอมรับโดยดุษณีว่า ทั้งทำนอง จังหวะ แนวประสาน ล้วนแล้วแต่ได้อิทธิพลมาจากแดนดินถิ่นที่รอบๆ สยามทั้งนั้น พูดให้ลึกซึ้งก็คือ คนในลุ่มน้ำแห่งสยามได้หยิบยืมวัตถุดิบ (และแม้แต่วัตถุสุก) มาจากศิลปินในลุ่มน้ำอื่นที่อพยพหรือตั้งรกรากสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นพม่า, ลาว, เขมร, ญวน, มอญ, แขก และจีน มาใช้ในเพลงของตนเอง แล้วดัดแปลงแต่งเพิ่มนำไปบรรเลงด้วยวงมโหรีจนกระทั่งถึงวงเครื่องสายกันอย่างเอิกเกริก และเขมรพวงเถา ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ดังนั้น เราจึงไม่แปลกใจที่สำนวนและสำเนียงของดนตรีเขมรได้ปรากฏในเพลงเถาชิ้นนี้ ดังปรากฏนามในชื่อของเพลง...
ปัญหาของพวกเราก็คือ คำว่า แบบไทยๆ ที่พูดแล้วดูดีมากทั้งผู้พูดและผู้ฟังในสังคมแบบ Fantasy นั้น -- เป็นแบบไทยๆ ในความหมายอย่างไรกัน? คุณผู้อ่านหลายท่าน แม้จะไม่ได้อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ก็รู้สึกถึง แบบไทยๆ ได้ตั้งแต่เยาว์ จริงมั้ย? เพราะกลิ่นอายของความเป็นไทยถูกบ่มเพาะจากสถานีกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านเครื่องรับวิทยุออกสู่ลำโพงบนหัวเตียงของพวกเราทุกๆ เช้าตั้งแต่เด็ก ไม่เว้นแม้แต่ในสถานศึกษา แน่ละ Nostalgia ของคุณผู้อ่านและผู้เขียน (ผู้อยู่ไกลถึงลุ่มน้ำวัง) ถูกโปรแกรมไว้แล้วว่า นั่นคือกระแสเสียงแห่งความเป็นไทย! และรู้สึกภาคภูมิใจจนกระทั่งทระนงว่า ความงดงามดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์แห่งเอกราชของความเป็นไทย ประหนึ่งว่า พวกเราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในแว่นแคว้นนี้ ใครจะข่มเหงลอบลักเอาท่วงทำนองดังกล่าวไปใช้มิได้!
คุณผู้อ่านรู้สึกอย่างไรบ้าง หากเพลงในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของบรรพบุรุษถูกหยิบยืมมาจากเพื่อนๆ ของพวกเราในถิ่นที่รอบๆ ใกล้ๆ แล้วเราหลายคนก็เข้าใจด้วยความใจแคบว่า นี่ละ ความเป็นไทย!! ??
คุณผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับเพลง เดือนเพ็ญ หรือ คิดถึงบ้าน ที่ว่ากันว่าเป็นทำนองเพลงไทยเดิม ทั้งๆ ที่เพลงนี้มาจากทำนองเก่าของเพลงพม่าที่เราเรียกขานว่าคือเพลง พม่าเห่ แล้วผู้ประพันธ์เป็นคนไทยชื่อ อัศนี พลจันทร แต่งตอนอยู่ไกลถึงเมืองลาวเพราะคิดถึงบ้าน... เพลงที่มีความเป็นมาถึงสามถิ่นที่ สามภาษา เพลงนี้ เราจะเรียกหาความเป็นไทยจากคีตวลีวรรคตอนไหนดี?
เรื่องเศร้าที่สุดก็คือ เพลงที่มีคำซึ่งแสดงเชื้อชาติผู้เป็นเจ้าของปรากฏอยู่ซึ่งได้ถูกนำไปหยิบยืมใช้และดัดแปลงโดยบรรพบุรุษในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอดีต แต่แล้ว วันหนึ่ง เพลงดังกล่าวก็ถูกดัดแปลงซ้ำอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ในอนุบทของการดูหมิ่นเหยียดหยามนรชนผู้เป็นลูกหลานของเจ้าของเพลง... อนารยภาพดังกล่าว ปรากฏขึ้นแล้วในประเทศหนึ่งแถบๆ อุษาคเนย์ไปแล้ว...
ผู้เขียนได้ใช้พื้นที่กล่าวถึงเขมรพวงเถาและเพลงไทยเดิมในแง่มุมของ ความเป็นไทย มาค่อนข้างมาก (ทั้งๆ ที่ได้ออกตัวไว้ว่าจะไปต่ออย่างรวดเร็ว) ก็เพื่อใช้อ้างอิงต่อสำหรับซิมโฟนีจากโลกใหม่ของดวอชาคในแง่มุมของ ความเป็นอเมริกัน!! ซึ่งตอนนี้ คุณผู้อ่านอาจจะยังมองภาพไม่ชัดนักว่า จะเกี่ยวกันยังไง (วะ!) :-D เอาเป็นว่า ผู้เขียนบอกว่าเกี่ยวก็เกี่ยว (ก้อย? :-p) สิน๊า... เชื่อใจผู้เขียนหน่อย แต่ตอนนี้ผู้เขียนขอไปทานข้าวก่อนนะครับ สัญญ่าคืนนี้จะเสร็จเรื่องราวของดวอชาคกับซิมโฟนีจากโลกใหม่ของเขาอย่างแน่นอน...
ปล. เรื่องของเพลงไทยเดิม, วงมโหรี และ ดนตรีไทยเดิมสำหรับการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีตะวันตก ในแง่มุมบางแง่มุม เป็นเรื่องที่ผู้เขียนใคร่จะนำเสนอแลกเปลี่ยนอยู่อีกมาก หากมีโอกาสแบบไม่มั่วและผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ ผู้เขียนจะหาโอกาสเขียนสักครั้ง...
-- หมายเหตุ -- ด้านล่างนี้เป็นเพลงเดือนเพ็ญในแบบบรรเลงขลุ่ยของอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ขลุ่ยปรับแต่งสเกลเป็นสากลแล้ว) ... จริงๆ แล้ว ผู้เขียนอยากจะลงคลิปที่เป็นเพลงขับร้อง เนื่องจากอยากจะคุณผู้อ่านได้พิจารณาคำร้องอันทรงพลังของครูอัศนี พลจันทร แต่ก็ยังไม่สามารถหาคนที่ร้องได้ดีในความรู้สึกของผู้เขียนได้เลย ผู้เขียนจะร้องเองก๊อกลัวจะโด่งดังกันไปใหญ่ (HA HA) ฟังบรรเลงขลุ่ยของอาจารย์ธนิสร์กันไปก่อนนะครับ...
...นี่คงจะเป็น คิดถึงบ้าน ในแบบใกล้ตัวเรากันมากที่สุด... คุณผู้อ่านอาจจะฟังก่อนที่จะไป Homesick กันกับดวอชาคต่อไป...
Enjoy n~a
^_________________^
จากคุณ |
:
St@rGazer
|
เขียนเมื่อ |
:
25 มี.ค. 54 21:10:47
|
|
|
|
 |