Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคคัล ความคับแค้นใจส่วนตัวหลังชมการแสดงจบ ติดต่อทีมงาน

เข้าเรื่องกันเลย .. ความคับแค้นใจของผมต่อละครเวทีเรื่องนี้คือ ผมรู้สึกว่า คณะราษฏรกำลังโดนทำร้ายทางอ้อมจากละครเวทีเรื่องนี้แบบไม่รู้ตัว ด้วยกับบทของอั้นที่ดูเป็นตัวตลก โอหัง กร่าง และวาทะกรรมที่ติดตามมาหลายๆอย่างเช่น "ล้มล้างในหลวง" "ทรยศแผ่นดิน" ฯลฯ ซึ่งแน่นอน สิ่งนี้จะพุ่งเป้าไปที่อื่นไม่ได้เลย นอกจากจะมุ่งไปที่คณะราษฏร ซึ่งนำโดยปรีดีและพระยาพหล

ในแผ่นดินที่หนึ่งและสอง ผมขออนุญาตไมพูดถึง เพราะไม่ใช่ประเด็นที่กล่าวถึง โดยรวมแล้วการกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงทั้งสองพระองค์ก็นับว่าสมจริง มิได้ผิดเพี้ยน เพียงแต่ยังขาดตกบกพร่องไปมากในส่วนของคุณงามความดีที่รัชการที่ห้าได้ทรงทำไว้แก่บ้านเมือง เพราะยังมีอีกมากเหลือเกิน ไม่เพียงเฉพาะแต่เรื่องการเลิกทาส ไปรษณีย์ รถไฟ ฯลฯ ที่ได้นำเสนอไว้ หากแต่ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก และที่สำคัญเช่นการจัดการปกครองรูปแบบใหม่ ซึ่งมีผลมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งการจัดตั้งกระทรวง การจัดการปกครองท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งก็เข้าใจได้ในแง่ของเวลาที่มีจำกัด

หากแต่ในส่วนของแผ่นดินที่ สามและสี่ต่างหาก ที่ผมเห็นว่าคนเขียนบทไม่ค่อยให้ความเป็นธรรมกับคณะราษฏรเสียเท่าที่ควร จนถึงขั้นเป็นการโจมตีเลยเสียด้วยซ้ำ ถึงขนาดที่ว่าเขียนให้ในตอนท้ายอั้นสำนึกผิดที่ได้กระทำสิ่งดังกล่าวไป (เปลี่ยนแปลงการปกครอง) ราวกับว่า สิ่งนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่สมควรจะเกิดขึ้นกระนั้น

ในตอนปลายของแผ่นดินรัชการที่หก อั้นกลับมาจากฝรั่งเศส เราเริ่มได้เห็นการยัดเยียดวาทกรรมที่ผมได้เกริ่นไปในตอนแรก ที่สำคัญและถูกผลิตซ้ำมากที่สุดในละครเวทีเรื่องนี้คือวาทะกรรมที่ว่า "ล้มล้างในหลวง" โดยส่วนตัว ผมเองเข้าใจว่า ผู้เขียนบทละคร (ไม่ใช่หม่อมคึกฤทธ์นะครับ ผมกำลังหมายถึงคนเขียนบทละครที่เอามาแสดงครั้งนี้) กำลังต้องการนำเสนอความคิดเห็นของฝ่ายขวาในขณะนั้นที่มองฝ่ายซ้ายว่ามีมุมมองอย่างไร แต่การไม่ชั่งน้ำหนักให้เท่ากันของมุมมองทั้งสองฝ่าย (ไม่บาล้านซ์) โดยการทำให้ความคิดของอั้น (ที่เห็นว่าเขาต้องการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า) กลายเป็นความคิดที่น่าตลกขบขัน เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่า ผู้เขียนบทละครมีความจงใจที่จะป้ายสีคณะราษฏรอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ประเด็นที่ผมเสนอนี้เห็นชัดเจนเป็นอย่างมากในคราวที่อั้นระบายอารมณ์ใส่สามีของน้องสาว (ตอนท้ายเรื่องที่แม่พลอยป่วยหนัก) ว่าที่ตนทำไปเพราะมีความหวังดี อยากให้บ้านเมืองดีขึ้น แต่กลับถูกสวนกลับมาในทำนองว่า แล้วมันดีขึ้นหรืออย่างไร !

