Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ชีวิตไร้ตัวโน้ตของ"บรูซ แกสตัน" ติดต่อทีมงาน

คำว่า “ฝรั่งหัวใจไทย” คงไม่ลึกซึ้งพอจะบรรยายถึงตัวตนแท้จริงของ “บรูซ แกสตัน” นักดนตรีชาวอเมริกัน วัย 65 ปี ผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วโลก โดยตลอดเวลากว่า 4 ทศวรรษ ที่เขาปักหลักใช้ชีวิตอยู่เมืองไทย ครูดนตรีหัวใจไทยเกินร้อยคนนี้ ไม่เพียงจะสร้างสรรค์บทเพลงและปรัชญาทางดนตรีมากมาย แต่ยังสร้างนักดนตรีรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักษ์ไทยอีกนับไม่ถ้วน เพื่อสืบทอดมรดกล้ำค่าของชาติ

“ผมเกิดที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โตมาในครอบครัวที่รักเสียงดนตรี และเริ่มรู้จักความงามของดนตรีตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยสามารถ เล่นเครื่องดนตรีตะวันตกได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเปียโน, ออร์แกน และ เพลงขับร้องประสานเสียง ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ผมก็เลือกเรียนสาขาวิชาที่ถนัดคือ ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และปรัชญา จบปริญญาโทในปี 1969 ช่วงเวลานั้นเกิดสงครามเวียดนามขึ้นพอดี หนุ่มสาวชาวอเมริกันจำนวนมากถูกส่งตัวมาประจำการใน ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการทำร้ายชีวิต เพราะเป็นมังสวิรัติ ไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม จึงเลือกรับใช้ชาติด้วยการทำงานอื่นตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอเมริกันจึงส่งผมมายังประเทศไทย เพื่อเป็นครูดนตรี ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือสังคม ตอนนั้นผมอายุแค่ 22 ปี”...ครูดนตรีผู้ปฏิวัติดนตรีไทยร่วมสมัย ย้อนรำลึกถึงความหลังตอนเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ด้วยภาษา ไทยชัดถ้อยชัดคำไม่มีตกหล่น ระหว่างงานเสวนาทางดนตรี “Bangkok Music Forum ครั้งที่ 1” ภายใต้แนวคิด “เคาะกะโหลก โขกกะลา ประสาบรูซ แกสตัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

เดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ชีวิตสมบุกสมบันขนาดไหน

(ยิ้มกว้าง) ผมจำได้ว่าเดินทางมาถึงเมืองไทยตอนปี 1971 ทำงานเป็นครูสอนดนตรีที่พิษณุโลก ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆที่ยังห่างไกลความเจริญ งานของผมคือเป็นครูอาสาสมัครสอนดนตรีให้เด็กประถมศึกษาที่โรงเรียนผดุงราษฎร์  ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนจนๆในความดูแลของคริสตจักร ไม่มีงบประมาณมากพอจะซื้อเครื่องดนตรี ผมจึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีสอนเด็กนักเรียน โดยดัดแปลงไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นกับขลุ่ย เพื่อมาสร้างวงโยธวาทิต สอนเด็กนักเรียนเดินพาเหรดเท้าเปล่า และสอนให้รู้จักการเล่นดนตรีอย่างสร้างสรรค์ ตอนที่ประกวดวงโยธวาทิต วงของ เราเล่นเท้าเปล่า และแพ้ย่อยยับ เพราะเราไม่มีเงิน แต่ความจริงแล้วเราฝีมือดีกว่ามาก ผมสอนอยู่ประมาณ 6 เดือน แล้วย้ายไปเชียงใหม่ เพราะทางวิทยาลัยพายัพเปิดหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรี ผมจึงกลายเป็นอาจารย์สอนดนตรีรุ่นแรก หลังจากสอนได้ 2 ปี ผมเดินทางกลับบ้านเกิด พอไปถึงอเมริกาก็รู้เลยว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านเราแล้ว ต้องกลับประเทศไทย

โหยหาอยากกลับเมืองไทยอีกครั้งเพราะมีอะไรสะกิดใจ

คงเป็นเพราะติดใจเสียงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์ที่ได้ยินได้ฟังทุกวัน สมัยเป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยพายัพ หอพักของผมอยู่ติดกับป่าช้า เวลามีเผาศพในป่าช้า เพลงปี่พาทย์นางหงส์ก็จะบรรเลงขึ้นมาทุกที ผมเกิดความสนใจมาก จนวันหนึ่งตัดสินใจเดินลงไปดู เห็นเด็ก 10 ขวบกำลังนั่งบรรเลงอยู่ ผมเลยคิดว่า ถ้าเด็กสามารถเล่นได้ขนาดนี้ ผมต้องลองบ้าง ด้วยความเป็นนักดนตรีเหมือนกัน จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์นักดนตรีชาวบ้านละแวกนั้น ทำให้ได้รู้จักคุณค่าของเสียงดนตรีที่แตกต่างไปจากดนตรีตะวันตกอันคุ้นเคย นอกจากนี้ ผมยังสนใจในเรื่องพุทธศาสนาด้วย การใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ ทำให้ผมได้สัมผัสความงามของดนตรีท้องถิ่น ดนตรีล้านนาโบราณ ดนตรีชาติพันธุ์ต่างๆที่ปะปนกันอยู่ในเขตภาคเหนือของไทย และที่สำคัญคือได้พัฒนาความรู้เรื่องดนตรีไทยที่เข้มข้นขึ้น เนื่องจากช่วงนั้นกรมศิลปากรได้เปิดสาขาวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เชียงใหม่ ทำให้ผมมีโอกาสเรียนดนตรีไทยจริงจัง โดยหัดระนาดเอกกับ “ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ” และได้หัดปี่พาทย์รอบวงจาก “ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ” อดีตศิษย์เอกครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเดินทางไปพำนักกับครอบครัวที่เชียงใหม่ วิชาความรู้จากการเรียนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านในยุคนี้ ทำให้เกิดการทดลองประยุกต์การเรียนการสอนที่วิทยาลัยพายัพ โดยผสมผสานดนตรีสากลและดนตรีไทยเข้าด้วยกัน ผลงานเริ่มต้นที่สร้างชื่อเสียงคือการทำอุปรากรเรื่อง “ชูชก” พัฒนาจากวรรณคดีชาดกทศชาติตอนพระเวสสันดร ใช้วิธีการขับร้องประสานเสียงวงดนตรีปี่พาทย์ กังสดาล และการออกแบบประติมากรรมขนาดใหญ่รูปชูชกกินจนท้องแตก

http://www.thairath.co.th/content/life/281141

 
 

จากคุณ : หมาป่าดำ
เขียนเมื่อ : 5 ส.ค. 55 11:44:33




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com