Fwd: บทความ (ในใจ) จาก ฤทธิพร อินสว่าง
|
|
คุณฤทธิพร อินสว่าง ได้ส่งอีเมล์นี้มายังสื่อต่างๆ เพื่อบอกเล่าถึงความในใจเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง อ่านแล้วอยากนำมาบอกต่อ ขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ส่งต่อข้อความจากคุณฤทธิพร
ให้แกได้เห็นว่ายังมีคนให้ความสำคัญกับเพลงที่ถูกลิขสิทธิ์อยู่อีกมาก และอยากเป็นกำลังใจให้คนทำเพลงทุกคน ได้สร้างสรรค์บทเพลงดีๆ ต่อไปค่ะ
********************************************************
เรียน ท่านสื่อมวลชน เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงวรรณกรรม และนักคิดนักเขียนทั่วประเทศด้วยความนับถือ
ฤทธิพร อินสว่าง
************ บทความ(ในใจ) การถูกละเมิดลิขสิทธิ์เพลงเป็นเรื่องเลวร้ายที่ผมต้องรับมือมาตั้งแต่อายุยังน้อย เพียงออกผลงานเพลงชุดแรกก็ถูกลักลอบทำซ้ำแบบเถื่อนและวางขายกันอย่างกลาดเกลื่อนทั่วประเทศแล้ว ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าจนถึงวันนี้ที่ผ่านมากว่าครึ่งชีวิตในวงการเพลง ผมยังต้องรับมือกับการถูกละเมิดลิขสิทธิ์หลายรูปแบบ ทั้งละเมิดด้วยการผลิตเป็น CD และ MP 3 เถื่อน, นำเพลงที่ผมประพันธ์ไปบันทึกเสียงแบบเถื่อน หรือแม้แต่บุคคลและองค์กรที่มีภาพลักษณ์สวยงามในสังคมบางรายก็ยังนำเพลงของผมไปใช้แบบเถื่อนด้วยเช่นกัน
ผมไม่อาจยอมรับการกระทำที่ไม่ถูกต้องนี้ แต่พยายามทำใจว่ามัน “เป็นเช่นนั้นเอง” และยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานเพลงต่อไป
เมื่อหลายปีก่อนมีคนมาเล่าให้ฟังว่าเพลง “ใบไผ่” ของผมถูกนำไปใช้ในละครโทรทัศน์ ตอนที่ได้ฟังก็รู้สึกงงเล็กน้อยเพราะไม่เคยมีผู้ผลิตละครโทรทัศน์รายใดติดต่อขออนุญาตใช้เพลงนี้ ผมยังไม่เชื่อในคำบอกเล่าจนกระทั่งได้พบหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนจริงๆ ตั้งแต่นั้นมาจึงรู้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของพวกนอกกฎหมายที่แอบกระทำอยู่ในมุมมืดของสังคมเท่านั้น แม้แต่คนในวงการโทรทัศน์ที่น่าจะยืนอยู่ข้างความถูกต้องดีงามก็มีการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ในเวลาต่อมามีผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ทั้งรายการบันเทิง รายการข่าว และรายการพิเศษที่จัดขึ้นในโอกาสสำคัญต่างๆ นำเพลง “กำลังใจ” ที่ขึ้นต้นเนื้อร้องว่า “ในยามที่ท้อแท้ ขอเพียงแค่คนหนึ่ง จะคิดถึงและคอยห่วงใย...” ที่ผมเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนองและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ออกอากาศกันเป็นจำนวนมากโดยไม่มีการขออนุญาต บอกกล่าวและให้เครดิตในฐานะผู้ประพันธ์เพลงแต่อย่างใด
การกระทำดังกล่าวนี้บั่นทอนความรู้สึกของผม อนาถใจที่เห็นว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงมากขึ้น ในแวดวงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผู้คนทั่วประเทศ
ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าเป็นห่วงไม่น้อยกว่าความเสื่อมถอยทางปัญญาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับวงการเพลงและผู้สร้างสรรค์ผลงานจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกที่มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
พูดแบบเข้าใจง่ายๆ คือคนไทยกำลังถูกต่างชาติมองว่าเป็น “หัวขโมย” ที่ถนัดเรื่องฉกฉวยทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นนั่นเอง แต่ถึงกระนั้น ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยที่ควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างค่านิยมแห่งการเคารพสิทธิของผู้อื่น กลับเป็นฝ่ายละเมิดลิขสิทธิ์เสียเอง ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับที่บรรดาผู้ผลิต CD และ MP 3 เถื่อนกระทำอยู่
ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่เพลงของผมถูกนำไปเผยแพร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในลักษณะ “ให้กำลังใจ” โดยเฉพาะการให้กำลังใจผู้ที่ประสบกับความทุกข์อย่างสาหัสจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย แต่การ “หยิบยื่น” กำลังใจให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยการ “หยิบฉวย” โดยไม่มีการขออนุญาตหรือบอกกล่าวให้ผู้ประพันธ์เพลงและเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับทราบ อีกทั้งไม่มีการให้เครดิตผู้ประพันธ์แต่อย่างใด ย่อมเป็นการกระทำที่น่าผิดหวังและถือเป็น “ภัยพิบัติทางจริยธรรม” อันเกิดจากความมักง่ายและเห็นแก่ตัวของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ผมจึงเขียนบทความ(ในใจ)นี้... ด้านหนึ่งเพื่อสะท้อนความรู้สึกลึกๆ ในช่วงเวลาที่ยาวนานเพื่อให้ท่านสื่อมวลชน เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงวรรณกรรม และนักคิดนักเขียนทั่วประเทศได้รับทราบ เผื่อว่าบางทีเรื่องราวของผมอาจนำไปใช้ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากมีท่านใดช่วยกระตุ้นจิตสำนึกผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการเคารพสิทธิของผู้อื่น และข้ามพ้นการทำงานแบบ “ขอไปที” เหมือนที่ผ่านๆ มา ก็ถือว่าได้ทำกิจอันเป็นกุศลไม่น้อยทีเดียว อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือผมได้ส่งงานเขียนนี้ไปถึงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หลายรายที่ได้กระทำสิ่งที่น่าละอายไปแล้ว แต่จะช่วยให้ “ได้คิด” มากน้อยแค่ไหนนั้นผมคงไม่อยากคาดหวังอะไร
ไม่ใช่ผมคนเดียวเท่านั้นที่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ควรให้ค่าในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน และเคารพในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อให้เป็นผู้ประพันธ์ที่ไม่มีใครในประเทศนี้รู้จักก็ควร “ค้อมหัวใจ” ให้เช่นกัน ถ้าหากว่าต้องการนำเพลงของเขาไปใช้ ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง การทำหนังสือขออนุญาตหรือบอกกล่าวด้วยวาจาและให้เครดิตผู้ประพันธ์เพลงนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แล้วเหตุใดผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หลายรายการจึงไม่เลือกใช้วิธีที่ถูกต้องนี้
เพลง “ใบไผ่” ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนอง เจ้าของลิขสิทธิ์: ฤทธิพร อินสว่าง บันทึกเสียง เผยแพร่และจำหน่ายครั้งแรกในผลงานของฤทธิพร อินสว่าง *ศิลปินที่ขับร้องบันทึกเสียงเพลง “ใบไผ่” ในผลงานที่เผยแพร่และจำหน่ายโดยมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องในเวลาต่อมาคือ อี๊ด วงฟลาย, ไท ธนาวุฒิ, สุนารี ราชสีมา, วงสตาร์คอรัส, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ (ในนามศิลปิน “สหาย”), แฟ็บ เครือวัลย์ และ ผู้ขับร้องที่ไม่ระบุชื่อในผลงานของค่ายเพลง EVS
เพลง “กำลังใจ” ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนอง เจ้าของลิขสิทธิ์: ฤทธิพร อินสว่าง โฮป เป็นศิลปินวงแรกที่ขออนุญาตนำเพลง “กำลังใจ” ไปขับร้องบันทึกเสียงในผลงานที่เผยแพร่และจำหน่าย *ศิลปินที่ขับร้องบันทึกเสียงเพลง “กำลังใจ” ในผลงานที่เผยแพร่และจำหน่ายโดยมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องในเวลาต่อมาคือ อี๊ด วงฟลาย, เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, อรวี สัจจานนท์, อรวรรณ เย็นพูนสุข, โดม มาร์ติน, สุนารี ราชสีมา หนุ่มสกล, ศุ บุญเลี้ยง (ในนามศิลปิน “สหาย”), วงคู่รัก, คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู, โฮป แฟมิลี และผู้ขับร้องที่ไม่ระบุชื่อในผลงานของค่ายเพลง EVS *นอกจากนี้ยังมีการขออนุญาตนำเพลง “กำลังใจ” ไปใช้ในการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินที่มีชื่อเสียง, ประกอบภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์ขนาดสั้น และภาพยนตร์โฆษณาอีกเป็นจำนวนมาก
...................................www.ritthiporn.com.............................
แก้ไขวรรคตอน
แก้ไขเมื่อ 16 พ.ค. 54 15:15:41
จากคุณ |
:
ผมซ่า
|
เขียนเมื่อ |
:
16 พ.ค. 54 15:12:09
|
|
|
|