ครั้งเมื่อเข้าสู่แผ่นดินที่สามของพระปกเกล้า มีฉากที่ทำให้ผมรู้สึกคับแค้นใจอย่างน้อยๆสองฉากด้วยกันคือ
1 การขับเน้นบทบาทของคณะราษฏรให้ดูชั่วร้ายยิ่งขึ้นด้วยการสร้างภาพให้รัฐบาลมีความเหี้ยมโหดจองจำฝ่ายตรงข้าม(อ้น) โดยที่ตัวของอั้นเองมิได้สนใจใยดี แถมยังกล่าวในทำนองว่าพี่ชายเป็นขบถ อีกทั้งการโยงเรื่องราวการสละราชสมบัติเข้ากับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองเพียงประการเดียว ก็ยิ่งอาจนำไปสู่การเข้าใจที่ผิดพลาดได้ นี่เอง ยังไม่นับรวมถึงในตอนก่อนหน้าที่คัดเอาประกาศคณะราษฏรฉบับที่หนึ่งแบบขาดๆวิ่นๆมาอ่านในฉากที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่จริงๆแล้วอ่านที่ลานพระรูป ในละครเวทีกลับเอาไปอ่านบนเวทีไม้เก่าๆดูไม่สมกับเป็นประกาศของคณะผู้อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เปรียบเทียบกับการเอาพระราชหัตถเลขาแบบเต็มที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร” ก็ยิ่งสร้างความลักลั่นให้กับการทำความเข้าใจของผู้ชมเป็นอย่างมาก

2 การนำเสนอภาพความยากเข็ญภายหลังจากนั้นของผู้คนในบริบทแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งในกรณีที่ต้องเซ็นสัญญากับญี่ปุ่น ความเสียหายจากสงคราม ความอดยาก เศร้าโศก ฯลฯ ประหนึ่งว่าเป็นความผิดพลาดจากการบริหารงานของรัฐบาลทั้งหมด ประเด็นนี้หากผู้ชมมิได้เคยอ่านประวัติศาสตร์ และไม่ได้เข้าใจในบริบทของการเมืองระหว่างประเทศซึ่งเชื่อมโยงกันมาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคมแล้วนั้น ย่อมต้องเห็นรัฐบาลคณะราษฏรเป็นตัวร้ายไปอย่างไม่ต้องสงสัย (ถ้าอ่านประวัติศาสตร์จะพบว่า บทบาทของคณะราษฏรช่วยประเทศชาติอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีหม่อมเสนีซึ่งเป็นทูตอยู่ขณะนั้น เสรีไทย ฯลฯ)

ต่อประเด็นเดียวกันนี้เองมันยังเป็นความลักลั่นอย่างถึงที่สุดของผู้เรียบเรียง ที่นำเสนอความทุกข์ยากแบบเดียวกันนี้ในสมัยคณะราษฏร หากแต่ไม่นำเสนอในสมัยแผ่นดินที่สอง ... ซึ่งบริบทมีความคล้ายคลึงกัน

เมื่อเข้าสู่แผ่นดินที่สี่คือแผ่นดินของในหลวงอานัน ผมติดอยู่นิดเดียว ทำไมคนเขียนไม่เลือกที่จะบอกด้วยว่า ใครเป็นคนกราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัวอานันเสด็จนิวัติพระนคร

เรื่องของเรื่องก็มีเท่านี้แหละครับ เท่าที่พอจะนึกออกตอนนี้

ปล. ผมเขียนเรื่องทำนองแบบนี้ อย่าหาว่าผมเป็นแดงล้มเจ้า ไม่รักสถาบันหรืออะไรทำนองนั้นเลยนะครับ กรอบขอร้องจริงๆ ผมก็แค่เป็นเด็กธรรมศาสตร์คนนึงที่เข้าไปนั่งดูละครเวทีนี้แล้วรู้สึกเสียใจแทนคนก่อตั้งมหาลัยที่ให้วิชาความรู้แก่ผมอย่างไรบอกไม่ถูก ผมกลัวใจจริงๆครับ ที่ละครเวทีนี้จะสร้างความเข้าใจผิดบางประการให้กับคนดูแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แค่ไม่อยากเห็นว่าวันนึงคนจะมองคณะราษฏร มองปรีดีว่าเป็นพวกล้มล้างในหลวง เป็นพวกชิงสุกก่อนห่าม เป็นผู้ร้าย เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกรณีมีคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดี.....”

สรุปสั้นๆ อยากให้ใช้วิจารณญาณในการรับชมครับ ผมอยากเห็นคนเข้าไปดูละครเวทีเรื่องนี้ออกมาแล้วเก็บความรู้สึกอิ่มใจออกมา มากกว่าจะมีความชังติดออกมาด้วย .. ก็แค่นั้น สังคมไทยมีสิ่งหลังนี้มากเกินไปแล้วจริงๆ อย่างสร้างสิ่งนี้ขึ้นอีกเลย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ทุกฝ่ายล้วนมีเหตุผมเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ต้องเปิดใจมากๆจริงๆครับ

จากคุณ : กังซี
เขียนเมื่อ : 12 ธ.ค. 54 02:17:08




 
 
การพูดคุย แสดงความคิดเห็นในกระทู้ เริ่มออกนอกประเด็นของห้องไปแล้ว จึงขอทำการปิดกระทู้ครับ

PANTIP.COM 
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com